ใกล้เกลือต้องกินเกลือ (อินเทอร์เนท VS หนังสือ)


Tacit Knowledge เมื่อก่อนเราคิดว่าต้องออกจากปากเป็นคำพูดเท่านั้น แต่ปัจจุบันเราสามารถนำ Tacit Knowledge ส่งผ่านหนังสือออกมาได้แล้ว

เมื่อมีปัญหาแต่ละครั้งท่านแก้ไขอย่างไร
เมื่อถูกคนตำหนิ วิพากษ์ วิจารณ์ในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เราควรทำอย่างไร

สิ่งแรกที่ผมทำอยู่เสมอก็คือ กลับมาย้อนดูตัวเองและให้หาคำตอบให้กับตัวเองว่า “ทำไมเราถึงทำอย่างนั้น”
คำตอบที่ผมกำลังหาคำตอบให้กับตนเองอยู่ในปัจจุบันที่ต้องทำให้กลับไปนอนคิดอยู่หลายตลบเหมือนกันว่า “ทำไมเราถึงต้องทุ่มเทเวลาให้บล็อกและอินเทอร์เนทมากมายถึงขนาดนี้”

“เพราะผมอยากเข้าถึงความรู้ที่มีพลังสูงสุดน่ะสิ” ถึงได้ทุ่มเทเวลาให้มากมายขนาดนี้

ก็เลยต้องนั่งอ่านบล็อก พยายามซึบซับและดึงดูด Tacit Knowledge ประสบการณ์ ค่านิยมต่าง ๆ ที่สั่งสมมาของ Blogger ทุก ๆ คนให้ได้มากที่สุด

มีครั้งหนึ่งที่ผมจำได้ไม่เคยลืม เมื่อได้ยิน ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน เคยพูดติดตลกในชั้นเรียนพุทธเศรษฐศาสตร์ว่า “คนเราที่ไม่สามารถพัฒนากันได้อย่างมากเท่าที่ควร ก็เพราะไม่สามารถถ่ายเทประสบการและนำประสบการณ์คนอื่นไปต่อยอดได้ อย่างประสบการณ์ของผมเนี่ย ผมตายไปก็หายไป ถ้ามีใครเอาประสบการณ์ของคนอื่นไปต่อยอดได้ ประเทศก็เจริญไปแล้ว”

ในใจผมคิดแว๊บขึ้นมาทันทีเลยครับว่า ถ้าท่านนำประสบการณ์ของท่านเล่าผ่านบล็อกล่ะก็ จะมีคนอีกหลายคนเลยครับที่จะนำประสบการณ์ที่มากมายของท่านไปต่อยอดให้ท่านได้อย่างอเนกอนันต์เลยครับ ดังเช่นที่ดร.ประพนธ์ เคยพูดกับผมว่า “Tacit Knowledge เมื่อก่อนเราคิดว่าต้องออกจากปากเป็นคำพูดเท่านั้น แต่ปัจจุบันเราสามารถนำ Tacit Knowledge ส่งผ่านหนังสือออกมาได้แล้ว”

นอกเหนือจากนั้นยังสามารถเสริมเพิ่มเติมด้วยการพยายามดึงความรู้แฝง embedded knowledge จากรอยเท้าและย่างก้าว รวมถึงเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ จากการดำเนินชีวิตและการทำงานของตนเองออกมาให้ได้มากที่สุดเพื่อเป็นการฝึกฝนตนเอง ผนวกกับ Tacit ของตนและของ Blogger ต่าง ๆ อ่านเสร็จ คิดเสร็จ สังเคราะห์เสร็จ แล้วก็นำไปทดลองใช้ เพราะ “ยิ่งใช้ยิ่งงอกงาม” ครับ

ทำไมเราถึงนั่งอ่านบล็อคและคนอื่นไปนั่งอ่านหนังสือจนทำให้เราต้องมีปัญหากับระบบอินเทอร์เนทของมหาวิทยาลัยอยู่คนเดียว?

เพราะผม “อยู่ใกล้เกลือ ต้องกินเกลือ” ก่อนครับ

พยายามเข้าถึงความรู้และเทคโนโลยีของทั้งโลก ซึ่งแหล่งความรู้ของโลกในปัจจุบันส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้ทางอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะความรู้ฝังลึกใน Blog ให้ได้มากที่สุดก่อน

ส่วนหนังสือที่เป็น explicit knowledge ก็ไม่ได้ทิ้งไปเสียเลย แต่เอาไว้อ่านเพิ่มเติม โดยเฉพาะ Pocket Book ของนักวิชาการท่านต่าง ๆ ที่สกัดหรือเด็ดยอดกันออกมาให้เราได้อ่านและสัมผัส เพื่อย้อนดูถึงสิ่งที่อาจจะขาดไปในเทคนิคที่ลงไปปฏิบัติ

ดังนั้นจึงพยายามต่อสู้และยืดหยัดกับจุดยืนทางด้านนี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยควร (ต้อง) พยายามที่จะจัดระบบให้นักศึกษา คณาจารย์และนักวิชาการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้สะดวกที่สุด เพราะเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนแล้วไม่แพงเท่ากับการเดินทางไปราชการเพื่อประชุมและสัมมนา

การเดินทางไปเข้าประชุมเสียทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าลงทะเบียนเข้าประชุม อื่น ๆ อีกจิปาถะ ค่าน้ำมันรถ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเอกสารรายงานการประชุม ยังไม่รวมค่าหนังสือ ค่าวารสาร ค่าหนังสือพิมพ์ บทความที่ต้องจ่ายเงินซื้อมา ต้องหาชั้นวาง ตู้ใส่หนังสือ ระบบการยืม-คืนอีกมากมาย ฯลฯ เราใช้อินเทอร์เนทไม่ดีกว่าเหรอครับ

โดยเฉพาะเอกสารหลักฐานและสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ของบ้านเรา บางครั้งระบบจัดเก็บข้อมูลในของหน่วยงานต่าง ๆ ก็ค่อนข้างเข้าถึงยาก (กว่าจะผ่านยามเข้าไปได้ก็แทบแย่ครับ ถามแล้วถามอีก นัดไว้หรือเปล่า) ต้องเดินทางไปถึงที่ของถ่ายเอกสารด้วยตนเอง บางครั้งก็ต้องเสียเวลาหลาย ๆ วันกว่าจะค้นหาเจอ


ปัจจุบันนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกต้องเดินทางขึ้นรถลงเรือตามสถานีรถไฟและสถานีขนส่งกันขวักไขว่มาก ๆ ครับ เพราะต้องเดินทางไปห้องสมุดตามมหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ เพื่อสืบค้นเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ค่อนข้างจะเข้าถึงยากมาก แต่ในอินเทอร์เนทและบล็อกนี้เราสามารถที่จะได้รับข้อมูล แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้ปฏิบัติจริง ๆ ทำให้การเรียนเป็นไปได้อย่างมีศักยภาพยิ่งขึ้น


ซึ่งอีกประการหนึ่งที่เป็นเป้าหมายหลักของการเรียนเรียนปริญญาเอกต้องคิดต้องค้นต้องหานวัตกรรมอะไรใหม่ ๆ
หนังสือให้คำตอบนี้ไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ครับ ถ้าได้ต้องใช้เวลาและต้นทุนสูงมาก ๆ
แต่อินเทอร์เนทและบล็อกตอบคำถามนี้ได้ ทำอะไรผิดปุ๊บ ซ้ำปุ๊บ พลาดปั๊บ มีนักวิชาการจากทั่วประเทศเข้ามาช่วยตรวจสอบทันที

ขอแถมในเรื่องของหนังสือและตำราระบบที่มาของหนังสือและตำราในปัจจุบันมีที่มาไม่ค่อยสวยงามเท่ากับในอดีต เพราะเมื่อต้องผูกติดกับระบบปฏิรูปการศึกษาที่ใช้มาตรฐาน KPI และการให้คะแนนต่าง ๆ เป็นตัวตัดสินคุณภาพของอาจารย์และสถาบันการศึกษา โดยเน้นที่ผลงานทางวิชาการ ตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งบันไดก้าวหนึ่งที่จะได้ตำแหน่งเหล่านั้น ก็ต้องผ่านก้าวของการเขียนหนังสือและตำรา บางท่านก็ตั้งใจเขียนเพื่ออยากถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ ความคิด ให้กับนักศึกษาได้อ่าน แต่ก็มีหลาย ๆ ท่านก็ถูกผู้บริหารบังคับให้เขียนเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ เพื่อไม่ให้หน่วยงานของตนตกไปอยู่ในลำดับท้าย ๆ เมื่อมีการจัดชั้นของมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้มีหนังสือและตำราออกมาจากสาเหตุนี้ค่อนข้างเยอะครับ  ซึ่งต้องคิดดูอีกชั้นหนึ่งว่า “ไม่วิจัยแล้วเอาอะไรมาเขียนหนังสือ”

ก็เป็นเหตุผลและมิติตามรูปแบบ “กบฏทางวิชาการ” ครับ ซึ่งพอที่จะได้ผ่านระบบอะไรต่าง ๆ และเจอที่มาของการศึกษาทั้งที่สัมผัสเองโดยตรงและโดยทางอ้อมก็เลยขอคิดใหม่ทำใหม่บ้างครับ ซึ่งอาจจะไม่ถูกระเบียบแบบแผนครูบาอาจารย์สักเท่าไหร่ครับ เพราะตามระบบการศึกษาต่างประเทศและบ้านเรา เจอหน้าที่ปรึกษาก็บอกได้อย่างเดียวว่า


“อ่านหนังสือเยอะ ๆ อ่านหนังสือมาก ๆ อินเทอร์เนทใช้อ้างอิงไม่ได้ เข้าห้องสมุดอ่านหนังสือ อ่านได้สักร้อยเล่มแล้วค่อยมาคุยกัน”

ในอนาคตที่ไม่ไกลหรืออาจจะไกล การศึกษาไทยอาจจะเปลี่ยนแปลงไปเป็น

"อ่านบล็อกเยอะ ๆ ใช้ปัญญาคัดกรองมาก ๆ ทดลองปฏิบัติเยอะ ๆ อินเทอร์เนทเป็นข้อมูลที่ใหม่ สด และเข้าถึงได้ดีที่สุด ใช้อินเทอร์เนทครบหนึ่งร้อยชั่วโมงเมื่อไหร่ แล้วค่อยมาคุยกันนะ”.......

วันนั้นจะมีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับทุก ๆ ท่านครับ.



บันทึกมาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ
ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

 

 

หมายเลขบันทึก: 45470เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2006 14:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)
เวลาที่ใช้ net ครบ 100 ชั่วโมงนี้ เป็นเวลาต่อสัปดาห์ หรือต่อเดือนครับ ของนายบอนหรือครับ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 10 ชั่วโมง จันทร์-ศุกร์ ได้เพียง วันละ 1 ชั่วโมง หรืออาจจะไม่เกิน 2 ชั่วโมง ความจริงไม่ได้ใช้ทุกวันหรอกครับ ส่วนเสาร์อาทิตย์ อาจจะเป็น 2 - 3 ชั่วโมง

ส่วนหนังสือในห้องสมุด ก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้อ่านมากมายถึงร้อยเล่มเลยนะครับ ถ้าได้อ่าน หยิบมาเปิดอ่านเฉพาะบทที่สนใจอ่าน ไม่มีโอกาสได้อ่านจบเล่มเหมือนสมัยเด็กๆเลยครับ สงสัยแบบนี้ อีกนาน นายบอนถึงจะได้มีโอกาสได้คุยกัน...
  • เป็นคำถามที่เยี่ยมมาก ๆ เลยครับนายบอน
  • หน่วยวัดเป็นเดือนครับ 100 ชั่วโมงต่อเดือน
  • อีก 100 ชั่วโมงเป็นการเรียนรู้ชีวิต ทดลองปฏิบัติจริง
  • ส่วนหนึ่งร้อยชั่วโมงในการเล่น Internet นั้นแบ่งออกเป็น การใช้บล็อคครึ่งหนึ่งและการสืบค้นหาข้อมูลจากทั่วโลกอีกครั้งหนึ่งครับ
  • ส่วนหนังสือเอาไว้อ่านตอนไฟดับ เนทล่ม หรือเวลาที่ไม่มีคอมพิวเตอร์อยู่ใกล้มือ
  • จากนั้นพักผ่อน ออกกำลังกาย ตามอัธยาศัย
  • เอ่ ผมตอบตรงคำถามหรือเปล่าครับนี่ ก็ประมาณนี้ครับ
  • ก็ให้เวลากับห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลกหน่อยครับ ประหยัดค่าใช้จ่าย ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง พอดีกับสถานภาพ ไม่ต้องเดินทางไปไหนไกล ไม่ต้องซีร้อก หาในอินเทอร์เนท เซฟใส่เครื่องไว้ ว่าง ๆ ก็เปิดอ่านครับ
  • ตอนกลางคืนก่อนนอนก็เขียนบล็อคพิมพ์บล็อคไว้ครับ
  • มีคนเขาว่าผมติดอินเทอร์เนทมาประมาณ สิบกว่าปีมาแล้วครับ วันไหนไม่ได้ใช้รู้สึกหงุดหงิด
  • เห็นด้วยกับหลาย ๆ อย่างที่อาจารย์บันทึกข้างบนครับ
  • สมัยอยู่ มทส. ยังเคยบ่นว่า net ช้าบ้าง ในบางช่วง  แต่ปัจจุบันขอบอกว่า คิดถึง net ที่ มทส. สุด ๆ ครับ ไม่ว่าใช้เวลาไหน ก็ OK ครับ  อย่างที่มีคนเขาพูดว่า  มีของดีใช้หรือใช้ของดี แต่ไม่เคยมีข้อเปรียบเทียบ ก็อาจจะไม่รู้ว่า ตนเองใช้ของดีอยู่

 

นายรักษ์สุขตอบได้ครบทุกประเด็นคำถามเลยครับ เกินความคาดหมายจากที่อยากจะได้คำตอบเสียอีก

สำหรับ net ที่ มมส. ก็เป็นอย่างที่ อ. panda ว่านั่นแหละครับ แต่ใน มมส. กับอุปสรรคในการใช้ net ก็มองวิกฤติให้เป็นโอกาสได้เหมือนกัน เนาะครับ นายบอนเลยได้แต่พิมพ์ข้อมูลรอการเพิ่มบันทึก เมื่อเวลาที่ไม่สามารถเข้า net ได้

อ่านแล้วอด comment ไม่ได้ ว่าจะไม่แล้วเชียว....Blog กับหนังสือได้คนละอารมณ์กันค่ะ
คนเขียน Blog ไม่ต้องคำนึงถึงการตลาด คนเขียนหนังสือเขียนตามความต้องการตลาด ขายได้...ขายไม่ได้ ขาดทุนคนไม่อ่านเพราะเรื่องที่เขียนไม่ถูกใจ..ตลาด คนเขียน Blog เพราะเชื่อในคุณค่าความรู้ฝังลึกของคน ดึงคุณค่าของตนออกมาสร้างสรรผลงาน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเป็นประโยชน์กับใคร แต่รังสรรค์ตามความคิดความอ่านของตน ปราณีตทุกครั้งที่เขียน ระมัดระวังต่อจุดที่อาจกระทบกระทั่ง....มีความสุข......  ดิฉันมีเรื่องเล่าเล็ก ๆ ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับต้นทุนการใช้ net ของดิฉัน(เรื่องนี้แบบว่า....เล่าเชิงด่าตัวเองไปด้วยค่ะ) ที่ทำงานของดิฉัน ม.สงขลานครินทร์ ที่นี่ใช้ net ฟรีทุกจุดในมหาวิทยาลัยเพียงคุณมี password ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาหรือบุคลากร มี "ไวเลท" ทั่วมหาวิทยาลัย  ดิฉันก็ใช้เรื่อยมาในนามนักศึกษาบ้าง บุคลากรบ้างเปลี่ยน password ใหม่ไปเรื่อยๆ  ตามอารมณ์ วันนึงกำหนดpassword เข้า gotoknow นี่แหล่ะ นั่งทำที่ทำงานคิดซะยาว(เป็นนามสกุลเดิมก่อนแต่งงาน)โดยลืมคิดว่าเราต้องใช้ที่บ้านด้วยที่บ้านใช้แบบการ์ดชั่วโมงละ 12 บาท ดันตั้งซะยาว กลับบ้านไปเปิดเข้า gotoknow ทีไรก็ต้องด่าตัวเองทุกที ยาวเชียว.....กว่าจะพิมพ์เสร็จ เสียเวลาไปหลายวินาที....เปลืองตังส์  แต่พอเปิดที่มหาวิทยาลัยไม่ยักกะคิดเพราะเป็นของหลวง ฮา....

อ่่าน commentคุณเมตตาแล้ว อด comment ไม่ได้ ว่าจะไม่แล้วเชียว. 5555

ในอีกมุมหนึ่ง การเขียนหนังสือที่ไม่ได้คำนึงถึงการตลาดก็พอจะมีอยู่บ้างนะครับ คือ หนังสือทำมือแบบที่นายบอนและพรรคพวกหลายคนเคยทำนี่แหละครับ เพราะเนื้อหาที่คิดจะถ่ายทอดออกมา ยังไงมันก็ขายไม่ได้ แต่มันมีคุณค่าในการอนุรักษ์ภูมิปัญญา แนวความคิด ฯลฯ ซึ่งเป็นองค์ความรู้เฉพาะท้องถิ่น หรือ เฉพาะบุคคล ยังไงมันก็ขายไม่ได้ หากคิดในแง่การตลาด ยังไงก็ไม่มีหนังสือทำมือแบบนี้ออกมาอย่างแน่นอน

แต่ในการเขียนบล็อก หรือสรรหาเนื้ือหามาลงในบล็อกแต่ละครั้ง ของนายบอนเนี่ย รู้นะครับว่า เป็นประโยชน์กับใครบ้าง โดยการคลิกดูที่สถิติที่เก็บรวบรวมไว้ และผู้เข้าชมว่ามาจากที่ไหนบ้าง เวลาเขาสืบค้นจาก google เขาค้นด้วยคำว่าอะไร

ตัวอย่าง

Last 20 Searchengine Queries Unique Visitors
  20 Aug, Sun, 23:55:15     Google:  �ѹ����ç��� blackhead mp3  
  21 Aug, Mon, 01:27:44     Google:  ไบโอดีเซล  
  21 Aug, Mon, 01:28:54     Google:  paploy  
  21 Aug, Mon, 05:27:34     Google:  ริสแบนด์  
  21 Aug, Mon, 06:38:54     Google:  the chant of metta  
  21 Aug, Mon, 08:47:56     Google:  เพลงลูกทุ่ง  
  21 Aug, Mon, 09:24:23     Google:  โคโค่ฮอล  
  21 Aug, Mon, 09:37:31     Google:  การพัฒนาตนเอง  
  21 Aug, Mon, 09:57:23     Google:  ไม้ไผ่สาน  
  21 Aug, Mon, 10:23:54     Google:  การจูงใจ  
  21 Aug, Mon, 10:43:18     Google:  ไบโอดีเซล  
  21 Aug, Mon, 11:03:43     Google:  ไบโอดีเซล  
  21 Aug, Mon, 11:04:50     Google:  เหน็บชา  
  21 Aug, Mon, 12:00:53     Google:  วางมือบนบ่า mp3  
  21 Aug, Mon, 12:11:07     Google:  ศิริพร อำไพพงษ์  
  21 Aug, Mon, 12:28:37     Google:  การวางแผน  
  21 Aug, Mon, 12:35:03     Google:  ประวัติ*รักการอ่าน  
  21 Aug, Mon, 12:42:08     Google:  แสงสุข  
  21 Aug, Mon, 12:44:12     Google:  ความดันโลหิต  
  21 Aug, Mon, 12:54:34     Google:  ไบโอดีเชล  


เราก็ตอบสนอง มีบันทึกเนื้อหาเรื่องในแนวนั้นออกมาครับ แม้หลายท่านอาจจะมองว่า การมีบันทึกเยอะๆ เน้นแต่ปริมาณเท่านั้น แต่ประเด็นที่นำเสนอ ยังมีน้อยใน net นายบอนเลยนำมาเติมเต็มเท่านั้น และดูจากสถิติ พบว่า ผู้ที่เข้ามาเปิดดูข้อมูลมาจาก google มากกว่าผู้อ่านใน gotoknow 70 : 30 เลยนะครับ

นายบอนเลยเพิ่มเนื้อหาไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้ใส่ใจว่า จะมีใครมาเขียนข้อคิดเห็นหรือไม่ เพราะกลุ่มเป้าหมาย คือผู้ใช้นอก gotoknow ครับ

  • ขอตอบประเด็นแรกครับ "เรื่องอินเทอร์เนท" 
  • นายบอนเก่งมาก ๆ เลยครับที่สามารถพิมพ์บันทึกรอระหว่างเนทช้าได้
  • แต่ผมเคยลองแล้วครับ "ทำไม่ได้ครับ" พิมพ์ได้แต่ก็ออกมาไม่ค่อยดีครับ
  • เพราะด้วยเหตุผลที่ดูไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไหร่ครับก็คือ "เสียรมณ์" คือเสียอารมณ์น่ะครับ
  • เพราะบันทึกที่เขียนออกมานั้น ผมต้องใช้พลังภายในเยอะมากครับ โดยเฉพาะที่ออกมาจากใจ ดังนั้นทำไปเสียอารมณ์ไปก็เลยออกมาไม่ค่อยดีในบางช่วงครับ
  • เขาบอกว่าการเขียนหนังสือหรือเขียนบันทึกของทุก ๆ ท่านก็เปรียบเสมือนศิลปินกำลังสร้างสรรค์ผลงามที่งดงามและล้ำค่า ดังนั้นต้องออกมาทั้ง ร่างกาย จิตใจและหัวสมองเลยครับ
  • ตอนนี้ก็เลยแก้ปัญหาไปว่า พิมพ์ที่หอพักตอนเช้าหรือตอนกลางวันในวันที่ไม่มีเรียนครับ
  • แล้วค่อยออกมาส่งตอนเย็น ๆ หรือตอนกลางคืน
  • แต่ถ้าเป็นเสาร์อาทิตย์นี่พอไหวครับ (นักศึกษาส่วนใหญ่กลับบ้าน) เนทไวใช้ได้ครับ
  • ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งเลยครับท่านอาจารย์ Panda
  • ตั้งแต่ครั้งแรกที่รู้สึกอินเทอร์เนทสมัยเมื่อเรียนในระดับปริญญาตรี ผมก็รู้สึกลุ่มหลงและหลงไหล พลังที่ซ่อนอยู่ของเนทมาก ๆ เลยครับ
  • ประกอบกับการที่ผมไม่ค่อยมีฐานะด้วยครับ ก็เลยไม่ค่อยมีเงินที่จะซื้อหนังสือมาอ่านครับ
  • หนังสือแต่ละเล่มก็หลักร้อยขึ้นไปครับ อยากอ่านแต่ก็ซื้อไม่ไหวครับ
  • ก็เลยเป็นแรงผลักดันทำให้ต้องหาทางออกที่สามารถค้นคว้าหาความรู้ที่ราคาถูกย่อมเยาว์ เหมาะสำหรับฐานะของตนเองครับ
  • ก็ได้มาเยอะอินเทอร์เนทนี่แหละครับ
  • จากนั้นผมก็ติดอินเทอร์เนทมาด้วยเหตุผลหลักดังกล่าวข้างต้นเลยครับ ทั้งตัวหนังสือ ภาพ เสียง คุ้มค่ากับการลงทุนมาก ๆ เลยครับ
  • อ่านในเนทเสร็จแล้วอยากนำไปอ่านต่อหรืออ่านอันไหนค้างไว้ก็จะเซฟไปอ่านที่บ้านครับ
  • ไม่ต้อง print ให้เปลืองหมึกเปลืองกระดาษด้วยครับ (ประหยัดเงินครับ) ทำไม่ได้มีมลพิษตามมาด้วยครับ

 

 

  • หลังจากที่ได้อ่านข้อคิดเห็นของทั้งคุณเมตตาและนายบอนแล้วอยากบอกว่า "โดนใจสุด ๆ เลยครับ"
  • ประเด็นเรื่องหนังสือกับเรื่องของการตลาด เป็นประเด็นที่ผมอยากจะเขียนมาก ๆ ครับ คือตอนแรกเขียนใส่กระดาษไว้แล้วครับรวมกับบันทึกนี้
  • แต่ยังไม่กล้าที่จะนำเสนอออกมาครับ ก็เลยขอดูทิศทางลมก่อนครับ
  • แต่พอคุณเมตตากับนายบอนเข้ามาแลกเปลี่ยนแบบนี้เป็นพลังที่สำคัญมาก ๆ เลยครับ ว่าสิ่งที่ผมคิดผมไม่ได้เพ้อฝันหรือบ้าไปคนเดียวครับ
  • เพราะนักวิชาการและผู้บริหารในบ้านเมืองของเรายังไม่ค่อยยอมรับข้อมูลจาก Internet โดยเฉพาะใน G2K ที่จะสามารถไปอ้างอิงในเอกสารทางวิชาการต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่น่ะครับ โดยเฉพาะในงานวิจัย วิทยานิพนธ์หรือดุษฎีนิพนธ์ครับ
  • แต่ถ้าทิศทางลมเป็นแบบนี้ ผมเองคิดว่าคงจะอีกไม่นานครับที่ข้อมูลต่าง ๆ ใน Blog จาก Teacher Blogger แต่ละท่านจะสามารถใช้เป็นที่เผยแพร่และอ้างอิงจนเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการของประเทศและของโลกครับ
เรื่องข้อมูลที่ถูกเผยแพร่และเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการนั้น เริ่มมีการอ้างอิงในบทความทั่วไปอยู่บ้างครับ ในเรื่องที่มีข้อมูลน้อย และผู้เขียนบทความได้กลั่นกรองเนื้อหาในเวบชั้นหนึ่งแล้ว

แต่สิ่งสำคัญจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่ อยู่ที่คุณภาพของเนื้อหา อย่างบันทึกหลายเรื่องของนายรักษ์สุข สามารถหยิบไปอ้างอิงในบทความวิชาการทางด้านสังคมได้อย่างสบาย และสามารถจุดประกายความคิดให้เกิดประเด็นทำวิจัยได้อีกหลายเรื่องทีเดียว ครับ
  • ผมดีใจจริง ๆ ครับที่เริ่มที่วงการวิชาการและการศึกษาไทยเริ่มนำไปใช้ครับ เพราะบทความของนายบอนก็สามารถใช้ได้อย่างดียิ่งเลยครับ

 

มีอีกหลายบทความของนายรักษ์สุขที่หยิบไปอ้างอิงได้ครับ เหมือนกับบทความใน gotoknow ชิ้นอื่นๆ เพียงแต่เจ้าของบทความไม่ค่อยทราบว่า ถูกตีพิมพ์ลงที่ไหนบ้าง พอเห็นบรรณานุกรมที่ระบุที่มาและ url ถึงรู้ว่า ได้มีการถูกนำไปอ้างอิงจริงๆ เช่น บทความของ ดร.ประพนธ อ.หมอวิจารณ์ ครับ นายบอนเคยเห็นในวารสารของราชภัฏแห่งหนึ่งที่เคยไปเิปิดอ่านเมื่อ 2-3 เดือนก่อน แสดงว่า บทความใน gotoknow ได้รับการยอมรับแล้วนะครับ เพียงแต่หลายท่านอาจจะไม่รู้ เพราะอาจจะไม่ไ่ด้ไปเปิดดูวารสารในห้องสมุดก็เท่านั้นเองครับ

เพราะแต่ละท่าน เปิดอ่านจาก gotoknow จนไม่มีเวลาไปเปิดอ่านจากที่อื่นๆมากนัก :)))))

จริงมาก ๆ เลยค่ะ  เพราะตอนนี้กำลังติดอ่าน blog จาก gotoknow ทุกวันเลยค่ะ  วันไหนเข้าเน็ทไม่ได้ทำให้หงุดหงิด  อารมณ์เสียที่ไม่ได้อ่าน blog ของทุกวันที่ post  ^_^

 

  • ขอบพระคุณนายบอนมาก ๆ เลยครับที่นำข่าวดีเช่นนี้มาแจ้งครับ
  • ถ้าผมไปเจอการอ้างอิงที่ไหน ก็จะนำมาเติมเต็มและต่อยอดในบันทึกให้อีกแรงครับนายบอน
  • ขอพลังแห่งความเพียรจงสถิตกับนายบอนตลอดไปครับ
  • ขอบพระคุณมาก ๆ เลยครับคุณบุบผา
  • เข้ามายืนยันและเติมเต็มบันทึกนี้ได้อย่างดียิ่งเลยครับ
  • ผมก็เคยคิดเหมือนกันว่าวันไหน เนทล่มหรือ server เสีย คงจะเหงาและอึดอัดมาก ๆ เลยครับ
  • ขอพลังแห่งความรู้จงสถิตกับคุณบุบผาตลอดไปครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท