beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

ความลับของน้องผึ้ง <๑> : เกริ่นนำ (ไหว้ครู)


ความจริงเรื่องผึ้ง ผมคงได้มาจากท่านไม่เท่าไรหรอก แต่สิ่งที่ได้มากคือ เรื่องความมุ่งมั่นในการทำงานของท่าน

        ชีวิตของผม ตอนเรียนมหาวิทยาลัยชั้นปริญญาตรี ในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พอผ่านปีหนึ่งแล้ว เลือกเข้าสังกัดภาควิชาชีววิทยา (เรียนเน้นทางสัตววิทยา) ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร. พุฒิพงศ์ วรวุฒิ เป็นหัวหน้าภาควิชาฯ  ในยุคนั้น (หมายเหตุ หลังเกษียณอายุราชการ ท่านมาช่วยงานที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก และท่านได้เสียชีวิตที่พิษณุโลก)

       พอผมเข้าภาควิชาฯ แล้วผมเป็น advisee ของ ท่าน รศ.จริยา เล็กประยูร ซึ่งชอบทางด้านแมลง โดยเฉพาะเรื่องไร และตอนหลังก็มาสนใจเรื่องผึ้งด้วย

 

รศ.จริยา เล็กประยูร
ภาพของท่านอาจารย์จริยา เล็กประยูร ในงานเครือข่าย
ชีววิทยา ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน..

ท่านอาจารย์จริยา เป็น advisor ที่ดีมากคนหนึ่ง ให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ ทั้งด้านการเรียน และการประพฤติตนที่ดีในมหาวิทยาลัย เป็นผู้ที่ทุ่มเทให้กับงานในราชการเป็นอย่างมาก ผมคงได้รับอิทธิพล (มีความหมายในด้านดีก็ได้...beeman) จากท่านมาไม่มากก็น้อย ในด้านพฤติกรรมความเชื่อ และการเป็นอาจารย์ที่ดีในมหาวิทยาลัย

       ต่อมาผมได้ รู้จัก ศาสตราจารย์ ดร.สิริวัฒน์ วงษ์ศิริ ซึ่งเป็นอาจารย์ในภาควิชาฯ อีกท่านหนึ่ง ท่านได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องผึ้งกับผม นับเป็นครูผึ้งคนแรก

       ความจริงเรื่องผึ้ง (ด้านปฏิบัติ)  ผมคงได้มาจากท่านไม่เท่าไรหรอก แต่สิ่งที่ได้มากคือ เรื่องความมุ่งมั่นในการทำงานของท่าน ซึ่งท่านเป็นกรรมการต่างๆ หลายเรื่อง แต่ผมไม่เคยได้ยินท่านบ่นว่าเหนื่อยเลย (ทั้งๆ ที่ท่านมีโรคประจำตัว)

       สิ่งที่ผมได้จากท่านตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาตรี และปริญญาโท ก็คือ การได้ติดตามท่านไปในที่ต่างๆ และได้รู้จักคนในวง (รวมมั้งนอกวงด้วย) วิชาการมากมาย เพราะท่านเป็นผู้กว้างขวาง สิ่งนี้แหละที่ทำให้เราสามารถไปต่อยอดได้ ในสิ่งที่เราสนใจ (คือเรื่องผึ้ง)

beeman ซ้าย/ศ.ดร.สิริวัฒน์ วงษ์ศิริ ขวา
ภาพจากซ้ายไปขวา 1. beeman 2. ท่านอาจารย์รมณี สงวนดีกุล
3. ท่านรองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะเทคโนโลยี มมส. และท่านคณบดี
คณะเทคโนโลยี มมส. ศาสตราจารย์ ดร.สิริวัฒน์ วงษ์ศิริ อาจารย์ผึ้ง
ของ beeman...
ถ่ายเมื่อ 10 มิถุนายน 2549 ณ พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

         อีกสิ่งหนึ่ง (ตามความเห็นของผม) คือ ท่านสอนแบบไม่สอน เนื่องจากท่านไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูกศิษย์ แต่มีลูกศิษย์มาก ให้เวลาพบคนละ 5 นาที และก็เอาตัวอย่างวิทยานิพนธ์ของคนอื่นที่เกี่ยวข้องมาให้ดูเป็นตัวอย่าง สิ่งต่อมาคือให้ไปคิดเอง ทำเอง และนำมาเสนอต่อท่านต่อไป ดังนั้นลูกศิษย์ของท่านจึงมี 2 ประเภท

  1. คือเก่งมากๆ จากการคิดหาวิธีปฏิบัติ ให้งานสำเร็จ หรือ
  2. ไม่ได้เรื่องราวอะไรเลย เพราะทำอะไรไม่เป็น (ไปจ้างคนอื่นช่วยทำให้)

        แต่ผมสังเกตว่า ลูกศิษย์ประเภทแรกจะมีมากกว่า และเป็นผู้บริหารอยู่ในหลายมหาวิทยาลัยในขณะนี้

       ที่ผมเกริ่นนำมานี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะเขียนต่อไป เนื่องจากผมได้รับอิทธิพลและแนวคิดหลายอย่างมาจากท่าน (โดยที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว) และจะต้องกล่าวถึงท่านในบทต่อๆ ไป จึงแนะนำให้ท่านผู้อ่านรู้จักกันก่อน เหมือนกับเป็นบทไหว้ครูครับ

 

หมายเลขบันทึก: 45062เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2006 14:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท