กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๒๙) : กว่าจะผ่านซำแฮ่ก


 

เมื่อจบภาคเรียนฉันทะ คณะทำงานที่ประกอบไปด้วยด้วยหัวหน้าช่วงชั้นและฝ่ายวิชาการที่ร่วมกันรับผิดชอบในเรื่องของการพัฒนาครู และการพัฒนาเด็ก ได้ทำการ AAR ผลการดำเนินการกระบวนการ Lesson Study และการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Open Approach เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุง แก้ไข พัฒนา และส่งเสริมให้ครูมีวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Open Approach และพัฒนาตนเองร่วมกับเพื่อนครูในรูปแบบของ Lesson Study ต่อไป

 

ก่อนหน้านี้คณะทำงานที่เป็นแกนนำในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Lesson Study ที่ได้เคยลงปฏิบัติหน้างานจริงเมื่อภาควิมังสา / ๒๕๕๓ หรือภาคเรียนสุดท้ายของปีการศึกษาที่แล้ว ก่อนที่จะนำลงสู่ช่วงชั้นและครูกลุ่มอื่นๆ ในปีการศึกษานี้ ปรารภกันว่า การทำงานครั้งนี้เหมือนการเดินขึ้นภูกระดึงที่จะต้องลำบากลำบนกันจนกว่าจะผ่านซำแฮ่กไปได้

 

กลุ่มแกนนำที่ลงมือปฏิบัติล่วงหน้าไปก่อนคือกลุ่มคนที่เดินผ่านซำแฮ่กไปแล้ว  ส่วนน้องๆ ที่ตามเรามาบางกลุ่มยังเดินอยู่ที่ตีนภู และได้ยินเสียงของเพื่อนที่กำลังเดินอยู่ในจุดที่ลำบาก หรือบางกลุ่มที่มากันใกล้ถึงซำแฮ่กแล้ว

 

ผลของการ AAR ในครั้งนี้ทำให้กลุ่มแกนนำได้รู้พิกัดของเส้นทางที่น้องแต่ละกลุ่มกำลังเดินอยู่ และได้ข้อมูลกลับมาพัฒนาเครื่องมือในการทำงานให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป 

 

เรื่องที่ต้องพัฒนาต่อ

 

  • การจัดทำระบบบันทึกการ Input ความรู้และประสบการณ์ของครูแต่ละคน เพื่อใช้อ้างอิงในการศึกษาพัฒนาการของครู
  • การปรับแบบบันทึก LS ให้มีความเหมาะสม และการจัดทำที่เก็บแบบบันทึก LS และการสร้างค่านิยมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการอ่านแบบบันทึกดังกล่าว
  • การพัฒนาครูให้มีความสามารถในการจัดทำแผนการเรียนรู้ตามแนวทางของ Open Approach และการจัดเวลาให้ครูสามารถจัดทำแผนล่วงหน้าที่ถูกหลักการ และสะสมไว้ให้เพียงพอ
  • การส่งเสริมให้มีการทำpre / while / post และการจัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ที่ได้การใช้แบบบันทึก LS อย่างสม่ำเสมอ อย่างมีนัยสำคัญ
  • การสร้างระบบสะท้อนกลับสถานการณ์ความเป็นไปของ LS อย่างทันท่วงที
  • การจัดกระบวนการซ่อมเสริมนักเรียนให้เป็นห้องเรียนของครูไปพร้อมกัน
  • การสร้าง Ownership และความรับผิดชอบที่เข้มแข็งให้กับผู้เรียน
  • การพัฒนาทีมคณิตศาสตร์ให้เป็นกลุ่มนำร่องของ LS อย่างแท้จริง เนื่องจากเป็นกลุ่มวิชาที่มี Best Practice (อ.ไมตรี) และมีสื่อการเรียนรู้ / หนังสือเรียนที่พร้อมใช้

 

งานสำคัญ

 

  • เพิ่ม  Input ความรู้เรื่องของ LS และ OA ให้กับครูด้วยการจัด WS ให้กับกลุ่มเป้าหมายที่มีความเฉพาะตามที่ได้มาจากแบบบันทึกของครู โดยใช้ทีมผสมจาก ๒ ช่วงชั้น
  • เชื่อมความเข้าใจให้ครูเห็นว่า OA คือ แนวทางของการทำให้การเรียนการสอนแบบเพลินพัฒนามีความสมบูรณ์อย่างไร
  • สร้างวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ LSและ OA อย่างทั่วถึงตามแผนที่เคยวางไว้
  • ลดงานบางงานให้ใช้ครูน้อยลง  เช่น เวร  ชมรม ลูกเสือ เพื่อให้ครูมีเวลามากขึ้น

 

ประมวลความพร้อมของคณะทำงานหลังการ AAR

 

คุณครูปราง  -   ถ้าเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียแล้ว เห็นว่ามีข้อดีมากกว่า แต่สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมอีกคือ การ Input แผนการเรียนการสอนแบบ OA แก่ครู และ Input ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทำเป็น

 

คุณครูเล็ก  -   ทัศนคติดีๆ ทำให้มีพลังที่จะทำงานต่อ เห็นว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสีย และในข้อเสียสามารถพาเราเอื้อมไปถึงข้อดีได้ ทำให้รู้ว่าเราต้อง Input อะไร สิ่งที่เด็กได้เรียนรู้ที่เราเห็นเป็นพลังกลับมาหาเรามากมาย และครูทุกคนก็ฝันและต้องการห้องเรียนที่เด็กได้เรียนรู้อย่างนี้

 

คุณครูหนึ่ง  -  ควรมีการพัฒนาจิตใจครู การฝึกการสะท้อนอย่างตรงไปตรงมา และความเป็นกัลยาณมิตร และทำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในระดับชั้น และระดับช่วงชั้นอย่างจริงจัง

 

คุณครูน้อย -  น้องที่สะท้อนข้อเสียส่วนใหญ่เป็นน้องกลุ่มที่ยังไม่ได้สัมผัสกับ LSจริงๆ ได้ยินแต่เสียงบ่นของเพื่อน เหตุน่าจะเกิดจากการที่ภาคเรียนที่ผ่านมาทางช่วงชั้นทำ KM น้อยไปจึงไม่ได้ดึงทัศนะเชิงบวกออกมา

 

คุณครูสุ  -  การทำ LS ทำให้ได้เห็นพัฒนาการของน้องคู่  LS ได้อย่างชัดเจน  ตอนนี้มีทั้งการพัฒนาของครู และเด็กเกิดขึ้นให้เห็น

 

คุณครูนุช  -  ประทับใจตั้งแต่เห็นแนวทางจากวีดิทัศน์  เมื่อได้นำไปใช้จริงเห็นว่ามองเห็นว่ากระบวนการนี้ต้องร่วมไปกับความวินัยของเด็ก  ตอนนี้พยายามจะไม่บอกความรู้กับเด็ก  และเห็นว่าเรื่องนี้เป็นความสำคัญลำดับแรกของการทำ LS

 

คุณครูยุ้ย การทำ LS ทำให้ได้ฝึกฝนตนเองให้ละวาง และเห็นว่าต้องพัฒนาภายในให้ต้องนิ่งขึ้น ด้านส่วนตัวรู้สึกว่าทำแผน OA ไม่ทัน และทีมที่ร่วมทำงานด้วยกันยังไม่เปิดใจยอมรับเราจริงๆ แต่ก็มองเห็นทางออกว่าความข้อขัดแย้งในทีมที่มีอยู่ต้องเอาความปรารถนาดีที่มีต่อเด็กเป็นตัวตั้ง

 

คุณครูอ้อ  -  พร้อมที่จะทำ LS อย่างเต็มที่และเต็มใจ

 

ในภารกิจนี้ทุกคนยังต้องผ่านอีกหลายซำ และต้องชวนกันเดินไปด้วยกัน จนกว่าจะผ่านซำแคร่ไปถึงหลังแป  เพื่อไปชื่นชมความงดงามที่ผาหล่มสักในยามเย็น  ก่อนที่จะตื่นขึ้นมาอีกครั้งเพื่อไปชมทะเลหมอกที่ผานกแอ่นในยามรุ่งอรุณด้วยกัน

 

หมายเลขบันทึก: 452580เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2011 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอแสดงความยินดี ที่ทีมแกนนำมุ่งมั่นครับ การชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีกับข้อเสียสำคัญมาก ในระหว่างทางต้องลดข้อเสีย เพิ่มข้อดีไปเรื่อยๆ

วิจารณ์

เรียน อาจารย์วิจารณ์ ที่เคารพ

ขอบพระคุณที่กรุณาให้คำชี้แนะแก่พวกเราค่ะ

ด้วยความเคารพ

ครูใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท