ความชื่นชมต่อภาคีเครือข่าย : มูลนิธิข้าวขวัญ


มขข. มีบริการ 2 แบบคือ แบบดูงาน กับ แบบฝึกอบรม

         ผมเพิ่งลงบันทึกแสดงความชื่นชมคุณสิงห์ป่าสักแห่ง จ.เพชรบูรณ์ไปหยก ๆ ที่ http://gotoknow.org/blog/thaikm/44524 (click)   พอวันที่ 15 ส.ค.49  ในการประชุมภาคีจัดการความรู้ท้องถิ่น   ผมก็ได้รับทราบว่าเวลานี้ภาคีของ สคส. ได้ช่วยกันเผยแพร่ทักษะ KM สู่กัลยาณมิตรกันอย่างขมักเขม้น   ทำให้เครือข่าย KM ขยายวงกว้างขวางออกไปอย่างรวดเร็ว   ผมจึงมีความสุขมากที่ความฝันเรื่อง KM เต็มแผ่นดินใกล้ความจริงขึ้นทุกขณะ

         เราได้รับรู้การขยายและถักทอเครือข่าย KM โดยทีมคุณทรงพล,  คุณสุรเดช,  คุณหมอสมพงษ์และมูลนิธิข้าวขวัญ (มขข.)

         แต่ในบันทึกนี้จะเล่าสั้น ๆ เฉพาะเรื่องราวของบริการเผยแพร่การจัดการความรู้ฉบับโรงเรียนชาวนาของ มขข. ที่เล่าโดยคุณจันทนา  หงษา (จิ๋ม)  ผู้จัดการมูลนิธิที่เล่าด้วยใบหน้าเปี่ยมสุข

         มขข. มีบริการ 2 แบบคือ แบบดูงาน กับ แบบฝึกอบรม

         การดูงานใช้เวลา 1 วัน  เช้าบรรยาย  บ่ายลงดูงานในพื้นที่

การฝึกอบรมมี 3 หลักสูตร
      - หลักสูตรที่ 1  สำหรับชาวนา  ใช้เวลา 3 วัน 3 คืน
      - หลักสูตรที่ 2  สำหรับหน่วยงานทั่วไป  ใช้เวลา 3 วัน 3 คืน
      - หลักสูตรที่ 3  สำหรับเด็กและเยาวชน  เรียนรู้เรื่องระบบนิเวศ  การบำรุงดิน  ความสำคัญในการรักษาพันธุกรรมข้าว  คุณธรรมพื้นฐานและการมองเห็นคุณค่าของตัวเองในการเป็นคนดีของสังคมในอนาคตเวลานี้โรงเรียนใน สพท. สุพรรณบุรี เขต 2  นิยมส่งนักเรียนมาฝึกอบรมเพราะอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

         เราคุยกันเรื่องค่าบริการที่ มขข. เรียกเก็บว่าทำไมราคาถูกนัก   เป็นราคาแบบไทย ๆ ที่มักไม่คิดค่าวิชา   ไม่คิดว่าทำอย่างไร มขข. ในฐานะหน่วยวิชาการจะอยู่ได้

         ท่านที่สนใจบริการนี้ติดต่อได้ที่ มขข. โทรศัพท์ & โทรสาร 035-597-193  หรือที่คุณจันทนา หงษา ผู้จัดการมูลนิธิ 04-646-5903

                

                คุณจันทนา หงษา ผู้จัดการมูลนิธิข้าวขวัญ

         การดูงานและฝึกอบรมที่ มขข. จะได้ทั้งเรื่องการทำนาปลอดสารพิษ  ปลอดการทำลายสิ่งแวดล้อม  และได้เรียนรู้เรื่อง KM ด้วย  และยิ่งกว่านั้นได้เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงด้วย

         สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ทรงยกย่อง มขข. ถึงกับส่งเจ้าแขวงและเจ้าหน้าที่จาก สปป. ลาวมาเรียนรู้ที่นี่

         ผมมีความสุขที่ได้เห็นมูลนิธิเชิงวิชาการ  สร้างความรู้ให้แก่แผ่นดิน   สร้างความรู้จากการปฏิบัติในแผ่นดินแม่   เผยแพร่ให้แก่คนในแผ่นดินหรือบ้านเมืองของเรา

วิจารณ์  พานิช
 16 ส.ค.49

หมายเลขบันทึก: 44931เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2006 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 16:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

      อดไม่ได้ค่ะ...ขอร่วมชื่นชมกัลยาณมิตร "มขข." ร่วมกับอาจารย์หมอด้วยคนนะคะ
      ชาว สพท.สุพรรณบุรี เขต 2 มีโอกาสได้ใช้บริการของ มขข. มาแล้วทั้ง 2 แบบ ....อิ่มใจจริง ๆ ค่ะ
      เป็นความโชคดีของเราเราชาวเขต 2 ค่ะ ที่อยู่ใกล้ ๆ กับกัลยาณมิตรชาว มขข.ค่ะ

  • ขอร่วมชื่นชมด้วยครับ
  • และขอ Link บันทึกนี้ เผื่อว่าจะไปเยี่ยมมูลนิธิข้าวขวัญครับ

สวัสดีครับอาจารย์ ขอร่วมชื่นชมด้วยคนครับ ผมเป็นผู้ประสานของในการนำพนักงานจากปูนแก่งคอย ไปร่วมเรียนรู้ที่มูลนิธิข้าวขวัญ ทั้งดูงาน และจัดสัมมนาเต็มหลักสูตร ครับ มูลนิธิข้าวขวัญเป็นองคกรเล็กๆที่มากด้วยคุณภาพเจ้าหน้าที่ทุกคน  ทำงานด้วยใจจริงๆครับ เรื่องเงินค่าตอบแทนก็ถูกมาก จนบางครั้งต้องขอจ่ายเพิ่มเพื่อสนับสนุนอีกต่างหากครับ ผมได้ชื่นชมผ่านการเขียน blogแล้วครั้งหนึ่ง ตาม link นี้ครับhttp://gotoknow.org/blog/lifeandlearn   ปูนยังมีโปรแกรมที่จะไปเรียนรู้ที่ มขข. อีกหลายโครงการ และหลายรุ่นเร็วๆนี้ก็ผู้บริหารไปเยี่ยมชม มขข. ด้วยครับ

ถ้าอาจารย์ beeman สนใจไปเยี่ยม มขข.ก็เรียนเชิญนะครับผมจะไปจัดสัมมนารุ่นต่อไปในวันที่ 6 -8 กันยายน นี้ครับ

 

 

เรียนอาจารย์ที่เคารพ ขอขอบคุณแทนพี่น้องชาว มขข. ทุกคนด้วยค่ะ ก่อนอื่นต้องขอเรียนว่า มขข. ไม่ใช่นักจัดอบรมมืออาชีพ เพียงแต่พยายามที่จะทำหน้าที่ในการเผยแผ่ความรู้ด้าน KM.ของมูลนิธิให้กับกัลยาณมิตรได้รับรู้ แต่ในขณะเดียวกันเรากลับได้รับความรู้กลับเข้ามาทั้งที่เป็นบทเรียนให้เราได้รับขบคิดใหม่  ในการเสริมศักยภาพทางปัญญาให้กับเจ้าหน้าที่มีอยู่ครั้งหนึ่งเราเอาชาวบ้านมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านปากพนังและร่วมเป็นคุณอำนวยที่มูลนิธิตลอดหลักสูตรชาวบ้านบอกว่าเขาได้ทบทวนและรู้ว่าเขามีข้ออ่อนข้อดีตรงไหน จึงนับว่าการเปิดรับดูงานหรืออบรมเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย คงจะจริงอย่างที่มีคำกล่าวที่ว่า  "ยิ่งให้ยิ่งได้"

เคือข่ายชาวนาตรัง พี่น้องโคกสะบ้า นาโยง

ขอชื่นชมในกระบวนการจัดการความรู้ของพี่น้องชาวนาสุพรรณ และ  "ม.ข้าวขวัญ"

พี่น้องชาวใต้ได้ความรู้และมีทางเลือกกลับมาฟื้นฟูการทำนาแทนเรื่องการใช้พื่นที่ปลูกยางพารา จังหวัดตรังกำลังเคลื่อนชุมชนไปสู่วิถีแห่งข้าวร่วมกันผลักดันนาเกษตรอินทรีย์และควบคู่กับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมป่าสาคูอยู่ในขณะนี้

 

       ด้วยความเคารพรักจากพี่น้องชาวใต้

เครือข่ายกลุ่มทำนาเกษตรอินทรีย์คลองลำชาน

ข่าวการสมัครงานช่วงนี้ทางมูลนิธิยังมีการเปิดรับสมัครอีกอยู่หรือเปล่าค่ะ ข้าพเจ้าสนใจเป็นอย่างมาก หรือว่าตอนนี้ได้บุคคลที่เข้าร่วมกับทางมูลนิธิแล้ว หากว่าต้องการติดต่อกับทางมูลนิธิข้าวขวัญจะติดต่อได้อย่างไรค่ะ ข้าพเจ้าก็เป็นคนหนึ่งที่อยากร่วมงานกับทางมูลนิธิ ชื่นชมและชอบการพัฒนางานของทางมูลนิธิที่ทำเพื่อชุมชนและได้เห็นผลประโยชน์ต่อชุมชน ชาวนาทุกๆคน เรียกได้ว่าการทำงานแบบที่ทางมูลนิธิทำนี้คือการพัฒนาที่เกิดผลอย่างแท้จริงและยังมองเห็นความยั่งยืนอีกด้วย

หากมีโอกาสข้าพเจ้าก็อยากร่วมงานกับทางมูลนิธิด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท