การจัดการความรู้ในท้องถิ่น


การจัดการความรู้ในท้องถิ่นเป็นรูปธรรมของการเคารพความรู้ในตัวคน

 

     

      การจัดการความรู้ของท้องถิ่นในยุคไอที                         

       ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศ ( IT ) เข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งด้านคอมพิวเตอร์ และระบบสื่อสารที่มีการใช้เครือข่ายเชื่อมโยงในการทำงานต่างๆมากมาย ก่อให้เกิดการแข่งขันและการถ่ายโยง ของสารสนเทศและความรู้ต่างๆ  ดังนั้นในยุคของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและการแข่งขันที่รุนแรงการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่เนื่องจากสารสนเทศมีเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนสารสนเทศ ให้อยู่ในรูปของความรู้แทนและต้องมีการจัดการความรู้ ( Knowledge management ) เพื่อให้สามารถนำความรู้มาใช้ได้ง่าย  เรียกใช้ได้ทันทีเมื่อต้องการใช้งาน

     การจัดการความรู้  คืออะไร 

            การจัดการความรู้ ( Knownledge  Mangement หรือ KM ) คือ การดึงเอาความรู้ที่กระจัดกระจายอยู่ในคน ฝังอยู่ทั่วไปในองค์กร ออกมารวบรวม และแบ่งกลุ่ม  จัดเก็บให้เป็นองค์ความรู้ขององค์กร เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ต่อไป หรือคือการบริหารจัดการเพื่อให้ คน ที่ต้องการใช้ความรู้ได้รับ ความรู้  ที่ต้องการใช้ใน เวลา ที่ต้องการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการทำงานและ/หรือการจัดการความรู้ คือการจัดการความหวัง การจัดการความหวัง คือการตั้งเป้า หรือการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกัน ( shared vision ) (วิจารณ์  พานิช, 2549 )  ซึ่งเราสามารถแบ่งความรู้ได้เป็น 2  ประเภท คือ

           1. Explicit  knowledge  ( ความรู้ที่ชัดแจ้ง ) คือความรู้ที่เป็นวิทยาการ หลักการ หลักวิชา ได้มาจากการเรียนที่เราเรียกว่า "ปริยัติ"เป็นเหตุเป็นผล สามารถบรรยาย หรือถอดความมาอยู่ในรูปของทฤษฎี หรือโมเดล ( model )ได้มาจากการวิเคราะห์ วิจัย เป็นความรู้ที่ผ่านการทดลอง ผ่านการพิสูจน์ มีอยู่ในสื่อต่างๆ บันทึกได้ เห็นได้ค่อนข้างชัด

           2. Tacit   knowledge  ( ความรู้ที่ฝังลึกในคน / ความรู้โดยนัย ) คือ ความรู้ที่มีอยู่ในแต่ละบุคคล เป็นภูมิปัญญา เป็นประสบการณ์ เป็นเทคนิคเฉพาะตัว เป็นเคล็ดวิชา เป็นสิ่งที่ได้มาจาก การปฏิบัติ ( pratice ) เป็นความสามารถเฉพาะตัวอยู่ในตัวคน เป็นความรู้ที่ฝังลึก ซ่อนเร้น 

          ฉะนั้น การจัดการความรู้จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานใช้ความรู้ที่เป็นความรู้ในกระดาษ ( Explict  knowledge ) และความรู้ในคน ( Tacit  knowledge ) เพื่อให้เกิดผลงานที่มีคุณภาพสูง ( วิจารณ์ พานิช,2547 ) เป็นกระบวนการ (process ) ที่ดำเนินการร่วมกันโดยผู้ปฏิบัติงานในองค์กร หรือชุมชนหรือหน่วยย่อยของชุมชนเพื่อสร้างและใช้ความรู้ในการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ดีขึ้นกว่าดิม เพราะฉะนั้นการจัดการความรู้ คือรูปธรรมของการเคารพความรู้ในตัวคน (ประเวศ  วสี )

       เป้าหมายของการจัดการความรู้

              การจัดการความรู้มีเป้าหมายหลักเพื่อการปรับตัว ความอยู่รอดและการเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรในท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง แบบที่ไม่สามารถคาดเดาได้ เป็นกิจกรรมที่มีองค์ประกอบสำคัญคือกระบวนการ ( process ) ในระดับองค์กรที่มุ่งสร้างพลัง ( synergy ) ระหว่างความสามาถของมนุษย์ในการสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรมกับเทคโนโลยีสารสนเทศที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในกระบวนการประมวลข้อมูลและข้อสารสนเทศ ( Y. Maholtra )

             ดังนั้นการจัดการความรู้ในท้องถิ่นจึงมีเป้าหมาย 3 ประการได้แก่

             (1.)  เพื่อ พัฒนางาน ให้มีคุณภาพและมีผลสัมฤทธิ์มากยิ่งขึ้น

             (2.)  เพื่อการพัฒนาคน คือผู้ปฏิบัติงานซึ่งหมายถึงประชาชน คนในท้องถิ่น ให้ได้ใช้ความรู้ และ ได้รับประโยชน์จากการจัดการความรู้มากที่สุด

             (3.)  เพื่อการพัฒนา ฐานความรู้ ของสังคม ของท้องถิ่น เป็นการเพิ่มพูนทุนความรู้หรือทุนปัญญาของสังคม ท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยทำให้สังคมและประชาชนในท้องถิ่นมีศักยภาพในการฟันฝ่าความยากลำบากหรือความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

        การจัดการความรู้ในท้องถิ่น...ทำอย่างไร 

          การจัดการความรู้ในท้องถิ่นควรเริ่มต้นด้วยการกำหนดเป้าหมายงานที่ต้องการทำหรือต้องการพัฒนาในชุมชนให้บรรลุผลสำเร็จในระดับภูมิใจร่วมกัน โดยการจัดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และการสร้างความรู้ จัดให้คนในชุมชนได้มีเวทีมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน สร้างบรรยากาศแห่งความป็นมิตร มีความรัก ความเอื้ออาทร ความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้เกิดการแบ่งปันและเกื้อหนุน มองเห็นช่องทางที่เปิดกว้างในอนาคตของชุมชน ก่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์นำไปสู่การกระทำและพัฒนางานร่วมกัน เรียกได้ว่า เป็นบรรยากาศเชิงสร้างสรรค์แห่งการเอาใจใส่ที่ทำให้ทุกคนพร้อมที่จะให้ ยินดีที่จะแบ่งปัน ( caring  and  sharing ) เพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าหมาย โดยใช้การเรียนรู้ร่วมกันตั้งแต่ก่อนเริ่มงาน ( learning  before ) การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทำงาน ( learning  during ) และการเรียนรู้หลังงานนั้นสำเร็จ ( learning  after ) เป็นวงล้อแห่งการเรียนรู้ขับเคลื่อนให้งานสำเร็จตามเป้าหมาย  เน้นการทำงานร่วมกันของกลุ่มผู้ปฏิบัติงานหรือคนในชุมชนด้วยกัน  เป็นการดึงความรู้ในคน(Tacit  knowledge ) ออกมาใช้งานโดยผ่านการปฏิสัมพันธ์ของคนในท้องถิ่นที่หวังผลสุดท้ายคือผลสัมฤทธิ์ของงาน โดยที่ผู้จัดการความรู้คือคนในท้องถิ่นนั่นเอง เป็นการจัดการความรู้ในลักษณะทั้งสร้างและใช้ความรู้ไปด้วยกัน เพื่อการพัฒนาตน พัฒนางาน และพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้มีศักยภาพพร้อมที่จะพึ่งตนเองและแข่งขันในโลกยุคปัจจุบันได้ 

            สรุป  การจัดการความรู้เป็นการระดมความรู้ในคน ( Tacit  knowledge )และความรู้ในกระดาษ ( Explicit  knowledge ) ทั้งที่เป็นความรู้จากภายนอก และความรู้ของผู้ร่วมงานในท้องถิ่นเอามาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการจัดการความรู้ในท้องถิ่นเป็นรูปธรรมของการเคารพความรู้ในตัวคน ส่งเสริมให้ทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความภูมิใจ มั่นใจในตนเอง ก่อให้เกิดความร่วมมือและการมีปฏิสัมพันธ์อันดีต่อกันส่งให้เกิดผลดี 4  ประการ คือ (1)  ผลสัมฤทธิ์ของงานดีขึ้น (2) ผู้ปฏิบัติซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นมีความรู้ (มีปัญญา ) สูงขึ้นและมีความเป็นบุคคลเรียนรู้ (3) ความรู้ถูกยกระดับขึ้นและสั่งสมอยู่ในองค์กรในท้องถิ่นและ (4) องค์กรและท้องถิ่นมีความสามารถในการแข่งขันและสามารถปรับตัวเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนในยุคไอทีได้ดีขึ้นนำไปสู่การเป็นองค์กรและท้องถิ่นแห่งการเรียนรู้ โดยรัฐควรมีบทบาทในฐานะเป็นผู้สนับสนุน ผู้ส่งเสริม ผู้เอื้ออำนวยให้ท้องถิ่นมีความสามารถในการจัดการความรู้และพึ่งตนเองได้ด้วยการสนับสนุนด้านงบประมาณและเทคโนโลยีสมัยใหม่เช่นคอมพิวเตอร์มาเป็นเครื่องมือในการจัดการความรู้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง

ครรชิต  มาลัยวงค์.  "เทคโนโลยีสารสนเทศ".  [ ออนไลน์ ].  เข้าถึงได้จาก:       http://www.drkanchit.com/ict_idea/it02.pdf  

____________.  "แนวโน้มด้านไอซีทีที่น่าสนใจ".  [ ออนไลน์ ].  เข้าถึงได้จาก :  http://www.drkanchit.com/ict_idea/articles/ICTred2006.pdf 2549.

ประพนธ์  ผาสุขยืด.  "การจัดการความรู้ : สู่อนาคตที่ใฝ่ฝัน".  [ ออนไลน์ ].  เข้าถึงได้จาก :  http://kmi.trf.or.th/document/KM2Future.zip     

_____________.  "หลักการนำทางสร้าง KM".  [ ออนไลน์ ].  เข้าถึงได้จาก :  http://kmi.trf.or.th/document/K2_9.doc

_____________.  "ICT กับการจัดการความรู้".  [ ออนไลน์ ].  เข้าถึงได้จาก :  http://kmi.trf.or.th/document/K2_12.doc

_____________.  "KM -  ชื่อนั้นสำคัญไฉน?".  [ ออนไลน์ ].  เข้าถึงได้จาก :  http://kmi.trf.or.th/document/K2_6.doc 2547.

ยืน  ภู่วรรณ.  " ไอทีกับแนวโน้มโลก".  [ ออนไลน์ ].  เข้าถึงได้จาก :  http://www.school.net.th/library/f-snet6.htm

วิจารณ์  พานิช.  " การจัดการความรู้คืออะไร ไม่ทำ ไม่รู้".   [ ออนไลน์ ].  เข้าถึงได้จาก :  http://www.kmi.or.th/document/KM_HA.doc

___________.  " คุณภาพคือวิถีของชีวิต".   [ ออนไลน์ ].  เข้าถึงได้จาก :  http://www.kmi.or.th/document/Qualitylife.doc

___________.  " ทศปฏิบัติสู่ความเป็นองค์กรการเรียนรู้ของหน่วยราชการ".   [ ออนไลน์ ].  เข้าถึงได้จาก :  http://www.kmi.or.th/document/10Action.doc

___________.  " บทบาทของผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการความรู้".   [ ออนไลน์ ].  เข้าถึงได้จาก :  http://www.kmi.or.th/document/KF_470461.doc

___________.  " KM (แนวปฏิบัติ ) วันละคำ : 128  การทำงานอย่างอิสระ".   [ ออนไลน์ ].  เข้าถึงได้จาก :  http://gotoknow.org/blog/thaikm/43266 2549.

___________.  " KM (แนวปฏิบัติ ) วันละคำ : 130 การจัดการความหวัง".   [ ออนไลน์ ].  เข้าถึงได้จาก :  http://gotoknow.org/blog/thaikm/44018 2549.

สมชาย  นำประเสริฐชัย.  " เทคโนโลยีกับการจัดการความรู้ ".  [ ออนไลน์ ].  เข้าถึงได้จาก :  http://www.kmi.or.th/document/Tech_KM.pdf

สมชาย  นำประเสริฐชัยและพสิษฐิ์  กาญจนสัณห์เพชร.  " การจัดการความรู้ในมุมมองของไอที ".  [ ออนไลน์ ].  เข้าถึงได้จาก :  http://www.kmi.or.th/document/KMinITview.pdf

"กรณีศึกษาการจัดการความรู้ : Federal  Highways".  [ ออนไลน์ ].  เข้าถึงได้จาก :  http://www.tentc.com/tentc/index.php?option=com_content&task=view&id=110&Itemid=11

  " การจัดการความรู้เพื่อสังคม ".  [ ออนไลน์ ].  เข้าถึงได้จาก :  http://www.kmi.or.th/document/autopage/file/WedFebruary2006-15-6-57-KM_poverty.pdf 2549.

 " ความรู้เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ".  [ ออนไลน์ ].  เข้าถึงได้จาก :  http://www.tkc.go.th/index.aspx?pageid=1568&parent=111

"วรรคทองทฤษฎีการจัดการความรู้ ".  [ ออนไลน์ ].  เข้าถึงได้จาก :  http://www.kmi.or.th/document/autopage/show_all.php?h=20

 

คำสำคัญ (Tags): #kmในท้องถิ่น
หมายเลขบันทึก: 44899เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2006 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 09:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

   อ่านแล้วได้ความรู้และได้รู้เพิ่มขึ้นด้วยค่ะ

  ขอขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท