การเขียนเพื่อการจัดการความรู้ (1) : เก็บตกจาก 1 ทศวรรษสมัชชาสุขภาพ


เห็นคุณค่าของงานเขียนที่มีต่อการพัฒนาตนเอง พัฒนางานและองค์กร หรือแม้แต่สังคม มิหนำซ้ำงานที่เขียนออกมาก็ยังเป็นเสมือน “จดหมายเหตุชีวิตและองค์กร”

ผมมีโอกาสได้เป็นวิทยากรเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การถอดบทเรียน การเขียนและการสื่อสารเพื่อจัดการความรู้” อันเป็นส่วนประกอบหนึ่งในเวทีประชุมวิชาการ 1 ทศวรรษสมัชชาสุขภาพ” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7-8 กรกฎาคม 2554 ณ โรงแรมเชียงใหม่ แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่

การประชุมวิชาการดังกล่าว จัดขึ้นโดยความร่วมมือของหลายภาคฝ่าย ภายใต้การขับเคลื่อนหลักของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมัชชาสุขภาพล้านนา และภาคีสมัชชาสุขภาพจากทั่วประเทศไทย

กิจกรรมที่ผมรับผิดชอบนั้น ถูกจัดวางให้สร้างกระบวนการเรียนรู้ขึ้นในวันที่ 6 กรกฎาคม 2554  ด้วยวาทกรรมที่มีชื่อว่า “วิชชาการนอกห้อง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรระยะสั้นที่มุ่งให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เกิดแรงบันดาลใจและทักษะในการ “ถอดความรู้ การเขียนและการสื่อสารเพื่อการจัดการความรู้”

 

Large_dsc_0295

 

ครั้งนี้ผมยังคงเปิดเวทีด้วยกิจกรรม “รู้จักฉันรู้จักเธอ”  เพื่อชักชวนให้แต่ละคนได้ทบทวนตัวเอง เป็นการ “ถอดบทเรียนชีวิต” ไปพร้อมๆ กับการ “ทำสมาธิ” เพื่อจัดวางอารมณ์ความรู้สึกให้แต่ละคนมีความพร้อมที่จะเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

ถึงแม้สภาพของห้องจัดอบรมจะไม่ค่อยเอื้อต่อการทำกิจกรรมเชิงปฏิบัติการนัก แต่ผมก็พยายามมองข้ามในสิ่งเหล่านั้น  ด้วยการเคลื่อนตัวให้มากที่สุด ไม่นั่งแช่บรรยาย เสริมเรื่องราวและแรงคิดผ่านวีดีทัศน์สั้นๆ ผสมผสานไปกับการตั้งประเด็นให้แต่ละคนได้คิด หรือสะท้อนความคิดออกมาให้คนอื่นได้ร่วมรับรู้และรับฟังเป็นระยะๆ

 

ผมดีใจมากที่กิจกรรมที่จัดขึ้นกระตุ้นเร้าให้เกิดการหันกลับมา “ทบทวน” ตัวเองได้อย่างนิ่งสงบ และฉายให้เห็นถึงการ “ดูแล” กันและกันไปในตัว ซึ่งนั่นยังไม่นับรวมกับการเสริมสร้างทักษะของการ “สื่อสาร” ที่ยึดโยงไปถึงเรื่องทักษะการคิด การฟัง การเขียน การวาด ...


Large_dsc_0282

 

ครับ,นั่นคือกิจกรรมเปิดเวทีในแบบที่ผมถนัด  ถึงแม้จะใช้เวลาไม่นานนัก แต่ผมก็ดีใจที่ได้รู้ว่าเกือบทุกคนในห้องนั้นได้ทำในสิ่งที่ไม่ได้ทำมาอย่างเนิ่นนาน  เพราะบางคนก็ยืนยันว่าสองถึงสามเดือนแล้วที่ไม่มีโอกาสได้วาดรูป  หรือแม้แต่ใครบางคนก็ไม่ได้วาดรูปนานเป็นปีเลยก็มี ...

เช่นเดียวกับการได้รับรู้ว่า  ใครหลายๆ คนก็เพิ่งมีโอกาสได้เล่าเรื่องราวอัน “ดีงาม” ของตัวเองไปสู่สาธารณะเป็นครั้งแรก  ซึ่งถือเป็นการทะลายกำแพงแห่งความขวยเขินออกไปจากตัวเอง  หลังจากเก็บซ่อนไว้เงียบๆ มาอย่างยาวนาน

วิธีการของผม ไม่ได้มุ่งให้ทุกคนบ้าบิ่นในการที่จะยกยอตัวเองเสียทั้งหมด เป็นกระบวนการของการพยายามกระตุ้นให้ผู้คนกล้าพอที่จะสื่อสาร “ความดีงาม” ของตนเองอย่างมี “ศิลปะ”  และเสริมแรงคิดในทำนองว่า “เรื่องของเรา ก็อาจเป็นเรื่องเล่าที่มีพลังต่อคนอื่น” ด้วยเหมือนกัน

ดังนั้น การสื่อสารเท่านั้นที่จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เท่านั้นที่จะเป็นเครื่องมือในการนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยก็เป็นการเปลี่ยนแปลงจากตัวเรา-

 

Large_dsc_0262

 

ครั้นถึงเวทีในภาคบ่าย  ผมก็กลับขึ้นเวทีอีกครั้ง โดยคราวนี้ผมมีเวลาประมาณสองชั่วโมงครึ่งในการบรรยายและฝึกทักษะการเขียนเพื่อการสื่อสาร หรือการเขียนเพื่อการจัดการความรู้

ผมเริ่มต้นง่ายๆ จากการถามทักให้ทุกคนช่วยนิยามความหมายของ “การเขียน” ร่วมกันแบบ “ไม่มีถูก ไม่มีผิด” ! ถัดจากนั้นก็ถามซ้ำใหม่ว่า “ใครเขียนบันทึกประจำวันบ้าง” ?

ถัดจากนั้นก็สะท้อนโครงสร้างของการเขียนหลักๆ  อันประกอบด้วย ความนำ  (lead/intro)  เนื้อเรื่อง (body)  ความจบ (ending)  ซึ่งดูเหมือนจะออกแนววิชาการสักหน่อย

 

แต่อย่างไรก็ตาม  ผมก็พยายามสื่อสารในลักษณะของการ “เล่าเรื่อง” ให้ได้มากกว่าการ “บรรยาย”  เพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกถึงความผ่อนคลายในทางเนื้อหาที่ผมกำลังสื่อสารออกไป  พร้อมๆ กับการยึดโยงไปสู่ขั้นตอนการเขียนที่ประกอบด้วย ขั้นเตรียม (preparing)  ขั้นการเขียน (Writing)  และขั้นตรวจแก้ (editing)  ตลอดจนเรื่อง “คุณลักษณะของการเขียนเพื่อการจัดการความรู้ที่ดี” ที่ประกอบด้วยสาระหลัก ดังนี้

  • กล้าที่จะเขียน 
  • รักและศรัทธาต่อการเล่าเรื่อง
  • เขียนในเรื่องที่รู้และอยากรู้ 
  • อดทนต่อการทำงานหนัก (ฝึกฝนต่อเนื่องและเปิดใจรับข้อวิจารณ์)
  • มีความรับผิดชอบผลงานและเคารพผลงานผู้อื่น

 

Large_dsc_0300


เสร็จจากภาคทฤษฎี ก็ได้เวลาของการฝึกการเขียนเชิงปฏิบัติการ  ซึ่งผมจัดเตรียมกระบวนการหลักๆ ไว้ 2 กระบวนการ นั่นก็คือการเขียนเชิงปัจเจกบุคคลที่มุ่งให้แต่ละคนได้เขียนแบบ “ออโตเมติก ไร้ติ้ง” (automatic writing) และเขียนเรื่องร่วมกันในเชิงกลุ่ม  แต่พอดูเวลาที่มีเหลืออยู่  จึงจำต้องตัดกระบวนการเขียนเชิงกลุ่มออกไป

 

การเขียนแบบ “ออโตเมติก ไร้ติ้ง” เป็นการเขียนอย่างต่อเนื่อง  หรือเขียนไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องยกปากกาขึ้นจากกระดาษ  โดยเรื่องที่ให้เขียนนั้น  ผมก็ย้ำให้แต่ละคนได้เขียนใน “เรื่องที่อยากจะเขียน”  ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ผ่านพ้นมาแล้วในชีวิต หรือเรื่องที่กำลังพบเห็น หรือเผชิญอยู่ตรงหน้า

 

การเขียนในทำนองนี้  ผมเชื่อว่าจะช่วยให้ผู้เขียนทะลายกำแพง “ความกลัว” ที่มีต่อการเขียนลงได้บ้าง  เพราะการเขียนในแนวนี้ไม่ต้องขัดเกลาอะไร เขียนแบบสดๆ ไม่มีถูกไม่มีผิด...

 

และที่สำคัญก็คือในตอนท้ายนั้น  ผมได้เชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ลุกมาอ่านเรื่องราวที่เขียนให้เพื่อนๆ ฟัง ซึ่งไม่เน้นการวิพากษ์ใดๆ  แต่เน้นกระบวนการของการเสริมสร้างให้กล้าคิด กล้าเขียนและกล้าเสนองานเขียนต่อสาธารณะ



นอกจากนั้น  ผมยังหยิบยกการเขียนในรูปแบบสั้นๆ เหมือนการจดบันทึก หรือเขียนความคิดรวบยอดมาเป็นตัวอย่าง เช่น การเขียนคล้ายลำนำสั้นๆ หรือการเขียนในลักษณะเดียวกับ “ไฮกุ”  อันเป็นบทกวีของชาวญี่ปุ่น  ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่าผู้ฟังให้ความสนใจและตื่นตัวอยู่ค่อนข้างมาก
                  

 

 Large_dsc_0302-2

ก่อนเวทีปิดตัวลง ผมได้รับรู้ว่านี่คือครั้งแรกของใครบางคนที่ฟังบรรยายแล้วเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะเขียน หลังจากไม่กล้าที่จะ “เขียนงาน” มาหลายปี ซึ่งบางคนยืนยันว่าไปฟังบรรยายเรื่องการเขียนมาครั้งสองครั้ง  แต่ไม่เกิดมีแรงใจและความมั่นใจที่จะ “เขียนงาน” เลย  หากแต่ครั้งนี้กลับรู้สึกว่าได้เวลา “ลงมือเขียน” ซะที

เฉกเช่นกับอีกคนก็บอกเล่าว่านี่คือครั้งแรกที่เขียนเรื่องราวได้ยาวนานและไหลลื่น และเห็นทิศทางของการเขียนให้มี “ชีวิต”  รวมถึงเห็นคุณค่าของงานเขียนที่มีต่อการพัฒนาตนเอง พัฒนางานและองค์กร หรือแม้แต่สังคม มิหนำซ้ำงานที่เขียนออกมาก็ยังเป็นเสมือน “จดหมายเหตุชีวิตและองค์กร” ได้เป็นอย่างดี

 

ครับ,แค่ฟังแค่นี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดแล้ว  ถึงแม้ผมจะไม่ใช่นักเขียนมืออาชีพ แต่การมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ใครสักคนเชื่อและศรัทธาต่ออำนาจแห่งการเขียนได้นั้น  ผมถือว่าเป็นความมหัศจรรย์อย่างยิ่ง !

 

ที่เหลือก็คงต้องเรียนรู้กันอย่างจริงจังและต่อเนื่องกระมัง  เพื่อยกระดับการเขียนสู่การเป็นหนึ่งใน “วัฒนธรรมของการใช้ชีวิต”

 

สำหรับผมแล้ว  ผมอยากให้เวทีทำนองนี้มีเวลามากกว่านี้จริงๆ จะได้ฝึกการเขียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันให้มากกว่านี้อีกสักหน่อย  เพื่อเติมพลังให้ “กล้าที่จะเขียน” และ “กล้าที่จะเสนองานเขียน” อย่างสร้างสรรค์ทั้งต่อตนเองและองค์กรต่อไป

ครับ, นี่คือคำบอกเล่าโดยสังเขปที่ผมนำเสนอและร่วมเรียนรู้จากเวที “วิชชานอกห้องเรียน : 1 ทศวรรษสมัชชาสุภาพ”

 

 

...
๑๐ กรกฎาคม ๕๔
เชียงราย-

 

 

หมายเลขบันทึก: 448422เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2011 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะ

ดีใจที่ได้อ่านสาระที่เป็นประโยชน์ เป็นเรื่องที่มีคุณค่าค่ะ

ปลอดภัยดี

ไม่มีพิษภัย

หัวใจปกติ

อิ อิ นะครับ ;)...

พี่พนัสคะ

พรุ่งนี้หนูจะจัดอบรมการใช้งานบล็อกให้แก่ชาว share.psu และก็ได้ลองออกแบบกระบวนการสร้างแรงบันดาลใจในการเขียนไว้สัก 1.30 ชั่วโมง เอาแบบสั้นๆ เพราะงานนี้เน้นการใช้เครื่องมือในการจดบันทึกผ่านเทคโนโลยีเพื่อแชร์กัน แต่หากเราเน้นแต่เครื่องมือและมองข้ามเรื่องการเขียนไป มันก็เหมือนได้แต่เปลือกและขาดใจความสำคัญของการใช้งานเครื่องมือเหล่านี้ไป ซึ่งก็คือการเขียนเพื่อสื่อสารความคิด เพื่อเปิดโอกาสและความคิดของตัวเองออกสู่สาธารณะค่ะ

พรุ่งนี้ก็คงจะเปิดคลิป vdo ที่ี่พี่พนัสได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับ GotoKnow ด้วยค่ะ เพราะสิ่งที่พี่เล่านั้นคือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่ถูกขัดเกลามาจากประสบการณ์จริงค่ะ ^_^

อ๋อ...ลืมบอกว่า อ่านบันทึกของพี่แล้ว ได้เรียนรู้และคงได้ใช้ประโยชน์ในวันพรุ่งนี้ด้วยค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

มารับความรู้นี้ไปเต็มๆค่ะ

".....กล้าที่จะเขียน

รักและศรัทธาต่อการเล่าเรื่อง

เขียนในเรื่องที่รู้และอยากรู้

อดทนต่อการทำงานหนัก (ฝึกฝนต่อเนื่องและเปิดใจรับข้อวิจารณ์)

มีความรับผิดชอบผลงานและเคารพผลงานผู้อื่น....."

จะนำไปใช้ค่ะ

ขอบคุณมากๆค่ะ

บันทึกของพี่เป็นแรงบันดาลใจของแป๋มค่ะ..

ขอแก้ไขเปลี่ยนภาคี จาก "มรภ.เชียงใหม่" เป็น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท