AAR การประชุมภาคีจัดการความรู้ภาคราชการ ครั้งที่ 4


         การประชุมครั้งนี้จัดโดย มสธ. เป็นเจ้าภาพร่วม   และมีวาระสำคัญวาระเดียวคือ  นำเสนอการไปศึกษาดูงาน KM ใน 4 บริษัทญี่ปุ่นใกล้โตเกียว   โดยคุณพรทิพย์  สุวานิโชและคุณสุวรรณา  เอื้อสิทธิชัย  แห่งสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ


ความคาดหวังของผม
1. ต้องการมาเรียนรู้การทำ KM ของญี่ปุ่นที่เป็น KM ในบริษัทและทราบข่าวว่าเป็นการทำ KM แบบไม่เคยเอ่ยถึงคำว่า KM เลย
2. ต้องการมาดูภาพความเคลื่อนไหวของ KM ราชการไทยจากหน่วยงานที่เข้ามาร่วมประชุม


สิ่งที่ได้เกินความคาดหวัง
1. ประทับใจวิธีนำเสนอของวิทยากรทั้งสองท่าน   มีความชัดเจนและมีการวิเคราะห์ที่ลึก
2. มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนไปสู่การทำ KM ในราชการไทยอย่างกว้างขวางมาก   ผู้มาร่วมประชุมร่วมกันซักถามและแสดงความคิดเห็นดีกว่าครั้งก่อน ๆ
3. ได้เห็น "หลุมดำ" ของ KM ในหน่วยราชการไทยชัดเจนยิ่งขึ้น
4. ได้รู้จักหน่วยงาน KDI (Knowledge Dynamics Initiative) ซึ่งเมื่อใช้ Google ค้นก็พบว่าเว็บไซต์ของเขาเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งนั้น   แบบเดียวกับเว็บไซต์ของ สคส. เป็นภาษาไทย   คือเขาคงมีเจตนารับใช้สังคมญี่ปุ่นเป็นหลักแบบเดียวกับที่ สคส. มีเจตนารับใช้สังคมไทย
         ผมชอบคำว่า Knowledge Dynamics มากกว่าคำว่า Knowledge Management
5. ผมได้ "ปิ๊งแว้บ" หลายเรื่องระหว่างการประชุมและจะนำมาเขียนใน KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ ต่อไป


สิ่งที่ได้น้อยกว่าความคาดหวัง
         ไม่มี
         แต่จากการประชุม   ทำให้ผมเห็นว่าความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ KM ที่เป็นการทำ KM เพื่อ KM ยังดาษดื่นมากในวงการราชการไทย   และ กพร. ต้องพิจารณาตัวเองว่าได้ก่อกระแสผิด ๆ ให้แก่สังคมไทยแค่ไหน   กพร. มีความรับผิดชอบต้องแก้ปัญหาที่ตนเป็นผู้ก่อหรือไม่


สิ่งที่ผมได้เรียนรู้และจะหาทางเผยแพร่ในสังคมไทย
1. KDI ขับเคลื่อน KM ด้วย model "ba" (พื้นที่ ลปรร.) และ "SECI"   โดยแทนที่จะใช้หลักคิด KM เขาใช้ KD - Knowledge Dynamics โดยไม่เอ่ยถึงคำนี้
2. บริษัทเอกชนญี่ปุ่นเขาจัดพื้นที่ทำงานประจำให้เป็นพื้นที่ ลปรร.  โดยลดพื้นที่ส่วนตัวลงไป   ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่กระตุ้นและเอื้อต่อการเห็นหน้าพบปะของผู้ร่วมงาน   จัดสถานที่ให้มีบรรยากาศไม่เป็นทางการและกระตุ้นความคิดแหวกแนว  เช่น ห้อยตุ๊กตาลิงห้อยหัว  จัดให้มีจักรยานถีบออกกำลัง (อยู่กับที่) ไว้ในห้องประชุม   จัดโต๊ะประชุมเป็นรูปสามเหลี่ยม  เป็นต้น
3. KM ที่เขาให้เราดู   เป็น KM ที่เน้นความรู้ส่วนที่สัมพันธ์กับลูกค้า   เขาไม่ได้ให้เราดู KM ต้นทางที่เป็น KM เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือวิธีการ   ซึ่งเป็นความลับที่เขาหวงแหน   ดังนั้นเราต้องอย่าหลงผิดว่า KM ในภาคธุรกิจมีแต่ KM ความรู้ปลายทางส่วนที่โยงกับลูกค้าเท่านั้น
4. วัฒนธรรมการทำงานของเขามีวุฒิภาวะจนสามารถเอาปัญหามาทำความเข้าใจร่วมกันได้   โดยไม่ชี้คนผิด  ไม่ก่อความร้าวฉาน  แต่เน้นสร้างคุณค่า/มูลค่า/ความรู้จากปัญหาที่มีอยู่   และเขาฉลาดมากที่เอาปัญหามาคุยกันทันทีที่เกิดปัญหาหรือเห็นปัญหา   ทำให้ความรู้ฝังลึกเรื่องปัญหานั้นยังไม่ "ระเหย" ไป
5. หลัก Think big, start small, act now  ใช้ได้เสมอ
6. ความฉลาดในการใช้ "คุณอำนวย" เป็นผู้นำการ ลปรร. จากปัญหา   ไม่ให้หัวหน้าโครงการหรือหัวหน้างานทำหน้าที่นี้
7. ข้อคิดเห็นของคุณพรทิพย์ว่าต้องคิดเรื่อง why ก่อน how และก่อนกระโจนไปหา tool มาใช้   และต้องเลือก tool ให้ตรงกับจริตคน
8. ผมชอบใจข้อสรุปของ ดร. ประพนธ์ว่า
              4 บริษัทญี่ปุ่น  ทำ KM โดยไม่ติด KM
              ราชการไทย   ไม่ทำ KM  แต่ติด KM

         วงเล็บว่ามีหน่วยราชการไทยที่ไม่ตกหลุมดำนี้   และเราหวังว่าจะมีหน่วยราชการนอกหลุมมากขึ้นเรื่อย ๆ

                     

                           บรรยากาศในห้องประชุม

                     

           บรรยากาศในห้องประชุม มองจากอีกมุมหนึ่ง

                     

            วิทยากร  คุณพรทิพย์ (ขวา)  คุณสุวรรณา (ซ้าย)

วิจารณ์  พานิช
 17 ส.ค.49

หมายเลขบันทึก: 45167เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2006 10:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบพระคุณมากครับอาจารย์  KM ยิ่งเรียนรู้ ยิ่งค้นหา ยิ่งลึกล้ำจริง ๆ ครับ

เวทีเดียวกัน ช่วยกันสะท้อนและสรุป...ครับ

http://gotoknow.org/blog/buildchumphon/45266

ได้ส่งให้เด็กๆไปเรียนรุ้แทนเพื่อจะไม่ติดกับKMค่ะ     ขอบคุณอาจารย์ที่ทำให้เหมือนอยู่ในที่สัมมนาค่ะ

                 ตอนที่อาจารย์ซากาเอะ มาตรวจประเมิน 5 ส ที่โรงพยาบาลบ้านตาก ได้ให้ข้อเสนอแนะแก่กลุ่มงานบริหารทั่วไป ที่จัดโต๊ะทำงานหันหลังให้กันว่า ไม่ถูกหลัก 5 ส เพราะเวลาจะคุยหรือปรึกษาดกันจะลำบาก ต้องลุก ต้องขยับ ยุ่งยาก เสนอให้จัดใหม่โดยให้ทุกคนจัดโต๊ะให้หันหน้าเข้าหากัน เพื่อที่ว่ามีอะไรจะได้พูดคุยปรึกษา สอบถาม กันได้เลย ผมก็เพิ่งมาปิ๊งวันนี้ที่อ่านจากอาจารย์ว่า นอกจากจะได้ ส. สะดวกแล้ว ยังได้พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ลดพื้นที่ส่วนตัวลงไป ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ง่ายขึ้นด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท