วัฒนธรรมไซเบอร์


ไซเบอร์

วัฒนธรรมไซเบอร์ โลกเสมือนจริงในชีวิตจริงของเรา 

Cyberculture, Virtual  World With Our Real World. (1)

โดย  ถนัด  เหมโส

          บทความเชิงวิชาการความยาวหลายตอนเรื่องนี้เขียนและเรียบเรียงขึ้นจากการศึกษาค้นคว้าวิเคราะห์และสังเคราะห์ เรื่องราวและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องจากบทความ ข่าว ข้อความ งานวิจัย จากนักวิชาการทั้งจากชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้เกิดความรู้ ความเข้าใจ อย่างชัดเจนกับปรากฏการณ์ทางสังคมที่เรากำลังเผชิญอยู่และเกี่ยวข้องกับมันในแทบทุกนาทีของการดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบัน นั่นคือ วัฒนธรรมไซเบอร์ ในบทความจะบรรยายถึงความความหมาย ความเป็นมา ประเภทชนิดของวัฒนธรรมนี้ รวมทั้งอิทธิพลของวัฒนธรรมที่มีต่อเราและผู้คนในสังคม  ผู้เขียน ไม่ปฏิเสธหากท่านผู้อ่านท่านใดที่มีความประสงค์ในการนำเอาเนื้อหาในบทความไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางวิชาการทุกประเภท พร้อมทั้งมีความยินดีหากท่านจะให้คำแนะนำหรือมีข้อมูลใหม่ๆให้กับผู้เขียนเพื่อที่จะนำมาประกอบการเขียนให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นต่อไป

 

 

     ภาพจาก http://thehillside-design.com/wp-      content/uploads/2010/12/network-sec

ไซเบอร์ (Cyber) คืออะไร
คำนี้ไม่ใช่คำใหม่ที่เราพึ่งรู้จัก อย่างน้อยคำว่าไซเบอร์ (Cyber) และวัฒนธรรมไซเบอร์มันได้เคยผ่านหูเรามาแล้วตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 กับหลายๆประโยคที่ผ่านจากปากนักวิชาการ ผู้ประกาศข่าวทางทีวี บทความจากหนังสือพิมพ์  หรือจากเพื่อนๆรอบข้างของเรา เช่น เรากำลังอยู่ในโลกไซเบอร์ เรากำลังอยู่ใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมไซเบอร์ หรือแม้แต่ คำเตือนภัยที่มากับวัฒนธรรมไซเบอร์ที่จะเกิดขึ้นกับเยาวชนของเราจากหลายๆหน่วยงานของภาครัฐหรือ สถาบันต่างๆที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเยาวชน บางครั้งการเอ่ยถึงประโยคนี้ ฟังแล้วดูน่ากลัวและมีนัยความหมายของคำในเชิงลบ  แต่นั่นมันอาจเป็นการตีความอย่างผิวเผินโดยปราศจากการมองแบบองค์รวมของนัยและความของคำๆนี้ เพราะ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นรอบข้างเรา หรือกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันของเราตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั้งหลับไหลไปนั้นมันเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไซเบอร์แทบทั้งสิ้น เช่น เมื่อตื่นนอนขึ้นมาก่อนทำธุระส่วนตัวเราหลายคนต้องเปิดทีวีดูข่าวที่มีการรายงานอย่างรวดเร็วด้วยระบบดิจิตัล การรายงานข่าวผ่านเว็บไซด์ หรือโซเชียลเน็ทเวิร์คอย่างทวิตเตอร์  บางคนมักจะโทรศัพท์หากันเพื่อธุรกิจส่วนตัวหรือการงานด้วยโทรศัพท์ที่มีระบบการให้บริการที่รวดเร็ว สามารถส่งทั้งข้อความรูปภาพได้ภายในไม่กี่วินาที ในที่ทำงานบางครั้งผูบางคนจะเริ่มต้นงานด้วยการตรวจดู อีเมล เพื่อดูว่ามีข้อความอะไรใหม่หรือไม่ มีการติดต่อสื่อสารกันโดยผ่านอินเตอร์เน็ท อีเมล หรือการใช้ของโซเชียลเน็ทเวิร์คประเภทต่างๆ  ในการทำงานสมัยใหม่การบริหารจัดการจัดการ การติดต่อสื่อสาร การสั่งการต่างจะผ่านระบบออนไลน์แทบทั้งสิ้น ข้อมูลข่าวสารจากอินเตอร์จะถูกใช้เพื่อนำมาประกอบการทำงาน การเรียนรู้ต่างๆตลอดทั้งวัน หรือแม้แต่ในชนบท กิจกรรมต่างของผู้คนก็เริ่มต้นขึ้นกับเทคโนโลยีเหล่านี้ จะแตกต่างกันเพียงวัตถุประสงค์ของการใช้งานเท่านั้น  บริบทต่างๆที่ผู้คนเกี่ยวข้องตามที่ได้ยกตัวอย่างนั้น มันคือ วัฒนธรรมไซเบอร์  ซึ่งเราจะทำความรู้จักกับมันในที่นี้
         ดิกชันนารี American Heritage&Science Dictionary ให้ความหมายของ Cyber ไว้ว่า เป็นคำเสริมหน้า (prefix)ใช้นำหน้าคำเพื่อให้หมายถึง คอมพิวเตอร์ หรือ ข่ายงานคอมพิวเตอร์ เช่น อินเตอร์เน็ต (cyberspace) สื่ออิเลคทรอนิคส์ซึ่งมีการติดต่อสื่อสารออนไลน์เกิดขึ้น  Collin English Dictionary ได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง ศาสตร์ที่เกี่ยวอิเลคทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์ เอลิสเซลดา อาร์เดวอล ( Elisenda Ardevol,2005) ได้ให้คำจำกัดความของ cyber ในงานวิจัยของเธอเรื่อง  Cyberculture:Anthropological perspective of the internet. ว่า ไซเบอร์เป็นคำเสริมหน้า (prefix) ที่อ้างอิงถึงกิจกรรมและความเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกิดขึ้นโดยผ่านอินเตอร์เน็ต เช่น กิจกรรมทางสังคมต่างๆ ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางอินเตอร์เน็ต (cybercafé) หรือ ศิลปะไซเบอร์ เป็นต้น ส่วน คำว่า วัฒนธรรม (culture) โดยทั่วไปแล้ว หมายถึง แบบแผนบรรทัดฐานต่างๆในการดำเนินชีวิตของผู้คนในแต่ละยุคสมัย วัฒนธรรมถูกสร้างโดยคนเพื่อรับใช้วิถีการดำเนินชีวิตของผู้คน ประเภทของวัฒนธรรมหลัก มีสองประเภท คือ วัฒนธรรมที่จับต้องได้ (Tangible culture) หรือบางครั้งเรียกว่า วัฒนธรรมรูปธรรม (Concrete culture) โดยทั่วไปเป็นการสร้างสรรค์ทางศิลปะต่างๆ เช่น วิจิตรกรรม สถาปัตยกรรม สิ่งก่อสร้าง งานฝีมือ อาหาร เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้น ประเภทต่อมาคือ วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible culture) หรือ วัฒนธรรมนามธรรม ( Abstract culture) ประกอบด้วย ภูมิปัญญา ศาสนา ความคิด ความเชื่อต่างๆ นิทาน ตำนานเรื่องเล่า ภาษา เป็นต้น ดังนั้น เมื่อรวมทั้งสองคำเข้าด้วยกัน เป็นคำว่า วัฒนธรรมไซเบอร์ ย่อมหมายถึง แบบแผน บรรทัดฐานและวิธีการต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกไซเบอร์หรือโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นโลกเสมือนจริง (Virtual world) ที่ปรากฏในปัจจุบัน  อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงของวัฒนธรรม วัฒนธรรมคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการเอื้ออำนวยต่อการการดำรงชีวิต ดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม วัฒนธรรมมีการเกิด การคงอยู่เพื่อการถูกใช้ และการเสื่อมสลายในที่สุด วัฒนธรรมแต่ชนิดประเภทจะมีความเหมาะสมกับยุคสมัยในแต่ละยุคสมัย เมื่อมีวัฒนธรรมใหม่ประเภทเดียวที่มีความเหมาะสมมากกว่าเกิดขึ้น วัฒนธรรมนั้นย่อมเสื่อมสลายไป กลายเป็นตำนาน ประวัติศาสตร์ ร่องรอยโบราณสถานหรือวัตถุ ภาพวาดที่ถูกบันทึกไว้ หรือภาพถ่ายที่เก็บไว้ หรือเป็นตำราเพื่อให้คนรุ่นต่อมาได้ศึกษาและเรียนรู้   มันมิใช่ความคิดที่ถูกต้องในการที่คนบางกลุ่มกำลังพยายามเหนี่ยวรั้งและฉุดดึงวัฒนธรรมบางประเภทให้คงอยู่และผลักดันให้มันกลับมาดำรงอยู่อย่างถาวรจนเกินเหตุและความจำเป็นในยุคปัจจุบัน ที่สำคัญคือมันคงมิอาจฝืนกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ของโลกและสังคมรวมทั้งสัจธรรมคำกล่าวจากศาสนาที่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งในโลกและจักรวาลนี้ และจากข้อเท็จจริงเราคงมิอาจปฏิเสธว่า บริบทต่างๆของโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและอย่างต่อเนื่อง

ภาพจาก http://www.gotoknow.org/blog/mycity/452114Media-Icons.png

ตอนต่อไป: ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวัฒนธรรมไซเบอร์ (Overview of Cyberculture)

คำสำคัญ (Tags): #โลกไซเบอร์
หมายเลขบันทึก: 452114เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2011 21:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มารับความรู้ในเรื่องของวัฒนธรรมไซเบอร์ครับ ;)...

ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท