เหม็งผรา....เครื่องยาภูมิปัญญาชาวบ้าน


คงจะสร้างความ มึนงง....ให้กับผู้อ่านบันทึกนี้ไม่น้อยกับคำแปลก ๆ ที่ผมบันทึกขึ้นมา

       ผมมักเอาคำสองคำนี้  ถามที่ประชุมของเกษตรกรเสมอ  เพื่อความสนุกสนาน  เพราะในการประชุมในแต่ละเวที  หรือในแต่ละเรื่อง   มีคนเข้าประชุม  40 - 50 คน  เมื่อผมถามจะมีคนรู้จักประมาณ  4 - 5 คน  ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า ผู้แก่  แล้วก็สร้างกัลยาณมิตรได้เป็นอย่างดี  และ สามารถจุดประกายแห่งการเรียนรู้ได้ เพราะเมื่อถามและมีคนรู้คนที่ไม่รู้ก็จะอยากรู้  ซึ่งเวทีจะเริ่มเกิดขึ้นครับ       
       คงจะสร้างความ มึนงง....ให้กับผู้อ่านบันทึกนี้ไม่น้อยกับคำแปลก ๆ ที่ผมบันทึกขึ้นมา  ก็ขอบอกนะครับว่า  สิ่งนี้เป็นภูมิปัญญาของคนสมัยรุ่นปู่ย่า ตายาย    ที่สร้างสมเรียนรู้ เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน นำสิ่งที่ใช้ในวิถีชีวิตมาต่อยอดใช้ประโยชน์ต่อกันไป
       ผมขอเริ่มอธิบายนะครับ  คนสมัยก่อนนั้นในครัว  มีเตาไฟที่สร้างด้วยปีกไม้สี่เหลี่ยมแล้วเอาดินไปใส่ไว้เพื่อวางเตาในการหุงต้ม  ปรุงอาหาร  ส่วนเหนือขึ้นไปบนเตาไฟจะมีชั้นวางของ   ทำด้วยฟากไม้ไผ่ผูกด้วยหวายหรือเถาวัลย์  แขวนไว้กับหลังคา ความสูงจากเตาไฟไว้พอประมาณ(พ้นจากเปลวไฟ)  ใช้สำหรับวางอาหารเพื่อให้แห้งแห้ง  เช่นพริกขี้หนู  ปลาแห้ง  เนื้อแห้ง กล้วย ป้องกันการบูดเน่า  หรือวัสดุประสงค์เพื่อรมควัน  ป้องกัน แมลงวัน  มด มอด
          การหุงต้มสมัยก่อนนั้นใช้ไม้ฟืน  ซึ่งมีไม้หลายชนิดที่นำมาทำฟืน  เมื่อหุงต้มด้วยไม้ฟืนแน่นอนครับเกิดควันไฟ  และชั้นวางของดังกล่าวทางภาคใต้เรียกว่า "ผรา" ครับ  ส่วนควันไฟเมื่อผ่าน "ผรา" ก็เกิดเขม่าควันติดเป็นสีดำ  ติดนาน ๆ ก็หนาเตอะครับ  ไปจับก็มือดำมิดหมีแหละครับ  ชาวบ้าน เรียกว่า "เหม็งผรา" ครับ   และที่ว่านี้ครับคือภูมิปัญญา คนสมัยก่อนและฉลาดใช้  เพราะ"เหม็งผรา"  เป็นตัวเครื่องยาชนิดหนึ่งที่ไปปรุงยาได้อีกหลายชนิด  ที่ผมจำได้แน่ ๆ เขาใช้รักษาแผลสัตว์เลี้ยง  ทั้งแผลสด แผลเปื่อย  ป้องกันแมลงวันได้อย่างดีเลยครับ  ที่ "ผรา" นั้นเป็นจุดรวมของ ควันยางไม้จากไม้ฟืน  ไอน้ำจากเครื่องเทศเครื่องปรุงอาหาร  พืชผักที่ปรุงอาหารล้วนเป็นที่สะสมของสารจากพืช  จากปลา จากเนื้อ  คนโบราณจึงนำมันมาทำประโยชน์เป็นเครื่องยาโบราณครับ

หมายเลขบันทึก: 44694เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2006 22:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

น่าสนใจจริงๆ คะ  ขอบคุณ คุณชาญวิทย์มากที่บันทึกเล่าให้ฟัง

น่าสนใจดี ที่กลุ่มชาติพันธุ์ทางเหนือก็มีครับ แบบนี้ แต่ไม่ทราบว่าจะใช้เป็นยาสมุนไพรได้หรือไม่ ผมจะลองไปถามชาวบ้านดู นะครับ

แล้วจะเอามาแลกเปลี่ยนอีกครั้ง 

เม็ดบวบ เม็ดพันธุ์ต่างๆในสมัยผมเป็นเด็กก็ใช้วิธีนี้แหละครับเป็นวิธีเก็บไว้ทำพันธุ์ ทั้งใช้ปลูกเองและแจกจ่ายเอื้ออาทรให้ลุกหลานไปปลูกครับ  ....เข้ามาทักทาย สกัดเอาความรู้ และ ลปรร.

  • เป็น tacit knowledge ของแท้เลยค่ะ
  • ขอบคุณค่ะที่นำความรู้นี้มาแบ่งปัน คงใช้เวลานานพอสมควรนะคะกับการ เพาะบ่ม ให้เกิดเครื่องยาชนิดนี้ขึ้นมาได้
  • พี่เม่ยคิดต่อว่า ในปัจจุบันถ้าเราต้องการ "เหม็งผรา" มาใช้งาน ยังพอจะหาได้อีกไหมคะ?
  • ขอบพระคุณมากครับที่นำมาแบ่งปัน
  • ผมมีมาแลกเปลี่ยนครับ ผมเคยใช้ถ่านไม้ครับ นำมาบดให้ละเอียดใส่แผลในสัตว์เลี้ยง ป้องกันแมลงวันมาวางไข่ เพราะผงถ่านไม้(อะไรก็ได้) จะทำให้แผลแห้งเร็วครับ
  • น่าจะนำมาทดแทนเหม็งผรา..ได้บ้าง เพราะหาไม่ค่อยเจอแล้ว ยกเว้นในบางพื้นที่
  • เรียน พี่หม่า(ธุวนันท์) ขอบคุณมากเลยครับที่เข้ามาเยี่ยม
  • เรียน คุณจตุพร ขอบคุณครับ รอการแลกเปลี่ยนนะครับ
  • เรียน ครูนงเมืองคอน ขอบคุณครับที่แวะมาแลกเปลี่ยน
  • เรียน พี่เม่ย ขอบคุณนะครับ ที่กรุณาแจ้งลักษณะองค์ความรู้ ปัจจุบันก็ยังหาได้แต่ก็น้อยครับ  ต้องเป็นกระท่อมที่อยู่ในไร่นา ที่ไม่มีไฟฟ้าครับ
  • เรียน คุณสิงห์ป่าสัก  ขอบคุณครับที่กรุณาเอาข้อมูลมาแลกเปลี่ยน
             

        

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท