คาถาปลดหนี้ : ความรู้ที่ได้จากตลาดนัด “พัฒนาชีวิตครู”


สิ่งต่างๆ เหล่านี้ หากได้ปฏิบัติอย่างจริงจังและตั้งใจทุกๆ คนสามารถปลดหนี้หรือปลอดหนี้ได้อย่างแน่นอน เรียกได้ว่า เป็นคาถาปลดหนี้โดยแท้

          วันที่ ๒๔-๒๕  กันยายน  ๒๕๔๘  ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมตลาดนัดความรู้ “พัฒนาชีวิตครู”  จัดโดยสมาคมเครือข่ายพัฒนาชีวิตครู (ประเทศไทย)  จังหวัดสมุทรปราการ  ณ  สถานตากอากาศบางปู   ได้รับฟังเรื่องเล่าดีๆ จากเหล่า “คุณกิจ”  (ซึ่งคือ  ครูที่เป็นสมาชิกโครงการพัฒนาชีวิตครู ของเขต ๑  จังหวัดสมุทรปราการ) ผู้เขียนเห็นว่า เป็นเรื่องเล่าและความรู้จากการปฏิบัติจริง หรือแนวปฏิบัติที่ดี น่าสนใจและอาจจะเป็นประโยชน์อย่างมากมายของผู้ที่ยังติดวังวนของการเป็นหนี้  จึงนำมาบันทึกไว้ใน Blog  เพื่อเผยแพร่ ดังนี้
          กลุ่มที่ ๑  เล่าเรื่องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องของการรู้จักตนเองและปรับวิถีชีวิต  การที่จะปลดหนี้หรือปลอดหนี้ได้นั้น  บางคนบอกว่า  เราต้องรู้ตัวก่อนว่าเรามีหนี้  หลังจากนั้นจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตนเองใหม่  เช่น  ทำบัญชีรายรับรายจ่ายของตนเองและครัวเรือนอย่างง่ายๆ  เพื่อพิจารณาดูว่าแต่ละเดือนเราใช้จ่ายในสิ่งที่ฟุ่มเฟือยไม่จำเป็นหรือสิ่งที่เป็นอบายมุขไปมากน้อยแค่ไหน  บางคนเล่าว่า  ใช้วิธีการกระเป๋า ๒  ใบ  คือ  ใบหนึ่งสำหรับใช้จ่ายประจำวัน  อีกใบหนึ่งเป็นเงินสำรอง  ซึ่งใบสำรองนี้ จะไม่นำออกมาใช้แบบไม่คิดหน้าคิดหลัง  ต้องพยายามใช้เงินจากกระเป๋าใบแรกให้พอเพียงในแต่ละวัน  หากเหลือของแต่ละวันก็นำมาเก็บไว้เพื่อให้รางวัลกับตัวเอง  บางคนเล่าว่า  ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตใหม่  เลิกอบายมุขต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นเหล้า บุหรี่  การเที่ยวเตร่นอกบ้าน  กินเลี้ยงเข้าสังคมกับเพื่อฝูง  เลิกหรือลดกิจกรรมต่างๆ  เหล่านี้ลงไปเลย  บางคนเล่าว่า  ตนเองปลูกผักสวนครัวไว้รอบบ้าน  ทำให้ไม่ต้องซื้อหาผักเหล่านี้สำหรับทำกับข้าวเลย  ลดรายจ่ายค่ากับข้าวไปได้วันละหลายสิบบาท  เป็นต้น
          กลุ่ม ๒ เล่าเรื่องแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันถึงเรื่อง ความขยันพากเพียร  จากการเข้าร่วมสังเกตการณ์ของกลุ่มนี้ ผู้เขียนพบว่า  ส่วนใหญ่จะเน้นเล่าเรื่องถึงการทำอาชีพเสริม   โดยมีครูที่ขยันขันแข็งมากมาย  งานสอนประจำของตนเองไม่เสีย  และได้ใช้เวลาว่างจากงานสอนให้เป็นประโยชน์ ครูบางคนทำอาชีพเสริมมาเป็นร้อยอาชีพ  ทำทุกอย่างเท่าที่ตนเองจะทำได้  ไม่ว่าจะ ค้าขายเล็กๆ  น้อยๆ  ไปจนถึงธุรกิจขนาดย่อม,  ธุรกิจขายตรง  เป็นต้น  ซึ่งแนวปฏิบัติที่ดีในการขยันหมั่นเพียรของกลุ่มนี้ ซึ่งเรียกว่า  ก้าว (๙)  อย่างมีความสุข คือ 
๑. การแสวงหาความรู้ที่เกิดประโยชน์ตลอดเวลา
๒.มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
๓. ค้นหาโอกาส
๔.ใช้ความสามารถเฉพาะตัว
๕.ประหยัดเวลาที่มีอยู่ให้มากที่สุด
๖.อดทน
๗.มีความเชื่อมั่นว่าเราทำได้
๘.มีทุน  โดยเน้นว่า เลือกอาชีพเสริมที่ไม่ต้องใช้ทุนมากนัก
๙.ขยัน
          ที่สำคัญผู้เขียนได้พบ ครูท่านหนึ่ง  ชื่อครูสนอง  พึ่งสาย  เป็นครูระดับอนุบาล  โรงเรียนวัดท้องคุ้ง  (๐-๗๙๙๖-๖๒๔๕) ซึ่งมีลีลาการเล่าเรื่อง และมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจและประทับใจผู้เขียน รวมไปถึงผู้เข้าร่วมทุกคนมากๆ  เรียกได้ว่า  เปิด เดี่ยวไมโครโฟน ได้อย่างสบาย
         กลุ่ม ๓  เล่าเรื่องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องของการมีวินัยและการวางแผนทางการเงิน  ครูแต่ละท่านก็จะเล่าเรื่องการวางแผนทางการเงินของตนเองให้กลุ่มฟัง  ซึ่งสามารถสรุปแนวปฏิบัติที่ดีในเรื่องการมีวินัยและการวางแผนทางการเงิน ดังนี้ คือ
๑. การสร้างอาชีพ
๒. การให้การศึกษาแก่บุตร
๓. การลงทุนในที่อยู่อาศัย
๔. การประกันชีวิต
๕. การลงทุนในธุรกิจต่างๆ
๖. การเพิ่มวิทยฐานะของตนเอง
๗. การซื้อรถยนต์
๘. การปลดหนี้  โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ
          กลุ่ม ๔  เล่าเรื่องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องการเอื้ออาทรต่อผู้อื่น  สามารถสรุปแนวปฏิบัติที่ดีของกลุ่มได้ดังนี้ คือ
๑. ให้คำปรึกษาในการประกอบอาชีพเสริม
๒. รวมกลุ่มทำขนมเพื่อจำหน่าย
๓. ให้ความรู้ด้านการเกษตร  เช่น  การปลูกแก้วมังกร, การทำสวนมะม่วง  เป็นต้น  รวมทั้งการให้คำแนะนำในการทำการเกษตร, การสนับสนุนพันธุ์  พร้อมเผยแพร่ให้กับสมาชิกกลุ่มด้วย
๔. อำนวยความสะดวก  เป็นศูนย์รวมน้ำใจของกลุ่ม
๕. เปิดบ้านเป็นที่ประชุมดูแลทุกข์สุขของสมาชิกกลุ่ม และพร้อมให้บริการในหลายๆ  ด้าน 
         กลุ่มสุดท้าย คือ  กลุ่มที่ ๕ เล่าเรื่องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องการใช้พลังกลุ่มอย่างสร้างสรรค์ โดยแต่ละคนเล่าเรื่องประสบการณ์ของตนเองในการใช้พลังกลุ่มเครือข่ายพัฒนาชีวิตครู  ซึ่งสามารถสรุปเป็นแนวปฏิบัติที่ดีได้ดังนี้ คือ
๑.  การสื่อสารที่ดีภายในกลุ่มย่อย
๒. การศึกษาข้อมูลของเครือข่ายและสมาชิก
๓. การยอมรับซึ่งกันและกัน
๔. การใช้พลังความรักของคนในครอบครัวและเครือข่าย
๕. การใช้ภาวะผู้นำในการบริหารจัดการ
๖. การปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี
๗. การร่วมมือร่วมใจ
๘. การใช้ผลจากโครงการพัฒนาชีวิตครูกลับมาพัฒนาชีวิตตนเองและสมาชิก
          นอกจากนั้น  เกือบทุกคนมีแรงปรารถนา  (Passion)  ว่า  เมื่อกลับไปจะนำความรู้หรือแนวปฏิบัติที่ดีเหล่านี้ไปใช้กับตนเอง  โดยเฉพาะเรื่องของการลดรายจ่าย, การทำบัญชีรายจ่าย,  การจัดสรรหรือการวางแผนการใช้เงิน  และการปลูกผักสวนครัวแบบง่ายๆ  ซึ่งทุกคนสามารถปฏิบัติได้เลยทันที   ส่วนการเพิ่มรายได้  โดยการทำอาชีพเสริม  จะเน้นเลือกอาชีพที่ไม่ต้องลงทุนหรือไม่ต้องเสี่ยงมาก  และเลือกอาชีพที่ตนเองมีความถนัดหรือสนใจ  รวมทั้งเป็นอาชีพที่ตนเองมีความพร้อมมากที่สุด  ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง คือ  การสร้างเครือข่าย  ทางกลุ่มจะเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
         สิ่งต่างๆ เหล่านี้  หากได้ปฏิบัติอย่างจริงจังและตั้งใจทุกๆ คนสามารถปลดหนี้หรือปลอดหนี้ได้อย่างแน่นอน  เรียกได้ว่า เป็นคาถาปลดหนี้โดยแท้ 

         ใครจะนำไปใช้  ทางกลุ่มฝากบอกมาว่า ไม่สงวนสิทธิ์ 

หมายเลขบันทึก: 4515เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2005 17:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้อความนี้น่าสนใจครับ  แต่ออกจะยาวไปนิดหนึ่ง ถ้าสรุปย่อได้จะดีนะครับ  ผมสร้างชุมชน "คุ้มครองสิทธิผู้ประกันชีวิต" เพื่อแลกเปลี่ยน เรื่องเกี่ยวกับการประกันชีวิต  การลงทุน  การเก็บออม และการดำเนินชีวิต  เห็นบทความของ Blog นี้มีส่วนที่ไปด้วยกันได้กับเรื่องการดังกล่าว  จึงอยากจะเชิญชวนเข้าร่วมชุมชนด้วยกันนะครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท