ชีวิตอินเทอร์น : กระบวนการที่นำไปสู่คุณค่า


          งานของวิทยากรกระบวนการจัดการความรู้มีอะไรคล้ายกับงานครูหลายอย่าง และต่างก็"ส่องทาง"ให้แก่กันและกัน โดยเฉพาะหลักคิดในเรื่องของการจัดการแบบไม่จัดการ เพื่อสร้าง Shared Vision ในระดับคุณค่า และเพื่อให้การเรียนรู้ และการ ลปรร. ดำเนินไป โดยเริ่มต้นจากทุนความรู้ที่ทุกคนมีอยู่  จากนั้นจึงค่อยขยายไปสู่ประเด็นของการเพิ่มเติมความรู้  และการยกระดับความรู้ในที่สุด

           จากประสบการณ์ที่เคยจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน พบว่าการ Shared Vision ระหว่างครูกับนักเรียนเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยพาให้การจัดการเรียนการสอนเดินทางไปสู่ความสำเร็จที่ตั้งไว้  เพราะถ้าครูตั้งวัตถุประสงค์ของหน่วยวิชา และเขียนแผนการสอนโดยไม่คำนึงถึงพัฒนาการของวัย ความสนใจของผู้เรียน และผู้เรียนไม่ได้มีส่วนในเป้าหมายที่ต้องเดินร่วมกัน สภาพการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นก็จะเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้เรียน และตัวผู้เรียนก็จะไม่เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้นั้นอย่างเต็มที่ ครูจะต้องออกแรงอย่างมากในการขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ให้เดินไปข้างหน้า (แต่ได้ผลน้อย)

          ในการจัดการเรียนการสอนครูก็ต้องจัดการแบบไม่จัดการ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ไปตลอดเส้นทาง ด้วยท่าทีของการเข้าไปสนับสนุนให้ผู้เรียนเป็นผู้เข้าไปจัดการกับความรู้ ให้เกิดองค์ความรู้ที่เป็นของเขาเอง ที่มีลักษณะแตกต่างกันไปตาม learning style ของแต่ละบุคคล ดังนั้นครูจึงต้องเปิดโอกาสให้มีการเรียนรู้ และการนำเสนอผลของการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลายเกิดขึ้นในห้องของตนเพื่อให้เกิดการ ลปรร.ในกลุ่มผู้เรียนด้วย หากเป็นไปได้ดังนี้ ในห้องเรียนห้องหนึ่งก็จะมีวงรอบการจัดการความรู้ทั้งของครู และของนักเรียนเกิดคู่เคียงกันไป

           หากมองจากมุมของการจัดการความรู้แล้ว หน้างานของครูคือ หน้างานที่สดชื่น มีชีวิตชีวา และสร้างความเติบโตให้กับทั้งเด็กและครูไปในขณะเดียวกัน

          งานของครูในการจัดการเรียนการสอนก็มีลักษณะเช่นเดียวกับการทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการที่ อาจารย์ประพนธ์เคยเขียนไว้ในบันทึก เรื่อง บ๊าย บาย การบรรยาย KM ว่า


           "ถ้าไม่ได้ทำหน้าที่เป็นวิทยากร ชีวิตของผมคงจะจืดชืดและเหี่ยวเฉา กระบวนการเรียนรู้ในตัวผมคงจะไม่ลื่นไหล และคงจะไม่มองสิ่งต่างๆได้อย่างเชื่อมโยง และชัดเจนเหมือนทุกวันนี้"

           "สำหรับผมแล้ว การที่ต้องทำหน้าที่เป็นวิทยากรนั้น ถือว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญ และได้ผลยิ่งสำหรับผม... เรียกได้ว่าเป็นการทำให้เกิด"KMในตัวผม"เลยก็ว่าได้... เพราะว่าในการเตรียมตัวเป็นวิทยากรแต่ละครั้งนั้น ผมต้องเริ่มศึกษาตั้งแต่กลุ่มผู้ฟัง หรือ Target Audience ว่าพวกเขาต้องการจะฟัง หรือต้องการจะรู้อะไร?... ไปทำไม? นอกจากนั้นผมยังต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วยว่า พวกเขามีพื้นฐานในเรื่องดังกล่าวนั้นมากน้อยแค่ไหน?...เพียงใด?"

           "เมื่อเข้าใจกลุ่มเป้าหมายและความต้องการของพวกเขาดีแล้ว ผมก็จะเริ่มออกแบบเนื้อหา และนี่คือที่มาของการได้ฝึกคิดแบบเชื่อมโยง หรือ System Thinking ที่เกิดขึ้นในตัวผม ... สิ่งที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในการถ่ายทอดนั้นหาใช่อยู่ที่เนื้อหาไม่ หากแต่ว่าอยู่ตรงที่ผู้ที่เป็นวิทยากรนั้นสามารถถ่ายทอดเรื่องราวให้เกี่ยวพันกับผู้ฟังที่สุดได้อย่างไรต่างหาก..."

           "ผลพลอยได้ที่ได้จากการบรรยายก็คือ ถ้าตัววิทยากรนั้น"เปิดรับ"...คือรับฟัง คำถาม ข้อเสนอแนะ หรือแม้แต่ข้อโต้แย้งต่างๆ แล้วนำมาทบทวนแก้ไข ลองคิดว่าถ้าต้องนำเสนอเรื่องนี้ใหม่อีกครั้ง จะปรับแต่งแก้ไขอย่างไรบ้างทั้งในแง่เนื้อหาสาระและเทคนิคการนำเสนอ การคิดเช่นนี้นอกจากจะเป็นการพัฒนางานตาม วงจร PDCA แล้ว ยังทำให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นอีกมากมาย..."

           ความแตกต่างระหว่างงานของวิทยากรการจัดการความรู้ กับงานของครูก็คือ วงรอบของเวลา และความต่อเนื่องของงาน ที่จะต้องดำเนินต่อไปจนครบภาคเรียน และยังต้องเพิ่มปัจจัยเรื่องการสื่อสารระหว่างบ้านและโรงเรียนเข้ามาด้วย  การปรับแต่งแก้ไขกระบวนการเรียนรู้จึงมีตั้งแต่ รอบเล็ก คือรายคาบ รอบใหญ่ขึ้นมาอีกนิด คือรายสัปดาห์  ที่ใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อย คือแต่ละหน่วยย่อย  และเมื่อจบหน่วยวิชา คือรายภาค  ซึ่งกว่าจะจบแต่ละภาคเรียน ครูก็ต้องผ่านการะบวนการ Knowledge Sharing ทั้งในระดับของครูคู่ชั้น ครูสายชั้น และครูช่วงชั้น ทั้งในแง่ของการจัดการตัวความรู้ และการจัดปรับพฤติกรรมการเรียนรู้  ที่แต่ละเรื่องนั้นก็มีประเด็นมากมายจนสามารถแยกเป็นหัวปลาย่อยได้อีกหลายหัว
 
           ความรู้ที่ได้จากจบการเรียนการสอนในแต่ละหน่วย จึงมีทั้งสิ่งที่เป็น tacit ที่หากไม่จัดเก็บไว้ก็จะหายไป และ explicit ที่ปรากฏในรูปของแผนการเรียน สื่อการสอน ใบงาน แบบฝึก ตำรา สมุดภาคสนาม และอื่นๆที่ครูลงแรงลงใจสร้างขึ้นมา

           ถ้าตั้งสายตาของครูเสียใหม่ ให้ครูได้มองการจัดการความรู้ว่าเป็นเครื่องมือช่วยให้เกิดความรู้ความชำนาญในงานของตัว จากการนำทรัพย์ทางปัญญา ที่ได้มาจากการทำงานประจำ ไปลปรร.กันอย่างสม่ำเสมอ ครูก็จะเกิดการเห็นคุณค่า และเห็นความงอกงาม ทั้งที่เกิดขึ้นแก่ตน หมู่คณะ และสังคมโดยรวม อย่างไม่มีที่สิ้นสุดได้ด้วยตัวเอง 

 

หมายเลขบันทึก: 44724เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2006 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ตามมาอ่านครับ
  • ได้ความรู้ ข้อคิด เพื่อนำไปพัฒนา
  • ขอบพระคุณมากครับ

2 ประเด็นที่ค้นพบ ว่า

1. จุดประสงค์ในการนำเสนอว่าด้วยอะไร

2. แนวทางและทางออกของเรื่อง ๆ ที่จะนำเสนอให้แก่นักเรียน พบว่า ต้องออกแรงมาก เพราะตอนนี้ไม่ต้องใช้แรงแล้ว เหนื่อยเปล่าครับ องค์รวม หรือศูนย์รวม แห่งองค์ความรู้มีเยอะ มีหลากหลายหากได้นำออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์เชื่อว่า ครูและนักเรียนก็จะไม่เหนื่อยเลยครับ...สรุปคือ ลปรร. ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท