Dialoque


วิสาสา ปรมา ญาติ : ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง

ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมสนทนาธรรมเรื่อง Khowledge Management หรือการจัดการความรู้ หรือ KM ที่ภาควิชาธรณีวิทยาจัดขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2548 มีเรื่องที่น่าสนใจและอยากนำมาเล่าไว้ก็คือเรื่อง Dialoque

ถ้าลองกลับไปเปิดดิกชันนารีดู dialoque ก็จะประมาณแปลว่าการสนทนา นั่นคงทำให้เรานึกถึงภาพของคนอย่างน้อย 2 คนนั่งพูดกัน นั่นก็คงจะจริง แต่มันจริงไม่ทั้งหมดเนื่องจากว่าเบื้องหลังหรือองค์ประกอบของการพูดก็คือ การฟังนั่นเอง การเป็นผู้ฟังที่ดีคือต้องรู้จักพูด และการเป็นผู้พูดที่ดีก็ต้องรู้จักฟัง …น่าคิดนะ คิดแล้วก็น่าสนุกแล้วล่ะ

เทคนิคในการทำ Dialoque ที่ท่านวิทยากรจาก ปตท.สผ.มาเล่าสู่กันฟังในวันนั้นก็คือ จะมีการทำข้อตกลงในวงสนทนากันก่อน โดยกำหนดสิ่งของใดๆ เช่น ก้อนหิน ปากกาเมจิก ฯลฯ ขึ้นเป็นสัญลักษณ์แสดงสิทธิในการพูด ผู้ที่มีสิ่งของชิ้นนั้นอยู่ในมือจะเป็นผู้มีสิทธิพูด โดยอาจกำหนดเวลาให้ว่าจะพูดได้กี่นาที ซึ่งจากที่เคยท่องเว็บของ KM ทั้งหลายดู ก็มีผู้บอกว่าซักนาทีครึ่งก็โอเคแล้ว ส่วนคนอื่นๆ ในวงจะต้องฟัง-ห้ามโต้แย้ง-ห้ามขัดจังหวะถ้ายังไม่ถึงคิวของตัวเอง ทีนี้ก็ส่งเวียนสิทธิในการพูดออกไปรอบๆ วง คนอื่นๆ ที่ไม่ได้พูดซึ่งนอกจากจะต้องฟังแล้ว ก็ต้องจดด้วยว่าความรู้ที่พรั่งพรูออกมาในวงนั้นมีอะไรบ้าง ก็พอส่งเวียนสิทธิการพูดไปซัก 3-5 รอบแล้ว ก็อาจจะพอเห็นแล้วว่าได้อะไรออกมาบ้าง วิธีการเช่นนี้ก็คงจะคล้ายๆ กับการทำ Focus Group แต่ดูจะเปิดให้ทุกคนแสดงความคิดออกมา จะไม่มีใครยึดกุมเวทีและอำนาจการพูดเพียงฝ่ายเดียว แต่ก็อาจจะต้องกำหนดประเด็นของการแลกเปลี่ยน-ระดมความคิดเห็นให้ชัดเจน เพื่อจะได้มุ่งไปสู่เป้าหมายได้ดีที่สุด ไม่ใช่กว่าจะหาเป้าการสนทนาเจอก็ต้องเสียเวลานานเกินไป

Dialoque เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะดูเหมือนยุคนี้จะเป็นยุคที่การสื่อสารย่ำแย่ สื่อเอาสารออกไปไม่ได้ ซึ่งมันอาจจะมาจากเหตุผลพื้นๆ อย่างการขาดการพูดและการฟังที่ดีนี่เอง เราคิดว่าผู้คนเดี๋ยวนี้พูดมากขึ้น แต่ฟังน้อยลง ต่างคนต่างทุ่มเถียงหาเหตุผลของตัวเองโดยไม่เปิดใจรับฟังเหตุผลของผู้อื่น เป้าหมายเดียวของการพูดคือให้ยอมรับซะในสิ่งที่ข้าพเจ้าคิด นั่นเลยพาลให้คนที่ไม่คิดจะโต้เถียงกับใคร เลือกที่จะยอมสยบอยู่ในมุมเล็กๆ ของตัวเองแล้วพร่ำบ่นกับชีวิตว่า “นี่แหละหนอโชคชะตา” พาลเกิดอาการต่อเนื่องไปว่าโลกนี้คงไม่มีใครยอมรับฟังเรา …นั่นยิ่งทำให้หนักเข้าไปใหญ่ เพราะฝ่ายพูดก็ไม่ยอมฟัง(เพราะนึกว่าตัวเองพูดในสิ่งที่ถูกต้องตลอดเวลา) ส่วนฝ่ายฟังก็ไม่ยอมฟัง(เพราะฟังที่ไรมันเป็นคำสั่งเอาทุกที)แล้วก็ยังไม่ยอมพูดอีกแน่ะว่าตัวเองคิดอะไร

ถ้อยคำทั้งหลายในวงประชุม ก็เลยถูกกองทิ้งไว้เป็นขยะก้อนใหญ่ ที่จะว่าไปแล้ว ก็ไม่มีใครสนใจจะทำให้มันคลี่คลายออกเป็นปฏิบัติการแก้ไขปัญหาให้มันดีขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #dialoque#แลกเปลี่ยน
หมายเลขบันทึก: 45215เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2006 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท