ขายความคิดการพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อท้องถิ่น


กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น เราพยายามช่วยว่าที่นักวิจัยชาวบ้าน พัฒนาโจทย์โดยการ "ค้นหาของดี" ค้นหาทุนที่มีอยู่ในชุมชน เวทีนี้เราและชุมชนจะช่วยพากันมองถึงสิ่งที่ดีๆในชุมชน เป็นศักยภาพ หรือ จุดแข็งของชุมชน ตามหลัก SWOT Analysis

เมื่อสองวันก่อนผมได้ไปที่ ศบอ.ปายเพื่อไป จับภาพ KM ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ สคส. และที่นั่นเราได้เห็นภาพของการก่อเกิด KM ที่น่าสนใจหลากหลายประเด็นด้วยกัน
 

ผมได้พูดคุยกับ อาจารย์สุรินทร์ หมูคำ เรื่องของการคิดโครงการพัฒนาชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน (ดูเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก)  อาจารย์คุยให้ผมฟังบอกว่า เข้าไปในหมู่บ้านกระเหรี่ยงแห่งหนึ่งในเขตอำเภอปาย และได้ทดลองทำเวทีเพื่อหาัปัญหาของชุมชน เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาของชุมชน

ปรากฏว่าปัญหาที่ได้เป็นเรื่อง หนี้สิน เป็นเรื่องปากท้องทั้งหมด ไม่รู้จะเริ่มต้นแก้ไขปัญหาอย่างไร

ผมเคยพบอาจารย์สุรินทร์ ที่เวทีชุมชนคนวิจัยแม่ฮ่องสอน ครั้งหนึ่ง ผมเข้าใจว่าอาจารย์สนใจกระบวนการวิจัยกับการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่ง งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่แม่ฮ่องสอนเราได้พัฒนาโครงการขึ้นทั่วทุกพื้นที่ ที่แม่ฮ่องสอนและเราประสบความสำเร็จ ในแง่ของการพัฒนาคนในชุมชนได้พอสมควร

ธรรมชาติของการจัดเวทีเพื่อระดมปัญหา เรามักจะพบว่า ปัญหาที่ได้ส่วนใหญ่(เหมือนกันเกือบทั้งหมด) คือ ปัญหา ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย ๔ ที่ใช้ในการดำรงชีพ เรามักจะได้ปัญหาว่า ไม่มีเงินทุน จน มีหนี้สิน ขาดโน่น ขาดนี่ แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็นำปัญหาที่ได้มาวางแผนแก้ไขปัญหากันตรงๆ และก็จบตรงนั้นเลย ...ถือว่าเป็นการวางแผนพัฒนาแบบมีส่วนร่วมแล้ว

คิดกันง่าย ทำกันง่ายๆ แต่แก้ไขปัญหาได้ครับ แต่ได้ระยะสั้นๆ ไม่ได้ยั่งยืน เพราะส่วนใหญ่เป็นลักษณะการพัฒนาเชิงสงเคราะห์เป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้มีกระบวนการพัฒนาศักยภาพชุมชนแต่ประการใด...นี่ไม่ได้เขียนกระทบหน่วยงานใดครับ

อาจารย์สุรินทร์ ตั้งคำถามต่อว่า ควรจะทำอย่างไรต่อไป ?

เพราะอาจารย์ยังนึกกระบวนการต่อเนื่องไม่ออก หากจะนำเนื้อหาปัญหาที่ได้มาวางแผนเลยก็ไม่รู้จะแก้ไขเรื่องอะไรดี เพราะพบแต่ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาใหญ่

ผมบอกว่า ปัญหา หากเราสืบเสาะหาในชุมชน เราก็จะพบปัญหามากมายที่เห็น และที่ไม่เห็น และได้ปัญหามามากมายตามที่เราต้องการ...นั่นถือว่า เราได้จุดอ่อน ข้อจำกัดของชุมชน  เป็นปฐมบทที่ดีในการทำเวทีต่อเนื่อง

กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น เราพยายามช่วยว่าที่นักวิจัยชาวบ้าน พัฒนาโจทย์โดยการ "ค้นหาของดี" ค้นหาทุนที่มีอยู่ในชุมชน เวทีนี้เราและชุมชนจะช่วยพากันมองถึงสิ่งที่ดีๆในชุมชน เป็นศักยภาพ หรือ จุดแข็งของชุมชน ตามหลัก SWOT Analysis

ของดีและจุดอ่อน ทั้งหมดทั้ง ๒ เวทีที่ได้นี่หละครับ สำคัญ...เพราะทำให้ชุมชน "รู้ตัวเอง" หรือที่ภาษาเหนือเราเรียกว่า "ชุมชนฮู้คิง" 

การที่ชุมชนรู้ตัวเอง เป็นเรื่องที่ง่ายที่เราจะคิดกระบวนการพัฒนาที่เสริมต่อศักยภาพ ทุน ที่มีอยู่ เพื่อแก้ไขจุดอ่อนของชุมชน...

การคิดแบบนี้ดีกว่า จะหากระบวนการที่จะแก้ไขปัญหา จากสภาพปัญหา ทำไปมีแต่ทดท้อ สุดท้ายก็ถอดใจ...จนกันต่อ

ผมบอกอาจารย์สุรินทร์ว่า  "เวทีนี้มีพี่เลี้ยง" ผมชื่มชมอาจารย์ที่พยายามที่จะพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง พัฒนาชุมชนให้ขจัดปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้น...ผมขออาสาร่วมด้วยช่วยกัน

   ชุมชนเข้มแข็ง ทุกคนมีสุข ไม่เครียด ไม่จน 

 

เพราะอย่างน้อยเมืองปายก็บ้านเกิดผม...และสานต่อความตั้งใจดีๆของ ศบอ.ปาย  เรานัดแนะว่าจะจัดเวทีเพื่อค้นหาศักยภาพชุมชนกระเหรี่ยงบ้านแม่ปิงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

(เท่าที่ผมสังเกตชุมชนนี้มีของดีที่พอเห็นได้ คือ การทอผ้า การฟอกย้อมแบบภูมิปัญญากระเหรี่ยง)  งานนี้น่าสนใจครับ

 

การฟอกย้อม การทอผ้า ถือว่าเป็นทุนทางปัญญาของคนกระเหรี่ยง 
 

เรื่องราวการเข้าไปทำเวทีในชุมชนจะเป็นอย่างไร ผมจะนำมาเล่าในบันทึกผมครับ 



ความเห็น (12)
  • ขอบพระคุณมากครับที่นำมาแบ่งปัน
  • จะคอยติดตามตอนต่อๆ ไปนัครับ

วันที่ ๒๒ ช่วงกลางคืน ผมจะไปสมทบทีมของ ศบอ.ปาย เพื่อไปทำเวทีพัฒนาโจทย์ คิดว่า เราน่าจะได้โจทย์พัฒนาที่น่าสนใจครับ

แล้วจะนำมา ลปรร. ในบันทึกผม บันทึกต่อๆไปครับ

ขอบคุณพี่สิงห์ป่าสักครับ 

     เวลาผมลงไปชุมชน หากทำเวทีที่เป็นทางการหน่อย ก็มักจะเลือกใช้การแบ่งกลุ่มตามอายุ เพื่อให้ "ทบทวนอดีตที่ดี ๆ เรียนรู้กับปัจจุบัน และวาดหวังอย่างไรกับอนาคต" สิ่งที่มักจะได้ออกมา ก็จะเป็น Mapping ที่มีการเชื่อมต่อกันแห่งกาลเวลา คนทุกวัยที่ร่วมเวทีก็จะมองเห็นร่วมกัน สิ่งที่ได้เลยเป็นเชิงบวก เป็นเพื่อการพัฒนา (ไม่เน้นตัวปัญหา) แต่ในตอนท้ายปัญหาก็จะหมดไปด้วย...โดยปริยายครับ

ดีมากเลยครับ

ผมได้ความคิดที่จะไปทำเวทีวันที่ ๒๒ ตามข้อคิดเห็นของพี่ชายขอบ  ครับ

จะแบ่งเป็นกลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้ใหญ่ และกลุ่มผู้สูงอายุ หากเป็นไปได้ครับพี่

เพราะการระดมความคิด หากเป็นเวทีเฉพาะเยาวชน เราก็จะได้ศักยภาพที่แฝงส่วนหนึ่ง และผู้ใหญ่ก็เป็นอีกแบบหนึ่

เสร็จแล้วนำมาเชื่อมกัน น่าจะได้ภาพของการคิดในหลายๆกลุ่มอายุ 

ขอบคุณครับพี่ชายขอบ 

     จริง ๆ เคยเขียนวิธีการไว้แล้วนะครับ เป็นบันทึกหนึ่งนานแล้ว แต่ตอนนี้หาไม่เจอ (บันทึกตัวเองแท้ ๆ) เดี่ยวจะลองอีกทีครับ

     ที่นี่เลยครับเกมส์ PP&F link กันอยู่ 2 ตอน และ ตัวอย่างที่ กฎเกณฑ์ เป็นความจำเป็นระดับต่ำสุดที่มนุษย์ร้องขอ (จะยังมีอีก ที่บันทึกเก่า ๆ ครับ)

ขอบคุณพี่ชายขอบมากครับ ผมจะตามไปเพื่อต่อยอดความรู้ของผมครับ แล้วจะนำไปปรับใช้ในพื้นที่ต่อไปครับ

ขอบคุณครับ 

 น่าสนใจมาก เป็นการพัฒนาโจทย์วิจัยที่เกิดจากความต้องการของชุมชน โดยชุมชน มองหาจุดแข็งของตนและหาทางต่อยอด เดี๋ยวใบอ่อนก็จะแตกมีกำลังใจ และจะขอเป็นกำลังใจติดตามตอนต่อไป ขอบคุณมากๆค่ะ

เทคนิคของพี่ชายขอบนี่สวยมากครับ...เหมาะกับการนำไปใช้มากๆ  ผมเสริมอีกนิดคือเทคนิคการเชื่อมโยงภาพความคิดของคนแต่ละกลุ่มเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก  ดังนั้นการเชื่อมโยงภาพความคิดควรสอดคล้องกับเป้าหมายหรือประโยชน์สูงสุดเป็นที่ตั้ง  แล้วจะได้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายครับ

เรียนอาจารย์ Ms.Sunee

มองปัญหา ก็เจอแต่ปัญหา บางทีเราลืมมองจุดดี จุดแข็งของชุมชนไป เริ่มจากศักยภาพ ต่อยอดกันดีกว่า

ขอบคุณครับอาจารย์

น้องปริวัตร เขื่อนแก้ว

ขอบคุณความเห็นต่อเติมยอดความรู้ครับ หายไปนาน...รออ่าน งานวิจัยทางการศึกษาอยู่ครับ ส่วนกระบวนการที่เกิดจากเวทีนั้น ผมจะนำมาเขียนบันทึกอีกที หากทำเวทีเสร็จครับ

  • หลาย ๆ ครั้งที่พี่จะบอกผู้คนว่าหัดมองแก้วน้ำที่มีอยู่ตั้งครึ่งแก้วบ่อย ๆ แทนการมองว่าทำไมมีน้ำแค่ครึ่งแก้ว
  • การมองต่างมุมกัน  ก่อให้เกิดพลังความคิดต่างกัน
  • การมองแก้วน้ำที่มีอยู่ตั้งครึ่งแก้วบ่อย ๆ ทำให้พลังความคิดบวกเพิ่มอย่างมหาศาลค่ะ

ขอบคุณพี่เล็กครับ

พลังใจที่เกิดจากการมองโลกในเเง่บวก นี่สำคัญมากเลยนะครับ

พลังการมองโลกในแง่บวก เป็นจุดประกายให้เกิดการขับเคลื่อนกระบวนการแก้ไขปัญหา 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท