แนวคิดเกี่ยวกับองค์รวม


ความแตกต่างหลากหลายขององค์ประกอบเป็นสิ่งจำเป็นของความเป็นองค์รวม
แนวคิดเกี่ยวกับองค์รวม องค์รวมแปลมาจาก Holism/ Holistic หมายถึงแนวโน้มตามธรรมชาติในการสร้างองคาพยพ (Whole) ที่มีคุณสมบัติมากกว่าผลรวมขององค์ประกอบแนวความคิด Holism เพิ่งเริ่มมาเมื่อ 50 ปีนี้ แต่ก่อนจะเป็น Reductionism คือแยกองคาพยพออกเป็นส่วนย่อยๆ เพื่อศึกษาสิ่งหนึ่งๆ ซึ่งความรู้ความเข้าใจทั้งหมดเกิดจากการสรุปรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับส่วนต่างๆ ด้วยกัน แต่เดิมเห็นว่าสิ่งหนึ่งๆ สามารถถูกตัดเป็นส่วนๆ แล้วเอามารวมกันได้ ซึ่งต่างจากความเป็นองค์รวมที่มองว่าของสิ่งหนึ่งมีหลายองค์ประกอบที่ทำหน้าที่ต่างกัน ทุกองค์ประกอบเหล่านั้นไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะทุกอง๕ประกอบมีความเกี่ยวข้องกัน สรรพสิ่งที่มีสัมพันธภาพทับซ้อนซึ่งกันและกันจึงไม่ใช่ผลบวกของส่วนย่อย แต่เป็นผลรวมของการบูรณาการ (integrate) ส่วนย่อยเพื่อเกิดสิ่งใหม่ (The whole is more than the sum of its parts.) หมายถึงการดำรงอยู่ของแต่ละส่วนขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ขององค์รวมทั้งหมด ถ้าแยกส่วนเมื่อไหร่ก็จะขาดความสมบูรณ์ทันทีในแนวคิดองค์รวมนั้น การรับรู้ความเป็นจริงของแต่ละส่วนต้องอาศัยความเป็นจริงของส่วนอื่นด้วย ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจึงเป็นผลจากทุกองค์ประกอบที่ทำงานร่วมกัน ความเป็นจริงขององค์ประกอบเป็นเพียงบางส่วนของภาพรวมเท่านั้น ไม่สามารถเป็นตัวแทนของทั้งหมดได้ ดังนั้นความเป็นจริงของสิ่งหนึ่งคือสิ่งที่องค์ประกอบต่างๆ ร่วมกันสร้างขึ้น ผลผลิตขององค์รวมคือการสังเคราะห์ที่เกิดจากมวลรวมของทั้งระบบ เป็นการบูรณาการส่วนที่แตกต่างทั้งหมด ความแตกต่างหลากหลายขององค์ประกอบจึงเป็นสิ่งจำเป็นขององค์รวม ตัวอย่างได้แก่องค์รวมของบุคคล องค์รวมของครอบครัว องค์รวมของชุมชน องค์รวมของประเทศ เป็นต้น

องค์รวมของบุคคล

               มนุษย์เราเกิดมาเพื่อต้องการคงอยู่จึงต้องการรอดชีวิต การคงอยู่ของร่างกายมนุษย์มีอายุขัย ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่เกิดจนถึงตาย (ร่างกายหมดสภาพไม่สามารถดำรงชีวิตได้ต่อไป) นั้นมนุษย์ต้องดำเนินชีวิต ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์องค์ประกอบทั้ง 2 ส่วนต้องทำงานร่วมกันคือร่างกายและพฤติกรรม มนุษย์เป็นระบบเปิดที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมและต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม การดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายจึงมีหลายมิติ ได้แก่ มิติร่างกาย จิต ใจ อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ               มิติร่างกาย (Physiological dimension)               ร่างกายของมนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำงานของเซลล์ต่างๆ ที่ร่วมกันทำงานอย่างเป็นระบบ มีทั้งส่วนที่ทำงานเองโดยอัตโนมัติและส่วนที่ทำงานภายใต้จิตใจ ชอบหรือไม่ชอบ เมื่อคิดพิจารณาแล้วจึงสั่งให้ร่างกายทำ เช่น การถ่ายอุจจาระในสถานที่ที่ตนเองพอใจ สำหรับการทำงานโดยอัตโนมัตินั้นมีทั้งส่วนที่เร่งเร้าซึ่งเป็นการทำงานของระบบประสาท Sympathetic และส่วนที่ผ่อนคลายคือการทำงานของระบบประสาท Parasympatheticที่ต้องมีความสมดุลกัน               มิติจิต (Cognitive dimension)               จิต (Mind) คือสติและปัญญา สัญลักษณ์ของจิตคือสมอง โครงสร้างของจิตประกอบไปด้วยระบบการคิด ความเชื่อ และสติสัมปชัญญะ ที่คนใช้สำหรับเป็นเครื่องนำทางในการดำเนินชีวิต การคิดเป็นกระบวนการไตรตรอง พินิจพิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ความเชื่อคือความมั่นใจต่อสิ่งที่ดำรงอยู่ว่าเป็นจริง การเชื่อในทันทีเกิดจากประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งที่ถูกบอกและที่ประสบด้วยตนเอง การยังไม่เชื่อในทันทีจึงอาศัยการคิดพิจารณา ทบทวน และเปรียบเทียบ การดำเนินชีวิตของคนต้องคิดแก้ปัญหา ต้องตัดสินใจ และมีการวางแผนเพื่อทำชีวิตให้ดีขึ้น การคิดพิจารณาและตัดสินใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างถูกต้อง/ เหมาะสมเรียกว่าเป็นความฉลาด                ความฉลาด (Wisdom) สามารถพัฒนาได้จากการมีประสบการณ์การเรียนรู้และมีวิธีคิด ประสบการณ์การเรียนรู้หมายถึงจดจำได้และเข้าใจในสิ่งที่จำได้ วิธีคิดคือรูปแบบต่างๆ ของการคิดที่เหมาะสมกับสถานการณ์หนึ่งๆ สามารถช่วยตอบคำถาม แก้ปัญหา คาดเดา ประเมินค่า วางแผน และตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง/ เหมาะสม                มิติใจ (Affective dimension)               ใจ (Heart) คือความรู้สึก สัญลักษณ์ของใจคือหัวใจ เป็นแบบแผน (Pattern) ของความรู้สึกที่ถูกพัฒนามาตั้งแต่เกิด เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ด้านความรู้สึก ได้แก่ ความชอบ ความรัก ความสนใจ ความตั้งใจ ความพอใจ ความชื่นชม ความรู้สึกในคุณค่า ความรู้สึกในสิ่งสวยงามดีงาม (ความสุนทรีย์) ความศรัทธา ความเลื่อมใส รวมทั้งความรู้สึกที่ตรงข้ามกับที่กล่าวมาทั้งหมด สมองมนุษย์มีศูนย์แห่งความชอบใจ (Pleasure center) และไม่ชอบใจ (Displeasure center) ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กันใน Hypothalamus ในบริเวณที่เรียกว่า Amygdala ข้อมูลที่ได้รับรู้จากประสาทรับความรู้สึกทั้ง 5 คือ การมองเห็น การรู้รส การได้กลิ่น การได้ยิน และการสัมผัส จะตรงไปที่ศูนย์นี้เพื่อคัดกรองก่อนที่จะถูกส่งต่อไปที่สมองส่วนหน้าเพื่อการคิดพิจารณาก่อนการตัดสินใจแสดงพฤติกรรม               ตามธรรมชาติมนุษย์ชอบสิ่งดีๆ ที่เป็นคุณประโยชน์แก่ตัวเอง มนุษย์ทุกคนมี มโนธรรม ของตนเอง แต่การที่มนุษย์อยู่ร่วมกับผู้อื่นสิ่งดีๆ นั้นจึงต้องเป็นสิ่งที่ผู้อื่นเห็นว่าเป็นคุณประโยชน์แก่พวกเขาด้วย มโนธรรมของมนุษย์แต่ละคนจึงควรประกอบไปด้วย คุณธรรม (ข้อกำหนดให้ทำสิ่งดีๆ ที่ควรทำ) ศีลธรรม (ข้อห้ามไม่ให้ทำสิ่งที่ไม่ดี เป็นผลเสีย และเป็นอันตราย) และ จริยธรรม (ข้อปฏิบัติต่างๆ ตามความคาดหวังของครอบครัว กลุ่มคน ชุมชน วิชาชีพ และสังคม) ที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันและยอมรับร่วมกัน ดังนั้นมโนธรรมของคนจึงควรประกอบไปด้วยคุณธรรม ศีลธรรม และจริยธรรม            มิติอารมณ์ (Emotional dimension)               อารมณ์คือการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่กระตุ้นความรู้สึกต่างๆ ที่ถูกเก็บเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ในศูนย์แห่งความชอบใจและไม่ชอบใจ สิ่งเร้านั้นมาจากสิ่งแวดล้อมทั้งภายในร่างกายและภายนอกร่างกาย ความรู้สึกที่ถูกกระตุ้นจึงทำให้คนแสดงพฤติกรรมออกมาไม่เหมือนกัน ความชอบใจได้แก่ ความชอบ ความรัก ความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ความพึงพอใจได้อย่างที่ตนเองต้องการ ซึ่งทำให้คนรู้สึกมีความสุข ปีติ ยินดี สนุก ชื่นใจ ร่าเริง กระชุ่มกระชวย กระปรี้กระเปร่า ร่างกายเกิดการผ่อนคลาย ส่วนความไม่ชอบใจได้แก่ ความไม่ชอบ ความเกลียด ความรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ความไม่พึงพอใจไม่ได้อย่างที่ตนเองต้องการ ซึ่งทำให้คนรู้สึกมีความทุกข์ หงุดหงิด โกรธ เบื่อ เซ็ง ซึม เศร้า หม่นหมอง เหี่ยวเฉา กระปรกกระเปลี้ย เพลียแรง ระบบในร่างกายถูกเร่งเร้าให้ทำงานมากขึ้นเพื่อจัดการกับความรู้สึกไม่ชอบใจเหล่านั้น               การอยู่ร่วมกับผู้อื่นทำให้มนุษย์ไม่สามารถแสดงพฤติกรรมตามอารมณ์ของตนเองได้ทุกอย่างอย่างหมดสิ้นเพราะต้องเป็นไปตามความเหมาะสมและการยอมรับในสังคม ประกอบกับอารมณ์ที่เกิดจากความไม่ชอบใจต่างๆ เป็นอันตรายต่อร่างกายในระยะยาวเพราะจะทำให้อวัยวะที่ต้องทำงานหนักต่างๆ เกิดความเสื่อมเร็วกว่าที่ควร กลายเป็นปัญหาความเจ็บป่วยเป็นโรค มนุษย์จึงต้องใช้สติปัญญาช่วย เช่น คิดดีก็ทำให้รู้สึกดี คิดไม่ดีก็ทำให้รู้สึกไม่ดี มนุษย์จึงต้องมีความฉลาดในการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง สามารถควบคุมอารมณ์ และแสดงอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม ทั้งอารมณ์สุขและอารมณ์ทุกข์ เรียกว่ามีความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ (Emotional Quotient)มิติสังคม (Social dimension)               การมีสังคม (Socialization) คือการที่คนๆ หนึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นที่มีวิถีการดำเนินชีวิตของตนเองเพื่อการอยู่ร่วมกัน คนอยู่ร่วมกันและมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างเป็นลำดับขั้น (Hierarchically system) ตั้งแต่ระดับครอบครัว กลุ่มคน ชุมชน และสังคม ซึ่งแต่ละระดับของการอยู่ร่วมกันนี้ก็มีปฏิสัมพันธ์กันด้วย               ครอบครัว (Family) หมายถึงการอยู่ร่วมกันของคนที่มีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือด เช่น พ่อ แม่ ลูก หลาน เหลน ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ลูกพี่ ลูกน้อง และคนมีความเกี่ยวข้องกันทางกฎหมายครอบครัว เช่น เขย สะใภ้ ลูกบุตรธรรม อาจจะอยู่ในบ้านหลังเดียวกันหรือไม่ก็ได้               กลุ่มคน (Group) หมายถึง คนที่มีกิจกรรมทำร่วมกัน เช่น กลุ่มคนที่ที่ทำงาน โรงเรียน องค์กร ชมรม สมาคม หรือสมาพันธ์ต่างๆ               ชุมชน (Community) หมายถึงคนที่อยู่ร่วมกันภายในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ใช้ทรัพยากรในสิ่งแวดล้อมร่วมกันหรือแบ่งกันใช้ มีปฏิสัมพันธ์กันในหลายๆ ทาง มีหลายสิ่งหลายอย่างเหมือนๆ กัน เช่น ความตั้งใจ ความเชื่อ ความชอบ และค่านิยมต่างๆ ประกอบไปด้วยครอบครัวหลายครอบครัว หรือกลุ่มคนหลายกลุ่มที่อาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชน ความสนใจของคนในชุมชนจะมีส่วนเหมือนกันกับคนอื่นๆ ในกลุ่ม/ ในชุมชนเดียวกัน มีการอุทิศตัวเพื่อมีส่วนร่วมในกิจกรรมของกลุ่ม/ ชุมชนนั้นๆสังคม (Society) หมายถึงการรวมตัวกันของชุมชนต่างๆ มีขอบเขต มีอาณาบริเวณที่ชัดเจน มีสิทธิภายในอาณาเขตของตน ในความหมายนี้ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ ซึ่งจะมีระบบการปกครองดูแลคนที่อาศัยอยู่ในอาณาเขต มีระบบเศรษฐกิจ การบริหาร การจัดการกับความขัดแย้ง และกฎ เกณฑ์ ระเบียบปฏิบัติ กฎหมาย และรัฐธรรมนูญ โดยมีสถาบันต่างๆ ทำหน้าที่ดังกล่าวซึ่งจะส่งผลต่อคนทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในสังคมนั้นเมื่อคนอยู่ร่วมกันแต่ละคนจึงมีบทบาททั้งในระดับครอบครัว กลุ่มคน ชุมชน และสังคม แต่ละบทบาทย่อมต้องมีหน้าที่ของบทบาทนั้นๆ คนหนึ่งๆ มีหลายบทบาท เช่น เป็นลูก เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นเพื่อน เป็นสมาชิดกลุ่ม เป็นพลเมืองของประเทศ เป็นต้น เมื่อแต่ละบทบาทต่างทำหน้าที่ของตนย่อมต้องมีการติดต่อสื่อสารกัน เพื่อทำงานในกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันในบทบาทของตนคนที่มีปฏิสัมพันธ์กัน อยู่ร่วมกันในครอบครัว ในกลุ่ม ในชุมชน และในสังคมมายาวนานหลายชั่วอายุคน จะมีแบบแผนการดำเนินชีวิตที่คล้ายๆ กัน เรียกว่าอยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน วัฒนธรรม หมายถึงแบบแผนของความคิดและการกระทำที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคมหนึ่งๆ มีการอบรมบ่มเพาะรุ่นต่อรุ่น จนกลายเป็นความเจริญงอกงามของแบบแผนการเป็นอยู่นั้นๆ มีจารีต พิธีกรรม ศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณี และเทศกาลต่างๆ ที่แตกต่างจากสังคมอื่น ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาจะสะท้อนระบบความเชื่อ ค่านิยม และทัศนคติของคนในสังคมนั้นๆ  มิติจิตวิญญาณ (Spiritual dimension)จิตวิญญาณ (จิต + วิญญาณ) คือการคิดถึงเรื่องวิญญาณ วิญญาณคือความเป็นตัวตนของคนๆ หนึ่งที่มีบุคลิกลักษณะเฉพาะ บุคลิกลักษณะเป็นผลรวมของพฤติกรรมที่ทำซ้ำๆ กันในสถานการณ์ต่างๆ พฤติกรรมหรือการแสดงออกของสิ่งมีชีวิตเป็นผลที่เกิดจากข้อมูลรวมด้านจิตและใจ (Bio-information) วิญญาณจึงเป็นข้อมูลรวมของจิตและใจที่เป็นเครื่องแสดงความเป็นคนๆ หนึ่ง กล่าวอีกนัยหนึ่งจิตวิญญาณก็คือ ชีวิตจิตใจของคนๆ หนึ่ง หรือ การรับรู้และรู้สึกถึงความเป็นตัวตนของคนๆ หนึ่ง นั่นเอง เมื่อเป้าหมายของชีวิตมนุษย์คือการคงอยู่ มนุษย์ทุกคนจึงต้องการอยู่รอดและประสบความสำเร็จในสิ่งที่หวังและตั้งใจเพื่อความคงอยู่ของตนเอง เหตุนี้จึงทำให้มนุษย์ต้องการความมั่นคงปลอดภัย และต้องการมั่นใจว่าตนเองจะมั่นคงปลอดภัยจริงๆ หากยังไม่รู้สึกว่ามั่นคงปลอดภัยอย่างแท้จริง มนุษย์จะรู้สึกกลัว วิตกกังวล กลุ้มใจ ว้าวุ่น จนต้องหาหลักยึดหรือที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ที่ตนเองรู้สึกว่าได้รับการยอมรับจากสิ่งนั้น ในความเป็นตัวตนของตนเองและยินดีให้ความช่วยเหลือตน สิ่งที่มนุษย์ใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจจะต้องเป็นสิ่งที่มีพลังมากพอที่จะทำให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใส และเชื่อมั่นว่าสิ่งนั้นจะเป็นที่พึ่งของตนเองได้ เช่น พระเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหนือธรรมชาติทั้งหลาย คนที่มีบุญบารมีต่างๆ คนที่มีคุณงามความดีเป็นที่น่าเคารพนับถือ น่าศรัทธาเลื่อมใส และน่านิยมชมชอบ หรือแม้แต่บุคคลอันเป็นที่รัก ทั้งนี้แล้วแต่สถานะภาพของจิตและใจของบุคคลนั้นๆสิ่งสำคัญในมิติจิตวิญญาณคือ การรู้จักตัวตนของตนเอง ความรู้สึกในคุณค่าของตน ความรู้สึกว่าได้รับการยอมรับในความเป็นตัวตนของตนเอง ความหวัง และความศรัทธาเลื่อมใส จะเห็นว่าทั้ง 6 มิติมีความเกี่ยวข้องกันและแยกกันไม่ออกในการดำเนินชีวิตของคนตั้งแต่เกิดจนตาย การนึกถึงคนจึงต้องนึกถึงทุกๆ มิติของคนๆ นั้น หรือความเป็นองค์รวมของบุคคลนั่นเอง
หมายเลขบันทึก: 45505เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2006 20:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณท่านอาจารย์ที่ให้ความรู้ค่ะ จริงๆ แล้วแนวทางในการดูแลผู้ป่วย ทางการแพทย์และพยาบาลยึดแนวคิดขององค์รวมค่ะ แต่ในความเป็นจริงในการปฏิบัติ เท่าที่เห็นตอบสนองได้ไม่ครบแน่ๆ ค่ะเพราะการรักษาทั้ง 6 มิติที่อาจารย์พูดมาต้องใช้เวลาในการหาข้อมูล มาวิเคราะห์ วินิจฉัยก่อนทำการรักษา ต้องใช้เวลาในการซักถาม พูดคุย สังเกตุ ตอนนี้จากการเก็บข้อมูลในการตรวจผู้ป่วยไม่ว่าจะคนไข้ในหรือนอก บางครั้งไม่ถึง 5 นาทีด้วยซ้ำค่ะแล้วผู้ป่วยจะได้รับการตอบสนองครบทั้ง 6 มิติได้อย่างไร แม้ว่าจะพยายามมีการแบ่งแผนกในการดูแลผู้ป่วย พยายามบันทึกเพื่อเป็นสื่อในการติดตามดูแล อัตราส่วนในการดูแลผู้ป่วยระหว่างแพทย์ พยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆ ไม่สมดุลย์  แม้ว่าจะพยายามสร้างเครือข่ายในชุมชนก็ตาม  แต่ก็เอาใจช่วยทุกๆคนที่ทำงานอย่างตั้งใจค่ะ สู้ๆๆ ต่อไปนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท