ดูกุ้งเดินขบวนที่เดียวในไทย


ไปตามแรงผลักดันของยีน

 

         กุ้ง เป็นสัตว์น้ำประเภทหนึ่งที่สามารถนำมาทำอาหารได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น กุ้งแช่น้ำปลา ผัดผักใส่กุ้ง แกงส้มกุ้ง หรือแม้แต่เอามานึ่งเฉยๆแล้วจิ้มกับน้ำจิ้มซีฟู๊ด แค่ได้ยินชื่อก็ทำเอาหลายคนพาลน้ำลายสอแล้ว
       
       เห็นกุ้งอยู่ในจานอาหารมาก็มายมาย วันนี้ “รอบรู้เรื่องเที่ยว” จะพาคุณผู้อ่านไปพบกับสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งที่อาจกล่าวได้ว่ามีหนึ่งเดียวในประเทศไทยก็ว่าได้ นั่นก็คือ “กุ้งเดินขบวน” บรรดากุ้งตัวเป็นๆพากันเดินต่อๆกันเป็นเส้นสายยาว แต่จะพากันไปไหนนั้น ตาม “รอบรู้เรื่องเที่ยว” มาเลย
       
       การที่เหล่ากุ้งมากมายพากันมาเดินขบวนกันในช่วงกลางเดือนสิงหาคมเรื่อยไปจนกระทั่งเดือนกันยายนของทุกปี ที่ลานพันรู ในน้ำตกแก่งลำดวนที่จัดว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งของอ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี (ตั้งอยู่ในพื้นที่ของสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าอุบลราชธานี) มีสาเหตุมาจากความต้องการที่จะเดินทางไปยังแหล่งต้นน้ำที่เป็นบ้านเกิดบนเทือกเขาพนมดงรัก โดยตลอดการเดินทางนั้นกุ้งต้องฝ่าฝันอุปสรรคต่างๆมากมาย ซึ่งการเดินทางผ่านน้ำตกของแก่งลำดวนที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก กุ้งเหล่านั้นจำเป็นต้องหลบความแรงของกระแสน้ำ โดยการเดินขึ้นมาบนโขดหินจนกลายเป็นเหตุการณ์ที่น่ามหัศจรรย์ดังกล่าว
       
       หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมกุ้งจะต้องเดินไปยังเทือกเขาพนมดงรักด้วยเล่า สาเหตุมาจากกุ้งเป็นสัตว์น้ำที่มีการรับจีน (Gene)และแรงผลักดันจากพ่อ-แม่ ให้เดินทางกลับสู่ต้นน้ำลำธารหลายสายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดมและอุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย อันเป็นบ้านเกิดบนเทือกเขาพนมดงรัก เพื่อมาสืบเผ่าพันธุ์และวางไข่ เมื่อเจอน้ำตกแก่งลำดวนจึงขึ้นมาเดินต่อกันเป็นแถวยาวมองคล้ายๆขบวน คล้ายๆกับปลาแซลมอนแดงในทวีปอเมริกาเหนือ
       
       โดยกุ้งเหล่านี้จะพร้อมใจกันขึ้นมาเดินเป็นขบวนเป็นจำนวนมากถึงหมื่นหรืออาจจะมากถึงแสนๆตัวต่อหนึ่งคืนในช่วงกลางเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายนของทุกๆปีในเวลาระหว่าง 19.00-05.00 ของอีกวัน แต่คืนไหนจะเดินขึ้นมามากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยทางธรรมชาติตามฤดูกาล ปริมาน้ำฝนที่ตกลงมาบนพื้นที่รับน้ำหรือลุ่มน้ำลำโดมใหญ่ ซึ่งมีต้นน้ำอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก ถ้าฝนตกหนักติดต่อกันหลายๆวัน ป่าไม้ต้นน้ำก็จะปล่อยน้ำลงมามากส่งผลให้ระดับน้ำสูงกระแสน้ำเชี่ยว กุ้งก็จะพากันมาเดินขบวนเป็นแถวยาว
       

       ทีนี้ก็ถึงเวลามาทำความรู้จักกับกุ้งกันดีกว่า บรรดากุ้งที่พากันมาเดินขบวนนี้เป็นกุ้งน้ำจืด(กุ้งฝอย)ที่อาศัยอยู่ตามลำโดมใหญ่และอาจจะอยู่ไกลถึงลำน้ำมูล กุ้งเป็นสัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลังลำตัวมีความยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร มีเปลือกห่อหุ้มตัวโดยเปลือกหุ้มแยกออกเป็นสองตอน ตอนหน้าจะห่อหุ้มหัวและอก ส่วนตอนหลังจะเป็นลำตัวกุ้ง ส่วนหนวดกุ้งจะทำหน้าที่รับความรู้สึก กุ้งจะมีขาสำหรับเดินและจับอาหาร 5 คู่ และรยางค์สำหรับว่ายน้ำอีก 5 คู่ ซึ่งรยางค์เหล่านี้ นอกจากจะใช้ว่ายน้ำแล้วตัวเมีย ยังทำหน้าที่เป็นที่เก็บไข่ผสมน้ำเชื้อและฟักไข่อีกด้วย สำหรับการหายใจนั้นกุ้งจะหายใจด้วยเหงือกและเลือดกุ้งจะไม่มีสี
       
       และเพื่อไม่ให้กุ้งตกใจจนอาจเลิกการเดินขบวนนั้น ผู้ที่สนใจจะไปเฝ้าดูกุ้งควรอยู่ในความสงบ ไม่ส่งเสียงดังอันจะทำกุ้งและสัตว์ป่าชนิดอื่นตกใจ นอกจากนี้การใช้ไฟฉายส่องกุ้งควรหาผ้าสีขาวคลุมไว้ด้วย และเวลาเดินตามโขดหินต้องระมัดระวังและที่สำคัญห้ามจับกุ้งและทำอันตรายกุ้ง เนื่องจากจะมีความผิดเพราะกุ้งถือเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ได้รับความคุ้มครองเนื่องจากอยู่ในเขตของสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าอุบลราชธานี
       

       สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับกุ้งเดินขบวนสามารถสอบถามได้ที่ โทร. 0-1977-9902,0-9286-0935

….by  James..from http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9480000128649

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4478เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2005 13:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

..น่าไปดูจริง..

แปลกดีครับ เพิ่งรู้นะเนี่ย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท