Mr.CHOBTRONG
ผศ. สมศักดิ์ สถาบันวิจัยและพัฒนา ชอบตรง

สรุปการให้ข้อเสนอแนะของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์


โครงการฐานเศรษฐกิจและทุนทางวัฒนธรรม
สรุปการให้ข้อเสนอแนะ ของศาสตราจารย์ ดร.นิธิ  เอียวศรีวงศ์ต่อโครงการวิจัย เรื่อง ฐานเศรษฐกิจและทุนทางวัฒนธรรม พิชัย  สุขวุ่น                 เมื่อวันที่  10  กรกฎาคม  2549  มหาวิทยาลัยได้เชิญศาสตราจารย์ ดร.นิธิ  เอียวศรีวงศ์  เพื่อมาให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง ฐานเศรษฐกิจและทุนทางวัฒนธรรม ซึ่งประเด็นที่ได้ตั้งข้อสังเกตและแสดงความคิดเห็น มีหลายเรื่องที่ทำให้นักวิจัยและผู้ที่สนใจ มีฐานความคิดทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอย่างลุ่มลึกยิ่งขึ้น ทำให้มองเห็นโจทย์วิจัยที่ซ่อนอยู่ในปรากฏการณ์ของสังคม      โดยท่านเสนอแนะให้พิจารณาจากปรากฏการณ์ธรรมดาทั่วไป แต่ในสิ่งธรรมดาเหล่านั้นมันมีความเคลื่อนไหว ตอบโต้ ช่วงชิง และถ่วงดุลอำนาจกันอย่างมีความหมาย ประเด็นที่ควรพิจารณาประกอบด้วย                1.  ควรพิจารณาจากความชำนาญของชุมชน / ทุนวัฒนธรรมอาจไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ / และจุดมุ่งหมายของการวิจัยก็เพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์                ในข้อที่ 1 ขออนุญาตรวบ 3 เรื่อง และอธิบายในคราวเดียวกัน คือ  1) ความชำนาญของชุมชน  2) ทุนวัฒนธรรมอาจไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ (แต่เป็นเรื่องสืบเนื่องกัน)  3) ทำวิจัยเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ ทั้ง 3 เรื่องนี้ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า อย่ามองแต่เพียงมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเท่านั้น ยังมีเบื้องหลังอีกมากมายที่ทำให้ชีวิตมนุษย์ดำรงอยู่ได้ เช่น ศาสนา ความเชื่อ ทรัพยากร การแบ่งหน้าที่ อำนาจการต่อรอง ฯลฯ และงานวิจัยควรช่วยพัฒนาความเป็นมนุษย์ โดยแสดงให้เห็นว่ามนุษย์มีความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น  อย่างไร การเสนอแนะเช่นนี้ ก็จะทำให้นักวิจัยเปิดมุมมองทางวัฒนธรรมให้กว้างขึ้น ตัวอย่างเช่น หากทำการวิจัยในอำเภอไชยา ก็ไม่ควรมองเห็นแต่การผลิตไข่เค็ม แต่ควรเห็นความเคลื่อนไหว อันเป็นเบื้องหลังที่ซับซ้อนมากกว่าแสดงแหล่งวัตถุดิบ วิธีทำ และการตลาด2.แนวคิดของวัฒนธรรมและความรู้ มันมีโครงสร้างและผู้สร้าง ทำให้เกิดความหมายในแง่ใดแง่หนึ่ง ดังนั้นควรตรวจสอบให้ชัดเจน ก่อนจะถูกโครงสร้างนั้นยัดเยียดความคิดแบบสำเร็จรูปในข้อนี้ ท่านเป็นห่วงว่าผลการวิจัยจะตอบอะไรได้ไม่มาก หากผู้วิจัยยังไม่ได้เข้าใจระบบโครงสร้างโดยมีผู้สร้างและยัดเยียดความคิดเหล่านี้ให้แก่สังคม ท่านยกตัวย่าง สื่อทางทีวีได้กำหนดหน้าที่  ของมนุษย์ว่าควรมีหน้าที่อย่างไร และถ้าหากเราเชื่อในโครงสร้างนั้น เราก็ถูกผู้อื่นสร้างให้เราเป็น ทำไมเรา ไม่คิดจะตอบโต้ โดยสร้างโครงสร้างของเราเอง โดยการวิพากษ์ ตั้งข้อสงสัย แล้วโต้กลับ สิ่งนี้ถือเป็นสิทธิ พื้นฐานและทบทวนความรู้ก่อนลงมือดำเนินการเสนอโครงการวิจัย การวิพากษ์โจทย์วิจัยจึงสำคัญมาก เรียกว่าเป็นการวิจารณ์ก่อนวิจัย3. มนุษย์มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจทั้งสองฝ่าย และมีการกำหนดเงื่อนไขกันตลอดเวลา ไม่ได้มีใครกระทำอยู่ฝ่ายเดียว (ข้อนี้ใช้ได้ทั้งเศรษฐกิจและวัฒนธรรม)ในข้อนี้ท่านให้สังเกตความสัมพันธ์เชิงอำนาจ โดยแสดงให้เห็นว่ามีการกำหนดเงื่อนไข อยู่ตลอดเวลาไม่มีใครได้เปรียบ / เสียเปรียบเสมอไป มักมีการตอบโต้กันตลอดเวลา เช่น นายจ้างกับลูกจ้าง ย่อมอยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้ และรวมถึงความสัมพันธ์ทางสังคมทุกรูปแบบ การเสนอเช่นนี้ก็สามารถเป็นแนวทางให้นักวิจัยได้ค้นคว้าความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่เคลื่อนไหวอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของคนในชุมชน4.  อัตลักษณ์หรือการนิยามตัวเองต่อสิ่งภายนอกในข้อนี้ท่านเสนอให้หาความคิดเบื้องหลัง ของการนิยามตัวเองของมนุษย์กลุ่มต่างๆ โดยการกำหนดเหล่านั้น อาจเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของการอยู่รอด เช่น ชาวเขาที่ถูกให้นิยามว่าเป็น ผู้ทำลายป่า ก็นิยามตัวเองเสียใหม่ว่าเป็นผู้อนุรักษ์และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม5. การศึกษาแบบนิเวศวัฒนธรรมในข้อนี้ต้องการให้นักวิจัย มุ่งเน้นไปพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศกับการปรับตัวทางวัฒนธรรม หมายถึง ทรัพยากรที่ลดน้อยลงมนุษย์จะปรับตัวอย่างไร ซึ่งจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ในด้านศาสนา เศรษฐกิจ ฯลฯ อย่างมีความหมาย6. ท่านได้ให้ข้อเสนอแนะส่งท้ายไว้  3 ประเด็น 1)   ก่อนทำวิจัยต้องรื้อโครงสร้างเดิม ที่มีผู้สร้างและยัดเยียดให้ จนกลายเป็นความคิดฝังลึก โดยการโต้กลับ ตั้งข้อสงสัย และถามตัวเองว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่                                 2) คุณภาพของงานวิจัยตรวจสอบได้โดยพิจารณาว่า ทำให้เกิดความรู้ใหม่ ที่ไม่ได้เปิดเผยมาก่อนหรือไม่                                 3)  นักวิจัยที่มาจากหลากหลายสาขา ควรปรับตัวให้เหมาะสมกับทักษะเดิม โดยรื้อถอน ความรู้แบบเดิม และคิดนอกรอบ โดยสร้างความรู้ใหม่ให้สัมพันธ์กับมิติทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม                สรุป  ฐานเศรษฐกิจและทุนทางวัฒนธรรม มันมีความเคลื่อนไหว ถ้าเราใช้สายตาที่ละเอียดรอบคอบก็จะค้นพบได้ แต่ทุนสำคัญที่นักวิจัยทุกคนต้องมี คือ ผู้ที่ชั่งสังเกต สงสัย สอบสวน และท้าทายความรู้สำเร็จรูปอยู่เสมอ 
หมายเลขบันทึก: 45020เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2006 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 14:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ขอบคุณมากค่ะอาจารย์ที่สรุปให้เข้าใจง่ายขึ้น ได้แนวคิดดี ๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้ เพราะแต่ละชุมชนต่างก็มีแนวปฏิบัติและแนวทางการแก้ปัญหาของตัวเองตามวัฒนธรรม โครงสร้าง และอัตลักษณ์ของตัวเองภายใต้สถานการณ์หนึ่ง ๆ ซึ่งไม่สามารถที่จะนำไปเปรียบเทียบหรือนำไปใช้กับชุมชนอื่นได้

ขอบคุณอาจารย์มากครับ

    เป็นความรู้ไม่ที่น่าศึกษา และหากทำให้เกิดเห็นรูปธรรม ได้ จะเป็นสิ่งที่ดีต่อ มวลมนุษยชาติ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท