ประเมินภายนอกรอบ 3 แบ่งกลุ่มโรงเรียนดีกว่ามั้ย?


หลักคิดการประเมินภายนอก อยู่บนพื้นฐานการประเมินคุณภาพโรงเรียนทุกโรงด้วยไม้บรรทัดอันเดียวกัน หรือเกณฑ์มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ไม่ว่าจะโรงเรียนเล็กหรือใหญ่ ระดับประเทศ จังหวัด อำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้าน เพื่อจะสร้างให้ทุกโรงมีมาตรฐานเหมือนกัน ความจริงเป็นไปได้หรือ

การประกันคุณภาพการศึกษาเป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งถือกำเนิดจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 สถานศึกษาหรือโรงเรียนต้องประกันคุณภาพการศึกษาที่จัดให้กับผู้เรียนตามมาตรฐาน เมื่อมีการรับประกัน จึงต้องมีการประเมินคุณภาพ

ารประเมินคุณภาพการศึกษา กำหนดให้มีทั้งประเมินโดยหน่วยงานต้นสังกัด เรียกว่าประเมินภายใน และโดยหน่วยงานภายนอก เรียกว่าประเมินภายนอก สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เป็นหน่วยงานภายนอก ซึ่งได้จัดตั้งขึ้น เพื่อภารกิจนี้โดยเฉพาะ 

ขณะนี้ สมศ. เริ่มประเมินคุณภาพภายนอกอีกครั้ง เป็นรอบที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นมา ซึ่งเป็นการดำเนินการในช่วงปี 2554-2558  เกณฑ์หลายอย่างที่ใช้ในการประเมินรอบ 2 ได้รับการปรับปรุงแก้ไข เน้นประเมินผลผลิตหรือตัวนักเรียนมากขึ้น กระบวนการผลิตหรือการดำเนินงานของโรงเรียน จะให้หน่วยงานต้นสังกัดรับผิดชอบ ซึ่งปกติจะมีการประเมินภายในเป็นระยะอยู่แล้ว

ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันมานี้ ผู้อำนวยการ สมศ. เปิดเผยว่า ในตัวบ่งชี้ที่ 5 ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพพ.) มีมติเห็นชอบให้กลับไปใช้เกณฑ์ประเมินผลสัมฤทธิ์หรือการทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน(โอเน็ต) เหมือนกับการประเมินภายนอกรอบ 2  ยังเผยต่อด้วยว่า สมศ. เริ่มประเมินสถานศึกษาระดับขั้นพื้นฐานจำนวนกว่า 8,000 โรงแล้ว ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ซึ่งจะยังไม่ตัดสินผลว่าผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะอยู่ในช่วงเก็บข้อมูล และจะดำเนินการไปจนถึงเดือนสิงหาคม(มิถุนายน-สิงหาคม) ทั้งนี้ เพื่อนำผลสรุปมาปรับปรุงรายละเอียดหลักเกณฑ์อีกครั้งในเดือนกันยายน

สรุปว่าการประเมินภายนอกรอบ 3 มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ตัวบ่งชี้ที่ 5 เรื่อง ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน(โอเน็ต)ใหม่ ทั้งๆที่ สมศ. เพิ่งจะเริ่มต้นประเมินมาได้ไม่กี่วัน อีกทั้งการประเมินชุดแรกกว่า  8,000 โรง จะเป็นดั่งหนูทดลอง เพราะ สมศ. จะปรับปรุงหลักเกณฑ์อีก 

เกณฑ์ประเมินตัวบ่งชี้ที่ 5 เรื่อง ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน(โอเน็ต) สมศ. กำหนดไว้ว่า โรงเรียนต้องมีจำนวนนักเรียนได้ผลการสอบในระดับดี(สูงกว่าขีดจำกัดล่างของค่าเฉลี่ย)ตามเกณฑ์ และผลสอบโอเน็ตในปีปัจจุบันต้องสูงกว่าปีที่ผ่านมา จึงจะได้คะแนนพัฒนาการ การพิจารณาให้คะแนนจำแนกเป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆทั้ง 8 กลุ่ม จากนั้นจะนำคะแนนทุกกลุ่มมารวมเป็นคะแนนเต็มในตัวบ่งชี้นี้ 20 คะแนน โดยใช้เกณฑ์ตัดสินว่า สถานศึกษาที่ได้คะแนนตั้งแต่ 0-9.99 ต้องปรับปรุงเร่งด่วน , 10-11.99 ต้องปรับปรุง , 12-14.99 พอใช้ , 15-17.99 ดี และ 18-20 ดีมาก รวมทั้งมีเกณฑ์ตัดสินภาพรวมของโรงเรียน ซึ่ง สมศ. จะประเมินทั้งสิ้น 12 ตัวบ่งชี้ ว่าโรงเรียนใดจะได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐาน ก็ต่อเมื่อไม่มีตัวบ่งชี้ใดมีผลในระดับปรับปรุงเลย

แม้ผลการสอบโอเน็ตที่ผ่านมาจะถูกวิพากษ์อย่างหนักจากทุกฝ่าย เพราะผลคะแนนต่ำมาก แทบทุกวิชาได้ไม่ถึงครึ่งหรือร้อยละ 50 หมายถึง นักเรียนเราสอบโอเน็ตตกกันแทบทั้งประเทศ เรียนแล้วไม่มีความรู้ก็เหตุผลอย่างหนึ่ง แต่อีกอย่างหนึ่งกลับเป็นตัวข้อสอบเองที่อาจเป็นปัญหา  อย่างไรก็ตามผลการสอบโอเน็ต ก็จะยังคงถูกนำมาวัดคุณภาพโรงเรียน

สมศ.น่าจะกังวลใจต่อเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน เพราะก่อนผลสอบโอเน็ตทุกระดับชั้นจะออกครบ สมศ.ได้ประกาศเกณฑ์ประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 3 ซึ่งรวมด้วยตัวบ่งชี้ที่ 5 ต่อสาธารณชน เพื่อให้สถานศึกษารับทราบและเตรียมพร้อมรับการประเมินอย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยแล้ว

พลันผลการสอบโอเน็ตที่มีปัญหาออกมาครบทุกระดับชั้นจริง ทั้ง ป.3 ป.6 ม.3 และ ม.6  จึงแน่ชัดว่า โรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานถึงร้อยละ 85 มีผลประเมินตัวบ่งชี้ที่ 5 ระดับต้องปรับปรุง ซึ่งหมายถึงโรงเรียนเหล่านั้นจะไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพโดยรวมอย่างอัตโนมัติด้วย หรืออีกนัยหนึ่งโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานค่อนประเทศไทยจัดการศึกษาไม่ได้คุณภาพ จึงไม่ได้การรับรองมาตรฐานจาก สมศ.

สมศ.จำยอมถอยไปใช้เกณฑ์ตัวบ่งชี้ที่ 5(โอเน็ต) เหมือนการประเมินรอบ 2 กล่าวคือ สถานศึกษาที่ได้คะแนนตั้งแต่ 0-3.99 ต้องปรับปรุงเร่งด่วน , 4-7.99 ต้องปรับปรุง , 8-11.99 พอใช้ , 12-15.99 ดี และ 16-20 ดีมาก จุดสำคัญคือ สมศ. ลดคะแนนต้องปรับปรุงลง จากน้อยกว่า 12  เป็นน้อยกว่า 8 คะแนน ส่งผลให้จำนวนโรงเรียนที่จะไม่ผ่านการประเมินลดลงเหลือร้อยละ 35

ถึงแม้การปรับปรุงแก้ไขคะแนนครั้งนี้จะช่วยให้ความรู้สึกของทุกฝ่ายดีขึ้น แต่ที่สำคัญกว่านั้น และน่าจะปรับเปลี่ยนเสียยิ่งกว่า แต่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง นั่นก็คือ หลักคิดในการประเมิน ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดความรู้สึกว่า ผลการประเมินภายนอกของ สมศ. มีความน่าเชื่อถือ เป็นธรรม สามารถนำไปใช้อ้างอิงได้

หลักคิดการประเมินภายนอก อยู่บนพื้นฐานการประเมินคุณภาพโรงเรียนทุกโรงด้วยไม้บรรทัดอันเดียวกัน หรือเกณฑ์มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ไม่ว่าจะโรงเรียนเล็กหรือใหญ่ ระดับประเทศ จังหวัด อำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้าน เพื่อจะสร้างให้ทุกโรงมีมาตรฐานเหมือนกัน ความจริงเป็นไปได้หรือ แม้สมมติให้โรงเรียนอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบสังคมนิยมที่เน้นความเท่าเทียมเลยก็เถอะ ดังนั้น โรงเรียนที่พร้อมมากจะผ่านการประเมินแบบฉลุย จนชิน จนเฉื่อยชาขึ้นก็อาจเป็นได้ ส่วนโรงเรียนที่ไม่พร้อมเอาเลย อะไรก็ขาดแคลน จะผ่านการประเมินแบบทุลักทุเล หรืออาจจะไม่ผ่านการประเมินซ้ำซาก จนท้อแท้ ถดถอยกันไปหมด ทั้งโรงเรียน ครู และชุมชน ภาวะอย่างนี้คงไม่เป็นผลดีแน่

ลองพิจารณาผลการประเมินตัวบ่งชี้ที่ 5(โอเน็ต) ของโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดพิษณุโลก ทั้ง 3 ระดับ จำนวน 19 โรง ซึ่งผู้เขียนเน้นนำเสนอโรงเรียนที่จะเข้ารับการประเมินภายนอกรอบ 3 ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม พ.ศ. 2554 ด้วยการทดลองคำนวณคะแนนแต่ละโรง ซึ่งขณะนี้เผยแพร่อยู่ (http://www.onesqa.or.th/onesqa/th/download/index.php) รวมทั้งทดลองตัดสินผลตามเกณฑ์มาตรฐานของ สมศ. ซึ่งปรับเปลี่ยนใหม่ ก็จะทำให้เห็นความจริงบางประการได้ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของผลการตัดสินกับระดับของโรงเรียน 

* คือโรงเรียนที่จะเข้ารับการประเมินภายนอกรอบ 3 ช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม พ.ศ. 2554

พบว่าโรงเรียนระดับจังหวัด 2 โรง ผ่านทั้งหมด โรงเรียนระดับอำเภอ 7 โรง ผ่าน 5 ไม่ผ่าน 2 และโรงเรียนระดับตำบล 10 โรง ผ่าน 2 ไม่ผ่าน 8 ส่วนผลคะแนนโอเน็ตระดับดี ทั้งสูงสุดและรองเป็นโรงเรียนระดับจังหวัด(A,B)ทั้งสิ้น 12.34 และ 9.43 สำหรับคะแนนโอเน็ตปีปัจจุบันเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา กลายเป็นว่าโรงเรียนระดับตำบล(L)มีพัฒนาการสูงสุด 3.50 รองลงไปเป็นระดับอำเภอ(D) 3.00

แปลความได้ว่าโรงเรียนระดับจังหวัด ซึ่งมีความพร้อมมากเป็นทุนเดิม แถมนักเรียนก็คัดด้วยการสอบเลือกนักเรียนเก่งเข้ามาเรียน ผลคะแนนโอเน็ตระดับดีจึงสูง ขณะที่โรงเรียนระดับตำบลซึ่งมักขาดความพร้อมและไม่มีโอกาสเลือกรับนักเรียน ผลคะแนนโอเน็ตระดับดีจึงต่ำอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยเหตุนี้ครูและชุมชนของโรงเรียนซึ่งขาดความพร้อมจึงต้องทำงานกันหนักขึ้น ด้วยความยากลำบากกว่าโรงเรียนที่มีความพร้อมทั้งหลาย เพื่อพัฒนานักเรียนให้ได้คุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน ผลคะแนนโอเน็ตของปีปัจจุบันเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงถึงพัฒนาการจึงค่อนข้างสูง แต่ผลที่จะได้รับหรือการตัดสินคุณภาพมาตรฐานในภาพรวมของโรงเรียนเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะไม่ผ่านเกณฑ์ หรือจะไม่ได้การรับรองมาตรฐาน

กรณีตัวอย่างโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดพิษณุโลก ทั้ง 3 ระดับ 19 โรงนี้ น่าจะตอกย้ำอีกครั้งว่า ทำไมผลการประเมินภายนอกของ สมศ. รอบที่ผ่านมา จึงสร้างความเคลือบแคลง สงสัย ไม่น่าเชื่อถือ จากทั้งสังคมและผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการที่ สมศ. ประเมินคุณภาพของโรงเรียนทั้งประเทศด้วยเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน ด้วยหลักคิดจะสร้างให้แต่ละโรงมีมาตรฐานเหมือนกัน

แบ่งกลุ่มประเมินคุณภาพดีกว่าไหม เป็นมาตรฐานของโรงเรียนระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด หรือระดับประเทศไป หรืออาจจะเป็นมาตรฐานโรงเรียนขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ก็ได้ ด้วยเกณฑ์มาตรฐานเฉพาะแต่ละกลุ่ม เพื่อให้ผลสอดคล้องกับความเป็นจริง มีความน่าเชื่อถือ ได้รับการยอมรับ สามารถนำไปเปรียบเทียบ อ้างอิง เพื่อพัฒนาแต่ละโรงเรียนได้อย่างสนิทใจ ความรู้สึกเป็นธรรม ขวัญกำลังใจของโรงเรียนและชุมชนที่ขาดความพร้อมจะกลับคืนมา โรงเรียนที่มีความพร้อมอยู่แล้ว จะถูกกระตุ้นด้วยเกณฑ์คุณภาพที่ท้าทาย

อย่างนี้ไม่ดีต่อประเทศชาติบ้านเมืองกว่าดอกหรือ?

(พิมพ์ในมติชนรายวัน , 24 กรกฎาคม 2554)

หมายเลขบันทึก: 450766เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2011 21:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2014 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีค่ะอาจารย์ แบบนี้ปหละ จึงอยากย้ายไป รร. ประจำจังหวัดนะคะ อิอิ.... แบ่งไปเลยค่ะ การนำเกณฑ์เดียวมาวัดทั้งหมดในบริบทที่แตกต่างก็รู้แล้วว่าเป็นแบบนี้แหละค่ะ .. คุณครูก็ไม่อยากจะให้ผลตกต่ำแต่ด้วยภาวะหลายๆด้านมันเสริมดังที่นำเสนอค่ะ..เศร้านะคะกับระบบการตรวจสอบ ..อยากตะโกนให้...รมต. คนใหม่รับฟัง 55555

  •  อ่านแล้วเซ็ง   โรงเรียนบ้านนอกเล็กๆจะผ่านหรือ?
  • นักเรียนก็เลือกไม่ได้  ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่ด้อยโอกาส
  • โอกาสที่มีความพร้อมทั้งครอบครัว ความอบอุ่น และเงินทอง
  • ต้องอยู่กับคนอื่นที่มิใช่พ่อแม่...มากนะ...แล้วจะวัดมาตรฐานเดียวกันได้อย่างไร?  
  • แต่เราเลือกอาชีพ  ก็ต้องทำให้ดีที่สุด  เพือเด็กมิใช่การแข่งขัน
  • ขอบคุณที่น้องอาจารย์ให้ความสำคัญและช่วยพูดแทนครูทุกคน
  • ถ้ารู้เรื่องล่วงหน้า
  • ไปซื้อหนังสือพิมพ์ที่พี่เขียนมาเก็บไว้แล้ว
  • ผมเห็นด้วยกับพี่
  • ระบบการสอบของนักเรียนยากเกินไปไหม
  • เพราะทุกวิชาได้ต่ำมากโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ
  • เอ หรือ คนสร้างข้อสอบไม่เคยสอน คนสอนไม่ได้สร้างข้อสอบ 555

สวัสดีค่ะ

"....ขวัญกำลังใจของโรงเรียนและชุมชนที่ขาดความพร้อมจะกลับคืนมา โรงเรียนที่มีความพร้อมอยู่แล้ว จะถูกกระตุ้นด้วยเกณฑ์คุณภาพที่ท้าทาย..."

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะอาจารย์

*** เกณฑ์ตัวบ่งชี้ที่ 5...อาจบรรลุได้ยากขึ้น....เพราะครูต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งกับกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กิจกรรมโครงการต่างๆ ทั้งในโรงเรียนนอกโรงเรียน ภาระงานการรายงานข้อมูลต่างๆที่เน้นเอกสาร ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน การแก้ปัญหาผู้เรียนกลุ่มเสี่ยง การเยี่ยมบ้านนักเรียน ( มีนักเรียนนอกเหนือจากอำเภอเมืองในปริมาณมาก ) และอีกหลายตัวแปร ล้วนต้องใช้เทคนิคการจัดการเวลา ไม่ให้มีผลกระทบต่อการเรียนสอน โรงเรียนมัธยมศึกษาในตัวจังหวัดที่รับนักเรียนระดับกลางๆเข้ามาเรียนก็น่าเป็นห่วง

สวัสดีค่ะอาจารย์ * เห็นด้วยอย่างยิ่งเรื่องแบ่งกลุ่มโรงเรียน แปลกใจอยู่เหมือนกันว่าทำไมผู้คิดเกณฑ์มองไม่เห็นตรงจุดนี้..จุดแห่งความแตกต่าง * ผลการสอบโอเน็ต สามารถนำมาตัดสินการผ่านหรือไม่ผ่านการประเมินจากภายนอกได้จริงหรือ..เพราะกระบวนการสอบของแต่ละจังหวัด อำเภอ หรือโรงเรียน อาจไม่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกัน * โรงเรียนที่ไม่สามารถคัดเลือกคุณภาพของเด็กได้ แม้จะสอนโดยครูผู้สอนคนเดียวกัน แต่ความสามารถในการรับรู้ของเด็กแต่ละรุ่นต่างกัน หากใช้เกณฑ์ "ผลสอบโอเน็ตในปีปัจจุบันต้องสูงกว่าปีที่ผ่านมา" คงไม่ยุติธรรมสำหรับหลายๆโรงเรียน * กรรมการประเมินแต่ละชุดมีความเป็นกัลยาณมิตรแตกต่างกัน บางชุดประเมินเข้มมาก บางชุดอะลุ้มอล่วยมาก แล้วความมาตรฐานอยู่ตรงไหน * สุดท้าย เห็นใจโรงเรียนตามชนบทที่ไม่มีความพร้อมทั้งเรื่องงบประมาณที่ใช้บริหารจัดการภายในโรงเรียน ความพร้อมของตัวเด็กที่ไม่มีโอกาสได้รับการส่งเสริมสนับสนุนเป็นพิเศษจากครอบครัว คุณครูที่ต้องสละเวลาในวันหยุดราชการเพื่อหวังให้เด็กมีผลการสอบสูงขึ้นดังความคาดหวังของหน่วยเหนือ...แต่คงเป็นความโชคดีของโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมทุกด้าน * ทุกสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น หน่วยเหนือลงความเห็นว่า "เป็นเพียงข้ออ้างของโรงเรียนที่ไม่สามารถพัฒนาตนเองได้"

ครูไร้ประสิทธิภาพ

ดิฉันเห็นด้วยกับทุกความเห็นค่ะ ว่าทำไม จึงใช้การตัดสินในภาพรวมแบบนี้ หากผู้ที่คิดหลักการเช่นนี้เป็นครูหรือเคยเป็นมาก่อนก็น่าจะเข้าใจว่า สมองเด็กมีการรับรู้ไม่เท่ากัน เด็กดีๆมีความพร้อมเลือกไปเรียนโรงเรียนดีๆ ในขณะที่เด็กอ่อน เด็กขาดความพร้อมเรียนในโรงเรียนทั่วไป (ซึ่งมีอยู้ร้อยละ 90) แถมเด็กที่เรียนดีมีความพร้อม ยังมีโอกาสไปเรียนพิเศษ ไปติวตามสถาบันกวดวิชา มีโอกาสสืบค้นข้อมูลโดยการใช้เทคโนโลยีที่ตนเองมีเพราะผู้ปกครองสามารถเซอร์วิสในด้านนี้ได้ ชีวิตเด็กที่มีความพร้อมต่างกับเด็กยากจนในชนบท แล้วอย่างนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กเก่งเพราะโรงเรียนสอนดีอย่างเดียว บริบทและปัจจัยต่างๆของแต่ละโรงเรียน มันต่างกันมากมาย แต่สุดท้ายกลายเป็นความผิดของครูและโรงเรียน นักเรียนทำคะแนนได้ต่ำมาจากทำการเรียนการสอนไร้ประสิทธิภาพ หากต้องการแค่โอเน็ตผ่าน ทำไมไม่ให้เวลาครูสอนมากๆ ไม่ต้องทำงานอื่นๆ อย่างนี้ก็อาจดีขึ้น นี่อะไรๆก็โยนมาลงที่โรงเรียน ใครต้องการอะไรก็ขอมาที่โรงเรียน ครูต้องทำหน้าที่ทุกอย่างตั้งแต่หมอ นักสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่สถิติ นักโภชนาการ ผู้จัดการโครงการสารพัด ทนาย ตำรวจ ผู้พิพากษา ฯลฯ แถมต้องสร้างเอกสารมากมายเพื่อขอเลื่อนขอปรับตำแหน่ง แล้วอย่างนี้ครูจะเอาเวลาที่ไหนไปสอนเด็กรายบุคคล....ใครทำได้ก็ขั้นเทพฯ แล้ว อยากรู้จังว่าพวกนักวิชาการที่ดีแต่คิดน่ะถ้าลงมาปฏิบัติจริงจะทำได้ไหม ไม่ใช่มาทำแค่อาทิตย์เดียวเป็นตัวอย่างนะ ลองมาอยู่กับเด็กทั้งปีสิ แล้วท่านจะรู้ว่า การแก้ปัญหาน่ะมันไม่ได้เหมือนทำอาหาร ใส่โน่นใส่นี่ไป ผลสุดท้ายก็ออกมาตามสูตร

อ่านบันทึกนี้แล้วหนักอึ้งด้วยความเข้าใจ และเห็นใจค่ะ

หลังจากที่พี่ละหัวโขนของการเป็นผู้ "สร้างเกณฑ์ประเมิน" และ "ผู้ไปประเมิน" และลงมาสัมผัสหน้างานในระดับโรงพยาบาล พี่เข้าถึงความเป็นจริง และความรู้สึกของคนหน้างานได้ชัดขึ้น ดังนี้ค่ะ (อาจารย์สามารถคิดเทียบเคียงเล่นๆ แบบขำๆ ได้กับงานสอนในโรงเรียนนะคะ)

  • งานที่ทำมันล้นมือ จนเหลือเวลาไปทำงานคุณภาพน้อยลง (ขณะที่ผู้มาประเมินจะตอกย้ำว่า ถ้าเราพัฒนากระบวนการทำงานให้เป็นงานคุณภาพ งานเราจะลดลง - มันก็จริง  แต่ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดก่อน??? เพราะเราหยุดทำงานไม่ได้)
  • ผู้ถูกประเมินต้องเตรียมเอกสารมากมายก่ายกอง ก่อนผู้ประเมินเข้า  (ขณะที่ผู้ประเมินบอกเราว่า  ถ้าท่านทำงานที่ได้คุณภาพเป็นปกติในการทำงานประจำวันอยู่แล้ว ท่านก็ไม่จำเป็นต้องเตรียมอะไรเพิ่ม)

ผู้ประเมิน กับ ผู้ถูกประเมิน เป็นเหมือนรางรถไฟ ที่มาเจอกันไม่ได้ เพราะรถไฟจะตกราง...ฮ่า..ฮ่า...พี่ล้อเล่นนะคะ อ.ธนิตย์

ป.ล. พี่เลิกรับมติชนไปแล้วด้วยความขมขื่น  หลังจากอ่านมาตั้งแต่มติชนเพิ่งตั้งไข่  แม้จะเสียดายบทความดีๆ จากนักวิชาการดีๆ และหน้าการศึกษาอยู่มาก

สวัสดีค่ะ

 พี่ดาไม่ได้มาทักทายนานเลย สบายดีนะคะ  ต้นไม้สวยๆมาฝากค่ะ

 

สวัสดีค่ะคุณธนิตย์

  • คุณยายมาให้กำลังใจคุณครูค่ะ

ผมเคยเข้าไปนั่งฟัง  เรื่องการประเมินภายนอกอยู่บ้าง  มีสองแนวคิดครับ  เรื่องการประเมินภายนอก

    แนวคิดแรก  เป็นการประเมินคุณภาพของกระบวนการ  ประกันประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานเป็นหลัก   โดยมีหลักคิดที่  การใช้ทรัพยากร  และ กระบวนการทำงานอย่างเต็มที่    ก็ถือว่าผ่่าน   โดยผ่านตามบริบท ตามความพร้อมของแต่ละโรงเรียน  แนวคิดนี้ มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง คิดเอาไว้ 

   แนวคิดที่สอง  เป็นการประกันคุณภาพของผลผลิต  คือ  ประกันคุณภาพของผู้เรียน   แนวคิดนี้  มีแนวคิดว่าเด็กจะอยู่ในโรงเรียนยากจนขนาดไหน  ก็ต้องมีคุณภาพเดียวกันกับเด็กที่อยู่ในเมือง  

    ผมเ้ห็นด้วยกับแนวคิดแรก  และ แม้แต่ กรรมการ สมศ.บางท่าน  ก็เห็นด้วยกับแนวคิดแรก

     เสียงนี้ คงสะเทือนไปถึง สมศ. บ้างครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท