ความเห็นแย้งต่อประเด็น “ความเห็นของสี่องค์กรวิชาชีพ” (5-1)


เห็นว่าเป็นงานเชิงสร้างสรรค์ที่น่าจะได้นำมาเป็นแบบอย่าง ซึ่งสังคมปัญญาควรจะใช้วิธีการเยี่ยงนี้ในการแสดงความเห็นเพื่อแย้งก็ดี เห็นด้วยก็ดีในเชิงวิชาการ

ประเด็นหลักที่สี่ การปฏิบัติงานของกลุ่มผู้เสนอร่างกฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนหรือ การสาธารณสุข ในกระทรวงสาธารณสุข


     ความเห็นสี่องค์กรวิชาชีพในประเด็นหลักที่สี่นี้เป็นความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของผู้ทำการงานด้านสาธารณสุขโดยแยกเป็น 3 ประเด็นได้แก่

          ประเด็น 4.1 ให้ความเห็นว่าเป็นตำแหน่งที่ทำงานในภาคราชการตามที่มอบหมาย เมื่อพ้นตำแหน่งจากทางราชการไปแล้วไม่อาจจะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้ ความจริงแล้วความเห็นนี้ออกจะคลุมเครือไปสักหน่อย การพ้นจากราชการแล้วไม่ว่าตำแหน่งใดก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาลเภสัชกร และทันตแพทย์ เมื่อพ้นจากราชการไปแล้วก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าวได้ แม้จะมีข้อกล่าวอ้างว่าไปประกอบอาชีพอิสระหรือเอกชน ก็ขึ้นอยู่กับว่าไปประกอบอาชีพอิสระอะไร และได้ใช้ความรู้ ความสามารถอย่างที่เคยปฏิบัติหน้าที่ทางราชการหรือไม่ซึ่งก็มีความแตกต่างกัน บุคคลผู้ทำการงานด้านสาธารณสุขแม้ว่าพ้นจากหน้าที่ราชการแล้วก็สามารถใช้ความรู้ ความสามารถนั้นกับหน่วยงานอื่นหรือประกอบอาชีพอิสระได้เช่นเดียวกัน แต่ต่างกันที่บทบาทความรับผิดชอบตามองค์กรหรือบทบาทใหม่ที่ได้รับหรือเลือกที่จะปฏิบัติ และในระบบการบริหารราชการแบบใหม่ที่เป็นองค์กรมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอิสระมากขึ้นผู้ทำการงานด้านสาธารณสุขอาจจะไปประกอบอาชีพอิสระที่หลากหลายได้ตามความเชี่ยวชาญ และความถนัดของตน แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นชื่อตำแหน่งที่ตรงตามระบบราชการเรียกชื่อแต่อย่างใด ยกตัวอย่าง นายแพทย์ ก. ก่อนออกจากราชการดำรงตำแหน่ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นักบริหารระดับ 9หรือ 10 ก็แล้วแต่) เมื่อพ้นจากราชการไป สมมติว่าไปเปิดคลินิกเอกชน ก็ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ทำนองเดิมแต่กลับไปทำหน้าที่ในฐานะ ผู้มีความรู้ความชำนาญในสาขาวิชาชีพเวชกรรม หรือที่เรียกว่าแพทย์ธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น และในระบบราชการในเร็วๆนี้ ที่มีแผนจะมีการปฏิรูปประเภทและการเรียกชื่อตำแหน่งในระบบราชการใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องสามารถไปทำงานอิสระในชื่อและลักษณะงานเดิมได้ทั้งหมด

          ประเด็น 4.2 ให้ความเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ราชการที่มีการก้าวล่วงไปในขอบเขตหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพของผู้ทำการงานด้านสาธารณสุข เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการแทน เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพมีเพียงพอการทำงานแทนก็เป็นอันยุติ ประเด็นความเห็นนี้ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งและมีความจำเป็นต้องยุติโดยเร็ว เนื่องจากแต่ละวิชาชีพที่มอบให้ผู้อื่นทำงานแทนนั้นมีสภาวิชาชีพที่ควบคุมมาตรฐานของตนเองและรับประกันกับประชาชนไว้แล้วว่าจะให้บริการในวิชาชีพๆนั้นอย่างได้มาตรฐานด้วยผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ เช่นในต่างประเทศที่เจริญแล้ว ในความเป็นจริงหากสังคมไทยพัฒนาต่อไปมากขึ้น ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น จะมีคดีตัวอย่างที่องค์กรวิชาชีพบางองค์กร อาจจะถูกฟ้องร้องจากประชาชนต่อศาลปกครองว่าไม่สามารถจัดบริการที่ได้มาตรฐานตามวิชาชีพที่กำหนดไว้ในกฎหมายอย่างทั่วถึงและเพียงพอ และประเด็นการถูกรอนสิทธินี้ของประชาชนน่าที่จะใช้บังคับเอากับองค์กรวิชาชีพทุกองค์กรอย่างเสมอภาค ผู้เขียนจึงเห็นด้วยที่แต่ละวิชาชีพสมควรที่จะพัฒนาและส่งเสริมให้การจัดบริการทางวิชาชีพของตนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงรัฐต้องรับผิดชอบในการจัดบริการเหล่านี้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ การยุติบทบาทในการปฏิบัติหน้าที่แทนนับเป็นสัญญาณที่ดีที่ต้องส่งให้รัฐได้รับทราบปัญหาที่มีอยู่อย่างแท้จริง ไม่จำเป็นต้องปิดบังหรือหลบซ่อนปัญหาไว้

          ประเด็น 4.3 ให้ความเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่แทนในทางราชการไม่มีผลทำให้ผู้ทำแทนนั้นเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ ประเด็นความเห็นนี้ ผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง และการเสนอร่างกฎหมายวิชาชีพทั้งสองฉบับนั้น หากพิจารณาโดยให้ความเป็นธรรมแล้วทั้งหมดไม่มองจุดเล็กน้อยบางจุดที่สามารถปรับปรุงได้แล้ว ย่อมไม่ใช่เสนอร่างกฎหมายวิชาชีพที่ทำหน้าที่แทนผู้อื่นแต่อย่างใด เป็นการเสนอร่างกฎหมายวิชาชีพสาธารณสุขสำหรับผู้ประกอบการงานด้านสาธารณสุข บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบไม่ใช่เป็นไปเพื่อทำหน้าที่แทนผู้อื่นแต่อย่างใด

หมายเลขบันทึก: 44621เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2006 02:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท