แนวทางที่อยากแนะนำในการเริ่มทำ KM


การจัดบรรยายให้คนจำนวนมากในองค์กรฟัง หลังจากฟังแล้ว ต่างคนก็ต่างแยกย้าย หาเจ้าภาพ หรือ คนที่จะทำจริงๆ ไม่ได้

ปีนี้ เป็นปีที่ กพร. กำหนดให้หน่วยงานราชการ ดำเนินงาน KM ตามแผนงานที่ได้เสนอไว้ในปีก่อน  หลายหน่วยงาน ก็ดำเนินการไปแล้ว และทำได้เป็นอย่างดี    แต่อีกหลายหน่วยงาน ก็ยังที่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร   ตนเองได้รับการติดต่อให้ไปช่วยให้ความรู้ด้าน KM  เป็นครั้งคราว  (และก็ปฏิเสธไปหลายครั้ง เพราะไม่ค่อยสะดวกที่จะไป)  ทุกครั้งก็จะถามรายละเอียดกลับไปว่า มีเป้าหมายอย่างไร  มีแผนที่จะดำเนินการอย่างไร  และ พูดคุยเพื่อให้ทราบความต้องการที่แท้จริง 

เท่าที่ประเมินดู หน่วยงานมักบอกว่า ยังไม่ได้เริ่มทำ  ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร  แล้วก็ลงท้ายด้วยการเริ่มด้วยการหาวิทยากรไปบรรยาย

ตรงนี้ ในความเห็นส่วนตัว และจากประสบการณ์ที่ไปช่วยบรรยายมาบ้าง  เห็นว่า  การเริ่มต้น KM ด้วยการจัดบรรยายความรู้ด้าน KM ให้คนในหน่วยงานฟัง คิดว่าได้ประโยชน์น้อยมาก  เพราะฟังบรรยายแล้ว ก็ไม่รู้จะไปทำอะไรต่อ  เนื่องจาก KM เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติจึงจะเข้าใจ   นอกจากนี้ การจัดบรรยายให้คนจำนวนมากในองค์กรฟัง   หลังจากฟังแล้ว  ต่างคนก็ต่างแยกย้าย  หาเจ้าภาพ หรือ คนที่จะทำจริงๆ ไม่ได้

แนวทางที่อยากแนะนำ คือ หน่วยงานอาจหา key persons (จะเรียกว่า ทีม KM ก็ได้) ในเรื่องนี้  สัก 2-3 คน  ให้คนกลุ่มนี้ ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับ KM ซึ่งมีอยู่มากมายขณะนี้  การศึกษา ต้องศึกษาทั้งภาคทฤษฏี และ ปฏิบัติ   ภาคทฤษฎีศึกษาให้เข้าใจแนวคิดของ KM  และ เรียนรู้เครื่องมือต่างๆ ในกระบวนการ   ภาคปฏิบัติให้ศึกษาถึงตัวอย่างการทำ KM ของหน่วยงานที่เขาทำได้ดี ซึ่งหาได้จากแหล่งข้อมูลของ สคส. และในบล็อก Gotoknow โดยเฉพาะบล็อกของอาจารย์วิจารณ์  หรือสมัครเข้าร่วมประชุมหรือเสวนาต่างๆ ที่สคส. จัดขึ้น 

จากนั้น ทีม KM กลุ่มนี้ ก็ลองออกแบบกิจกรรมว่าจะทำอะไร  แต่ที่สำคัญคือ หากหน่วยงานยังไม่มีเป้าหมายหรือหัวปลาที่ชัดเจนว่าจะทำ KM เพื่ออะไร  ทีม KM จะต้องไปพูดคุยกับคุณเอื้อก่อนว่า อยากได้อะไรจากการทำ KM  จากนั้นจึงค่อยออกแบบกิจกรรม

ตรงนี้หละ  จึงค่อยหาผู้รู้  หรือ ผู้ที่มีประสบการณ์ KM ให้ ช่วยให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการ/กิจกรรม ที่ได้ออกแบบไว้  และหลังจากการปรับแก้เรียบร้อย  ก็ลองดำเนินกิจกรรมได้เลย

โดยวิธีการนี้  หน่วยงานจะได้ประโยชน์จาก KM มากกว่าการเริ่มต้นด้วยการเชิญวิทยากรไปบรรยาย  เพราะแม้แต่การเริ่มที่จะทำ  ท่านก็ได้ใช้ขั้นตอนต่างๆ ในการให้ได้มาซึ่งรูปแบบกิจกรรมที่จะทำ  ทั้งการค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งต่างๆ   การคิดไตร่ตรองวางแผน  การปรึกษาแลกเปลี่ยนกับผู้รู้  และ การทดลองปฏิบัติจริง  ทั้งหมดนี่หละ คือการเรียนรู้เรื่องการจัดการความรู้  โดยไม่ต้องฟังบรรยาย  และเป็นการเรียนรู้ที่พึ่งตนเอง ก่อนพึ่งผู้ก่อน น่าภาคภูมิใจยิ่ง  

การดำเนินการข้างต้น  จะประกันความสำเร็จมากกว่า   โอกาสเกิดความต่อเนื่องมากกว่า   และสร้างความเข้าใจในเรื่องการจัดการความรู้ให้คนในหน่วยงานได้มากกว่าการบรรยาย 

หมายเลขบันทึก: 45261เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2006 22:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ยอดเยี่ยมค่ะอาจารย์ นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการถ่ายทอดวิทยายุทธที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลสัมฤทธิ์แน่นอน ลูกๆภาคฯทั้งหลายของอาจารย์ยืนยันได้เป็นเสียงเดียวกัน

เพิ่งกลับไปอ่าน"สายใยพยาธิ"เล่มแรก หน้าบอ.กอ.แถลงเมื่อเช้า คิดอยู่ในใจว่าอาจารย์น่าจะถ่ายทอดวิทยายุทธ ...ตกค่ำมาเจอบันทึกนี้ ต้องบอกว่าเหมือนถูกล้อตเตอรี่รางวัลใหญ่เลยนะคะ ขอบคุณอาจารย์จริงๆค่ะ

บันทึกนี้ ร่างไว้หนึ่งสัปดาห์แล้วแต่ยังไม่เรียบร้อย   เขียนตอนมีคนโทรมาติดต่อไปบรรยาย  เย็นวันนี้มี อาจารย์จากราชภัฏนครศรีธรรมราช  ติดต่อมาอีก ตอนแรกคิดว่าจะไม่ปฏิเสธ เพราะไม่ไกลมาก อยากจะช่วย  แต่พอเขาบอกว่า จัดที่กระบี่ ก็เลยปฏิเสธไป และคิดถึงบันทึกที่ร่างไว้ขึ้นมาทันที   

เห็นด้วยอย่างยิ่งเลยค่ะอาจารย์กับวิธีการในบันทึกนี้  แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นความจริง ส่วนราชการจะ"ติด" วิธีการจัดหาคนรู้ มาพูดให้ฟังโดยฟังและเชื่อตามที่เขาพูด บางหน่วยงานลงทุนเชิญหลายๆ มุม หลายสำนักมาพูดในเรื่องเดียวกันซึ่งลงทุนสูงมาก แต่ไม่ลงมือทำซักที   ฟังแล้วฟังเล่าน้อยนักที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองก่อน ตามที่อาจารย์แนะนำ....... "ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับ KM ซึ่งมีอยู่มากมายขณะนี้  การศึกษา ต้องศึกษาทั้งภาคทฤษฏี และ ปฏิบัติ   ภาคทฤษฎีศึกษาให้เข้าใจแนวคิดของ KM  และ เรียนรู้เครื่องมือต่างๆ ในกระบวนการ   ภาคปฏิบัติให้ศึกษาถึงตัวอย่างการทำ KM ของหน่วยงานที่เขาทำได้ดี ซึ่งหาได้จากแหล่งข้อมูลของ สคส. และในบล็อกgotoknow"...... โดยเฉพาะบล็อกของอาจารย์วิจารณ์หนูเองก็เป็นเช่นกัน ติดโดยไม่รู้ตัว เชิญวิทยากรโน่นนี่มาตลอดเวลาบางครั้งตามแฟชั่นด้วยซ้ำ  ระยะหลังหันมาจัดโครงการที่ใช้ tacit  ของคนใองค์กรกันเอง "มีประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด" การนำผู้รู้มาจากภายนอก ไม่ปฏิเสธซะทีเดียว จำเป็นต้องทำอยู่เพื่อเปิดโลกทัศน์ รับฟังมุมมองอื่นๆ   บันทึกนี้ของอาจารย์มีประโยชน์มากค่ะ อ่านแล้วเห็นเป็น tacit จริงๆ "เหมาะกับกาล" ช่วงนี้ใกล้เป็นเวลาของการทำแผนโครงการของปี 2550 พอดี หลายองค์กรจะได้ประโยชน์มากขอบคุณ และดีใจที่ได้อ่านค่ะ

ขอบคุณคุณโอ๋ค่ะ และ คุณเมตตาค่ะ

เห็นได้ชัดเจนอย่างที่คุณเมตตาเล่าให้ฟังจริงๆ ว่าช่วงหลังๆ ที่คุณเมตตาดำเนินการ    การจัดการความรู้ใน มอ. มีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจน และ คึกคักมากขึ้น

ได้รับมอบหมายจากผอ.สถาบัน(คุณเอื้อ)ให้จัดเวทีลปรร.ในสถาบันโดยใช้ key persons ภายในสถาบันประมาณสัก 3 คนซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นbloggersของสถาบันที่เข้าใจแนวคิดของ KM  และ เรียนรู้เครื่องมือต่างๆ รวมทั้งได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองมาแล้ว จึงอยากเรียนเชิญอาจารย์ช่วยให้ความเห็นแก่ทีมงานของสถาบัน(ที่นี่)ด้วยค่ะ ขอขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท