เล่าต่อ...เรื่องเล่าจากวงเรียนรู้คุณอำนวยแก้จนเมืองนคร


ที่ผมประทับใจวันนี้มากๆคือทุกคนค่อนข้างอยู่กับที่ประชุมได้ตลอดการประชุมเป็นส่วนใหญ่ และไม่มีการพูดกันว่า KM คืออะไร มีแต่อยากจะเล่างานที่ตนเองได้ทำมา KM ต้องทำทันที ททท ไม่ได้แปลว่าการท่องเที่ยวนะครับ และทำอย่างชนิดที่ว่าไม่ต้องเคร่งครัดหลักวิชามากนัก อย่างที่พูดกันว่าปิดตำราเสียเถอะพี่
  • สาระจากการพูดคุยของคุณอำนวย 

  • เช้าวันที่ 16 ส.ค.49 วันนี้ ผมคิดและก็ตั้งใจไว้ว่าจะนำสาระความรู้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ไปออกอากาศทาง ทีวี ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ เวลา 20.40 น. รายการกรองสถานการณ์ ร่วมกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และก็ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด จาก สคส.เกี่ยวกับเรื่องการจัดการความรู้ในองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อะไรทำนองนั้นแหละครับ ตามที่คุณธวัช หมัดเต๊ะ ผู้ประสานงานโครงการของ สคส.ได้ประสานงานผมไว้ แต่ปรากฏว่าเฝ้าดูตลอดช่วงเวลาที่กำหนด (เลยไปยันหกทุ่ม)ก็ไม่ได้ดูเพราะทีวีเขาถ่ายทอดสดอภิปรายของ สว.เรื่องแต่งตั้ง กกต. ปปช. ครับ 
  • ผมจึงนำสาระความรู้จากการประชุมเสวนาวงเรียนรู้คุณอำนวยกลางและคุณอำนวยอำเภอ โครงการแก้จนเมืองนคร วันที่ 11 ส.ค.2549 มาเล่าต่อ โดยครั้งนี้ผมจะเล่าช่วงของอำเภอต่างๆเล่าประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ช่วงนี้ มี อ.ภีม ภคเมธาวี ทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยของที่ประชุมเสวนา ซึ่ง อ.ภีม ก็แบ่งผู้เข้าร่วมประชุมเสวนาออกเป็นกลุ่มย่อย 5 กลุ่ม ตามโซนพื้นที่ 5 โซน คือกลุ่มโซนพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง 1 กลุ่มโซนพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง 2 กลุ่มโซนพื้นที่ลุ่มน้ำตาปี 1กลุ่มโซนพื้นที่ลุ่มน้ำตาปี 2 และกลุ่มโซนพื้นที่ลุ่มน้ำกลาย
  • ประเด็นที่ให้อำเภอต่างๆพูดคุยในกลุ่มย่อยคือ 3เดือนที่ผ่านมาอำเภอได้ดำเนินกิจกรรมใดไปบ้างแล้วทั้งที่โครงการกำหนดให้และที่คิดทำเพิ่มเติม ได้พบความสำเร็จใดบ้าง ทั้งตัวบุคคลที่เป็นคุณกิจ คุณอำนวย  กลุ่มต่างๆ และประสบกับปัญหาใด ปัญหานั้นได้จัดการอย่างไร และจะจัดการปัญหานั้นอย่างไรต่อไป
  • ผมนั้นเมื่อมีการแบ่งกลุ่มก็ได้ไปอยู่ในกลุ่มโซนพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง 1 ในโซนนี้น้องแหม่ม คุณหทัย เหมทานนท์ เป็นคุณลิขิต ผมเห็นน้องแหม่มทำหน้าที่ได้ดีมาก สกัดความรู้ออกมามากมาย และได้นำความรู้ที่สกัดได้ใส่ไว้ใน blog ของเธอเรียบร้อยแล้ว ลิ้งไปอ่านได้ครับ 3 บันทึก บันทึก1  บันทึก2 และบันทึก 3 กลุ่มย่อยอื่นๆ หรือภาพรวมทั้งหมดถ้าได้บันทึกไว้ ก็อยากให้นำลง blog ด้วย เพราะมี blog กันเยอะแล้ว และอยากจะให้มีการทำแบบนี้ตลอดไป เพราะถ้าไม่บันทึกก็เท่ากับไม่มีร่องรอยใดๆเอาไว้สำหรับการถอดบทเรียน สังเคราะห์บทเรียน ผมเคยมีประสบการณ์มาแล้ว
  • ฉะนั้นผมจึงคิดว่าผมจะนำเอาความรู้หรือประเด็นที่ผมจับได้จากตัวแทนกลุ่มย่อยอื่นๆที่ออกรายงานที่ประชุมใหญ่ ในประเด็นที่ผมสนใจ......ย้ำนะครับว่าที่ผมสนใจ
  • ประเด็นที่ผมสนใจและอยากเล่าเป็นตัวอย่างในที่นี้ เช่น บางอำเภออยากให้คุณกิจครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการแก้จน ได้มีส่วนร่วมในการพูดคุยในวงเรียนรู้นี้ โดยกำหนดให้ทำกิจกรรมเปิดปากคุณกิจ  วิธีการก็คือแบ่งคุณกิจครัวเรือนที่เข้าร่วมวงเสวนาออกเป็น 2 ฟาก แบบจับคู่กัน ให้ฟากหนึ่งเป็นผู้เล่าปัญหา (ฝึกพูด ฝึกเปิดปาก ฝึกการมีส่วนร่วม....) ในขณะที่อีกฟากหนึ่งจะเป็นผู้ฟัง(ฝึกการฟัง ...ฟังเพื่อจับประเด็น) เมื่อหมดเวลาที่กำหนดก็สลับกันให้ฝ่ายที่ฟังบอกวิธีแก้ปัญหาให้คู่ของตัวเอง (ฝึกการแลกเปลี่ยน การสนทนา การพูด.....ฯลฯ) อีกฝ่ายหนึ่งที่รับฟังก็จะชั่งใจ วิเคราะห์ว่า ที่แนะนำมาให้นั้นเป็นวิธีการที่ดีที่ใช้ได้เหมาะสมกับตัวเองหรือไม่ ฝึกอย่างนี้ได้ทั้งกระบวนการเรียนรู้และเห็นแววของภูมิปัญญาที่จะนำมาใช้ในการแลกเปลียนเรียนรู้เนื้อหาต่างๆในเวทีต่อๆไปได้
  • บางอำเภอก็เล่าถึงทีมคุณอำนวยตำบลไม่พร้อมเพรียง คุณกิจครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการอยากได้สตางค์ อยากได้ของแจกในขณะที่บางอำเภอเล่าถึงภูมิปัญญา / ผู้ที่ประสบผลสำเร็จต่างๆสามารถรวมตัวรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมแล้ว บางอำเภอเล่าถึงอุปสรรคว่าเวทีแลกเปลียนเรียนรู้ที่จัดแต่ละครั้งระยะเวลาห่างกันน้อยคือว่าจัดถี่เกินไป ไม่เป็นธรรมชาติ การบูรณาการการทำงานของบุคลากรในพื้นที่ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจน ยังไม่มีการใช้กิจกรรมเก่ากลุ่มเก่าเป็นฐานในการเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง ควรหาวิธีการทำงานอกกรอบมากขึ้น งบประมาณไม่ควรล๊อกตายตัว คณะทำงานควรยุบหมวกเสียบ้างให้เหลือเพียงหมวกใบเดียวก็พอ ควรให้ความสำคัญกับงานในพื้นที่ วงเรียนรู้ต่างๆในหมู่บ้านมากกว่างานเอกสาร ควรส่งเสริมคุณกิจบันทึกความรู้อย่างจริงจัง ทีมวิชาการควรจัดประชุมปฏิบัติการหลักสูตรต่างๆเสริมให้แก่คุณอำนวยระดับต่างๆ จะใช้ประสบการณ์ครั้งนี้สำหรับ 600 หมู่บ้านในปี2550 และอีก 545 หมู่บ้าน ในปี 2551 ได้อย่างไร
  • เหล่านี้คือประเด็นหลักๆที่ผมจับได้ครับ ที่ผมประทับใจวันนี้มากๆคือทุกคนค่อนข้างอยู่กับที่ประชุมได้ตลอดการประชุมเป็นส่วนใหญ่ และไม่มีการพูดกันว่า KM คืออะไร มีแต่อยากจะเล่างานที่ตนเองได้ทำมา KM ต้องทำทันที ททท ไม่ได้แปลว่าการท่องเที่ยวนะครับ และทำอย่างชนิดที่ว่าไม่ต้องเคร่งครัดหลักวิชามากนัก อย่างที่พูดกันว่าปิดตำราเสียเถอะพี่
หมายเลขบันทึก: 44897เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2006 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ขอบพระคุณครูนงเป็นอย่างสูงครับที่แวะเวียนเข้าไปเยี่ยมบล็อคความรู้คือพลังครับ
  • ผมเข้ามาติดตามบล็อคของครูนงแล้วทึ่งกับความสามารถในการเก็บรายละเอียดของครูนงมาก ๆ เลยครับ
  • ถ้าอย่างไรจะขออนุญาตมาเรียนรู้เทคนิคบ่อย ๆ นะครับ
ขอบคุณ อ.ปภังกร ที่แวะเวียนมาเยี่ยมครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท