ความสุขมวลรวมประชาชาติในประเทศลุ่มน้ำโขง:


งานวิจัยเรื่องรายจ่ายด้านสิ่งแวดล้อมพบว่าในประเทศพัฒนาแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป มลภาวะทางน้ำ ทางอากาศลดลง แต่มีการสูญเสียที่ดินไปเพื่อการสร้างถนน สร้างตึก การร่อยหรอของทรัพยากร และการเปลี่ยนแปลงด้านอากาศเพิ่มสูงขึ้น ในส่วนรายจ่ายด้านสังคม ความอยุติธรรม ครอบครัวแตกแยก และโดยเฉพาะอาชญากรรมเพิ่มขึ้นสูงมาก

รายงานสรุปการประชุม
“ความสุขมวลรวมประชาชาติในประเทศลุ่มน้ำโขง:
กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา”
10 สิงหาคม 2549
ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์  อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี 
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-----------------------------------------------------------------------------------------------------

                   การริเริ่มของเอเชียเพื่อไปสู่การบริโภคยั่งยืนและการเติบโตแบบสีเขียว
“Asian Initiatives towards Sustainable Consumption and Green Growth”

โดย Mr. Rae Kwon Chung ผู้อำนวยการ ส่วนสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา 
สํานักงานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสําหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP)

ในเกาหลีช่วงที่พัฒนาในช่วงปี 1960-70 เราไม่มีทางเลือก  มีเพียงรูปแบบเดียวของการพัฒนา  ดังนั้น คิดว่าประเทศในภูมิภาคนี้ได้รับประโยชน์จากการเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งมาทีหลังที่จะมีโอกาสพิจารณาทางเลือกในการพัฒนา

ที่ UNESCAP เป้าหมายของเรา คือ ทำอย่างไรจึงจะลดความยากจนโดยไม่สร้างภาระให้สิ่งแวดล้อม  คือ สร้างความเติบโตแบบสีเขียว  (Green GDP) อาจฟังดูง่าย  แต่มีความแตกต่างกับการพัฒนาแบบยั่งยืน  เพราะการพัฒนากว้างมาก  วัดยาก มีหลายมิติ  แต่วิธีของเราไปเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ  ดังนั้น เราจึงพยายามเน้นที่การพัฒนาแบบสีเขียว  วิธีการนี้แตกต่างจากที่อื่นคือ พูดเรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อม ที่ UNESCAP เสนอคือ เปลี่ยนวิธีหรือกระบวนทัศน์การพัฒนา  ให้เป็นการพัฒนาแบบสีเขียว  ซึ่งแนวคิดหลักของการเติบโตแบบสีเขียว  คือ การเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบนิเวศ  สองคือ การเชื่อมโยงระหว่างสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเศรษฐกิจ 

เราตั้งเป้าหมายไปที่การเงิน อุตสาหกรรม  กระทรวงพาณิชย์  อุตสาหกรรม กระทรวงการพัฒนา  ไม่ใช่กระทรวงสิ่งแวดล้อม  เพื่อให้เขาเปลี่ยนกระบวนทัศน์เรื่องการพัฒนา 

ในเอเชียแปซิฟิก  เรามีศักยภาพการรองรับทางนิเวศวิทยาต่ำมาก  ต่ำกว่าแอฟริกาเสียอีก  ขณะที่เรายังต้องเติบโตอีกมาก  เพราะสองในสามของคนจนอยู่ในภูมิภาคนี้  ดังนั้นการลดความยากจนโดยไม่ไปเบียดเบียนทรัพยากรที่มีจำกัด  เราต้องเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาเศรษฐกิจ  การควบคุมมลภาวะอย่างเดียวไม่เพียงพอ  เราต้องเน้นเรื่องการใช้สิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ 

แนวทางพื้นฐานของการเติบโตสีเขียว คือ การรวมเอาต้นทุนทางนิเวศวิทยาไปในราคาทางตลาด เช่น คนขับรถคันใหญ่ไม่ได้จ่ายต้นทุนทางนิเวศวิทยาของตนเอง  ดังนั้นต้องเพิ่มราคาค่ารถให้มากขึ้น 

ตัวอย่างที่จะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นอยู่ในภาคขนส่ง  เรามีทางรถไฟ ทางด่วน  ทางรถไฟมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจมากกว่า ในประเทศสหภาพยุโรป หรือญี่ปุ่นมีการลงทุนในการขนส่งมวลชนอย่างมาก  ไม่มีรถติด  การปล่อยก๊าซในบรรยากาศน้อย  ต่างจากเกาหลี  ที่ส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ส่วนตัว  ลงทุนในขนส่งมวลชนน้อย  ทำให้ต้นทุนด้านรถติดในเกาหลีคิดเป็น 4.4% ของจีดีพี ในญี่ปุ่น 0.79% อเมริกา 0.65% สหราชอาณาจักร 1.25% ในกรุงเทพ 6% ของการผลิตเป็นต้นทุนในเรื่องรถติด  ดังนั้นประสิทธิภาพการใช้นิเวศวิทยาในกรุงเทพต่ำมาก  นี่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ  ถ้าไม่มีการพัฒนาประสิทธิภาพทางนิเวศวิทยา  จะไม่มีประโยชน์ในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  เพราะ 6% เสียไปโดยเปล่าประโยชน์

เรื่องรูปแบบการเติบโต  ไม่ค่อยมีนักเศรษฐศาสตร์พูดถึงเท่าไร  ญี่ปุ่นมีประสิทธิภาพการเติบโตทางนิเวศมากกว่าในอเมริกา  เพราะในอเมริกาใช้พลังงาน น้ำมัน ถนน บ้าน หลังใหญ่ๆมากกว่า  ในสิงคโปร์มีประสิทธิภาพทางนิเวศค่อนข้างสูง  จีน การเติบโตของจีนเป็นเรื่องน่าสนใจมาก  รัฐบาลจีนได้เริ่มจัดประชุมเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา  มีมาตรการหกประการในการเติบโตแบบสีเขียว นี่คือกระบวนทัศน์ใหม่ของจีนในการวางแผนพัฒนา

ประเทศกำลังพัฒนารวมกันแล้วมีรถคันใหญมากกว่าในญี่ปุ่นหรือสหภาพยุโรป ในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย  ทำไมถึงมีรถคันใหญ่มากกว่าในยุโรป  นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและการพัฒนาของผู้คน

เราจะเปลี่ยนรูปแบบการเติบโตได้อย่างไร  การเติบโตถูกกำหนดโดยการผลิตและการบริโภค 
ขอเสนอในสองมิติ 
• ในกรณีการผลิต  ทุกคนที่คุยเรื่องสิ่งแวดล้อมไปเน้นเรื่องการผลิตและการควบคุมมลพิษ  แต่ไม่มีใครดูเรื่องประสิทธิภาพการผลิต
• เรื่องการบริโภค ก็มักจะไปดูเรื่องการควบคุมมลพิษ

ในกรณีญี่ปุ่น และเกาหลี เมื่อรายได้ต่อหัวมากขึ้น  พบว่ามีการลงทุนในเรื่องการควบคุมมลพิษมากขึ้น  แต่ไม่มีหลักฐานแสดงว่าประสิทธิภาพการบริโภคเพิ่มขึ้น  ในเกาหลี  แม้ว่ารายได้ต่อหัวเกินกว่า 10,000 ดอลลาร์  พบว่าประสิทธิภาพการบริโภคยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ 

เรื่องโครงสร้างพื้นฐานก็สำคัญ  โครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถใต้ดิน รถขนส่งมวลชน นอกจากนี้ยังรวมถึงโครงสร้างที่มองไม่เห็น เช่น มาตรฐานต่างๆ  ซึ่งประเทศกำลังพัฒนามากมายไม่สนใจ  โดยเฉพาะเกาหลี ในการสร้างกฎระเบียบสำคัญมาก  เราสร้างอพาตเมนต์มากมายโดยไม่มีมาตรฐาน  ทำให้เสียพลังงานไปอย่างมาก  ดังนั้น จุดเน้นใหม่ไม่ควรเน้นเรื่องผลผลิตเท่านั้นแต่ควรเน้นเรื่องเศรษฐกิจเป็นภาพรววม



 
มีตัวละครอยู่  3 ตัว คือ ผู้บริโภค  บริษัทหรือภาคเอกชน  และภาครัฐ  ซึ่งเราจะเน้นเรื่องภาครัฐ  เพราะว่าโครงสร้างพื้นฐานสร้างโดยภาครัฐ  เช่นในกรุงเทพ  รัฐต้องลงทุนอีกมากเพื่อสร้างการลงทุนในกรุงเทพ  เพื่อลดต้นทุนทางสังคมของรถติดที่กล่าวมาแล้ว  รัฐบาลสามารถผลักดันผู้ผลิตในการออกกฎระเบียบต่างๆ  นอกจากนั้นกลุ่มของประชาสังคมมีบทบาทมาก  เพราะการเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคเกี่ยวกับการเปลี่ยนวิถีชีวิต  ซึ่งรัฐยากที่จะบังคับคนให้เปลี่ยน  เราจะเปลี่ยนวิถีชีวิตได้ต้องเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตดั้งเดิม  ถ้าเราไปดูศาสนาทั้งหมด  จะเน้นเรื่องความกลมเกลียวกับธรรมชาติ  หรือเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  สามารถนำมาใช้ในการเปลี่ยนชีวิตของผู้คนได้ 

ประสิทธิภาพทางนิเวศวิทยาสำคัญมากสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจถ้าเราสามารถลดต้นทุน 6% ได้จากรถติด  เรื่องนิเวศวิทยาไม่ได้สำคัญสำหรับประเทศพัฒนาเท่านั้น  แต่ยังสำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนาด้วย   อีกอย่างคือ รูปแบบของโลกาภิวัฒน์  นำไปสู่รูปแบบการบริโภคแบบรถคันใหญ่  ซึ่งนำไปสู่การบริโภคไม่ยั่งยืน  วิถีชีวิตนี้ถ้าแพร่ไปทั่วโลก  ก็จะเปลี่ยนได้ยาก  ดังนั้นเราต้องรีบปฎิบัติการ

ทางเลือกผู้บริโภคก็สำคัญ  นอกจากนี้รูปแบบการจัดการ เช่น ในสิงคโปร์  ถ้าจะซื้อรถใหญ่  ต้องขอใบอนุญาต  ทำให้ต้นทุนการซื้อรถเพิ่มขึ้น  นี่คือการจัดการด้านอุปสงค์อุปทาน  ที่ผ่านมาเราไม่ได้คิดเรื่องต้นทุนการสร้างเขื่อนหรือภาษีพลังงาน 

มีหลายประเทศสงสัยว่าการลดการบริโภคจะไปลดการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือเปล่า  ซึ่งจริงๆไม่  แต่กลับกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพเชิงนิเวศ  เราต้องเรียนรู้ว่าการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพเชิงนิเวศไม่ได้มาจากตะวันตก  แต่มาจากวิถีชีวิตของเรามานานแล้ว  แต่เราลืมมันไป

เมื่อตะวันตกพบตะวันออกเป็นอย่างไร  วัฒนธรรมเอเชียเน้นไปที่การควบคุมกิเลสหรือการบริโภค  เมื่อความต้องการลดลง  ความสุขเพิ่มขึ้น  เพราะความสุขมาจากการบริโภคหารด้วยความต้องการ  แต่ตอนนี้  คนเอเชียกำลังกลับไปในอีกทิศทางในการเพิ่มการบริโภคและการเป็นเจ้าของวัตถุ  ขณะที่ตะวันตกกลับมาที่การควบคุมความต้องการ

ตัวชี้วัดความสุขมวลรวมประชาชาติ เช่น  ESI และ EPI, ESI วัดโดยความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมที่ประเทศเผชิญอยู่  ประเทศอย่างคองโก อินโดนีเซียมี ESI ค่อนข้างสูง  ส่วน EPI วัดประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม 

---------------------------------

 

Gross National Happiness: Concept and Operationalisation
ภาพรวมและแนวคิดเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ
คุณการ์มะ  อุระ นักวิจัยจากศูนย์ภูฐานศึกษา

ในกรุงเทพมีของเสียมากที่ไม่ได้ถูกนำกลับมาใหม่  ผลที่เกิดจากการใช้วิถีชีวิตของเรากระจายออกไปยังพื้นที่อื่น  เรามีการบริโภคมากไปในอดีต  อย่างที่ท่านภิกษุณีได้กล่าวว่าโครงสร้างที่ใหญ่กว่านั้นที่สร้างโดยรัฐบาลซึ่งถูกควบคุมโดยประชาชน  ผมเชื่อว่าความสุขเป็นไปไม่ได้ที่ปัจเจกบุคคลจะบรรลุความสุขได้หากโครงสร้างไม่ได้เอื้อ  ดังนั้นเวลาเราพูดถึงความสุข เราต้องพูดถึงโครงสร้างทางการเมืองด้วย  ต้องมีนโยบายรัฐบาล มีภาษี มีหน่วยงานที่ตัดสินใจนโยบายของดำเนินนโยบายว่าจะสร้างความสุขของปัจเจกบุคคลได้เพิ่มขึ้นอย่างไร 

พระมหากษัตริย์ของเราเป็นผู้นำเสนอแนวคิดความสุขมวลรวมประชาชาติ  แนวคิดเท่ากับเรื่องหลักการและคุณค่า  แต่ว่าเราไม่ค่อยได้พูดถึงเรื่องคุณค่าสักเท่าไรในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ทุกอย่างมีเรื่องคุณค่ากำกับอยู่ทั้งนั้น  ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าทางการตลาด ทางศาสนา  สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล  สิ่งที่บอกว่าปัจเจกบุคคลก็ยังได้รับผลกระทบจากการออกกฎระเบียบของรัฐบาล  ดังนั้น การกำหนดนโยบายสาธารณะส่งผลต่อเรื่องความสุขด้วย 

ในระหว่างการนำแนวคิดมาปฏิบัติ  มีสิ่งที่เรียกว่าเป็นตัวชี้วัด  เพื่อจะบอกว่าโลกเรากำลังดำเนินไปในแนวทางนั้นหรือไม่  เมื่อใช้ไปแล้วก็จะถูกใช้ไปในระยะเวลาหนึ่ง  นโยบายบางครั้งส่งผลต่อตัวชี้วัด  อยากให้เห็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดนี้  คือ จากแนวคิดไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร

งานของเราในภูฏานตอนนี้เน้นไปที่การพัฒนาตัวชี้วัดที่ถูกต้อง  เพราะว่าตัวชี้วัดเป็นตัวกำหนดนโยบายว่าจะถูกหรือผิด  องค์กรต่างๆสามารถติดตามพัฒนาการต่างๆได้ผ่านตัวชี้วัด  ในการนำเสนอจะพูดถึงว่าทำไมความสุขมวลรวมประชาชาติจึงสำคัญ  ความสุขมวลรวมประชาชาติคืออะไร มันเป็นเรื่องส่วนบุคคลหรือเปล่า  ความอยู่กินดีในระดับนานาชาติหรือการวิจัยเรื่องความสุขที่ผ่านมาพบอะไรบ้าง  และกระบวนทัศน์เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจมีข้อบกพร่องอย่างไร และสถานะของการวิจัยในภูฏาน

ทำไมเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติจึงสำคัญ  ความสุขที่พูดถึงเป็นความสุขของสาธารณะ  (collective happiness)  ประเด็นแรกคือ เราต้องการอยู่อย่างมีความสุข  แต่ว่าเรายังไม่สามารถพัฒนาตัวบ่งบอกที่สมบูรณ์ได้  แต่เราบอกได้บางอย่าง เช่น คนมีความสุขมีอายุยืนนาน  ข้อสอง คือ เศรษฐกิจสามารถสร้างสรรค์ค์ได้มากกว่านี้ให้คนมีความสุข  ปัจเจกบุคคลไม่มีความสุขถ้าไม่มีเอกราชของตัวเอง ไม่มีความสร้างสรรค์ การเคารพตนเอง  โลกหลังวัตถุนิยมสำคัญมากที่เราจะไปพูดถึงเรื่องการสร้างสรรค์ค์ทางศิลปะ  คนที่มีความสุขจะมีใจกว้าง เอื้ออาทร  เมื่อเรามีคนแบบนี้มากๆ  ก็จะง่ายขึ้นในการสร้างประเทศ  ท้ายสุด ผลกระทบเรื่องนิเวศวิทยา  ที่ผ่านมา  เราบริโภค ซื้อ กักตุน มากมายเพราะคิดว่ามันสำคัญ  แต่ในกระบวนการนั้นเราใช้ทรัพยากรมากมาย  ก่อให้เกิดผลกระทบ  แต่ถ้าเรามีความสุข  เราคงไม่ต้องการสินค้ามากขนาดนั้น  เราน่าจะต้องการน้อยลง  นิเวศวิทยาก็จะยั่งยืน

ปัญหาของสังคมเกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรเกินตัว  เช่น พื้นที่ที่เพียงพอสำหรับคนในการใช้ชีวิตอยู่ คือ ต้องการเพียง 1.8 เฮกเตอร์  แต่ในอเมริกาใช้ถึง  9.7  เฮกเตอร์  จีนในชนบทใช้ 1.6 เฮกเตอร์
 
อะไรคือความสุขมวลรวมประชาชาติหรือจีเอ็นเอช คือ สมบัติรวมของประชาชาติ  ที่ผ่านมาคนคิดว่าความอยู่ดีกินดีขึ้นอยู่กับการครอบครองสินค้า  แต่การวิจัยเรื่องความสุขพบว่า การบริโภคไม่นำไปสู่ความสุข  เพราะการบริโภคนั้นถูกนำไปใช้ในเชิงเปรียบเทียบกับบรรทัดฐาน  ความสุขของเราขึ้นอยู่กับการไต่บันได  ความเท่าเทียมสำคัญมากในการบรรลุความสุขแบบรวมหมู่

รัฐบาลมีส่วนอย่างมากในการให้การศึกษากับปัจเจกบุคคลให้เห็นว่าตนเองกำลังเดินไปในทางที่ผิด  ปัจเจกบุคคลไม่ได้เป็นคนตัดสินใจ  แต่เป็นบริษัทข้ามชาติที่ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายของรัฐ 

ปัจจุบัน เรากำลังตามตลาดและการผลิต  ต้องเปลี่ยนสินค้าใหม่ๆ  และสร้างอะไรใหม่ๆในสำนึกของเราตลอดเวลา ถ้าเราเปลี่ยนสำนึกได้  สิ่งต่างๆก็จะเปลี่ยนไป  นักเศรษฐกิจกำลังนำไปสู่การสร้างที่ไม่มีที่สิ้นสุด   

งานวิจัยเรื่องรายจ่ายด้านสิ่งแวดล้อมพบว่าในประเทศพัฒนาแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป มลภาวะทางน้ำ ทางอากาศลดลง  แต่มีการสูญเสียที่ดินไปเพื่อการสร้างถนน สร้างตึก การร่อยหรอของทรัพยากร  และการเปลี่ยนแปลงด้านอากาศเพิ่มสูงขึ้น  ในส่วนรายจ่ายด้านสังคม  ความอยุติธรรม ครอบครัวแตกแยก และโดยเฉพาะอาชญากรรมเพิ่มขึ้นสูงมาก

ดัชนีตัวชี้วัดแต่เดิม ไม่ให้คุณค่าการสงวนรักษา การดูแลรักษาพยายามตัวเองให้มีสุขภาพดี  ไม่ให้คุณค่าปัจจัยด้านสังคม  ตัวชี้วัดใหม่จึงสำคัญที่จะทำให้เรามีวีถีชีวิตใหม่  เพราะบอกให้เรารู้ว่าเรายังอ่อนแอตรงไหน

ผมชี้วัดที่เราใช้อยู่คือ จีดีพี  อเมริกา  มีจีดีพีมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง  แต่กลับอยู่ในตำแหน่ง 150 เมื่อใช้ตัวชี้วัด Happy Planet Index ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงตัวชี้วัดจะเป็นจุดแรกในการสะท้อนคุณค่าใหม่ๆ

ความสุขจะเกิดได้ต้องการปัจจัยสนับสนุนหลายอย่าง ทั้ง การใช้เวลา การศึกษา สาธารณสุข ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ความหลากหลายทางวัฒนธรรม หรืออาจรวมถึงวิธีการตายด้วย  ฯลฯ  ดังนั้นเราต้องมีแบบสอบถามที่จะหาปัจจัยต่างๆ  ดังนั้นตัวชี้วัดของเรามีสองส่วน  คือ ตามวัตถุ (objective) และ ตามความรู้สึก (subjective)  ถ้าผลทาง objective ดีขึ้น  แต่ subjective กลับลดลง  แสดงว่ามีปัญหา  เราต้องให้ทั้งสองอย่างพัฒนาไปพร้อมกัน

เราพยายามจะเปลี่ยนบัญชีประชาชาติ  ให้ครอบคลุมทุนทางวัฒนธรรม มนุษย์ สังคม และนิเวศวิทยา  นอกเหนือจากทุนทางเศรษฐกิจ         
 
ทีมมดงานเอฟทีเอว็อทช์จัดทำรายงานสรุปบางส่วนสำหรับคนที่พลาดโอกาสมาฟังสัมมนาเรื่องความสขุมวลรวมประชาชาติในวันนี้

คำสำคัญ (Tags): #ความสุข
หมายเลขบันทึก: 44590เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2006 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท