ทบทวนวัตถุประสงค์ เป้าหมายแก้จนเมืองนคร


ประโยชน์ของการทบทวน ทำให้คนที่ยังไม่เข้าใจได้เข้าใจ คนที่เข้าใจไม่ค่อยชัดก็ได้เข้าใจชัดขึ้น การทำงานจะทำให้มีการตรวจสอบตนเอง และตรวจสอบถ่วงดุลยกันและกัน ว่าหมู่บ้านใด หรือผู้เกี่ยวข้องระดับใด ทำตรงตามเป้าหมายหรือไม่

ประชุมเสวนาของคุณอำนวยกลางและคุณอำนวยอำเภอ ในโครงการแก้จนเมืองนคร เมื่อวันที่ 11 ส.ค.49 มีวาระแนวทางการประเมินโครงการ ทบทวนวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ อยู่ด้วย

ผมมีความรู้สึกดีกับวาระนี้มากๆครับ เพราะว่าโครงการแก้จนเมืองนคร เราทำเต็มทั้งพื้นที่ทุกหมู่บ้าน การทบทวนวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ น่าจะได้ทำบ่อยๆ เพราะหากเราไม่ทบทวนอยู่เสมอก็เป็นไปได้ว่าที่ตรงนั้นตรงนี้ทำผิดวัตถุประสงค์ เป้าหมายได้

ผมทราบว่าเหตุที่ได้บรรจุวาระนี้เข้าพูดคุยในที่ประชุมเสวนานั้นก็เนื่องจากหน่วยงานที่ชื่อย่อว่า สตง.จะมาตรวจสอบติดตามการดำเนินงานโครงการ ทำให้ตื่นตกใจ วิตก กังวลไปต่างๆนานาในระดับผู้เกี่ยวข้องหลายระดับ เป็นที่มาให้ได้มีการพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง


ประโยชน์ของการทบทวน ทำให้คนที่ยังไม่เข้าใจได้เข้าใจ คนที่เข้าใจไม่ค่อยชัดก็ได้เข้าใจชัดขึ้น การทำงานจะทำให้มีการตรวจสอบตนเอง และตรวจสอบถ่วงดุลยกันและกัน ว่าหมู่บ้านใด หรือผู้เกี่ยวข้องระดับใด ทำตรงตามเป้าหมายหรือไม่


กระบวนการทบทวน ก็แจกเอกสารโครงการให้สมาชิกคนละชุด ให้อ่านศึกษาไปพร้อมๆกัน และมีีการอธิบายเสริมจากทีมวิทยากร รวมทั้งตอบคำถามเพิ่มเติมในข้อสงสัยของสมาชิกในวงเรียนรู้

ผมอยากจะให้ผู้เกี่ยวข้องในทุกวงเรียนรู้และผู้สนใจทุกท่านได้ทราบวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการอีกสักครั้งหนึ่ง ครับ


วัตถุประสงค์ของโครงการ

1.เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้ของสมาชิกหมู่บ้านที่เป็นแกนนำชุมชนโดยเน้นการเรียนรู้เป็นกลุ่มตามแนวคิดการจัดการความรู้
2.เพื่อพัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้อำนวยความสะดวกต่อการเรียนรู้
3.เพื่อส่งเสริมการทำงานในลักษณะภาคีเครือข่าย
4.เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน


กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์

1.สมาชิกหมู่บ้านที่เป็นแกนนำชุมชนในหมู่บ้านเป้าหมายจำนวน 400 หมู่บ้าน ที่เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ตามแนวคิดการจัดการความรู้ได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านการเรียนรู้จำนวน 3,200 คน
2.พื้นที่เป้าหมาย ดำเนินการในพื้นที่ทุกอำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งสิ้น 161 ตำบล 400 หมู่บ้าน


ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ

1.สมาชิกของหมู่บ้านจำนวน 400 หมู่บ้าน ที่เป็นแกนนำชุมชน จำนวน 3,200 คน ได้รับการเสริมสร้างศักยภาพด้านการเรียนรู้เป็นกลุ่มตามแนวคิดการจัดการความรู้
2.บุคลากรจำนวน 320 คน มีทักษะในการเป็นผู้อำนวยความสะดวกต่อการเรียนรู้
3.การดำเนินงานโดยกระบวนการเรียนรู้ตามแนวคิดการจัดการความรู้เพื่อแก้ปัญหาความยากจนประสบความสำเร็จ แกนนำชุมชน สามารถรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาอาชีพ ในการลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ ให้กับสมาชิกในหมู่บ้าน จำนวน 400 หมู่บ้านได้


จากวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการดังกล่าว ที่ประชุมได้สรุปคำหลักของวัตถุประสงค์และเป้าหมายโครงการสำหรับ สตง.ติดตาม ได้เป็น  3 คำหลักคือ แก้จน บูรณาการจัดการความรู้ และชุมชนเข้มแข็ง เวลาที่เหลือทุกวงเรียนรู้จะต้องไปสร้างความชัด รูปธรรม และนามธรรมให้เกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งทั้ง 3 คำหลักนี้ ล้วนเป็นเรื่องที่ใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือ เป็นกระบวนการเรียนรู้ วัดกระบวนการเรียนรู้ในเนื้อหาการแก้จน  วัดกระบวนการเรียนรู้ในเนื้อหาการบูรณาการจัดการความรู้ และวัดกระบวนการเรียนรู้ในเนื้อหาชุมชนเข็มแข็ง


ขอบคุณ สตง.ที่ทำให้มีการพูดคุย เรียนรู้เรื่องนี้กันอย่างจริงจังและมีจุดหมายมากขึ้น จริงอย่างที่กล่าวกันว่าทุกอย่างใช้เรียนรู้ได้หมดครับ

หมายเลขบันทึก: 44706เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2006 07:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เป็นการปรับกระบวนท่าไปในตัวนะครับ
  • เห็นด้วยครับว่า "ทุกอย่างคือการเรียนรู้"

ขอบคุณครับสิงห์ป่าสักที่เข้ามาทักทายและทิ้งความเห็นไว้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท