ความเห็นแย้งต่อประเด็น “ความเห็นของสี่องค์กรวิชาชีพ” (5-2)


เห็นว่าเป็นงานเชิงสร้างสรรค์ที่น่าจะได้นำมาเป็นแบบอย่าง ซึ่งสังคมปัญญาควรจะใช้วิธีการเยี่ยงนี้ในการแสดงความเห็นเพื่อแย้งก็ดี เห็นด้วยก็ดีในเชิงวิชาการ

ผลกระทบของความเห็นของสี่องค์กรวิชาชีพ

     จากข้อเสนอแนะของกลุ่มสี่องค์กรวิชาชีพด้านสุขภาพกล่าวอย่างชัดเจนคือ “...กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ควรพิจารณาให้มีร่าง พ.ร.บ. วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. ...และร่าง พ.ร.บ. วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. ...” และยังเสนอแนะให้กระทรวงสาธารณสุขพัฒนาความรู้ความสามารถ ตลอดจนการพัฒนาให้มีความเจริญก้าวหน้าทางราชการตามศักยภาพและขีดความสามารถ ให้กับบุคลากรสาธารณสุขซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ข้อเสนอแนะดังกล่าวมีผลกระทบไปยังบุคคลและองค์กรต่างๆในสังคม อย่างน้อยที่สุดดังนี้

กลุ่มผู้เสนอกฎหมาย
     องค์กรที่ทำหน้าที่เสนอกฎหมายทั้งสองร่างมีแกนอยู่สองกลุ่ม คือกลุ่มสมาคมอนามัย ซึ่งเสนอ ร่าง พ.ร.บ. วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. ... และทางกลุ่มสถาบันการศึกษาด้านสาธารณสุข 19 สถาบัน ที่เสนอ ร่าง พ.ร.บ. วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. ... ย่อมจะต้องได้รับกระทบโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือ กระบวนการที่จะพัฒนาการงานของตนให้เป็นวิชาชีพต่อไปนั้น ไม่ได้รับการยอมรับและไม่สนับสนุนให้มีกฎหมายวิชาชีพออกมาบังคับใช้ ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงว่า ย่อมที่จะเกิดอุปสรรคในกระบวนการนิติบัญญัติต่อไปอย่างแน่นอน

กลุ่มผู้ทำการงานด้านสาธารณสุข
     กลุ่มผู้ทำการงานด้านสาธารณสุขในทุกชื่อตำแหน่ง ทุกระดับ ทั้งในภาครัฐและเอกชน จะไม่มีกฎหมายวิชาชีพออกมาบังคับในระยะเวลาอันสั้นนี้ ประเด็นนี้ส่งผลกระทบในทางตรงคือ ความคาดหวังที่ตั้งใจไว้จะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพไม่เป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้ทำงานด้านสุขภาพด้วยกัน และความคิดเห็นที่องค์กรวิชาชีพได้สะท้อนมาในรายละเอียดนั้น สามารถกล่าวได้ว่าความคิดเห็นต่อ การทำงานด้านสาธารณสุขที่ผ่านมาเป็นเพียงกิจกรรมเพียงประการหนึ่งเท่านั้น ที่ใครก็สามารถกระทำได้ ไม่จำเป็นต้องใช้กระบวนการทางความคิดและปัญญามากนัก และเป็นกิจกรรมที่ใช้แรงกายมากกว่า มุมมองที่ให้ความเห็นอย่างชัดเจนนี้ สะท้อนถึงการมีชนชั้นและการแบ่งแยกทางการงานอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมอีกครั้งหนึ่ง ในประวัติศาสตร์การบริหารจัดการด้านกำลังคนทางสุขภาพของไทย ซึ่งผลกระทบในระยะสั้นคืออาจจะเกิดความไม่เข้าใจต่อกันและกัน และความรู้สึกว่าไม่ได้ถูกให้เกียรติต่อการทำงานที่ทำอยู่อย่างพอสมควร
     ผลกระทบในระยะยาวนั้นย่อมที่จะเกี่ยวระบบอำนาจและวัฒนธรรมการทำงานที่จะเกิดการแบ่งแยกเป็นชนชั้นนำ และชนชั้นผู้ใช้แรงงานในองค์กร เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่เกิดขึ้น แม้ว่าอาจจะมีปัญหานี้ซ่อนอยู่หรือการปะทุอยู่ข้างในมานานแล้วก็ตาม การแสดงความเห็นมาอย่างชัดเจนและเป็นทางการนี้ ก็อาจจะถึงเวลาที่จะถึงจุดแตกหักได้เร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานเป็นทีมในระบบสุขภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งจะเกิดการต่อต้านทั้งทางตรงและทางอ้อมของผู้ได้รับผลกระทบ และผลกระทบอีกด้านในเชิงการพัฒนาสายงานทั้งในเชิงการพัฒนาความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือการจัดระบบมาตรฐานการควบคุมกันเองในมวลสมาชิก หรือการพัฒนาไปสู่หลักสากลแห่งความเป็นมืออาชีพต้องสดุดหยุดลงอย่างน่าเสียดาย หรือจะมีการพัฒนาไปบ้างก็เป็นแบบขาดเอกภาพและไร้ทิศทางต่อไป

ผลกระทบต่อกระทรวงสาธารณสุข
     เป็นที่ยอมรับว่าผู้ทำการงานด้านสาธารณสุขส่วนใหญ่ทำงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข แม้ว่าจะมีส่วนหนึ่งทำงานในสังกัดอื่นบ้าง แต่กลุ่มที่รวมตัวกันได้ดีและใกล้ชิดคือกลุ่มกระทรวงสาธารณสุข และกลุ่มผู้ทำการด้านสาธารณสุขนี้ เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญๆของกระทรวงสาธารณสุขโดยเฉพาะในระดับแนวหน้าที่เป็นด่านสำคัญของการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข กำลังคนในส่วนหน้าเหล่านี้แม้ว่าไม่มีทางเลือกมากนักในสภาพปัจจุบัน แต่จะเกิดการไหลออกไปอย่างเงียบๆไปสู่หน่วยงานอื่นทั้งในภาคราชการและเอกชน ดังจะเห็นได้ว่ามีการโอนย้ายบุคลากรจำนวนหนึ่งไปสู่องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ระบบวัฒนธรรมวิชาชีพเข้มแข็งเท่าในกระทรวงสาธารณสุข และการไหลออกนี้ย่อมจะเพิ่มขึ้นด้วยแรงผลักดันทางตรงในกรณี และแรงผลักดันทางอ้อมที่เกิดจากการปฏิรูประบบสุขภาพใหม่ที่เน้นการดำเนินงานโดยองค์กรของท้องถิ่น และระบบการแยกระหว่างผู้ซื้อบริการและผู้จัดบริการโดยตรง ประเด็นหากมองในผลดี ย่อมเป็นตัวเร่งให้เกิดการลดขนาดครั้งใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขให้เร็วขึ้น แต่ในทางที่ไม่ดีกล่าวคือระบบกำลังคนด้านสุขภาพที่กระทรวงสาธารณสุขได้สะสมและสร้างความเข้มแข็งมานานก็กำลังจะล่มสลายไปอย่างน่าเสียดาย ในความเป็นจริง การพัฒนากำลังทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณมีความเข็มแข็งมาแล้วในระดับหนึ่งและเป็นที่น่าเสียดายว่าระบบที่พัฒนาไว้อย่างเข้มแข็งนี้กำลังจะถดถอยลง ซึ่งแม้ว่า สถานการณ์เช่นนี้จะเคยได้มีการคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะเกิดขึ้น แต่ประเด็นการสดุดหยุดลงของกฎหมายวิชาชีพย่อมเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลกระทบต่อประชาชน
     หลักการของกฎหมายวิชาชีพไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพใดคือการคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชน และการพัฒนาวิชาชีพนั้นๆให้เกิดประโยชน์แก่สังคมมากที่สุด ในความเป็นจริง ประชาชนมักเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการตัดสินใจของรัฐ หากสภาพการณ์ที่ยังไม่มีกฎหมายวิชาชีพด้านสาธารณสุขบังคับใช้ สวัสดิภาพและความปลอดภัยทางสุขภาพย่อมได้รับการคุ้มครองอย่างไม่สมบูรณ์ และการที่องค์กรวิชาชีพที่มีอยู่แล้วไม่พัฒนาตนเองอย่างเพียงพอทั้งในเชิงปริมาณและตุณภาพและไม่พยายามส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานและจริยธรรมแห่งวิชาชีพอย่างเพียงพอแล้ว ประชานเมื่อถึงจุดหนึ่งที่มีการรับรู้และข้อมูลข่าวสารเพียงอาจจะใช้สิทธิของตนตามกฎหมาย ต่อองค์กรที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบได้ ซึ่งปรากฎการณ์ทางการเมืองในสังคมไทยได้มีสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกถึงความเข้มแข็งและความสนใจในการพิทักษ์สิทธิของประชาชนมากขึ้น

อ่านในประเด็นต่าง ๆ จาก link ด้านล่างนี้ครับ
ปล.
บทความนี้เขียนโดยคุณสงครามชัย ลีทองดี ([email protected])

ประเด็นหลักที่หนึ่ง ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2
ประเด็นพิจารณาว่าการสาธารณสุขชุมชนหรือ การสาธารณสุขเป็นวิชาชีพหรือไม่

ประเด็นหลักที่สอง
พิจารณาว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนหรือ การสาธารณสุข ออกมาบังคับใช้หรือไม่

ประเด็นหลักที่สาม
พิจารณาว่าร่างกฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนหรือ การสาธารณสุข มีการก้าวล่วงกฎหมายวิชาชีพที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันหรือไม่

ประเด็นหลักที่สี่
การปฏิบัติงานของกลุ่มผู้เสนอร่างกฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนหรือ การสาธารณสุข ในกระทรวงสาธารณสุข

ข้อเสนอของผู้เขียน
เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน

หมายเลขบันทึก: 44622เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2006 02:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท