การจัดการความรู้เรื่อง “ความสำเร็จของการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น”


ที่ได้ ดำเนินการใน 6 โรงเรียนข้างต้น ได้ทำการสรุปความรู้ที่ได้จากการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรด้วยกระบวนการจัดการความรู้ ( KM ) เพื่อให้ได้คลังความรู้เพื่อนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการดำเนินโครงการในระยะที่ 2 ใน “โครงการการสร้างเครือข่ายพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้ : กรณีศึกษาโรงเรียนในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก” ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตามแผนในเดือนกันยายน 2549 นี้ หากโรงเรียนใดสนใจจะเข้าร่วมโครงการขอให้แสดงความจำนง ผ่าน blog นี้ได้เลย

         การจัดการความรู้เรื่อง “ความสำเร็จของการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น” ในวันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน 2549 เวลา 08.00 – 16.30 น. ณ ห้องสัมมนา 2 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

         ผู้เข้าร่วมสัมมนา

         ผู้เข้าร่วมสัมมนา คือ คณะครูโรงเรียนต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการวิจัย “การพัฒนาหลักสูตรที่มีทรัพยากรท้องถิ่นเป็นฐาน : กรณีศึกษาหลักสูตรท้องถิ่นท่องเที่ยวสำหรับโรงเรียนในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก”  มีทั้งสิ้น 6 โรงเรียน ดังนี้

         1. โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิษณุโลก เขต 1 ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรในโครงการวิจัยฯ เรื่อง “ ล่องน้ำน่าน นมัสการพระ 6 วัด”

         2. โรงเรียนจ่านกร้อง  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิษณุโลก เขต 1 ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรในโครงการวิจัยฯ เรื่อง “เรารักพระราชวังจันทร์”

         3. โรงเรียนพุทธชินราชพิทยา  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิษณุโลก เขต 1 ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรในโครงการวิจัยฯ เรื่อง “วัดใหญ่ : สายสัมพันธ์กับคนเมืองสองแคว”

         4. โรงเรียนวังมะด่านพิทยาคม  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิษณุโลก เขต 1 ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรในโครงการวิจัยฯ เรื่อง “สานศิลป์ “มังคละ” วัฒนธรรมเมืองพรหม”

         5. โรงเรียนวัดท่าหมื่นราม   สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิษณุโลก เขต 1 ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรในโครงการวิจัยฯ เรื่อง “อาสานำเที่ยววัดอรุณวนาราม”

         6. โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 23   สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิษณุโลก เขต 1 ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรในโครงการวิจัยฯ เรื่อง “ภูหินร่องกล้า ตำอุทยานแห่งการท่องเที่ยว”

         กิจกรรมที่ใช้ในการจัดการความรู้

         การดำเนินการจัดการความรู้ เรื่อง “ความสำเร็จของการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น” ครั้งนี้ใช้เวลาจัดกิจกรรมหนึ่งวันเต็ม โดยในช่วงเช้าเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการจัดการความรู้ โดยได้รับเกียรติจากท่านผศ.ดร. วิบูลย์ วัฒนาธร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ บรรยายเรื่อง “การจัดการความรู้กับความสำเร็จของการปฏิบัติงาน”  ต่อจากนั้นผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ฝึกทักษะด้าน “สุนทรียสนทนา” และ ทักษะด้าน “การฟังอย่างลึกซึ้ง” (Dialogue & Deep Listening) โดย ดร.อมรรัตน์ วัฒนาธร  เมื่อได้ความรู้และฝึกทักษะต่างๆ ในการจัดการความรู้แล้ว ก็ถึงกิจกรรมแบ่งกลุ่มย่อยปฏิบัติการ “เรื่องเล่าเร้าพลัง” (Story Telling) กับโจทย์ “ความสำเร็จของการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น” ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งหมด 20 คน เป็น 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีครูต่างโรงเรียนกัน  สมาชิกในกลุ่มจะรับบทบาทเป็น “คุณอำนวย” “คุณลิขิต” และ “คุณกิจ” ร่วมกันเล่าความสำเร็จของตนเองในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นว่ามีอะไรบ้างและทำได้อย่างไร โดยมี “คุณลิขิต” คอยจดบันทึกลงในแบบบันทึกผลการประชุม  ในช่วงบ่ายแต่ละกลุ่มช่วยกันคัดเลือกเรื่องที่จะเล่าให้ทุกคนฟัง กลุ่มละ 2 เรื่อง เป็นการนำเสนอคลังความรู้ (Knowledge Assets) เรื่องละ 10 นาที  จากนั้นแต่ละกลุ่มจะได้รับกระดาษ สำหรับเขียนปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ของแต่ละคนในกลุ่มทั้ง 3 กลุ่ม แล้วสมาชิกช่วยกันจัดลำดับปัจจัยความสำเร็จที่คิดว่าสำคัญที่สุด เมื่อได้ปัจจัยความสำเร็จที่แต่ละกลุ่มเรียงลำดับแล้วก็นำมารวมกัน  ทุกคนที่เข้าร่วมสัมมนาช่วยกันเลือกและจัดลำดับครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เป็นการสกัดแก่นความรู้ (Core competence) ให้ได้ ปัจจัยของการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นให้ประสบความสำเร็จ จากนั้นการสัมมนาก็ปิดท้ายด้วยกิจกรรมทบทวนหลังการปฏิบัติ (AAR) โดยการเล่าความรู้สึกที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้

         แนวคิดหลักในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น

         โครงการ  “การพัฒนาหลักสูตรที่มีทรัพยากรท้องถิ่นเป็นฐาน : กรณีศึกษาหลักสูตรท้องถิ่นท่องเที่ยวสำหรับโรงเรียนในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก”  เน้นการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและชุมชนในจังหวัดพิษณุโลก  หลักสูตรทุกหลักสูตรจึงใช้ทรัพยากรของจังหวัดพิษณุโลกที่ตั้งอยู่ใกล้โรงเรียน ได้แก่ 1) หลักสูตร “ ล่องน้ำน่าน นมัสการพระ 6 วัด”  ของโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี 2) หลักสูตร “เรารักพระราชวังจันทร์” ของโรงเรียนจ่านกร้อง 3) หลักสูตร “วัดใหญ่ : สายสัมพันธ์กับคนเมืองสองแคว” ของโรงเรียนพุทธชินราชวิทยา 4) หลักสูตร “สานศิลป์ “มังคละ” วัฒนธรรมเมืองพรหม  ของโรงเรียนโรงเรียนวังมะด่านพิทยาคม  5)หลักสูตร“ภูหินร่องกล้า ตำอุทยานแห่งการท่องเที่ยว”  ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 23 และ 6) หลักสูตร“อาสานำเที่ยววัดอรุณวนาราม” ของโรงเรียนวัดท่าหมื่นราม   แต่ละโรงเรียนได้มีการนำเสนอหลักสูตรท้องถิ่นในลักษณะที่หลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น ลักษณะชุดหลักสูตรที่มีหลักสูตรย่อยเรียงร้อยอยู่ด้วย 6 หลักสูตร (หลักสูตร“ภูหินร่องกล้า ตำอุทยานแห่งการท่องเที่ยว”  ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 23) หรือเป็นหลักสูตรบูรณาการที่จัดทำเป็นหน่วยเพิ่มเติมสาระการเรียนรูหลักใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้  (หลักสูตร“อาสานำเที่ยววัดอรุณวนาราม” ของโรงเรียนวัดท่าหมื่นราม) หรือในลักษณะของหลักสูตรกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในกิจกรรมชุมนุม ( หลักสูตร “เรารักพระราชวังจันทร์” ของโรงเรียนจ่านกร้อง และหลักสูตร “วัดใหญ่ : สายสัมพันธ์กับคนเมืองสองแคว” ของโรงเรียนพุทธชินราชวิทยา)  เป็นต้น หลักสูตรทั้ง 6  หลักสูตรที่จัดขึ้นในโรงเรียนเหล่านี้ ให้ความสำคัญกับเอกลักษณ์ของไทยและเอกลักษณ์ท้องถิ่น ที่เชื่อมโยงกับทรัพยากรท้องถิ่นที่มีอยู่ใกล้กับโรงเรียน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์มางการศึกษา สำหรับด้านเอกลักษณ์ไทย ได้แก่ หลักสูตร“อาสานำเที่ยววัดอรุณวนาราม” ของโรงเรียนวัดท่าหมื่นราม ที่เน้นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้สูงอายุที่มาบำเพ็ญบุญที่วัดในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี  ส่วน หลักสูตร “สานศิลป์ “มังคละ” วัฒนธรรมเมืองพรหม”  ของโรงเรียนโรงเรียนวังมะด่านพิทยาคม เน้นวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ยังหลงเหลืออยู่ในท้องถิ่น สำหรับหลักสูตร “เรารักพระราชวังจันทร์” ของโรงเรียนจ่านกร้อง และหลักสูตร “วัดใหญ่ : สายสัมพันธ์กับคนเมืองสองแคว” เน้นที่มรดกทางวัฒนธรรมที่ยังคงเป็นทรัพยากรหลักของจังหวัดพิษณุโลกที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างดี

         การดึงเอาทรัพยากรท้องถิ่นมาเชื่อมโยงนำไปสู่การท่องเที่ยวของหลักสูตรท้องถิ่นครั้งนี้ เพื่อให้เยาวชนของจังหวัดพิษณุโลกได้รู้จักจังหวัดของตนเองดีขึ้น และมองเห็นความสำคัญในการพัฒนาจังหวัดของตนให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์จังหวัดและแผนยุทธศาสตร์ชาติในเรื่องการท่องเที่ยวต่อไป งานวิจัยในโครงการวิจัย “การพัฒนาหลักสูตรที่มีทรัพยากรท้องถิ่นเป็นฐาน : กรณีศึกษาหลักสูตรท้องถิ่นท่องเที่ยวสำหรับโรงเรียนในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก” ที่ได้ ดำเนินการใน 6 โรงเรียนข้างต้น  ได้ทำการสรุปความรู้ที่ได้จากการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรด้วยกระบวนการจัดการความรู้ ( KM ) เพื่อให้ได้คลังความรู้เพื่อนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการดำเนินโครงการในระยะที่ 2 ใน “โครงการการสร้างเครือข่ายพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้ : กรณีศึกษาโรงเรียนในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก” ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตามแผนในเดือนกันยายน 2549 นี้ หากโรงเรียนใดสนใจจะเข้าร่วมโครงการขอให้แสดงความจำนง ผ่าน blog นี้ได้เลย

       โดย... ขนมเปียกปูน (ดร.อมรรัตน์  วัฒนาธร) และ

         เด็กอยากรู้ (Piang-or  FungFuang)

หมายเลขบันทึก: 45090เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2006 17:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท