อีกหนึ่งชีวิตของเด็กกำพร้าลูกพ่อแม่ไทย ที่รอการแก้ปัญหาสถานะและสิทธิ


ชีวิตซึ่งนับวันก็ยิ่งเติบใหญ่ขึ้น คงไม่อาจหลบเลี่ยงปัญหาต่างๆ ได้ง่ายเช่นตอนเป็นเด็ก... การอยู่โดยไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนใดๆ เลย คงทำให้ชีวิตเด็กกำพร้าเช่นน้องโบ ยิ่งทุกข์หนักซ้ำเติม

ตอนอยู่กับยาย โบคงไม่ค่อยมีอะไรกิน อดๆอยากๆ  พอมาอยู่บ้านพี่แรกๆ พี่เจอตอนแกกำลังชวนลูกชายพี่ คั่วขี้แพะในกระทะกินกันอยู่

                นางมีนะ และนายสมหมาย (นามสมมติ) พ่อแม่อุปการะ ซึ่งมีพื้นเพอยู่ที่อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เล่าให้ฟังว่า ได้รับอุปการะน้องโบมาเป็นเวลา ๔ ปีแล้ว (ประมาณปี พ.ศ.๒๕๔๕)

 

โดยตอนแรกที่รับมาเลี้ยง น้องโบอายุเพียง ๓ ขวบ ร่อนเร่ไปมากับยายซึ่งอยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง เมื่อยายมาขอทำงานกับพี่เขยของนางมีนะซึ่งทำงานอยู่ที่แคมป์ก่อสร้าง ด้วยความยากจนและเห็นว่านางมีนะไม่มีลูกสาวและอยากรับเลี้ยงน้องโบ ยายจึงยกน้องโบให้นางมีนะเลี้ยงดูตั้งแต่นั้นมา  และจากนั้นไม่นานยายก็หายสาบสูญไป และไม่ได้กลับมาอีกเลย

 

                นางมีนะ และนายสมหมายทราบข้อมูลน้องโบบ้าง จากที่ยายเคยเล่าให้ฟังว่า พ่อของโบเป็นคนอีสานมารู้จักกับแม่โบตอนทำงานด้วยกัน เมื่อแม่โบตั้งท้อง พ่อโบก็กลับบ้านที่อีสาน แม่โบจึงแต่งงานกับสามีคนใหม่ และคลอดโบ แต่ต่อมาเมื่อเลิกกับสามีใหม่ ก็ทิ้งโบไว้ให้ยายเลี้ยง ยายจึงต้องเลี้ยงดูโบตามมีตามเกิด จนมายกให้นางมีนะอุปการะต่อจนถึงปัจจุบัน

 

                นางมีนะ เล่าให้ฟังว่า เมื่อเกือบปีที่ผ่านมา แม่ของโบเคยสืบหาและติดตามมาเยี่ยมโบครั้งหนึ่ง จึงได้ทราบว่าแม่โบเป็นคนที่เกาะลันตา อายุประมาณ ๒๔ ปี ตอนนั้นทราบว่าทำงานอยู่ที่จังหวัดพังงา  แต่เมื่อมาเยี่ยมก็ไม่รู้จักโบเพราะไม่เคยเห็นหน้าลูก ส่วนโบเมื่อเจอหน้าแม่ก็ร้องไห้เพราะไม่รู้จัก หลังจากนั้นก็ไม่เคยได้ข่าวคราวของทั้งแม่และยายอีกเลย

 

                ปัจจุบันโบ กำลังเรียนชั้น ป.๑ ที่โรงเรียนประถมใกล้บ้าน บนเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โดยตอนเข้าเรียนไม่มีเอกสาร และไม่ได้แจ้งวันเดือนปีเกิด แต่โรงเรียนก็รับเข้าเรียน เพียงแต่นางมีนะและนายสมชายก็กังวลใจว่า เมื่อโบเรียนจบ ก็จะไม่มีวุฒิการศึกษา

 

                นอกจากนี้ เพราะโบไม่มีเอกสารประจำตัวใดๆ โบจึงไม่มีสิทธิได้รับหลักประกันสุขภาพ ๓๐ บาท ดังนั้น เมื่อโบเจ็บป่วย พ่อแม่อุปถัมภ์ซึ่งก็ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย จึงจำเป็นต้องดิ้นรนโดยใช้วิธีพาลูกชายคนเล็ก ซึ่งอายุเท่ากับโบ และมีบัตรประกันสุขภาพ ๓๐ บาท ไปหาหมอแทนตัวโบ และบอกอาการเจ็บป่วยของโบ เพื่อให้หมอจัดยาให้ และนำยานั้นกลับมาให้โบรับประทาน

 

                แต่ชีวิตซึ่งนับวันก็ยิ่งเติบใหญ่ขึ้น คงไม่อาจหลบเลี่ยงปัญหาต่างๆ ได้ง่ายเช่นตอนเป็นเด็ก ยิ่งถ้าเรียนจบ ต้องเดินทาง ทำงานเลี้ยงชีพ หรือใช้ชีวิตเลี้ยงดูตนเองและผู้มีพระคุณ การอยู่โดยไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนใดๆ เลย คงทำให้ชีวิตเด็กกำพร้าเช่นน้องโบ ยิ่งทุกข์หนักซ้ำเติม

 
หมายเลขบันทึก: 45292เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2006 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ครูประจำชั้นเคยพยายามประสานกับอำเภอ เพื่อให้พ่อแม่อุปถัมภ์พาโบไปแจ้งเกิด โดยชี้แจงว่าต้องการรับอุปการะเด็ก ซึ่งทางอำเภอแนะนำ ๒ วิธี

 

๑) ให้หาพยาน ได้แก่ หมอตำแย หรือ คนที่อยู่ตอนคลอด พ่อแม่เด็ก และผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันในชุมชนที่เด็กเกิด 

ซึ่งกรณีนี้พ่อแม่อุปถัมภ์ไม่รู้ว่าจะหาพยานได้ที่ไหน เพราะไม่รู้ว่าโบเกิดที่ไหน

 

๒) ให้เอาเด็กไปเข้าสถานสงเคราะห์ และให้เขาดำเนินเรื่องตามขั้นตอนให้

แต่กรณีนี้ พ่อแม่อุปถัมภ์ยังไม่ได้ทดลองดำเนินการ เพราะเกรงว่าทางสถานสงเคราะห์จะไม่ให้เด็กกลับมาอยู่กับตนอีก เพราะครอบครัวตนมีฐานะยากจน

แล้วจะมีวิธีไหนบ้างที่จะช่วยน้องโบได้ ช่วยแนะนำหน่อยค่ะ ??

รบกวนคุณมงคล ยะภักดี และท่านอื่นๆ ขอความเห็นในการแก้ปัญหาให้น้องโบ และเด็กในสถานการณ์เดียวกันด้วยค่ะ

ขอให้ต้องทำจดหมายพร้อมบันทึกจากโครงการวิจัยเพื่อเรียนปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ผ่าน ผอ.สทอ.นางดรุณี เทพเฉลิม

แล้วเราจะยื่นในวันที่ อ.แหววจะไปอภิปรายเรื่องคนชายชอบ, ในการสัมมนาเรื่องคนชายขอบ, จัดโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ณ ห้องประชุม 3 อาคาร 60 ปี บ้านราชวิถี

ในวันนั้น จะได้เจอผอ.สทอ.นางดรุณี เทพเฉลิม คงได้ฝากท่านไป

ในวันนั้น อ.แหววจะพูดถึงกรณีของน้องนุ่น น้องโบ  ดีไหม ? ช่วยเสนอแนะหน่อย

แต่ในช่วงบ่าย มีเวทีระดมความคิดเห็นทั่วไป อ.แหววต้องไปสอนหนังสือ อยู่ร่วมตอบคำถามต่างๆ ไม่ได้ อยากขอแรงต้องและตี๋ไปแลกเปลี่ยนกับข้าราชการจำนวน ๕๐ คนของ สทอ.ซึ่งเป็นกรมที่อยู่ในสังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เข้าไปทำงานกับผู้ด้อยโอกาสทุกจำพวก (เช่น คนชายขอบ คนไร้ถิ่นที่อยู่ คนที่อยู่ในคุก หรือคนที่เพิ่งพ้นโทษ)ตั้งแต่เกิดจนตาย

เขาขอเอกสารประกอบการเสวนา จะพิจารณาเอาเรื่องประมาณนี้ใส่เข้าไปด้วย

ถ้าเข้าใจไม่ผิด ต้องจะเอาเรื่องของน้องโบ เสนอคุณจาตุรนพร้อมเรื่องของน้องนุ่นใช่ไหมคะ

อย่าช้านะ

แน่นอนค่ะอาจารย์ แล้วกำลังรวมน้องๆ อีกหลายกรณีจากกรณีศึกษาที่เราเลือกศึกษาในงานวิจัยสึนามิค่ะ

ขอบคุณคุณสิรินยา อย่างยิ่งครับ

บล็อกของคุณสิรินยา และของท่านอาจารย์ archanwell   แน่นด้วยเนื้อหาและความมุ่งมั่นจริงๆ ครับ
ในส่วนของท่านอาจารย์แน่นทั้งเนื้อหาวิชาการ ทั้งความตั้งใจมั่น  ขณะที่ในส่วนของคุณสิรินยาเอง ก็เต็มไปด้วยรายละเอียดที่มุ่งมั่น  เป็นบล็อกที่ผมได้เข้าไปเรียนรู้ เข้าไปค้น(แล้วก็)คว้า อยู่บ่อยครั้ง  พอๆ กับเมื่อครั้งที่เรียนก็อาศัยตึกนิติศาสตร์
ก็พอได้กลิ่นอายของนักกฎหมายอยู่บ้าง--เป็นนักกฎหมายที่มีวิทยานิพนธ์ปกสีขาว

ขอบคุณคุณคุณสิรินยาครับ ที่กรุณาเข้าร่วมถาม
และขออภัยที่เข้ามาตอบได้ช้า เพราะเหตุขัดข้องหลายประการ
ในจำนวนนั้นคือ เป็นช่วงชีพจรลงเท้า พรุ่งนี้ และมะรืนนี้ ก็คงอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ กับเรื่องราวแก้จนแบบบูรณาการ (ทำให้ซอยลึกยิ่งขึ้น)  ขณะที่ วันพุธ พฤหัส ศุกร์ และเสาร์ จะอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี กับการโดนกักในห้องประชุม (ฮา)

กรณีของน้องโบ (นามสมมติ) ที่ได้รับคำแนะนำจากอำเภอ 2 วิธีนั้น ขอ ลปรร. เบื้องต้นสักเล็กน้อย
และไม่ยังไม่อยากให้คุณสิรินยา และใครๆ อ้างอิงนะครับ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้สืบค้น/ตรวจสอบ รายละเอียดของกระบวนการช่วยเหลือที่ถูกต้องและดำเนินการทั่วไป

1. กรณีการดำเนินการด้านเอกสาร/หลักฐานประจำตัวบุคคล
ผมว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างหนักหนาเอาการทั่วไทย และเข้าใจว่ากรณีลักษณะนี้ คุณสิรินยาเองก็คงประสบในทุกแห่งที่ลงพื้นที่วิจัย คือ อำเภอจะแนะนำว่าให้ผู้นำชุมชน ผู้สูงอายุ ผู้ทรงคุณวุฒิ และสารพัดคน/ตำแหน่งที่น่าเชื่อถือในชุมชน ฯลฯ ทำเรื่องยืนยันรับรองบุคคลดังกล่าวเข้าไปที่อำเภอ  ปัญหาที่ผมประสบและเห็นว่ามีลักษณะร่วมกันในหลายๆ พื้นที่ คือ พออำเภอแนะนำอย่างนั้น ก็จะมักจะมีคำถามว่า "แล้วใครละจะเริ่ม ?"-- อบต. จะถามไปที่กำนัน--กำนันจะถามไปที่ผู้ใหญ่บ้าน--ผู้ใหญ่บ้านจะถามไปที่ญาติๆ--วกไปวนมา มักจะออกไปที่ขอความอนุเคราะห์ท่าน ส.ส.   เมื่อกล่าวโดยสรุป ทั้งหลายทั้งปวงมักจะยุติลงด้วย "ความกลัว"--"ความไม่ชัดเจนในนโยบาย"--"ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร"

อย่าได้แปลกใจถ้าคนในบางพื้นที่ (ที่มีอายุมากกว่าวัยกลางคน) จะไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ไม่มีเลข 13 หลัก และกลายเป็น "ชาย-หญิง ไม่ทราบชื่อ  คนในพื้นที่เรียกกว่า..........."

ในส่วนของผมเอง คำถามที่โยนไปให้น้องการเงิน-พี่พัสดุ คือ "ทำอย่างไร ให้ผมได้เงิน ได้ของ ได้วิชา ไปมอบให้กับกลุ่มคนไม่มีเลข 13 หลัก"  เพราะหน่วยงานอื่นอาจอ้างเหตุความมั่นคงได้ แต่กับหน่วยงานของผมถ้าอ้างเหตุเดียวกันเขาคงตายกันพอดี เพราะถูกลุกไล่จนไม่มีพื้นที่จะยืนในสังคมกันอยู่แล้ว  และมักจะสรุปตรงที่ผมใช้ตำแหน่งนักสังคมฯรับประกัน ใช้ตำแหน่งผู้นำชุมชนรับประกัน--รับประกันความยากลำบาก รับประกันความเดือดร้อนโดยไม่มีเงื่อนไข  หากแต่ก็ยังไปไม่ถึงเลข 13 หลักอยู่เช่นเดิม

โชคดีที่น้องการเงินของผมไม่ได้โตมาจากการเป็นการเงิน เลยทำให้สะดวกในหลายๆ อย่าง

2. กรณีคำแนะนำให้นำเด็กเข้าสถานสงเคราะห์
ผมเข้าใจเอาเองว่า เจ้าหน้าที่ผู้แนะนำคงหมายเอาว่าให้ไปเริ่มนับหนึ่งที่สถานสงเคราะห์
เป็นการที่พ่อ-แม่อุปถัมภ์ (คุณมีนะ-คุณสมหมาย) นำเด็กไปฝากในสถานสงเคราะห์ เพื่อการดูแล/ฟื้นฟูชั่วคราวเพราะเหตุว่าตัวเองเดือดร้อน ไม่อาจให้การอุปการะได้เต็มความสามารถ ฯลฯ  แล้วต่อมาคุณมีนะก็ยื่นคำร้องขอรับตัวกลับไปดูแลต่อที่บ้าน

ซึ่งกรณีดังกล่าวจะทำให้สถานะของทั้ง 2 ฝ่ายเปลี่ยนไป  น้องโบ (นามสมมติ) กลายเป็นคนของบ้านใหญ่ (สถานสงเคราะห์) อยู่ในความดูแลของบ้านใหญ่/รัฐ
ขณะเดียวกัน คุณมีนะ ก็อยู่ในสถานะครอบครัวอุปถัมภ์/ผู้รับอุปการะ มีผลผูกพันให้ครอบครัวต้องรายงานความเป็นไปของน้องโบให้ทราบทุกระยะ
การเข้ารับการรักษาพยาบาล/การใช้สิทธิต่างๆ จะดำเนินการผ่านหนังสือทำนองว่า

เรื่อง  ขอความอนุเคราะห์ยกเว้นค่ารักษาพยาบาล
เรียน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล.......

........เด็กหญิงโบว์ (นามสมมติ) เป็นผู้ใช้บริการ/ผู้รับการสงเคราะห์ ในสถานสงเคราะห์....  ต่อมาคุณ.......ได้แจ้งความประสงค์ขอรับตัวเพื่ออุปการะในรูปของครอบครัวอุปถัมภ์.....  ซึ่งเด็กหญิงโบ (นามสมมติ) ไม่มีเอกสารสิทธิในการรักษาพยาบาล  จีงใคร่ขอความอนุเคราะห์ยกเว้นค่ารักษาพยาบาล......

ขอแสดงความนับถือ
ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์...........

คุณสิรินยาจะเห็นได้ว่า กรณีดังกล่าวข้างต้น มิได้เกี่ยวข้องกับเอกสารสิทธิแต่อย่างใด หากแต่เป็นไปเพื่อให้ได้รับการบริการในฐานะคนของสถานสงเคราะห์เท่านั้น เป็นการทำให้เขามีสถานะ มีตัวตนในสังคมเท่านั้น


สิ่งที่พึงระวังในกรณีดังกล่าวคือ การที่ควรบันทึกสารพัดเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการดำงาน เพื่อสร้างร่องรอย/บันทึกประวัติให้กับน้องโบ (นามสมมติ) ถ้าจะว่าไปแล้ว บล็อกของคุณสิรินยา บล็อกของท่านอาจารย์ ก็เป็นร่องรอยเกี่ยวกับประวัติของน้องเขา เป็นการบันทึกด้วยความปรารถนาดี เป็นการบันทึกเพื่อประโยชน์ต่อยอดของน้องเขา  เพราะไม่ว่าใครก็ตามคงไม่สุขใจนักหรอกใช่ไหมครับที่เป็นเด็กสถานสงเคราะห์ เป็นเด็กที่ถูกบันทึกประวัติว่าถูกทิ้งแต่วัย 3 ขวบ

ผมละกลั๊ว กลัว เวลาผมอ่านแฟ้มประวัติคนในบ้าน ที่ถูกบันทึกแบบน่าใจหาย
เจ้าหน้าที่บันทึกไว้ อยู่ด้วย ช่วยเหลือสักพัก แล้วก็จากไป  แต่แฟ้มประวัติของเจ้าตัว ยังคงอยู่ตราบนานเท่านาน
ประวัติที่ถูกสร้างขึ้นโดยใครก็ไม่รู้

และมักอ้างง่ายๆ ว่า

"ก็บันทึกตามคำบอกเล่าของเจ้าตัว"

เพราะเหตุอย่างนั้น บันทึกในแฟ้มประวัติทำนองว่า
อาชีพ :  โสเภณีสนามหลวง
รายได้  : วันละ 200-300 บาท ไม่แน่นอน

จึงมีให้เห็นอยู่บ่อยๆ


ผมเขียนอะไรไปเสียยาว ไม่รู้ว่าจะได้ความอย่างที่คุณสิรินยาต้องการหรือไม่
รับปากครับว่า จะประสาน/ขอรายละเอียดเรื่องนี้ให้ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ใกล้เคียงกระบี่


ขอชื่นชมคุณสิรินยานะครับ ทั้งขออภัยที่มาช้าไปสักหน่อยครับ

ฝากขอความชื่นชมไปยังคุณมีนะ และคุณสมหมายด้วยครับ
ฝากเรียนไปด้วยว่า ท่านทั้ง 2 เป็นผู้ยังโลกให้สดใสโดยแท้

ขอบคุณคุณมงคลมากๆ ค่ะ สำหรับความรู้ ประสบการณ์ และกำลังใจ ที่รู้สึกดีมากๆ คือรู้ว่าปัญหาของเด็กที่เราพบ ได้รับความสนใจจากอีกหลายๆ ท่าน

โดยเฉพาะความรู้และคำแนะนำที่ช่วยแบ่งปันมา ช่วยให้พวกเราที่มีความรู้เล็กๆ เฉพาะในวงคนทำงานไร้รัฐไร้สัญชาติ ได้มีมุมมองและความรู้ความเข้าใจมากขึ้น

และขอขอบคุณมากสำหรับความกรุณาที่จะช่วยขอรายละเอียดให้ค่ะ จะคอยคำแนะนำที่สามารถบันทึกได้ในงานวิจัยด้วยค่ะ

ขอให้มีความสุขกับการประชุมตลอดอาทิตย์นะคะ

 

มีเรื่องอยาก ลปรร กับคุณมงคลมาก แต่ตอนนี้ ไม่ค่อยมีเวลาเลย

อีกสักพักนะคะ

นึกถึงน้องสาวเลยค่ะ เป็นลูดสุดท้องของน้าชาย พ่อแม่เลิกกัน ตอนนี้แม่รับเลี้ยงอยู่ค่ะ อายุประมาณ4ขวบ ไม่มีเอกสารอะไรติดตัวเลย เวลาเจ็บป่วย ไม่เคยไป โรงพยาบาล เพราะห่วงเรื่องค่าใช้จ่าย อาศัยแค่ซื้อยาให้กิน เป็นห่วงน้องมาก ปีหน้าห่วงจะเข้า โรงเรียนยังไง อยากทราบว่า เราสามารถทำอะไรได้บ้างคะ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท