เก็บตกการประชุมภาคีจัดการความรู้ในท้องถิ่นภาคประชาสังคม


การนำคนดีๆ ให้มาเจอกัน ย่อมเกิดความปลาบปลื้มปิติ อยู่ในใจและก่อให้สังคมมีความหวัง

    

     การประชุมภาคีจัดการความรู้ในท้องถิ่นภาคประชาสังคม ครั้งที่ 21 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2549 ที่ผ่านมาได้เรียนรู้ในเรื่องของชุมชน ซึ่งแต่ละชุมชนมีการทำงานที่เน้นการช่วยเหลือกันเองในพื้นที่เดียวกันและต่างพื้นที่กันมากขึ้น ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมที่มาจากหลายหน่วยงาน แต่มีจุดยืนเดียวกันคือการทำงานเพื่อชุมชน เช่น โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันจัดการความรู้ของชุมชนท้องถิ่น, หน่วยจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์, มูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี และ สำนักงานสาธารณสุข จ.พิจิตร 

     การประชุมครั้งนี้เน้นการนำเสนอแผนงานความร่วมมือของภาคีจัดการความรู้ในท้องถิ่น ของแต่ละพื้นที่และแจ้งความคืบหน้าของแต่ละหน่วยงาน จ๊ะจ๋าได้ฟังแล้วพบว่า แต่ละหน่วยงานนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจมาก ซึ่งแต่ละพื้นที่มีจุดเด่นของการจัดการความรู้ที่แตกต่างกันตามบริบทของตน และที่สำคัญคือเกิดความเชื่อมโยงกันของหน่วยงานในแต่ละพื้นที่  

     นั่นคือ ความเชื่อมโยงของเครือข่ายภาคประชาสังคมเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมากในหลายพื้นที่ และสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การขยายของเครือข่ายมีมากขึ้น ซึ่งจากการนำเสนอของคุณทรงพล เจตนาวณิชย์ ในโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันจัดการความรู้ของชุมชนท้องถิ่น พบว่ามีเครือข่ายของโครงการฯ ที่เป็นพันธมิตรมาจากหลายภาคทั่วประเทศ เช่น ภาคเหนือ มีสำนักงานประสานงานวิจัยเชิงบูรณาการมหาวิทยาลัยแม่โจ้  สถาบันวิจัยหริภุญชัย (ลำพูน)  สถาบันความรู้ท้องถิ่น (ลำปาง) ภาคกลาง สถาบันการจัดการความรู้ (อุทัยธานี), ศูนย์ประสานงานวิจัยท้องถิ่น แม่กลอง  ภาคใต้ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.) จ.นครศรีธรรมราช  และเริ่มเห็นวงการศึกษาให้ความสำคัญกับชุมชน โดยคณะเกษตรศาสตร์ มทร. ศรีวิชัย จะสร้างหลักสูตรที่ให้นักศึกษาได้ศึกษาผ่านการปฏิบัติ  โยงความรู้สู่ชุมชน และการนำศิษย์เก่าที่จบไปมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและถอดบทเรียน  จนเกิดเครือข่ายระหว่างอาจารย์และลูกศิษย์ที่จบไปแล้ว  การมีส่วนร่วมในชุมชนโดยการสร้างขีดความสามารถของคนในชุมชนให้คิดเป็น ติดอาวุธทางปัญญา รับรู้บทบาทหน้าที่ของตนในชุมชน ผ่านการปฏิบัติ จากการทดลองคิด ฝึกพูด ฝึกนำเสนอ  และวิเคราะห์ ซึ่งกระบวนการเล่านี้ต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนนี้เป็นมูลค่าเพิ่มที่ชุมชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์และต่อยอดทางความคิดต่อไปได้  ทีมคุณทรงพล เน้นการจัดการความรู้ทางสังคม (Social Management)คำพูดที่น่าสนใจคือ ติดอาวุธโดยการสร้างปัญญา และเตรียมคนโดยการสร้างแกนนำ เป็นสิ่งที่สำคัญในการปรับโครงสร้างทางสังคม           

      มีความเชื่อมโยงกับเวทีผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร อบต. กระทรวงเกษตร และการแพทย์ฉุกเฉิน ผ่านคำบอกเล่าของ คุณสุรเดช เดชคุ้มวงศ์ จากสำนักงานสาธารณสุข จ.พิจิตร  ซึ่งได้เน้นย้ำว่า ทุกๆ ที่มักมีความรู้ซ่อนเร้น (Tacit knowledge) อยู่แล้ว  และเราเองก็มีตัวอย่างดีๆ ในจังหวัด เช่น ลุงจวน ที่ใช้ปัญญาแก้จน และขณะนี้มีการทำงานในลักษณะการทำแผนที่ของคนดีๆ ในจังหวัด  (People mapping)  เพื่อจะแผนที่ความรู้  (Knowledge mapping)  และการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในชุมชนโดยการให้ทุกหมู่บ้าน คัดคน 5 คนต่อ 1 หมู่บ้าน เข้าฝึกอบรม วปอ. และขั้นตอนสุดท้ายคือ อบต. แก้จน แก้จนด้วยการเรียนรู้

     การนำคนดีๆ ให้มาเจอกัน เป็นคำพูดของคุณสุรเดช เดชคุ้มวงศ์ ที่ตรงใจคนหลายคนในที่ประชุม และได้เล่าว่า ในพื้นที่ จ. พิจิตร มีชาวบ้านชื่อ ลุงจวน เป็นบุคคลตัวอย่างที่ถือว่าเป็น Best practice ที่ดี ในการแก้จนด้วยปัญญา โดยการลดหนี้ตัวเองได้ ทำให้คุณสุรเดชเกิดแนวคิดที่จะทำ VCD เผยแพร่ในจังหวัด โดยนำชีวิตการทำงานจริงของลุงชวนถ่ายทอดลงแผ่น VCD  และในขณะนั้นไม่มีนักเขียนบท  ได้ลองสอบถามคนในพื้นที่ พบว่ามีนักเขียนรางวัลซีไรท์ในพื้นที่นั่นคือบทสรุปของการนำคนดีๆ ในพื้นที่ให้ได้พบกัน

      พบความเชื่อมโยงของคนในชุมชน ผ่านคำบอกเล่าของคุณหมอ สมพงษ์ ยูงทอง จากหน่วยจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์ ซึ่งเรื่องที่น่าสนใจมีอยู่ 3 เรื่องหลักๆ คือ ความเชื่อมโยงนำคนในชุมชนมาเล่าเรียนพยาบาลและเมื่อเรียนจบก็กลับไปทำงานให้กับชุมชน อบต. หลายแห่งในจังหวัดให้ความสนใจงานด้านสาธารณสุข เนื่องจากมีโครงการที่จะจัดทำศูนย์สุขภาพชุมชน และเป็นการสร้างอาชีพพยาบาลชุมชน โดยคนในชุมชนเอง การใช้วิทยุชุมชนเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างพลังขับเคลื่อน KM ของประเทศไทย โดยส่วนใหญ่จะมีผู้ฟังที่เป็นลักษณะแฟนพันธุ์แท้อยู่มาก ซึ่งจะใช้พลังของแฟนพันธุ์แท้ในการร่วมมือที่จะทำให้สังคมดีขึ้น และอาจดึง DJ ที่เป็นเด็กและเยาวชนมาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามในสังคมได้ โครงการเพื่อการเรียนรู้ โดยจะเริ่มทำใน 3 ตำบลนำร่อง ซึ่งเป็น 1) การตรวจสุขภาพจากคุณภาพพันธุ์ข้าว 2) การตรวจเลือดคนในตำบล (สารพิษตกต้าง ตรวจร่างกาย ได้รับการสนับสนุนจาก อบต.)  3) ตรวจดิน และนำข้อมูล 3 ส่วนขึ้นเวทีระดับหมู่บ้านและตำบล และจัดทำ forum ระดับตำบล 

      ความเชื่อมโยงข้ามองค์กรของมูลนิธิข้าวขวัญและหน่วยงานที่ได้รับการฝึกอบรม เช่น บ. ปูนซีเมนท์ไทย (แก่งคอย) จำกัด ถึง 6 รุ่น ซึ่งปัจจุบันผ่านมา 4 รุ่นแล้ว  มูลนิธิสายใยแผ่นดิน  สำนักงานการศึกษาพื้นฐาน เขต 2 จ. สุพรรณบุรี และกลุ่มอาจารย์จาก NIDA   ซึ่งมูลนิธิข้าวขวัญมีการเผยแพร่การจัดการความรู้ โดยมีโรงเรียนชาวนาเป็นกรณีศึกษา ซึ่งมีการกำหนดหลักสูตร 2 ประเภทคือ ประเภทที่1 มาดูงาน ประเภทที่ 2  การฝึกอบรม มี 3 หลักสูตรคือ สำหรับชาวนา สำหรับบุคคลทั่วไป และ สำหรับเด็กและเยาวชน

     เห็นได้ว่าเกิดการขับเคลื่อน KM ของภาคประชาสังคมมากขึ้น คล้ายกับจิ๊กซอที่เริ่มต่อขึ้นเป็นรูปเป็นร่างขึ้น มีความเชื่อมโยงข้ามชุมชน หมู่บ้าน ตำบล จังหวัด และขณะเดียวกันก็มีการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับหน่วยงานชุมชน เช่น อบต. เกิดขึ้นหลายจุดในแต่ละพื้นที่  การที่คนในสังคมเริ่มเห็นความสำคัญของการดึงความรู้ในตนออกมาใช้โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านเวทีทั้งแบบไม่เป็นทางการ ในมุมน้ำชา ใต้ต้นไม้ ข้างทุ่งนา ในวัดหรืออย่างเป็นทางการเช่น ในเวทีต่างๆ และนำมาความรู้ เคล็ดลับ เทคนิคของเพื่อนที่คุย มาลองใช้ ลองปฏิบัติ พร้อมทั้งจดบันทึกเป็นข้อมูลพื้นฐาน ย่อมให้การดำเนินงานของตนเองและเพื่อนในกลุ่มมีการพัฒนา สิ่งนี้จะช่วยให้คนเห็นคุณค่าในงานที่ตนทำ คุณค่าที่อยู่ในตนและลึกลงในใจ และก่อให้เกิดบรรยากาศของชุมชนดีขึ้น ไปไหนมาไหนทักทายกัน เกิดเป็นสังคมที่เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน พร้อมที่จะแบ่งปัน  แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการทำงาน และถามความต้องการของคนในชุมชนเองจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาของชุมชนอย่างแท้ที่จริง  การที่มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และมีภาวะผู้นำสูงจะส่งผลให้คนในชุมชนได้เกิดการพัฒนาตนเองไปพร้อมๆ กับการพัฒนางาน และในที่สุดส่งผลให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ต้องรอให้คนภายนอกมาช่วยเหลือ พร้อมกันนั้นถ้าเกิดมีการร่วมกันทำงานข้ามชุมชนย่อมทำให้เครือข่ายในพื้นที่ หรือเกิดเครือข่ายข้ามจังหวัด เป็นการสร้างการเรียนรู้ให้ซึ่งกันและกัน เกิดการพัฒนาไปอย่างไม่หยุดนิ่ง สังคมนั้นก็จะเป็นสังคมที่เข้มแข็ง

หมายเลขบันทึก: 45088เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2006 17:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท