KM ที่รัก ตอนที่42 " วิจัยเชิงคุณภาพ กับ วิจัยเชิงปริมาณเป็นมิตร หรือเป็นศัตรูกัน"


"ญาณวิทยา"
                              ความงดงามของวิถีการวิจัย  ของนักวิจัยเชิงคุณภาพก็คือ ความหลากหลายวิธีการวิจัย ที่ใช้วิธีคิด/ทฤษฎี และกระบวนทัศน์ ในการวิจัย แพรวพราว หลายรูป หลายแบบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะมีจุดมุ่งหมาย หรือวัตถุประสงค์ หลากหลายไปด้วย  จนหาจุดยืนไม่ได้ แต่งานวิจัยเชิงคุณภาพเหล่านี้ กลับมีจุดร่วมที่แข็งมากและเหมือนกันคือ มุ่งตีความ (interpretation) เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ ในชีวิตของผู้คนและชุมชน                                          หน้าตาแบบไหน???ครับ จึงจะได้ชื่อว่า เป็นนักวิจัยเชิงคุณภาพที่เป็นตัวจริง(ขนานแท้)  ผู้ที่อธิบายได้ถึงหน้าตาของนักวิจัยเชิงคุณภาพ ที่ดีคือ Denzin and Lincoln (2000) เขาอธิบายคุณสมบัติของนักวิจัยเชิงคุณภาพ ว่า เป็นคนประเภทที่ ทำอะไรได้หลายอย่างด้วยตัวเอง(  bricoleurs)   นักวิจัยต้องใช้ กลยุทธ์ ในการเก็บข้อมูล และการวิเคราะห์ หลายอย่างด้วยตัวเอง        

                                       วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ กับ วิธีวิจัยเชิงปริมาณเป็นมิตรหรือเป็นศัตรูกัน ขัดแย้งกันหรือเป็นคนละขั้วหรือเปล่า  เป็นคำถามที่นักวิจัยหลายคนหลายสำนัก สงสัยกันมากมาย  ถ้าเรายังคิดติดอยู่ว่าการวิจัยทั้งสองประเภทนี้มีความขัดแย้ง  หรืออยู่คนละขั้ว ก็คงจะมีการเข้าใจคลาดเคลื่อน อยู่มาก เพราะจริงๆแล้ว   วิธีการเชิงคุณภาพ และวิธีการเชิงปริมาณ ไม่ได้แยกกันอย่างเด็ดขาด  ความเป็นเชิงคุณภาพ และความเป็นเชิงปริมาณ  มีความเหลื่อมซ้อนกันอยู่   กล่าวคือวิธีการที่เรียกว่า เชิงคุณภาพนั้น มีคุณสมบัติเป็นเชิงปริมาณด้วย  และในทำนองเดียวกัน ในวิธีการชิงปริมาณ   ก็มีคุณสมบัติเป็นเชิงคุณภาพ อยู่ด้วยเหมือนกัน( ชาย  โพธิสิตา  2549)

                                          การจะเป็น วิธีการเชิงคุณภาพหรือไม่นั้น  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ตัวเลข เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ว่านักวิจัยใช้ข้อมูลที่ได้มานั้นอย่างไรด้วย   ถ้าเป็นนักวิจัยใช้โดยนับจำนวนเป็นสถิติ เพื่อเป็นการมุ่งอนุมาน(   inference)  ก็จะมีสมบัติเป็นเชิงปริมาณ   ถ้าผู้วิจัยใช้โดยมุ่งการตีความหมาย ( interpretation) ก็มีคุณสมบัติเป็นเชิงคุณภาพ( jessor , 1996 ) การวิจัยทุกชนิด จึงล้วนมีส่วนเป็นเชิงคุณภาพอยู่ในตัวด้วยกันทั้งสิ้น  ถึงแม้จะไม่ได้ทำแบบเชิงคุณภาพเลยก็ตาม   weisner  (1996: 316)   และ Harmmersley( 1992: 159) ใด้กล่าวเตือนสติไว้อย่างน่าคิดว่า การแบ่งแยกระหว่าง เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณนั้นมีประโยชน์น้อย  และจริงๆแล้วการแบ่งแยกเช่นนั้น ค่อนข้างจะอันตรายด้วยซ้ำ                                           ประเด็น ญาณวิทยา เข้ามาเกี่ยวข้องกับการวิจัยเชิงคุณภาพอย่างไร  ญาณวิทยา เป็นสาขาหนึ่งของปรัชญาที่ว่าด้วยเรืองของ บ่อเกิด ลักษณะ หน้าที่ ประเภท ระเบียบวิธี  และความสมเหตุสมผล ( ราชบัณฑิตยสถาน, 2543 : 34)  เนื่องมาจากการถกเถียงทางความคิด หรือ สงครามกระบวนทัศน์ ที่มีนักรบที่ร่วมในสงคราม  สองฝ่าย คือฝ่ายที่นิยมวิธีการเชิงคุณภาพ กับฝ่ายที่นิยมวิธีการเชิงปริมาณ   แต่ก็สงบลงเมื่อนักสังคมศาสตร์ จำนวนหนึ่ง เริ่มตระหนักว่าการตอบโต้กันไปมาเช่นนั้นเป็นการสูญเปล่า  เพราะถึงอย่างไร ชีวิตและสังคมมนุษย์ ก็มิได้มีมิติเพียงด้านเดียว แต่มีทั้งสองด้าน  ซึ่งนักวิจัยเองควรมองหลายๆด้าน จึงจะสามารถทำให้ นักวิจัยเข้าใจ สิ่งที่ตัวเองศึกษา ได้อย่างสมบูรณ์ จึงทำไห้เกิดการเปิดกว้าง  ในแง่ของระเบียบวิธี    ในปัจจุบันมีการประนีประนอมมากขึ้น วิธีการทั้งสองจึงถูกมองว่า มีส่วนช่วยเสริมกันมากกว่าที่จะขัดแย้งกัน
หมายเลขบันทึก: 44962เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2006 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

1.การเข้าใจวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ของท้องถิ่นนั้น ๆ หรือแม้แต่วัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง

2.การเข้าใจหลักการปฎิบัติเมื่อเข้าสู่กระบวนการการศึกษาชุมชนและลักษณะการเข้าใจถึงวิ๔วัฒนธรรมเชิงซ้อนของกลุ่มชนว่าเขาเป็นอยู่และเกี่ยวโยงอย่างไร

3.การเข้าใจว่า "ตนเอง" ต้องการอะไร จากสิ่งที่เราเข้าไปศึกษา และ แหล่งเรียนรู้ที่สำคัญคือ ชุมชน ท้องถิ่น กลุ่มชน  แล้วกลุ่มชน ท้องถิ่น เขาจะได้อะไร ภายหลังจากที่เราเข้าไปแล้ว

4.การก่อตัว...ของการสร้างเสริมความพร้อม และวัฒนธรรมนั้น แม้แต่ "คน"ที่เข้าไปศึกษา ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่กลับเห็นใจชาวชุมชนว่า เขามีชีวิตที่ลำบาก หรืออย่างไร เขาควรจะได้รับสิ่งใด นั่นแหละคือคำตอบ " ของ KM

5. ให้ไปค้นหาในชุมชน.........แล้วคุณจะพบกับคำตอบเอง....................

เห็นด้วยกับ คุณ น.เมืองสรวง ค่ะ  ดิฉันเพิ่งเข้าใจอย่างดีเมื่อตัวเองได้เรียนและฝึกภาคสนามในการทำวิจัยเชิงคุณภาพ

แต่ยังไม่มีความต้องการแสดงความคิดเห็นในประเด็นว่าวิจัยทั้งสองทางเป็นมิตรหรือศัตรูกัน

พอเข้าไปในสนามแห่งการวิจัย  จะเห็นถึงขุมของความรู้  ความมีน้ำใจ  ความเป็นคนไทยที่ควรหวงแหนรักษาผืนแผ่นดินไทยไว้  และไม่มีที่ใดๆในโลกนี้ที่จะมีความสุขเท่า

ดิฉันเข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง  ดิฉันมีความสุขและอยากจะเข้าไปในหมู่บ้านอื่นอีก 

ดิฉันอาจจะใหม่เกินไปที่จะรู้อะไรอีก  ขอคารวะค่ะ  และน้อมรับหากผิดพลาด

ด้วยความยินดียิ่งครับ....งานวิจัยจะไม่มีคำว่า.." ศัตรู"

เพราะการค้นหาตนเอง ต่างหากที่เป็นศัตรูตนเอง คนอื่นไม่เกี่ยว เพราะเราเข้าไปเรียนรู้จากคนที่รู้ เพราะเราไม่รู้ในสิ่งเขารู้และเขาไม่รู้ในสิ่งที่เรารู้..ฉะนั้น ต้อง "ใช้พฤติกรรมปรับเปลี่ยน" คือ เปลี่ยนแปลงให้เข้าสภาพ และกับสิ่งที่เห็นและเป็นไปนั้น ๆ

จากการที่ดิฉันได้เข้าไปในหมู่บ้าน  ได้พูดคุย ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน  ใช้เวลาเพียงแค่ 3 วัน  ดิฉันก็รู้สึกถึงความเป็นมิตร  และรู้สึกว่าเขาก็เป็นครูเรา  และเขาก็มีความภาคภูมิใจที่ได้สอนเรา

ดิฉันใช้คำว่า  เรา  เพราะดิฉันพูดเรื่องเดียวกันกับคุณ น.เมืองสรวง

           ผมดีใจกับประเทศไทย ของเรา ที่มีคนดีๆอย่างคุณ น เมืองสรวง  และคุณ สิริพร  ซึ่งในความเป็นจริงคนที่คิด และเข้าใจคุณค่าความเป็นมนุษย์ความมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน  มีไม่มากในสังคมปัจจุบัน  แต่ก่อนผมก็ไม่เข้าใจชาวบ้านอย่างนี้  แต่พอผมมีโอกาสเข้าไปทำงานกับชาวบ้าน กว่า10 ปี ทำให้ผมถึงกับบางครั้ง แอบนั่ง ร้องให้อยู่คนเดียว  ช่วงเวลาที่ผ่านมาทำไมเราไม่เข้าใจชาวบ้านเลย เขาเป็นคนดี มีความรู้ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน  ทำงานหนัก(มาก) แต่ทำไมเขาจึงไม่ได้รับการดูแลจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่อ้างตัวเอง เป็นผู้เจริญแล้ว  ผมไม่เข้าใจจริง แต่ที่ผมตั้งใจไว้แล้วว่า ผมจะช่วยเหลือ พวกเขา ทุกอย่างที่ผมทำได้ และตลอดที่ผมมีชีวิตอยู่ครับ

ตอนที่ดิฉันยังไม่ตัดสินใจเรียนต่อ  ดิฉันคิดว่าคงพอเพียงแล้วสำหรับความรู้  แต่พอดิฉันผ่านการเสนอขอกำหนดตำแหน่ง  ดิฉันกลับมีความรู้สึกว่าต้องทดแทนคุณของแผ่นดิน

พอได้ออกไปสัมผัสกับพี่น้องคนไทยด้วยกันแล้ว  ดิฉันเกือบจะมีความรู้สึกเหมือนคุณศิริพงษ์  เพียงแต่ดิฉันเป็นผู้หญิง  ไม่ค่อยได้ร่วมหัวลงท้ายเท่าไรนัก

อาจารย์เตือนว่า  หลีกเลี่ยงการรับปาก  จะทำให้เรามีผลเสียในภายหลัง

ดิฉันไม่เข้าใจในตอนนั้น  แต่ตอนนี้เข้าใจแล้ว

บางครั้งไม่ใช่หน้าที่ของผู้วิจัย  แต่ด้วยน้ำใจของความเป็นคนไทย  อดไม่ได้ที่จะอยากช่วยเหลือเกื้อกูล  นะคะ

ขอบคุณค่ะ

 

การช่วยเหลือเกื้อกูลเป็นสิ่งที่ดีและมีคุณค่ามากในสังคมไทยครับ หากแต่เจ้าของชุมชน เขาต้องการสิ่งใด......ไม่ใช่ผู้ที่เข้าไปเรียนรู้นั้นนำสิ่งของ ๆ ให้ให้ เหมือน ส.ส. นะ แต่ต้องร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้นให้เกิดประโยชน์ แล้วคุณค่าต่าง ๆ จะเกิดขึ้นเองในชุมชน นั้น ๆ

ดิฉันไปเห็นการเอารัดเอาเปรียบของพ่อค้าคนกลางมากเลย 

วันหนึ่งไปดูการถักไซดักปลา  ชาวบ้านบอกว่า  ไซขนาดกลางถักได้วันละ 1 อัน  ขาย 30 บาท  แต่ดิฉันไปถามที่หน้าร้าน  90 บาทเชียว

ดิฉันเลยพูดคุยกับผู้ใหญ่บ้านเรื่อง  การรวมตัวเป็นสหกรณ์  มีประโยชน์หลายๆอย่าง 

สงสารชาวบ้านนะคะ  วัตถุดิบก็มีราคาสูงขึ้น  แต่สินค้าราคาเดิม  พ่อค้าคนกลางยังไปขึ้นราคากับผู้บริโภค  ชาวบ้านไม่ได้อะไรเลยค่ะ

อาจจะเป็นเพราะความไม่รู้ของชาวบ้านก็ได้ครับ เพราะส่วนใหญ่ ชุมชนมักจะทำอะไร ทำตามอย่างกัน  พอผลผลิตออกมามักจะทำให้พ่อค้าโก่งราคา  เป็นการเสียเปรียบโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผู้เรียนรู้ที่เข้าไปจึงมักจะไม่ค่อยสนใจในประเด็นนี้เท่าไหร่นัก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท