Mr.CHOBTRONG
ผศ. สมศักดิ์ สถาบันวิจัยและพัฒนา ชอบตรง

การจัดการศึกษากับเศรษฐกิจพอเพียง


การจัดการศึกษากับเศรษฐกิจพอเพียง
การจัดการศึกษากับเศรษฐกิจพอเพียง                                                             พิชัย   สุขวุ่น                บทความเรื่องนี้ต้องการแสดงให้เห็นว่า การจัดการศึกษากับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะทั้งสองอย่างก็สร้างขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และถ้าชีวิตคือการเรียนรู้  เศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาชีวิตให้ถูกต้องไม่เช่นนั้นแล้ว ชีวิตก็จะหาภาวะปกติไม่ได้เลย ฉะนั้นแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการกระตุ้นเตือนไปยังทุกมิติของสังคม ไม่ใช่เฉพาะเศรษฐกิจหรือการศึกษาเท่านั้น มิติทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม ก็ต้องนำไปปรับใช้ ให้สอดคล้องกับปรัชญานี้                ทำไมถึงเกิดโครงการพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง คำถามนี้ สำหรับผู้ที่คุ้นเคยอยู่กับเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมอาจเข้าใจยาก แต่สำหรับผู้ที่เห็นความไม่เท่าเทียมของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี คงพอจะเข้าใจได้ เศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี มีปรัชญาว่าการลงทุนต้องมีกำไรเพิ่ม และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีขีดจำกัด ผู้ผลิตรายใดมีทุนมาก  ก็มีโอกาสใช้ความได้เปรียบด้านต่าง ๆ มาแข่งขันในตลาดเสรี ในตลาดเสรีจึงมีความไม่เท่าเทียมกันเป็นพื้นฐาน ผู้ที่มีทุนน้อย หากจะเข้าไปร่วมในกลไกตลาดเช่นนี้ มักมีความเสี่ยงเป็นพื้นฐาน ผู้ที่มีอำนาจทุนเหนือกว่ามักจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า เพราะคำว่า เสรีไม่ได้มีความหมายในแง่จริยธรรมกำกับอยู่ด้วย ฉะนั้น ผู้เป็นเจ้าของทุนในตลาดเสรี จึงมีอยู่ไม่มาก  ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกลไกตลาดเช่นนี้ มีอยู่ถึง 80 % ของประชากรทั้งหมด เมื่อสังคมโลกเป็นทุนนิยมเสรีสมบูรณ์แบบ  สภาพของสังคมในประเทศต่าง ๆ ก็จะมีสภาพเดียวกัน คือ มีผู้มีรายได้สูงอยู่ประมาณ 20% อีก 80% เป็นผู้ที่คอยพึ่งพาระบบดังกล่าว และหนุนเสริมให้ระบบเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ตลาดเสรีจึงมีลักษณะเป็นเกมส์ หรือการเล่นกับเงินทุน จนละเลยวิถีชีวิต ความเป็นมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ยิ่งระบบตลาดเสรีเติบโตมากเพียงใด สิ่งแวดล้อมและคุณค่าของสิ่งมีชีวิตก็จะลดลงตามลำดับ                ทั้งนี้  อำนาจทุนมิได้มีอิทธิพลเฉพาะการลงทุนเท่านั้น แต่จะมีอำนาจไปถึงเรื่องการเมือง สังคม การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ทุกอย่างแปรคุณค่าเป็นมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น เมื่อทุกส่วนหลอมรวมเป็นระบบตลาดเสรี  จึงทำให้ทุกมิติลดความเป็นธรรมลงไปด้วย เพราะจริยธรรมมีลักษณะตรงข้ามกับตลาดเสรี จริยธรรมมีสภาพเป็นกฎเป็นข้อบังคับคล้าย ๆ อำนาจตุลาการ แต่ตลาดเสรีมีกำไรเป็นกฎพื้นฐาน การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลไกตลาดเสรี จึงต้องมีความรู้เท่าทันในกลไกดังกล่าว ไม่เช่นนั้นก็จะตกเป็นเหยื่อ  เพราะเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม                แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2505 เป็นต้นมาได้กระโจนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตลาดเสรีอย่างเหนี่ยวแน่น  และด้วยกลไกดังกล่าว ทำให้สังคมไทยเกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มจะห่างจากกันมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  จึงพระราชทานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ราษฎรได้มีแนวทางใหม่ในการดำเนินชีวิต โดยยึดหลักว่า  ควรทำการผลิตเพื่อการยังชีพเป็นเบื้องต้น หากมีส่วนเกินจึงค่อยจำหน่ายสู่ระบบตลาดภายนอก หลักการนี้คือการค่อยๆ เติบโตบนพื้นฐานความสามารถของตนเอง และเบื้องหลังของปรัชญานี้ก็คือการพึ่งตนเอง การพึ่งตนจึงเป็นปัจจัยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงให้แง่คิดทั้งเศรษฐกิจ  สังคม วัฒนธรรม การเมือง โดยผ่านระบบเศรษฐกิจพอเพียงนี้เพราะเชื่อว่า ทุกระบบจะมีการเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก                การดำเนินแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นหลักเศรษฐศาสตร์แรกๆของมนุษย์ ในครั้งที่ยังไม่พัฒนาเป็นตลาดเสรี มนุษย์เริ่มจากการพึ่งตนเอง และมีชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่สะสมความมั่งคั่งไว้เป็นจำนวนมาก ทรัพยากรในโลกหรือในชุมชนจึงมีพอสำหรับการเลี้ยงชีพในระดับพื้นฐาน ด้วยหลักการเช่นนี้  เป็นการตั้งคำถามใหม่เกี่ยวกับแนวทางพัฒนาว่า การพัฒนาอย่างไหนจึงเรียกว่า เป็นการพัฒนาที่เหมาะสม และอย่างไหนที่เรียกว่าพัฒนาจนเกินความจำเป็น เศรษฐกิจพอเพียงจนเป็นคำตอบว่า ความพอดีไม่จำเป็นต้องมีทรัพยากรส่วนเกินเป็นจำนวนมาก                 นอกจากเศรษฐกิจพอเพียงจะสร้างระบบการพึ่งพาตนเองได้แล้ว ยังแสดงให้เห็นว่า การพัฒนาใดๆ ก็ตาม ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งระบบตลาดเสรี  จะไม่มีลักษณะเช่นนี้ การที่เรียกว่าพึ่งตนเองได้มิได้หมายความว่ามนุษย์จะมีชีวิตอยู่ตามลำพังได้ มนุษย์ต้องเป็นหนี้บุญคุณของสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ สัตว์ ฉะนั้นการกระทำระหว่างกันจึงเป็นการพึ่งพาอาศัยกันในระบบนิเวศที่ความเกี่ยวเนื่องกัน หากกระทำผิดกฎดังกล่าว มนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็ยากที่จะมีชีวิตอยู่ได้ ความคิดเช่นนี้เริ่มเข้าใกล้คำสอนทางศาสนาขึ้นทุกขณะ เพราะทุกศาสนาจะสอนคล้ายๆกัน คือ มีกฎอยู่เบื้องหลังการมีชีวิตของมนุษย์ พุทธศาสนาเรียกว่ากฎธรรมชาติ คริตศาสนาเรียกว่าพระเจ้า ศาสนาพราหมณ์เรียกว่าอาตมัน และศาสนาอื่นๆก็มีสภาพคล้ายๆกัน                หากมองในเชิงศาสนาปรัชญา การเข้าถึงความจริง จริยธรรมและความถูกต้อง เศรษฐกิจพอเพียงได้แฝงปรัชญาเหล่านี้ไว้อย่างครบถ้วน แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นแนวทางที่ทำให้มนุษย์ได้ทบทวน โครงสร้างของการพัฒนา ว่าแนวทางไหนจะนำไปสู่ความสงบเรียบร้อยของสังคมมากกว่ากัน                ต่อจากนี้จะกล่าวถึงการศึกษาบ้าง การศึกษาที่ดีไม่ควรแยกความรู้ออกเป็นส่วนๆ                ว่าศึกษาเฉพาะ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ฯลฯ แต่ควรพิจารณาให้เห็นว่า ความรู้นั้นมีลักษณะเป็นเอกภาพเป็นกลุ่มก้อนและสัมพันธ์กันทุกระบบ การพิจารณาว่าความรู้ไหนถูกต้อง  ก็ต้องถูกต้องไปตลอดสาย ไม่มีแยกแยะว่า ถูกต้องทางสังคมและผิดพลาดหากนำมาใช้ในทางเศรษฐกิจ ความรู้ที่ถูกย่อมไม่มีข้อยกเว้นว่าผิดบ้างถูกบ้าง                สิ่งมีชีวิตกับการเรียนรู้เป็นของคู่กันเสมอ เพราะหากไม่มีการเรียนรู้และปรับตัวก็จะไม่สามารถรักษาชีวิตรอดได้ มนุษย์จึงอาศัยการเรียนรู้ และปรับความรู้อยู่ตลอดเวลา ความรู้ด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ก็เป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัวทางความรู้เช่นเดียวกัน การปรับตัวของความรู้ก็คือการหาหนทางที่ถูกต้องที่สุด ที่มนุษย์จะใช้ความรู้นั้นในการดำเนินชีวิตคำว่าความถูกต้องของความรู้ได้ถูกนิยามไปต่างๆนานา  การนิยามนั้นก็เกิดจากความสามารถทางสมองเท่าที่จะสร้างสรรค์  พิสูจน์  และตรวจสอบได้  ความถูกต้องจึงถูกนิยามอย่างหลากหลาย  มนุษย์บางพวกนิยามว่า การทำสงครามคือความถูกต้องก็มี  นักธุรกิจแบบตลาดเสรี  ก็อธิบายว่า  หนทางดังกล่าวถูกต้องแล้ว  การแข่งขันย่อมเป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทั้งปวงหากไม่มีการแข่งขันแล้วการพัฒนาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร  การนิยามความถูกต้องเช่นนี้  มีคนจำนวนมากเห็นด้วย  สังคมทั้งโลกจึงเป็นสังคมแห่งตลาดเสรี  กติกานี้จึงกลายเป็นความถูกต้องของคนจำพวกหนึ่ง  แต่การที่คนจำนวนมากเห็นว่าถูกต้อง  ก็ไม่จำเป็นว่าความเชื่อนั้นจะถูกต้องอย่างแท้จริง  เพราะคนมีโอกาสเข้าใจผิดเป็นหมู่มากได้                หน้าที่ของสิ่งมีชีวิตคือการเรียนรู้  การเรียนก็จำเป็นต้องค้นหาความรู้ที่ถูกต้อง  การจัดการศึกษาของมนุษย์  ก็คือการตีความคำว่าความรู้ที่ถูกต้องตามความคิดเห็นที่ตกลงกันแต่ละช่วงเวลา  เมื่อค้นพบสิ่งใหม่  และมนุษย์อยากจะใช้สิ่งนั้นเป็นบรรทัดฐาน  ความถูกต้องก็ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ  การจัดการศึกษาแต่ละช่วงเวลาของชีวิตมนุษย์  จึงมีเวลาอยู่ไม่มากที่จะค้นหาคำว่า  ความรู้ที่ถูกต้องในช่วงชีวิตเราคืออะไร   หากช่วงชีวิต  80-100 ปี  ยังหาไม่พบ  ก็จะเสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์  เพราะสติปัญญาไม่สามารถพัฒนาถึงขีดสุดได้  ทุกช่วงชีวิตของมนุษย์จึงใช่เวลาหมดไปกับการค้นหาสิ่งที่เรียกว่า ความถูกต้องนั้นสถาบันการศึกษา  จึงเกิดการจัดการศึกษาขึ้นมาค้นหาสิ่งที่เรียกว่าความรู้ที่ถูกต้องความรู้ทางไสยศาสตร์  วิทยาศาสตร์  เศรษฐกิจ  สังคม  ฯลฯ  ทั้งหลายที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น  ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานคำถามเดียวกันว่าเป็นความรู้ถูกต้องแล้วหรือไม่คำตอบที่ว่าถูกต้อง หรือไม่  จะมีอะไรเป็นหลักฐาน                มาถึงตอนนี้การจัดการศึกษากับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเริ่มมีปัญหาอย่างเดียวกัน  คือการถามหามาตรฐานว่า  รู้ได้อย่างไรว่าการจัดการศึกษาที่ถูกต้องมีมาตรฐานอย่างไร  และเศรษฐกิจพอเพียง  ที่นำเสนอว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง  กว่าระบบตลาดเสรีคืออะไร                 จุดร่วมของความถูกต้อง  ทั้งการจัดการศึกษา  และเศรษฐกิจพอเพียง  ก็คือพื้นฐานทางจริยธรรมและจริยธรรมก็เป็นสะพานเชื่อมไปสู่การเข้าใจความจริง (ที่เรียกว่าสิ่งสากล)  ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า  พื้นฐานทางจริยธรรม  คือความจำเป็นของสิ่งมีชีวิตของทุกๆ สิ่ง  ยกตัวอย่างอำนาจการปกครอง ประกอบด้วย  ฝ่ายบริหาร  ฝ่ายนิติบัญญัติ  และฝ่ายตุลาการ  แม้ฝ่ายบริการและฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องมีจริยธรรมเป็นพื้นฐาน   สังคมก็ต้องมีความจำเป็นต้องมีฝ่ายตุลาการ ไว้คอยตัดสินใจความเป็นธรรม  ถ้าไม่มีอำนาจตุลาการไว้คอยถ่วงดุลแล้ว  สังคมก็จะวุ่นวายสับสน  มีการเอาเปรียบกันอย่างชัดเจน  ซึ่งแต่เดิมที่ยังไม่มีกฎหมาย  ก็ใช้อำนาจของศาสนาเป็นหลัก  พอนานเข้าศาสนาก็ไม่มีอำนาจพอ  จึงอาศัยอำนาจตุลาการ  อำนาจตุลาการก็เป็นเพียงจริยธรรมเบื้องต้นของศาสนาเท่านั้น                การจัดการศึกษาในปัจจุบัน  จึงมีปัญหาเช่นเดียวกันกับระบบเศรษฐกิจ  เพราะจัดการศึกษาบนพื้นฐานของเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี  เพราะเหตุว่ามนุษย์ส่วนใหญ่มีความรู้ชุดเดียวกัน  หลักสูตรการศึกษา  จึงต้องสอดคล้องกับความต้องการของมนุษย์  เมื่อมนุษย์ส่วนใหญ่เห็นผิดเป็นชอบ  การจัดการศึกษาก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องไปด้วย  แต่มนุษย์ส่วนใหญ่เห็นว่าถูกต้องแล้ว  เพราะมันตรงกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ขัดเกลาความรู้ให้ถึงความถูกต้องที่แท้จริงการจัดการศึกษากับเศรษฐกิจตลาดเสรี จึงเป็นความรู้ชุดเดียวกัน การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้มนุษย์สามารถพึ่งตนเองได้ ก็เท่ากับว่าได้ช่วยตั้งคำถามว่า การศึกษาแบบใดที่สามารถพึ่งตนเองได้ คำตอบที่เหมือนกัน และเป็นแนวทางเดียวกันของทั้งสองสิ่ง คือการคำนึงถึงพื้นฐานทางจริยธรรม เพื่อเป็นพื้นฐานในการมีความรู้ที่ถูกต้อง และยกระดับความรู้ ให้เข้าถึงความรู้แท้จริงที่ไม่เปลี่ยนแปลงได้                หน้าที่ของการจัดการศึกษาและหน้าที่ของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ทำการลดส่วนเกิน ที่พอกพูนจากความไม่รู้ และความต้องการเกินพอดีให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ เช่น สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในโลกใบเดียวกันนี้  ไม่ว่าจะเป็นนายทุนหรือชนชั้นแรงงาน  ทั้งมีความรู้สูงและความรู้ต่ำ  ก็ต้องประสบชะตาเดียวกัน  คือ  ความทุกข์ยากและความขัดแย้ง ความทุกข์และความขัดแย้ง ก็จะทับถมลงบนสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ซึ่งความรู้แบบทุนนิยมประชาธิปไตย หรือสังคมนิยม ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาได้  หากเราไม่รู้ต้นตอของปัญหา การแก้ไขก็คือ ใช้ชีวิตแบบพอเพียงเคารพในหนี้บุญคุณของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม  การช่วยเหลือกันเพราะเป็นหน้าที่ตามธรรมชาติ ทั้งหมดนี้ คือ จุดหมายของการจัดการศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง   
หมายเลขบันทึก: 45015เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2006 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 23:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท