invertebrate dueterostomia จักรพงษ์


สัตว์ผิวหนาม ใคร ๆ ก็ไม่ค่อยกล้าแหยม!

 

 Echinoderm...สัตว์ผิวหนาม

 

          บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกมีอยู่เพียง Phylum เดียวเท่านั้นที่ถือว่าเป็นผู้ครอบครองโลกสีครามอย่างแท้จริง พวกเขาคือดาวทะเล ปลิงทะเล เม่นทะเล ดาวเปราะ และดาวขนนก เราไม่มีโอกาสพบเขาในแม่น้ำลำคลองหนองบึง สัตว์พวกนี้จะอาศัยเฉพาะในทะเลเท่านั้น

 

          Echinoderm หมายถึงสัตว์ที่มีผิวลำตัวเป็นหนาม (Echino = หนาม Derm = Dermal = ผิวหนัง) พวกเขามีระบบท่อตามลำตัว มีเท้าดูดใช้เพื่อเคลื่อนที่และหาอาหาร ในเนื้อเยื่อมีแท่งแข็งขนาดเล็ก บางครั้งรวมกันเป็นเปลือกแข็ง เช่น ดาวทะเล ดาวเปราะ ดาวขนนก บางชนิดอาจเปลี่ยนรูปเป็นหนาม เช่น เม่นทะเล

 

          ดาวทะเลเป็นสัตว์ที่ทุกคนรู้จัก แต่เรามักเข้าใจว่าเขาต้องมีห้าขาหน้าตาเหมือนดวงดาวเท่านั้น ในเมืองไทยมีดาวทะเลหลายชนิดที่มีจำนวนขามากกว่านั้น เช่น ดาวมงกุฏหนามมี 15-22 ขา บางชนิดอาจไม่เห็นขาอยู่เลย อาทิ ดาวหมอน เป็นต้น

 

          ดาวทะเลกินสัตว์เป็นอาหาร ส่วนใหญ่กินหอยสองฝา มีบางชนิดกินเฉพาะสัตว์บางกลุ่ม เช่น ดาวหนามกินปะการังอย่างเดียว ผู้ล่าของดาวทะเลได้แก่ปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลานกขุนทอง ปลาวัว หอยสังข์ขนาดใหญ่ เช่น หอยสังข์แตร นอกจากนี้ ยังมีกุ้งตัวตลกที่กินดาวทะเลแบบชอบจริงชอบจัง

 

          หลายคนที่เป็นมือใหม่ใต้ทะเลมักขึ้นมาพร้อมรอยแผลที่เห็นเป็นจุดดำ พวกเขาโดนหนามของเม่นทะเลเข้าอย่างจัง บางคนจึงเกลียดกลัวสัตว์พวกนี้เป็นพิเศษ ความจริงแล้วเม่นทะเลมิใช่รอคอยโอกาสทำร้ายมนุษย์ หนามของเขามีไว้เพื่อป้องกันตัวเท่านั้น เหตุอาจเกิดเพราะการว่ายน้ำในที่ตื้นเกินไปจนแขนขาปัดป่ายไปโดน หากคุณเป็นหนึ่งในผู้โชคร้ายแนะนำให้ใช้ขวดหรือของแข็งนวดบาดแผล (อย่าทุบ...แผลจะอักเสบมากขึ้น) หนามของเม่นเป็นหินปูนจะแตกเป็นชิ้นและเอนไซน์ในร่างกายเราจะย่อยสลายไปในที่สุด หากจับไข้กินยาแก้ปวดสักเม็ดก็หาย

 

          เม่นทะเลพบได้ทั้งในน้ำตื้นและน้ำลึก ที่รู้จักกันดีคือเม่นดำหนามยาวพบทั่วไปในที่ตื้นโดยเฉพาะในอ่าวไทยมีมากเป็นพิเศษ เช่น พัทยา เป็นต้น เม่นพวกนี้กินอาหารโดยการขูดแทะสาหร่ายตามพื้น เมื่อคุณภาพน้ำเปลี่ยนเพราะมลพิษสาหร่ายมีมากขึ้นเม่นทะเลก็เพิ่มจำนวน อีกทั้งผู้ล่าที่เป็นปลาใหญ่ถูกมนุษย์จับไปกิน เม่นทะเลเลยยิ่งเฮฮามากขึ้น

 

          เม่นทะเลบางชนิดที่มีพิษตามหนาม ชนิดที่พบบ่อยในเมืองไทยคือเม่นดอกไม้โดนเข้าไปครั้งเดียวมีสิทธิตายได้ พวกเขาอาศัยเฉพาะที่ลึกเกิน 5 เมตรโอกาสคนทั่วไปจะเจอมีน้อยมาก ส่วนนักดำน้ำถ้าไม่คิดไปจับพวกเขารับรองไม่มีอันตรายให้ระทึกขวัญ

 

          คุณผู้หญิงบางคนที่ไปทะเลคงเคยเจอและเคยร้องกรี๊ดกับเหล่าปลิงทะเลมาแล้ว แม้รูปร่างจะน่าเกลียดน่ากลัวแต่ปลิงเหล่านี้ไม่มีพิษภัย พวกเขาไม่ดูดเลือดคนเหมือนปลิงบก อาหารที่ชอบคือสารอินทรีย์ที่ปะปนอยู่ในเม็ดทราย เวลาส่วนใหญ่ปลิงทะเลจะมุ่งมั่นใช้ปากกวาดทรายเข้าท้องเพื่อย่อยสารอินทรีย์พวกนั้น ก่อนขับถ่ายแต่ทรายที่เหลือออกมา ส่วนผู้ล่าปลิงทะเลคือหอยสังข์บางชนิด เช่น สังข์แตร

 

          ปลิงทะเลพบทั่วเมืองไทยตั้งแต่ชายหาดไปจนถึงก้นทะเล ชนิดที่รู้จักดีคือปลิงดำตามพื้นทรายที่ตื้น หากเราบังเอิญไปโดนเขาจะพ่นสารสีขาวเหนียวออกมา สารพวกนี้หากเข้าตาอาจบอดได้ วิธีการหลีกเลี่ยงคือพยายามอย่าไปเหยียบปลิงหรือเอามาขว้างใส่กัน...สงสารปลิงทะเลบ้างเถอะครับ

 

          ปัจจุบันปลิงทะเลในเมืองไทยกำลังจะสูญพันธุ์ เหตุเพราะชาวบ้านจับปลิงไปต้มแล้วตากแห้งก่อนส่งขาย ได้ราคากิโลกรัมละหลายร้อยบาท แต่ก่อนจับกันเฉพาะปลิงขาว แต่เดี๋ยวนี้ไม่เลือกว่าปลิงอะไรหน้าไหนจะจับเสียอย่าง ปัญหาที่สำคัญคือปลิงทะเลไม่ใช่สัตว์อนุรักษ์ ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ยกเว้นพวกที่อยู่ตามอุทยานแห่งชาติ โอกาสที่ลูกหลานเราจะรู้จักปลิงทะเลเลยลดน้อยถอยลงไปตามระเบียบ

 

          ดาวเปราะเป็นสัตว์ที่คนไทยรู้จักน้อยมาก พวกเขาตัวเล็กมีขา 5 ขา เกือบทั้งหมดอาศัยอยู่ตามปะการังหรือกัลปังหาหรือแม้กระทั่งบนหัวแมงกะพรุน โอกาสออกมาเดินเพ่นพ่านมีน้อยมาก ความหลากหลายและพฤติกรรมของพวกเขาในทะเลไทยยังไม่มีใครพิสูจน์ เราทราบเพียงว่าเขาว่ายน้ำได้หากจำเป็นและกินสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร

 

          ดาวขนนกคืออีกหนึ่งในความงดงามใต้ท้องทะเล เขามีแขนตั้งแต่ 6 ขึ้นไปจนถึงมากกว่า 100 แขน เวลาส่วนใหญ่ดาวขนนกจะชูแขนขึ้นเพื่อกรองแพลงก์ตอนจากน้ำ สารเหนียวและขนขนาดเล็กตามแขนจะช่วยดักจับอาหารแล้วส่งผ่านไปหาปากที่อยู่กลางลำตัว บางครั้งพวกเขาอาจปีนป่ายไปบนปะการังหรือกัลปังหาเพื่อหาจุดเหมาะมีน้ำไหลผ่านสามารถหาอาหารได้ง่ายขึ้น

 

          ดาวขนนกแบ่งออกเป็นพวกหากินเวลากลางวันและกลางคืน เมื่อรัตติกาลมาเยือนพวกเขาจำนวนมากจะปีนป่ายขึ้นมาจากซอกหินหรือปะการังที่หลบซ่อนตัว จากนั้นจะกางแขนกรองน้ำกันเป็นที่คึกครื้น ดาวขนนกหลายชนิดแอบอยู่ใต้ปะการังตลอดเวลา จะยื่นเฉพาะแขนบางส่วนที่ยาวเป็นพิเศษออกมาหาอาหาร

 

          เรารู้เรื่องดาวขนนกน้อยมาก จากการศึกษาขั้นต้นพบว่าพวกเขาแพร่กระจายเป็นหลักแหล่ง ตามปรกติปริมาณและความหลากหลายจะขึ้นกับคุณภาพน้ำ หมู่เกาะใกล้ฝั่งจะมีน้อยกว่าเกาะไกลฝั่ง ทะเลอันดามันมีมากกว่าอ่าวไทย หมู่เกาะสิมิลันถือเป็นจุดที่มีดาวขนนกหลากหลายที่สุด ที่น่าแปลกใจคือกองหินโลซิน (ปัตตานี) แหล่งดำน้ำไกลฝั่งที่สุดของอ่าวไทยกลับไม่พบดาวขนนกอยู่เลย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการแพร่กระจายของตัวอ่อนดาวขนนกที่เป็นแพลงก์ตอนอาจลอยไปไม่ถึงบริเวณดังกล่าว

 

          ตามตัวดาวขนนกมักเป็นที่อาศัยของกุ้งปูขนาดเล็ก พวกเขาจะมาอยู่กับดาวขนนกตลอดเวลา ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ตามลำพังได้ หากใครดำน้ำแล้วเจอดาวขนนกคราวหน้า ลองสังเกตดูได้ แต่ระวังหน่อยนะครับ อย่าไปจับแตะดาวขนนกเหล่านั้น เพราะแขนเขาขาดได้ง่ายมาก อีกอย่าง ดาวขนนกเลี้ยงในตู้ปลาไม่ได้ เขาจะตายอย่างรวดเร็ว เพราะอย่างนั้น อย่าจับเขามาเลี้ยงเลยครับ

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4521เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2005 19:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดาวขนนก Himerometra Robustipinna ต้องการน้ำสะอาดมาก และอาหารสมบูรณ์มาก ซึ่งมักจะทำได้ยากในตู้ปลา อีกทั้งการเลี้ยงดาวขนนกนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้อาหารสด live food จึงจะสามารถเลี้ยงดาวขนนกได้ พร้อมทั้ง แร่ธาตุที่สมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะ แคลเซียม ในตู้ควรมีอยู่ประมาณ 400-450 mg/l อีกทั้งพีเอช ก็สำคัญ เพราะดาวขนนกจะไวต่อพีเอชที่แกว่งมาก เมื่อสองสามวันที่ผ่านมาอากาศเปลี่ยน น้ำเย็นฉับพลัน (พีเอชะเปลี่ยน)ร่วงไปสองกิ่ง เสียดายจัง ทีงอกละช้าจังทีละ2มิล

ขอให้หนุกหนานในการเลี้ยงดาวขนนกครับ  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท