TU LIBS
นาง ศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ

การฝึกอบรมหลักสูตรเทคนิคการเป็นวิทยากรและนักฝึกอบรมมืออาชีพ รุ่นที่ 11


การเป็นวิทยากรและนักฝึกอบรมมืออาชีพต้องใช้ทักษะต่างๆหลายอย่างมาประกอบกัน โดยเริ่มจากการเตรียมตัวพูด ต้องเลือกสรรคำพูดและศึกษารวบรวมข้อมูลที่จะนำมาพูดโดยข้อมูลมีความน่าเชื่อถืออ้างอิงได้และมีเนื้อหาที่ถูกต้องครบถ้วน มีเป้าหมายที่ชัดเจนในเรื่องที่จะพูด เมื่อเริ่มพูดต้องมีบุคลิกที่น่าเชื่อถือ และน้ำเสียงที่หนักแน่นชัดเจน การใช้ภาษาท่าทางอย่างเป็นธรรมชาติ รอยยิ้ม หรือการสบตาผู้ฟัง สร้างบรรยากาศและความเป็นกันเองกับผู้ฟัง สร้างอารมณ์ขัน เล่าประสบการณ์ ให้โอกาสผู้ฟังได้ตอบปัญหาหรือซักถาม และสรุปจบในตอนท้าย “ขึ้นต้นให้ตื่นเต้น ตอนกลางให้กลมกลืน และตอนจบให้จับใจ”

            

            วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2554 เวลา 9.00 – 16.00 น. นางสาวประวีณา ปานทอง และนางสาวยุวดี แก้วเอี่ยมได้เข้าฝึกอบรมหลักสูตรเทคนิคการเป็นวิทยากรและนักฝึกอบรมมืออาชีพ รุ่นที่ 11 ณ ห้องประชุมประภาศน์ อวยชัย ชั้น 4 อาคารเอนกประสงค์ 1 ชั้น 5 มธ.ท่าพระจันทร์ วิทยากรโดย อาจารย์เสริมพรรณ สุทธิธานี

สรุปโดย นางสาวประวีณา ปานทอง ดังนี้

วัตถุประสงค์

            เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจในหลักการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาคน และเทคนิคในการพูดเพื่อบรรยาย นำเสนอ และสอนงาน ตลอดจนการฝึกปฏิบัติเพื่อให้สามารถเป็นวิทยากรและนักฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพอย่างมืออาชีพ

เทคนิคการเป็นวิทยากรและนักฝึกอบรมมืออาชีพ
            เทคนิคการพูดในที่ชุมชน (Public Speaking) และการนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ (Effective Presentation) เทคนิคการพูดในที่ชุมชน ควรประกอบด้วย

           1. บทนำ การเกริ่น กระตุ้น จูงใจให้ติดตาม

           2. เนื้อเรื่อง ต้องรู้ว่าจะพูดเรื่องอะไร แยกย่อย 2-3 ประการ เพื่อให้เห็นภาพลักษณ์ชัดเจนขึ้น

           3. มีเป้าหมาย ในการพูดที่ชัดเจนและแนะนำก่อนพูด

           4. ต้องมีประเด็นต่างๆ คือรู้ว่ามีประเด็นเท่าใด ประเด็นอะไรสำคัญกว่ากัน เรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง รวมทั้งข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ ทันสมัย

           5. มีลำดับขั้นตอน/โครงสร้าง น่าสนใจชวนให้ติดตามฟัง ง่ายที่จะเข้าใจ น่าประทับใจ น่าเชื่อถือ

โครงสร้างของเรื่องที่จะพูด ประกอบด้วย

  1. คำนำ หรือการเริ่มต้น (Introduction) สัดส่วนของเนื้อหา 5-10%
  2. เนื้อเรื่อง หรือสาระสำคัญของเรื่อง (Content) สัดส่วนของเนื้อหา 80-90% หลักโครงสร้างของเรื่องที่จะพูดหรือลำดับขั้นตอนในการพูด เช่น เนื้อเรื่องหรือสถานะสำคัญของเรื่อง
  3. สรุปจบ หรือการลงท้าย (Conclusion) สัดส่วนของเนื้อหา 5-10%

การเตรียมตัวสำหรับผู้พูดที่ดี มีวิธีปฏิบัติ 7 ประการในการเตรียมการพูด

  1. หาจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ ควรกำหนดจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ในการพูดทุกครั้งว่าจะพูดเรื่องอะไร เลือกใช้แบบการพูดให้ถูกต้องซึ่งมี 3 แนวคือ

       ก. พูดชักชวนหรือจูงใจ (Persuasion)

       ข. พูดบอกเล่าหรือให้ข้อเท็จจริง (Fact)

       ค. พูดแบบบันเทิง (Entertainment)

  1. วิเคราะห์ผู้ฟังและโอกาส ควรรู้ข้อมูลต่างๆของผู้ฟังเป็นอย่างดี เช่น เพศ วัย การศึกษา จำนวน กลุ่มอาชีพ ศาสนา ความสนใจเป็นพิเศษ เป็นต้น
  2. พยายามจำกัดขอบเขตของเรื่องที่จะพูด เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้
  3. รวบรวมข้อมูล วัตถุดิบ ข้อมูลเก่าที่มีอยู่แล้ว และค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป
  4. กำหนดโครงเรื่อง จัดลำดับโครงเรื่องให้ถูกต้อง คือ คำนำ เนื้อเรื่อง บทสรุป
  5. บรรจุเนื้อหา  นำวัตถุดิบ ข้อมูลมาเรียบเรียงเป็นเนื้อเรื่อง
  6. ฝึกหัดพูด นำวัตถุดิบ ข้อมูลมาเรียบเรียงเป็นเนื้อเรื่องและทดลองปฏิบัติจริง

องค์ประกอบที่สร้างความเชื่อถือ

  1. ตัวผู้พูด เป็นคนน่าเชื่อถือ พูดมีเหตุผล แสดงความเชื่อมั่นในเรื่องที่พูด

      1.1 มีบุคลิกท่าทางที่ดี เช่น บุคลิกการพูดเข้มแข็งมีชีวิตชีวาและเป็นธรรมชาติ สบตาผู้ฟัง ขจัดกิริยาที่ไม่เหมาะสมออก เช่น การล้วงกระเป๋าตลอดเวลา การเคาะนาฬิกา

      1.2 การใช้น้ำเสียงที่ดี  เช่น เสียงดังชัดเจน พูดให้มีเสียงสูงต่ำ มีจังหวะช้าเร็ว และหยุดเร่งให้เหมาะสม คำพูดไหลลื่นไม่ติดๆขัดๆ และไม่ใช้คำพูดที่ไม่มีความหมาย เช่น อ้า เอ้อ เป็นต้น การใช้ภาษาและถ้อยคำต้องให้เหมาะสมกับคนฟัง สมัย เวลา ความรู้สึก โอกาสและที่ประชุม และเป็นภาษาพูด

       1.3 การลดความประหม่า ผู้พูดควรเตรียมเรื่องให้พร้อมก่อนพูด จัดเรียงลำดับเรื่องที่จะพูดให้ครบและถูกต้อง จดตัวเลขที่สำคัญไว้ล่วงหน้า ซ้อมก่อนจนมั่นใจ ดึงความสนใจอยู่ที่เรื่องที่กำลังพูด จูงคนฟังเข้าหาและสร้างความประทับใจให้ผู้ฟัง

   2. ตัวผู้ฟัง มีความรู้พื้นฐานที่จะเข้าใจเรื่องได้ สอดคล้องกับความเชื่อถือดั้งเดิมอยู่แล้ว เป็นประโยชน์หรือแก้ปัญหาให้คนฟังได้

   3. หลักฐานอ้างอิง จากข้อมูลที่เป็นหนังสือ เอกสาร จากองค์กร สถานที่อันเป็นที่รู้จักกันดี หรือจากบุคคลสำคัญซึ่งเป็นที่ยอมรับ หรืออาจมาจากประสบการณ์ของผู้พูดเอง  เช่น สถิติข้อมูล ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ

สรุป

            การเป็นวิทยากรและนักฝึกอบรมมืออาชีพต้องใช้ทักษะต่างๆหลายอย่างมาประกอบกัน โดยเริ่มจากการเตรียมตัวพูด ต้องเลือกสรรคำพูดและศึกษารวบรวมข้อมูลที่จะนำมาพูดโดยข้อมูลมีความน่าเชื่อถืออ้างอิงได้และมีเนื้อหาที่ถูกต้องครบถ้วน  มีเป้าหมายที่ชัดเจนในเรื่องที่จะพูด เมื่อเริ่มพูดต้องมีบุคลิกที่น่าเชื่อถือ และน้ำเสียงที่หนักแน่นชัดเจน การใช้ภาษาท่าทางอย่างเป็นธรรมชาติ รอยยิ้ม หรือการสบตาผู้ฟัง สร้างบรรยากาศและความเป็นกันเองกับผู้ฟัง สร้างอารมณ์ขัน เล่าประสบการณ์ ให้โอกาสผู้ฟังได้ตอบปัญหาหรือซักถาม และสรุปจบในตอนท้าย

                                    “ขึ้นต้นให้ตื่นเต้น ตอนกลางให้กลมกลืน และตอนจบให้จับใจ”

หมายเลขบันทึก: 449313เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2011 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 00:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท