การปั้นแต่งมติมหาชน : นอม ชอมสกี กับ สื่อมวลชน


การปั้นแต่งมติมหาชน

 : นอม ชอมสกี กับ สื่อมวลชน


(Manufacturing Consent : Noam Chomsky and the Media)


ภาพยนตร์สารคดี ความยาว ๓ ชั่วโมง และหนังสือคู่มือ
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : วิจารณ์
(คำว่า "Manufacturing Consent" เป็นคำที่ชอมสกีนำมาจากหนังสือของวอลเตอร์ ลิปป์มันน์ (Walter Lippmann ๑๘๘๙-๑๙๗๔) นักปรัชญาและนักหนังสือพิมพ์ผู้มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อชนชั้นนำในสหรัฐอเมริกา ลิปป์มันน์เสนอความคิดไว้ว่า การสร้างมติมหาชนขึ้นมาคือการปฏิวัติประชาธิปไตย เพราะประชาชนไม่รู้ว่าผลประโยชน์ส่วนรวมคืออะไร ประชาชนจึงไม่ควรมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ การปกครองประเทศเป็นเรื่องของชนชั้นผู้มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น)
ความนำ

          คำโปรยปกหนังสือของนอม ชอมสกีที่สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ชอบใช้กันนักหนาคือ ข้อความที่ตัดมาจากหน้าวิจารณ์หนังสือของ The New York Times Book Review ที่ว่า "กล่าวได้ว่า นอม ชอมสกี คือปัญญาชนคนสำคัญที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่" เหตุที่สำนักพิมพ์ชอบข้อความนี้มากคงมีเหตุผล ๒ ประการคือ
ประการแรก นิวยอร์คไทมส์เป็นหนังสือพิมพ์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดฉบับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา คำชมเชยจากหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ จึงดูเหมือนน่าเชื่อถือและเป็นใบเบิกทางสำคัญที่จะชักจูงให้ผู้อ่านคล้อยตามได้ง่าย กับ

           ประการที่สอง เป็นที่ทราบกันดีในวงการก็คือ นอม ชอมสกี จัดเป็นคู่รักคู่แค้นที่วิพากษ์วิจารณ์นิวยอร์คไทมส์มานาน คำชมจากปากของ "ศัตรู" ย่อมมีค่าและน้ำหนักมากกว่าคำสรรเสริญจากมิตรสหายนัก  ทว่าในการบรรยายครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย หลังจากที่ได้รับการแนะนำตัวด้วยประโยคข้างต้น ชอมสกีกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "…ประโยคที่ว่า 'กล่าวได้ว่าเป็นปัญญาชนที่สำคัญที่สุด' ในโลก ฯลฯ นั้น มาจากคำโปรยของพวกสำนักพิมพ์ และคุณต้องคอยระวังคำพูดพวกนี้ให้ดี เพราะหากคุณกลับไปอ่านต้นฉบับ…ในนิวยอร์คไทมส์…ประโยคต่อจากนั้นเขียนไว้ว่า: 'หากเป็นจริงเช่นนั้นแล้ว ทำไมเขาถึงมีแต่ข้อเขียนแย่ ๆ เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา?' และสำนักพิมพ์ไม่เคยอ้างข้อความนั้นเลย…"

               ใน The New York Times Book Review วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๑๙๗๙ ข้อความที่เขียนถึงชอมสกีมีความเต็มดังนี้คือ "กล่าวได้ว่านอม ชอมสกี คือปัญญาชนคนสำคัญที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน แต่เขายังเป็นปัญญาชนที่มีความแตกแยกทางความคิดอย่างน่าใจหายด้วย ในด้านหนึ่ง เขามีงานเขียนทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์ที่ปฏิวัติทั้งวงการและเต็มไปด้วยศัพท์เทคนิค ซึ่งส่วนใหญ่คงไม่มีใครอ่านรู้เรื่องนอกจากนักภาษาศาสตร์หรือนักปรัชญา แต่อีกด้านหนึ่ง เขามีงานเขียนจำนวนมากพอ ๆ กันที่เป็นข้อเขียนทางด้านการเมือง ใครก็ตามที่อ่านหนังสือออกย่อมอ่านได้ไม่ยาก แต่งานเขียนพวกนี้มักตื้นเขินจนไร้สติ 'ปัญหาแบบชอมสกี' คือการอธิบายให้ได้ว่าบุคลิกสองแบบนี้อยู่ในตัวคน ๆ เดียวได้อย่างไร"
เหตุการณ์ที่ยกมาข้างต้นนี้แสดงให้เห็นอย่างน่าขันว่า แม้กระทั่งนอม ชอมสกีที่ได้ชื่อว่าเป็นนักวิพากษ์สื่อมวลชนที่เผ็ดร้อนที่สุดคนหนึ่ง ตัวเขาเองก็ยังไม่วายตกเป็นเหยื่อการสร้างภาพของสื่อมวลชน

         อันที่จริง คำวิจารณ์ของนิวยอร์คไทมส์ที่มีต่อชอมสกีนับว่าน่าสนใจไม่น้อย คงมีน้อยคนอดเลิกคิ้วด้วยความประหลาดใจไม่ได้เมื่อทราบเป็นครั้งแรกว่า นอม ชอมสกี ซึ่งเป็นนักวิชาการบนหอคอยงาช้างของสถาบัน MIT (Massachusetts Institute of Technology) ผู้ปฏิวัติวงการภาษาศาสตร์และปรัชญาแห่งศตวรรษที่ ๒๐ คือคน ๆ เดียวกับ นอม ชอมสกี ที่เป็นนักวิพากษ์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐและสื่อมวลชนต่าง ๆ เป็นนักคิดในแนวทางสังคมนิยม-อนาธิปไตย ที่เข้ามามีบทบาทในหมู่นักกิจกรรมตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม เป็นแหล่งข้อมูลและเป็นแรงบันดาลใจให้องค์กรเอกชน และปัจเจกบุคคลจำนวนมากที่ทำงานในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง ฯลฯ ที่อยู่กระจัดกระจายไปทั่วโลก

ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับนอม ชอมสกี

           ในแคนาดา มีนักกิจกรรมและนักสร้างภาพยนตร์สารคดีสองคนคือ มาร์ค อัชบาร์ (Mark Achbar) และ ปีเตอร์ วินโทนิค (Peter Wintonick) ต่างคนต่างได้ฟังการบรรยายของนอม ชอมสกีต่างกรรมต่างวาระในช่วงประมาณปี ๑๙๘๕-๘๖ ทั้งสองต่างมีความคิดที่จะสร้างภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับชอมสกีโดยที่มิได้นัดหมายกันมาก่อน
วินโทนิคพยายามเสนอโครงการนี้แก่คณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติของแคนาดา (National Film Board of Canada) แต่ถูกปฏิเสธ ส่วนอัชบาร์เริ่มต้นโครงการนี้กับเพื่อน แต่ว่าเกิดขัดแย้งทางความคิดจนต้องเลิกราไป จนกระทั่งปี ๑๙๘๘ ทั้งสองจึงโคจรมาพบกัน และร่วมกันสานต่อโครงการที่ตั้งใจไว้ ภาพยนตร์สารคดีที่ทั้งสองสร้างขึ้นนี้ออกฉายครั้งแรกในปี ๑๙๙๒ ในชื่อ Manufacturing Consent : Noam Chomsky and the Media

                แต่เบื้องหลังความเป็นมาของภาพยนตร์เรื่องนี้มิใช่เรื่องง่าย ๆ หลังจากขออนุญาตจากชอมสกีแล้ว อัชบาร์และวินโทนิคก็เริ่มติดตามชอมสกีไปทุกหนทุกแห่งเท่าที่สามารถตามไปได้ ทั้งสองถ่ายเก็บการบรรยายของชอมสกีในสถานที่ต่าง ๆ ถึง ๒๓ เมืองใน ๗ ประเทศ ในบางประเทศที่ทั้งสองไม่สามารถไปได้เพราะปัญหาทางด้านทุนรอน เช่น ญี่ปุ่น พวกเขาใช้วิธีว่าจ้างตากล้องท้องถิ่นให้ทำงานแทนโดยติดต่อกันทางแฟกซ์ หรือบางครั้งก็ไหว้วานเพื่อนช่วยถ่ายวิดีโอให้แทน ถึงขนาดกลายเป็นเรื่องตลกที่เล่าสู่กันฟังว่า บางครั้งชอมสกีเองก็ออกอาการเครียดเล็กน้อยที่ถูกตามไปทุกหนทุกแห่ง (ยกเว้นที่บ้าน) แต่หากครั้งไหนที่ชอมสกีไปถึงสนามบินแล้วไม่พบอัชบาร์กับวินโทนิคมาคอยอยู่ เขาก็อดนึกสงสัยไม่ได้ว่าตนจะมาผิดที่เสียแล้ว
ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายทำและตัดต่อขั้นสุดท้ายถึง ๕ ปีด้วยกัน ปัญหาสำคัญที่สุดคงเป็นปัญหาเรื่องทุนในการสร้าง อัชบาร์และวินโทนิคดิ้นรนกันทุกวิถีทาง พวกเขาใช้ฟิล์ม ๑๖ มม. ถ่ายการบรรยายของชอมสกีไว้ถึง ๑๒๐ ชั่วโมง ไม่นับที่เป็นวิดีโอเทป ฟิล์มทั้งหมดอาจกลายเป็นขยะไปหากทั้งสองไม่สามารถหาทุนในการล้างและตัดต่อได้ จนในที่สุด คณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติของแคนาดาก็ยื่นมือเข้ามาช่วย ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ๑๙๙๒ ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองซิดนีย์ของออสเตรเลีย และได้รับรางวัลนับไม่ถ้วนจากเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศต่าง ๆ เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดฉายในซานฟรานซิสโก มันทำรายได้มากกว่าภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ที่ออกฉายพร้อมกัน ยกเว้น Indecent Proposal
มาร์ค อัชบาร์ และ ปีเตอร์ วินโทนิค ใช้เทคนิคทางด้านภาพยนตร์มากมายกับสารคดีเรื่องนี้ หนังเปิดฉากที่ศูนย์การค้าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในออนตาริโอ แคนาดา ในศูนย์การค้าแห่งนี้มีจอวิดีโอขนาดยักษ์ที่ใช้โฆษณาสินค้าและฉายการ์ตูนให้เด็ก ๆ ดู ทว่าวันนี้บนจอฉายเทปการให้สัมภาษณ์ของชอมสกีแทน ชอมสกีกำลังถูกซักถามเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Manufacturing Consent ในขณะที่ลูกค้าของศูนย์การค้าต่างเดินกันขวักไขว่โดยไม่มีทีท่าสนใจกับภาพที่ฉายบนจอขนาดยักษ์นั้นเลย

                 ตัดมาที่หน้าทำเนียบขาว ปีเตอร์ วินโทนิคถือไมโครโฟนอันใหญ่ เขากำลังสัมภาษณ์เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่ง ปีเตอร์บอกว่าเขากำลังถ่ายภาพยนตร์เกี่ยวกับ นอม ชอมสกี มีใครรู้จักชอมสกีบ้าง เด็ก ๆ ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่รู้จัก

                     ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ใช้เทคนิคการตัดต่อและสร้างภาพมากมาย (ใช้เวลาในการตัดต่อไปถึง ๑ ปีเต็ม) ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นเทปบันทึกการบรรยาย สัมภาษณ์ ของนอม ชอมสกี ในสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งมหาวิทยาลัย สถานีวิทยุและโทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งยืนคุยกับนักศึกษาบนบันไดหน้าตึก ฯลฯ เมื่อชอมสกีพูดถึงประเด็นใด เช่น ติมอร์ตะวันออก เขมรแดง ฯลฯ ก็จะมีการแทรกภาพข่าวเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ มีการสัมภาษณ์บรรณาธิการของวอชิงตัน โพสต์ และ นิวยอร์คไทมส์ ที่ถูกชอมสกีวิจารณ์ถึง มีการแทรกภาพในเชิงเปรียบเทียบ เช่น เมื่อชอมสกีวิวาทะกับอดีตรัฐมนตรีกลาโหมของเนเธอร์แลนด์ มีการแทรกภาพการชกมวยของนักมวยผิวดำกับผิวขาว (นักมวยผิวดำชนะน็อค) เมื่อพาดพิงถึงหนังสือของชอมสกีเล่มใดเล่มหนึ่ง จะมีการตัดภาพไปที่ปกของหนังสือ มีการใช้ตัวอักษรและกราฟิคเพื่อเน้นประเด็นบางอย่างให้ชัดเจนขึ้น และมีการสร้างบางฉากบางตอนขึ้นมาเป็นพิเศษ เช่น อัชบาร์และวินโทนิคแต่งตัวเป็นหมอศัลยกรรมและผ่าตัดบทความในลอนดอนไทมส์ เพื่อเป็นการเปรียบเทียบถึงกรณีที่ นิวยอร์คไทมส์ ตัดต่อบทความนี้จนบิดเบือนประเด็นของติมอร์ตะวันออก เป็นต้น

               วินโทนิคยังเขียนบันทึกไว้ด้วยว่า เขาต้องการให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีกระบวนการเป็นประชาธิปไตยอย่างที่สุด ดังนั้น ในสารคดีเรื่องนี้จึงไม่มี "ผู้บรรยาย" คำบรรยาย คำให้สัมภาษณ์ทั้งหมดของชอมสกี เป็นสื่อสะท้อนที่ดีที่สุดถึงความคิดของชอมสกีเอง อีกทั้งความคงเส้นคงวาในแนวความคิดของชอมสกี ทำให้ลำดับเวลาไม่มีความสำคัญมากนัก เราจะได้เห็นการตัดสลับภาพชอมสกีในวัยหนุ่มและในปัจจุบัน โดยที่คำพูดของเขาไม่มีข้อขัดแย้งกันเลย นอกจากนี้ วินโทนิคกล่าวว่าในระหว่างการตัดต่อ มีการฉายหนังตัวอย่างและรับฟังความคิดเห็นจากคนกว่า ๖๐๐ คน ก่อนจะเสร็จสิ้นออกมาเป็นภาพยนตร์ในขั้นสุดท้าย

แล้วเนื้อหาของภาพยนตร์เกี่ยวกับอะไร?

              มาร์ค อัชบาร์ กล่าวไว้ในคำนำของหนังสือคู่มือภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า ความตั้งใจของผู้สร้างมิใช่เพียงนำเสนอความคิดของชอมสกี เกี่ยวกับ สื่อมวลชนเท่านั้น แต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ชอมสกีมี กับ สื่อมวลชนด้วย โดยเน้นถึงความแตกต่างระหว่างภายในกับภายนอกประเทศสหรัฐอเมริกา ชอมสกีเป็นกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าสื่อมวลชนปฏิบัติอย่างไรต่อ "ปัญญาชนหัวแข็ง" ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในประเทศของตัวเอง

               ปีเตอร์ วินโทนิคเขียนไว้ในบันทึกการสร้างว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นสื่อมวลชนที่ต้องการสะท้อนถึงสื่อมวลชน หนังเรื่องนี้แบ่งออกเป็นสองภาคด้วยกัน ภาคแรก คือ "การควบคุมความคิดในสังคมประชาธิปไตย"    ภาคที่สอง ตั้งชื่อว่า "จุดประเด็นโต้แย้ง"

            ภาคแรกเน้นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ชอมสกีมีต่อสื่อมวลชน ภาคที่สองคือปฏิกิริยาที่สื่อมวลชนและผู้คนมีต่อชอมสกี ทั้งในทางเกรี้ยวกราด ปรามาส และในทางชื่นชม รวมทั้งได้เสนอทางออกถึงสื่อมวลชนที่เป็นทางเลือกจากสื่อมวลชนกระแสหลักด้วย

          ภาคแรก การควบคุมความคิดในสังคมประชาธิปไตย

              ภาคแรกเริ่มต้นที่สถานีวิทยุ ผู้จัดรายการตั้งคำถามกับชอมสกีว่า ในสังคมประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา เป็นเรื่องน่าแปลกที่ชอมสกีชอบกล่าวว่า คนอเมริกันถูกควบคุมทางความคิด ชอมสกีอธิบายว่า สังคมเผด็จการใช้ความรุนแรงในการควบคุมประชาชน ในขณะที่สังคมประชาธิปไตยใช้การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อปิดบังมิให้ประชาชนมองเห็นความจริงพื้นฐานหลาย ๆ อย่าง ในสังคมอเมริกัน มีคำพูดต้องห้ามที่ไม่เคยปรากฏตามสื่อมวลชนกระแสหลักเลย เช่น สหรัฐคือผู้รุกรานเวียดนาม เพนตากอนคือการใช้งบประมาณรัฐสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง สหรัฐอเมริกาคือตัวการขัดขวางการเจรจาสันติภาพในตะวันออกกลาง ฯลฯ

               ชอมสกีเชื่อว่า หากเปิดเผยข้อเท็จจริงเหล่านี้แก่ประชาชน ประชาชนสามารถใช้สามัญสำนึกตัดสินได้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด สามัญสำนึกของสามัญชนคือบรรทัดฐานที่ดีที่สุดในการชี้นำระบบการปกครองและนโยบายรัฐ แต่การมองเห็นข้อเท็จจริงเหล่านี้มิใช่เรื่องง่าย เพราะมันถูกปิดบัง บิดเบือน ด้วยโฆษณาชวนเชื่อที่รัฐสร้างขึ้นมาโดยอาศัยสื่อมวลชนเป็นกลไกสำคัญ

                 พิธีกรรายการโทรทัศน์คนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ค่อนข้างน่าแปลกที่นักภาษาศาสตร์จากสถาบัน MIT อย่างชอมสกี กลับมีความเชื่อมั่นในสามัญสำนึกของประชาชน ชอมสกีตอบว่า หากดูจากผลงานทางด้านภาษาศาสตร์ของเขาแล้ว เราจะพบข้อสรุปตรงกันข้ามกับที่คนทั่วไปมักเข้าใจกัน โดยชี้ให้เห็นว่าคนธรรมดามีธรรมชาติที่สร้างสรรค์อยู่ในตัว

ภาษาศาสตร์ สกินเนอร์ และชอมสกี้

                ก่อนหน้านี้ วงการภาษาศาสตร์อยู่ภายใต้อิทธิพลของนักพฤติกรรมศาสตร์ที่ชื่อ สกินเนอร์ (B. F. Skinner ๑๙๐๔-๑๙๙๐) สำนักพฤติกรรมศาสตร์มีอิทธิพลต่อศาสตร์แขนงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ จิตวิทยา ปรัชญา ภาษาศาสตร์ ฯลฯ สำนักนี้เชื่อว่ามนุษย์เรียนรู้ทุกอย่างจากประสบการณ์ พฤติกรรมของมนุษย์เกิดมาจากการตอบสนองต่อแรงกระตุ้นที่มาจากภายนอก การอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ในลักษณะของความเชื่อ ความตั้งใจหรือเจตจำนง จึงขาดความเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นการอธิบายที่อาศัยอัตวิสัยเข้าไปเกี่ยวข้อง

               ทฤษฎีทางภาษาศาสตร์ของชอมสกีคือ การปฏิวัติวงการจากอิทธิพลของสกินเนอร์ ทฤษฎีทางภาษาศาสตร์ของชอมสกีเห็นว่า ถ้าคนเราเรียนรู้ภาษาจากประสบการณ์เพียงอย่างเดียว ความรู้ทางภาษาของเราคงกะพร่องกะแพร่งมาก แต่ความจริงก็คือเด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ภาษาได้อย่างรวดเร็วและมีลักษณะก้าวกระโดดในการเรียนรู้ เด็กสามารถผูกประโยคใหม่ ๆ ที่เขาไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนได้ถูกต้องอย่างไม่น่าเชื่อ มนุษย์มีความสามารถในการใช้ภาษาที่ทำให้ภาษาเกิดการงอกขยาย (generative) อันแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติที่สร้างสรรค์ในตัวคนทุก ๆ คน

               เมื่อศึกษากระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ ชอมสกีได้ข้อสรุปว่า ในพันธุกรรมของคนต้องมีโปรแกรมที่วางมาสำหรับการเรียนรู้ภาษาอยู่แล้ว สิ่งแวดล้อมเป็นเพียงตัวกำหนดว่าเด็กจะเรียนรู้ภาษาอะไรเท่านั้น การที่เด็กญี่ปุ่นเติบโตในประเทศตะวันตกและเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้อย่างไม่มีปัญหา แสดงว่าภาษาทุกภาษาต้องมีโครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียวกัน และโปรแกรมที่จะเรียนรู้โครงสร้างทางภาษานั้นมีอยู่ในตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด

                จากทฤษฎีทางภาษาศาสตร์ของชอมสกี เราสามารถก้าวไปสู่ข้อสรุปได้หรือไม่ว่า มีหลักการพื้นฐานบางอย่างในธรรมชาติมนุษย์ในลักษณะเดียวกับภาษา ที่ครอบคลุมไปถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น ศีลธรรม ความรู้ ความงาม ฯลฯ ชอมสกีตอบว่าเขาคงยินดีมากหากสามารถพิสูจน์ถึงความเชื่อมโยงดังกล่าวได้ แต่น่าเสียดายที่การสรุปเช่นนั้นคงเป็นการด่วนสรุปเกินไป แม้กระทั่งตัวเขาเองก็ยังไม่สามารถค้นพบความเชื่อมโยงระหว่าง "ความคิดทางภาษาศาสตร์" กับ "จุดยืนทางการเมืองของตนในระดับที่สามารถตั้งเป็นทฤษฎีได้"

               แต่ถ้าความเชื่อของเขาถูกต้อง เขาคิดว่าองค์ประกอบพื้นฐานของธรรมชาติมนุษย์คือ ความต้องการการสร้างสรรค์อย่างเสรี โดยไม่ถูกจำกัดจากสถาบันต่าง ๆ ในสังคม ดังนั้น สังคมที่ดีควรเอื้ออำนวยต่อบุคลิกภาพพื้นฐานอันนี้ของมนุษย์ สังคมที่ดีจึงไม่ควรมีการผูกขาดรวมศูนย์ทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ อุดมคติทางสังคมของชอมสกีจึงเป็นแบบอนาธิปไตย-สหภาพนิยม (anarcho-syndicalism) ซึ่งชอมสกีเห็นว่าเป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับสังคมที่มีเทคโนโลยีสูง เมื่อคนไม่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรในการผลิตอีกต่อไป  syndicalism เห็นว่าปัจจัยในการผลิตทั้งหมด เป็นสมบัติร่วมกันของกรรมกรที่ทำงานอยู่ในโรงงานนั้น การกำหนดทิศทางและนโยบายของแต่ละแหล่งการผลิต จึงต้องใช้กระบวนการประชาธิปไตยในหมู่กรรมกร ระบบเศรษฐกิจในลักษณะนี้จึงแตกออกเป็นหน่วยย่อย ๆ มากมาย แต่ละหน่วยเป็นประชาธิปไตยในตัวเอง นี่จัดเป็นสังคมนิยมแบบหนึ่ง แต่แตกต่างจากสังคมนิยมแบบมาร์กซิสต์-เลนิน ที่นโยบายทั้งหมดถูกชี้นำมาจากรัฐหรือพรรคคอมมิวนิสต์)

              นี่อาจตอบคำถามข้างต้นได้ว่า เหตุใดชอมสกีที่เป็นนักวิชาการบนหอคอยงาช้าง จึงเป็นนักคิดที่เชื่อมั่นในการตัดสินและระดับทางศีลธรรมของสามัญชน ชีวิตของชอมสกีเองก็เป็นหลักฐานพิสูจน์ความคิดของเขา เพราะชอมสกีผู้สร้างประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของภาษาศาสตร์ นักวิชาการผู้มีอิทธิพลต่อวงการปรัชญา จิตวิทยา การศึกษา สังคมวิทยา วรรณคดีวิจารณ์ ตรรกวิทยา ฯลฯ นักคิดที่ยังมีชีวิตอยู่ผู้ได้รับการอ้างอิงถึงมากที่สุดในรอบ ๒๐ ปี ทั้งในทางสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่เขาไม่ได้จบทางด้านภาษาศาสตร์มาเลย

              ชอมสกีเคยกล่าวว่าถ้าดูจากคุณสมบัติทางการศึกษาแล้ว เขาคงไม่สามารถสอนในมหาวิทยาลัยกระจอกด้วยซ้ำ (แต่เพราะ MIT เป็นมหาวิทยาลัยทางวิทยาศาสตร์ จึงไม่สนใจเรื่องใบปริญญา!) ในทำนองเดียวกัน ชอมสกีเองก็ไม่ได้เรียนจบมาทางด้านการเมืองหรือเศรษฐศาสตร์ แต่เขาคิดว่าการเป็นนักวิจารณ์สังคมไม่ใช่เรื่องของอาชีพหรือผู้เชี่ยวชาญ แต่เป็นเรื่องของมนุษย์

              ชอมสกีกล่าวเสมอว่าอย่าฟังเขาเพียงเพราะเขาเป็นนักภาษาศาสตร์หรือเป็นอะไรก็ตาม แต่ขอให้ตั้งคำถามเสมอว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นมีเหตุผลหรือเปล่า มีหลักฐานประกอบหรือไม่ เขาเชื่อมั่นในวิจารณญาณของคนธรรมดาสามัญ และวิจารณ์การศึกษาว่า "การศึกษาคือระบบของการยัดเยียดความโง่เขลา" ให้ประชาชน

นอม ชอมสกีวิจารณ์การเมือง

แล้วชอมสกีวิจารณ์การเมืองอย่างไร นิวยอร์คไทมส์ จึงกล่าวว่ามันเป็นงานเขียนที่ "ตื้นเขินจนไร้สติ"?

            ชอมสกีวิจารณ์สังคมอเมริกัน รวมไปถึงระบบสังคมโลกในปัจจุบัน ว่าเป็นระบบทุนนิยมโดยรัฐ (State Capitalism) หัวใจสำคัญของระบบสังคม-เศรษฐกิจแบบนี้คือ การที่เอกชนกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ครอบครองปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่ เมื่อความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ที่คนกลุ่มเดียว คนกลุ่มนี้จึงสามารถมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐให้ตอบสนองผลประโยชน์ของตนได้

                  นโยบายสำคัญของรัฐบาลอเมริกันที่ดำเนินมานับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ คือการนำเงินภาษีที่เก็บจากประชาชนส่วนใหญ่ไปอุ้มชูอุตสาหกรรมที่เป็นผลประโยชน์ของชนชั้นนำ แต่ข้อเท็จจริงนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนมองไม่เห็น เพราะรัฐบาลและสื่อมวลชนคอยสร้างภาพว่า "สังคมอเมริกันเป็นประชาธิปไตย"

             หากย้อนกลับไปดูข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา กลุ่มคนที่เป็นผู้นำในการก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกามีความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยไม่เหมือนกับที่เราเข้าใจกัน สำหรับคนกลุ่มนี้ ประชาธิปไตยคือเกมของกลุ่มผู้นำประเทศ ไม่ใช่ของประชาชน "ผู้โง่เขลา" ประชาชนควรถูกควบคุมไว้และเป็นแค่ผู้ตามที่ดี ในขณะที่การปกครองประเทศเป็นเรื่องของ "เจ้าของ" ประเทศ (นั่นคือ เจ้าของปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่ในประเทศ)

              คำว่า "Manufacturing Consent" เป็นคำที่ชอมสกีนำมาจากหนังสือของวอลเตอร์ ลิปป์มันน์ (Walter Lippmann ๑๘๘๙-๑๙๗๔) นักปรัชญาและนักหนังสือพิมพ์ผู้มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อชนชั้นนำในสหรัฐอเมริกา ลิปป์มันน์เสนอความคิดไว้ว่า การสร้างมติมหาชนขึ้นมาคือการปฏิวัติประชาธิปไตย เพราะประชาชนไม่รู้ว่าผลประโยชน์ส่วนรวมคืออะไร ประชาชนจึงไม่ควรมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ การปกครองประเทศเป็นเรื่องของชนชั้นผู้มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น

                   นักคิดอีกคนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อผู้วางนโยบายของสหรัฐอเมริกาคือ ไรน์โฮลด์ นีบูร์ (Reinhold Niebuhr) ที่เห็นว่า สามัญชนเป็นคนโง่และไม่มีเหตุผล ประชาชนจึงต้องการศรัทธาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ศรัทธานี้ต้องอาศัย "มายาคติที่จำเป็น" (necessary illusion ซึ่งกลายเป็นชื่อหนังสืออีกเล่มหนึ่งของชอมสกี) โดยให้นักสร้างมายาคติของรัฐเป็นผู้สร้างขึ้นมา เพื่อควบคุมสามัญชนไม่ให้แตกแถวออกไป

           บทบาทของสื่อกระแสหลักในสังคมอเมริกัน

                 หน้าที่พื้นฐานของสื่อมวลชนกระแสหลักในสหรัฐอเมริกา คือสร้างเสียงสนับสนุนและมติมหาชนให้แก่ภาคธุรกิจเอกชนที่ครอบงำรัฐบาล นี่เป็นลักษณะเฉพาะของสังคมอเมริกัน สังคมในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน หากเราต้องการวิเคราะห์โครงสร้างทางสถาบันของสังคมใดใด สิ่งแรกที่เราต้องพิจารณาก็คือ ใครที่อยู่ในสถานะเป็นผู้กำหนดนโยบายการบริหารประเทศ
ในสหรัฐอเมริกา การตัดสินใจเกี่ยวกับการผลิต การลงทุน ทิศทางทางเศรษฐกิจ ฯลฯ อยู่ในมือของกลุ่มเครือข่ายบรรษัทใหญ่ ๆ กลุ่มธุรกิจเอกชนเหล่านี้คือผู้มีบทบาทในการตั้งคณะบริหารประเทศ และเป็นเจ้าของสื่อมวลชน

เป้าหมายในการครอบงำของสื่อ

            ประชาชนที่เป็นเป้าหมายของการครอบงำด้วยโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อปั้นแต่งมติมหาชนขึ้นมาสามารถแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มด้วยกัน
ประชากรกลุ่มแรก คือกลุ่มที่เรียกว่า "ชนชั้นทางการเมือง" (political class) คิดเป็นจำนวนประมาณ ๒๐% ของประชากรทั้งหมด ประชากรกลุ่มนี้มีการศึกษาดี มีบทบาทไม่มากก็น้อยในการตัดสินนโยบายทางการเมือง เช่น ผู้จัดการ ครู นักเขียน หมอ วิศวกร ฯลฯ และมีบทบาทในทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมในระดับหนึ่ง คนกลุ่มนี้มีความสำคัญมากและต้องปลูกฝังความคิดความเชื่อให้อย่างลึกซึ้ง

                   ประชากรกลุ่มที่สอง คือประชาชนอีกกลุ่มจำนวน ๘๐% ที่เหลือ เป็นแค่ผู้ปฏิบัติตามคำสั่ง ไม่ต้องคิด ไม่ต้องสนใจอะไรมาก และคนกลุ่มนี้เองที่มักต้องเป็นผู้จ่ายราคาเมื่อเกิดการสูญเสียทางสังคมขึ้นมา

ลัทธิที่ต้องปลูกฝังให้ชนชั้นทางการเมือง

             หัวใจสำคัญของลัทธิที่ต้องปลูกฝังให้ชนชั้นทางการเมืองก็คือ ผลประโยชน์ของบรรษัทใหญ่ ๆ คือผลประโยชน์แห่งชาติ สื่อกลางในการถ่ายทอดมายาคตินี้คือสื่อมวลชนกระแสหลักหรือสื่อมวลชนระดับชาติ เช่น หนังสือพิมพ์อย่างนิวยอร์คไทมส์, วอชิงตันโพสต์, สถานีโทรทัศน์ระดับชาติ ฯลฯ สื่อมวลชนเหล่านี้เป็นผู้กำหนดกรอบกว้าง ๆ ที่สื่อมวลชนท้องถิ่นอื่น ๆ พยายามตามอย่าง และเป็นผู้กำหนดลำดับความสำคัญของข่าวต่าง ๆ วิธี

                การปั้นแต่งมติมหาชนโดยอาศัยการเสนอข่าวของสื่อมวลชน ทำได้โดย การเลือกหัวข้อข่าว การเน้นย้ำประเด็นใดประเด็นหนึ่ง การกลั่นกรองข้อมูล และการกำหนดขอบเขตการถกเถียงให้อยู่ในกรอบบางอย่าง

              สื่อมวลชนทำเช่นนี้เพื่ออะไร อันที่จริง สื่อมวลชนก็คือธุรกิจอย่างหนึ่งที่มีผู้ขาย ผู้ซื้อ และสินค้าที่เสนอขาย เนื่องจากรายได้หลักของสื่อมวลชนมาจากโฆษณา ผู้ซื้อสินค้าของสื่อมวลชนก็คือบรรษัทธุรกิจต่าง ๆ สินค้าที่สื่อมวลชนเสนอขายก็คือผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีกำลังในการซื้อสูง ภาพของโลกที่สื่อมวลชนสร้างขึ้นมาจึงเป็นภาพที่ตอบสนองความต้องการและความพอใจของผู้ขาย ผู้ซื้อและตัวสินค้า

                  ข้อเท็จจริงที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ในสหรัฐอเมริกา ผู้ขายกับผู้ซื้อในตลาดสื่อมวลชนแทบจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน เพราะถ้าเราดูจากข้อมูลว่าใครเป็นเจ้าของสื่อมวลชน เราจะพบว่าในอเมริกามีบรรษัทสร้างภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ ๗ แห่ง, มีหนังสือพิมพ์รายวันประมาณ ๑,๘๐๐ ฉบับ, นิตยสาร ๑๑,๐๐๐ ฉบับ, สถานีวิทยุ ๑๑,๐๐๐ แห่ง, สถานีโทรทัศน์ ๒,๐๐๐ แห่ง, สำนักพิมพ์ ๒,๕๐๐ แห่ง, ทั้งหมดนี้มีบรรษัทขนาดใหญ่เพียง ๒๓ บรรษัทเป็นเจ้าของและควบคุมกิจการมากกว่า ๕๐% ของสื่อมวลชนทั้งหมด และบรรษัทเหล่านี้มักมีหุ้นส่วนหรือเป็นบรรษัทย่อยของบรรษัทที่ใหญ่กว่าอีกทีหนึ่ง

                 ในบรรดาสื่อมวลชนกระแสหลักทั้งหมด ชอมสกีเห็นว่าสื่อมวลชนที่ให้ภาพของโลกตรงตามความเป็นจริงมากที่สุดคือหนังสือพิมพ์ธุรกิจ เช่น The Financial Times เพราะกลุ่มคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องการลงทุนต้องการรู้ข้อเท็จจริงเพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง
ยังมีสื่อมวลชนอีกประเภทหนึ่งที่มีกลุ่มเป้าหมายคือประชาชน ๘๐% ที่เหลือ สื่อมวลชนแบบนี้มีไว้เพื่อให้คนไม่ต้องคิดและเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนไปทางอื่น เช่น ละครน้ำเน่า กีฬา รายการบันเทิงต่าง ๆ ฯลฯ สื่อมวลชนประเภทนี้มักลดความสามารถในการคิดของคนลง หรือทำให้คนต้องใช้สติปัญญาไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง

                  ข้อกล่าวหาว่าสื่อมวลชนคือสื่อกลางในการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐและภาคธุรกิจเอกชน สามารถพิสูจน์ได้โดยการหาตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่เป็นคู่เปรียบเทียบกันออกมา แล้วดูว่าสื่อมวลชนยอมรับกรอบทางความคิดของรัฐบาลหรือไม่อย่างไร ในภาพยนตร์เรื่อง Manufacturing Consent นี้ เลือกเอาตัวอย่างของกัมพูชาในยุคพอลพต เปรียบเทียบกับกรณีของติมอร์ตะวันออกที่ถูกอินโดนีเซียยึดครอง  การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ดำเนินอยู่ในสองประเทศมีระดับความรุนแรงพอ ๆ กัน แต่ปฏิกิริยาที่แสดงออกมาในสื่อมวลชนอเมริกันแตกต่างกันอย่างลิบลับ เนื่องจากกัมพูชาในขณะนั้นปกครองด้วยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงออกมาโจมตีเขมรแดงอย่างรุนแรง สื่อมวลชนต่างขานรับกันอย่างเกรียวกราว ในขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียถือเป็น "พรรคพวก" ของสหรัฐ มิหนำซ้ำอาวุธที่ทหารอินโดนีเซียใช้ในการสังหารหมู่ชาวติมอร์ เป็นอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐด้วย ปรากฏว่าสื่อมวลชนอเมริกันแทบไม่มีข่าวเกี่ยวกับติมอร์ตะวันออกเลย

                 ชอมสกีมักถูกสื่อมวลชนเสียดสีว่า เขาวิจารณ์แต่นโยบายต่างประเทศของสหรัฐ ในทำนองว่าเขาชอบโวยวายเกี่ยวกับความเสียหายที่สหรัฐสร้างขึ้น แต่ทำเป็นมองไม่เห็นความเลวร้ายของประเทศอื่น ชอมสกีตอบว่ามีประโยชน์อะไรหากเขาจะไปวิจารณ์ประเทศอื่น เช่น สหภาพโซเวียต "คุณต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่คาดเดาได้จากการกระทำของคุณเอง คุณไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่คาดเดาได้จากการกระทำของคนอื่น"


ภาคที่สอง จุดประเด็นโต้แย้ง

              แต่ไม่มีรัฐไหนชอบเสียงคัดค้าน ไม่มีสื่อมวลชนไหนชอบเสียงวิจารณ์ และไม่ใช่ทุกคนที่พอใจฟังคำตำหนิการดำเนินนโยบายของประเทศตน นี่คือแกนหลักของภาคสอง จุดประเด็นโต้แย้ง
ในสารคดีเรื่องนี้ เราจะได้เห็นความสัมพันธ์ที่ชอมสกีมีกับสื่อมวลชนและคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม หนังเริ่มต้นที่การวิวาทะระหว่างชอมสกีกับอดีตรัฐมนตรีกลาโหมของเนเธอร์แลนด์ เขาถูกโจมตีว่าเป็นนักทฤษฎี conspiracy theory (คือแนวความคิดที่วิเคราะห์ปัญหาสังคมว่าเกิดมาจากคนกลุ่มหนึ่งจงใจสร้างสถานการณ์ขึ้นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน เป็นวิธีการอธิบายที่ตรงกันข้ามกับการวิเคราะห์ในเชิงโครงสร้าง) ถูกนักศึกษามหาวิทยาลัยกล่าวหาว่า เขาวิจารณ์รัฐบาลอเมริกันเพียงเพราะอยากดัง ฯลฯ ในขณะที่ชอมสกีได้รับการยอมรับจากสื่อมวลชนในต่างประเทศ เขากลับถูกเพิกเฉยจากสื่อมวลชนกระแสหลักในประเทศของตนเอง หรือบางครั้งก็ถูกถากถาง เยาะเย้ย และล้อเลียนเหมือนเป็นตัวตลก

              ปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งอีกประการหนึ่งในการสื่อสารความคิดผ่านสื่อมวลชนกระแสหลักก็คือ สถานีโทรทัศน์และวิทยุในสหรัฐอเมริกามีโฆษณาคั่นเป็นระยะ ๆ คนที่ออกรายการจะต้องพูดประเด็นหนึ่ง ๆ ให้จบในช่วงระหว่างโฆษณา ซึ่งนับได้ประมาณ ๖๐๐ คำ ในสภาพการณ์เช่นนี้ เราจะพูดให้ฟังแล้วรู้เรื่องได้ก็เฉพาะการนำเสนอความคิดกระแสหลักเท่านั้น เช่น พูดว่าซัดดัม ฮุสเซนเป็นเผด็จการที่ชั่วร้าย อิรักไม่ยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของสหประชาชาติ เป็นต้น
คำพูดเช่นนี้ไม่ต้องการหลักฐานรองรับอีกต่อไป เพราะเป็นความเชื่อที่ฝังหัวคนทั่วไปอยู่แล้ว แต่ถ้าเราพูดในสิ่งที่โต้แย้งกับความคิดกระแสหลั

คำสำคัญ (Tags): #บทความ
หมายเลขบันทึก: 44676เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2006 20:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นประโยชน์มากจริงๆ แต่พอจะทราบเว็บที่มี script เป็นภาษาอังกฤษไหมคะ ถ้ามีรบกวนช่วยส่งมาทางอีเมล์ด้วยจะดีมากคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท