ตลาดนัดความรู้ "การแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยชุมชน" (พอช.- ผู้จัดการตลาด)


ตลาดนัดความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยชุมชน 24 กันยายน 2548 โรงแรมเดอะ ดีลักษณ์ เพลส คลองตัน อำนวยการโดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (มหาชน) www.codi.or.th

ถือว่าเป็นตลาดนัดความรู้ที่มีขนาดใหญ่มาก (size L)   มีคนในตลาดร่วมร้อยกว่าชีวิต  เมื่อเดินเข้ามาในตลาดครั้งนี้  ได้ความรู้สึกของความน่าสนใจในตัวสินค้า   

อย่างไรหรือ?  

ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง  คือ  พ่อค้า-แม่ค้าที่มาร่วมในตลาดนัดความรู้ครั้งนี้นั้น  มาจากทั่วสารทิศ  เท่าที่ทราบ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (มหาชน) หรือที่เราเรียกกันติดปากสั้นๆว่า พอช. เชื้อเชิญ "พื้นที่รูปธรรม" ที่มีผลงานเด่นด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สินในชุมชนตนเอง  โดยตนเองนั้น  มีจำนวนมากถึง 32 พื้นที่ (รวม 25 จังหวัด)  และแต่ละพื้นที่ก็ส่งผู้แทนมา เท่าที่เห็นไม่น้อยกว่า 4 คนต่อพื้นที่ (ประมาณการจากที่สังเกต)   และทราบว่าก่อนที่จะเกิดเวทีครั้งนี้ขึ้นมานั้น  ก่อนหน้านี้ในบางพื้นที่  มีการจัดตลาดนัดในพื้นที่ตนเองไปบ้างแล้ว  และครั้งนี้จึงถือว่าเป็นเวทีที่ตกผลึกมาระดับหนึ่งแล้ว

ในตลาดนัดมีการจัดแสดงป้ายนิทรรศการเล็กๆของบางพื้นที่  ซึ่งได้เตรียมมาด้วย  แสดงไว้ด้านหลังห้องประชุม   จากเท่าที่ไปชมมาเห็นว่ามี  "ความรู้ปฏิบัติ"  ว่าด้วยการจัดการองค์กรการเงินชุมชุนน่าสนใจจำนวนมาก    เป็นความรู้เล็กๆที่แฝงตัวอยู่เต็มตลาดไปหมด  เป็นเทคนิคกลยุทธ์ที่คิดขึ้นมาโดยชุมชนเอง  ยกตัวอย่างเช่น    5 ครอบครัว 1 กลุ่มย่อย,  โครงการ 1 วัน 1 บาท(สำหรับสร้างวินัยการออมให้กับเด็กๆ)   โครงการ 1 หนี้  1 ครอบครัว   เหล่านี้เป็นต้น

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเวทีนี้ได้ตกผลึกมาแล้วระดับหนึ่ง  ตรงนี้แหละที่เป็นเสน่ห์ ของตลาดนัดความรู้ครั้งนี้  การตกผลึกในความหมายตรงนี้   คือ  การที่ประเด็นของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถูกค้นหาและทำให้เล็กลง    กรณีของกลุ่มเครือข่ายองค์กรชุมชนเขาตกผลึกออกมาเป็น 7 ประเด็น  ซึ่งในตลาดนัดครั้งนี้เขาเรียกมันว่า  "บันได 7 ขั้นสู่ความสำเร็จของกระบวนการแก้หนี้"

ขั้นที่ 1  การจุดประกายความคิด...จุดเปลี่ยนของกลุ่มคนและชุมชน

ขั้นที่ 2 การสำรวจข้อมูลครัวเรือนและหนี้สิน/ จัดระบบหนี้/ วิเคราะห์ข้อมูลนำไปใช้

ขั้นที่ 3 การจัดระบบกลุ่มย่อยระดับครอบครัว

ขั้นที่ 4 การจัดการกลุ่มใหญ่ระดับชุมชน

ขั้นที่ 5 การจัดการระบบการออม/ สินเชื่อ/ สวัสดิการ

ขั้นที่ 6 การทำบัญชีครัวเรือน/ แผนพัฒนาครอบครัวและกลุ่ม

ขั้นที่ 7 การสร้างอาชีพและรายได้

การแลกเปลี่ยนซื้อ-ขายสินค้า (ความรู้) ระหว่างองค์กรชุมชนในตลาดครั้งนี้ จึงดูเหมือนว่าถูกจัดวางไว้เป็นอย่างดี   รู้ว่าหากต้องการความรู้อะไร ประเภทใด จะต้องไปหาที่ไหน  มีใครขายความรู้เหล่านั้นบ้าง    ส่วนตัวผมเองตัดสินใจเลือกอยู่นาน  ว่าจะไปชอปปิ้ง ที่กลุ่มไหนดี  เพราะแต่ละกลุ่มน่าสนใจไปเสียทั้งหมด    ครั้นจะวนไปวนมา  ก็คงจะไม่ดีแน่เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมามันจะไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน   สุดท้ายเลยต้องเข้าไปร่วมกลุ่ม  ซึ่งแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่อง การสร้างอาชีพและรายได้   เนื่องจากเห็นว่ากลุ่มนี้มีคนน้อยที่สุดเท่าที่สำรวจดูคร่าวๆ (ประมาณ 17 คน)  และอย่างน้อยที่สุดจะมีช่วงนำเสนอผลงานของทุกกลุ่มในช่วงท้าย  เลยหวังลึกๆว่าคงพอจะได้เห็นภาพความรู้ของกลุ่มอื่นๆได้จากช่วงนี้แหละ  ถึงแม้จะไม่ได้เข้าร่วมก็ตาม

การแบ่งกลุ่มย่อยนั้น  ถูกกำหนดไว้เพียง 6 กลุ่ม   แต่ยังยึดประเด็นบันได 7 ขั้น  เป็นหลักอยู่เช่นเดิม  เพียงแต่รวมบันไดขั้นที่ 1 และ 2  เข้าด้วยกัน เป็นเรื่องการจุดประกายและการสำรวจข้อมูล   ส่วนบันไดขั้นที่ 3 และ 4 รวมเข้าเป็นกลุ่มการจัดการกลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่   ส่วนบันไดขั้นที่เหลือยังคงแยกเป็นประเด็นเดี่ยวดังเดิม    ส่วนกลุ่มสุดท้ายเพิ่มประเด็นการเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรชุมชน  รวมทั้งหมดเป็น 6 กลุ่มย่อย

ตอนที่นำเสนอผลงานกลุ่ม   ทุกกลุ่มแสดงลีลาการนำเสนอได้อย่างมีสีสรร  เนื้อหาสาระเพียบจริงๆ  ลองมาดูเนื้อหาที่ได้นะครับ

กลุ่มหนึ่ง  การจุดประกายความคิด และการสำรวจข้อมูล

พลังภายใน - เป็นเรื่องความรู้ภายในของกลุ่มเอง  กลุ่มต้องเชื่อมั่นและศรัทธาความรู้ของตัวเองก่อนเป็นพื้นฐาน   (ภูมิปัญญาเดิมที่มีในชุมชน) 

พลังภายนอก - ผลกระทบจากนโยบายของรัฐ  หรือผลทางการเมือง  การสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ  หรือนโยบายช่วยเหลือชุมชนต่างๆ

ข้อสังเกตของกลุ่มเห็นว่า  วิกฤติจะเป็นตัวกระตุ้นให้ชุมชนต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง  วิกฤติที่ว่าเช่น  ภาวะหนี้สินที่หนักหนาสาหัส  หรือปัญหาในครอบครัวบางอย่าง เป็นต้น   

ดังนั้นแนวทางแก้ไขกลุ่มเสนอว่า  ต้องมีการทำ  บัญชีครัวเรือน  สำรวจปัญหาครอบครัว   ตั้งกลุ่มย่อยดูแลกันเอง  เริ่มจากทุนเดิมที่มี   รักษาวิถีชีวิตที่ไม่ฟุ่มเฟือย  เกาะกลุ่มให้แน่นเพิ่มพลังต่อรอง   อย่างน้อยสามารถเจรจากับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของตนได้   เลือกหรือกำหนดนโยบายที่เหมาะกับการปฏิบัติในชุมชน  

กลุ่มสอง  การจัดการกลุ่มใหญ่ และกลุ่มย่อย

รูปแบบการจัดการกลุ่มย่อย (ครัวเรือน) สมาชิกเลือกกลุ่มเองโดยสมัครใจ  มีกรรมการกลุ่มย่อย  หรือหากมีฐานเดิมอยู่แล้ว เช่น  กรรมการกลุ่มอะไรก็ตามในพื้นที่ก่อนหน้านี้ ให้นำมาพิจารณาด้วย   หรือจัดกลุ่มโดยการแบ่งโซนตามสภาพพื้นที่

จำนวนสมาชิก 5 ครอบครัวต่อ 1 กลุ่มย่อย (มีครอบครัวญาติพี่น้องไม่เกิน 2  ครอบครัวต่อกลุ่ม)   

ขั้นตอนจัดการ - หาเพื่อนที่รู้ใจ  สำรวจภาวะหนี้สินของตนและแลกเปลี่ยนกับเพื่อนในกลุ่ม    ออมสัจจะออมทรัพย์  สร้างวินัยการออมร่วมกัน  หัวหน้ากลุ่มเก็บเงินออมและสินเชื่อ พร้อมทั้งกระจายข่าวให้สมาชิกกลุ่ม  ร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้   ทำบัญชีครัวเรือนและร่วมกันวิเคราะห์   สร้างกติการ่วม   ร่วมพิจารณาการขอกู้และคำประกัน

จุดแข็งระบบกลุ่มย่อย - เพิ่มความสามัคคีต่อเพื่อนบ้าน  รู้จักนิสัยเพื่อนมากขึ้น  ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  ลด ละ เลิก   เกิดการออมเพื่ออนาคต   รู้จักวิเคราะห์รายได้ - รายจ่าย   พัฒนาระบบความคิด/ ระบบการเงิน/ ระบบพัฒนาคน    ได้ฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนที่เต็มไปด้วยความอารีแบ่งปัน  เป็นต้นแบบให้กับเยาวชนรุ่นหลัง  

จุดอ่อน - ระบบบริหารไม่โปร่งใส  ถ้าสมาชิกกลุ่มฮั้วกัน   

กลุ่มสาม  การจัดระบบการออม/ สินเชื่อ/ สวัสดิการ

เข้าใจเป้าหมายการออมชัดเจน - ปลดหนี้  เป็นเงินทุนหมุนเวียน  เป็นสวัสดิการชุมชน  กองทุนเพื่อการประกอบอาชีพ  ปลูกฝังนิสัยการออม     การออม 2 ขา (หมายถึง ขาหนึ่ง ออมเพื่ออนาคต  ขาสอง ออมเพื่อเป็นสวัสดิการ)

ที่มาของเงินออม - ลดรายจ่ายจากเดิม

รูปแบบการออม - มีค่อนข้างหลากหลาย  รายวัน  รายสัปดาห์  รายเดือน  ตามกำลังความสามารถ  หรือ  แยกตามขา (ดังที่กล่าว)

กองทุนสวัสดิการชุมชน - เพื่อใช้ในเรื่องจำเป็น เกิด แก่ เจ็บ ตาย    เพื่อสาธารณะประโยชน์  เพื่อช่วยเหลือคนยากจนหรือด้อยโอกาส   กองทุนก็จะมีทั้ง  กองทุนภายในและภายนอกชุมชน

ที่สำคัญต้องให้ความสำคัญกับการ สร้างวินัยในการออมทั้งเด็กและผู้ใหญ่   สร้างนิสัยจดบันทึก  ให้เด็กได้เรียนรู้ว่าออมไปเพื่ออะไร

กลุ่มสี่  การทำบัญชีครัวเรือน/แผนพัฒนาครอบครัวและกลุ่ม

ฐานคิด - เป็นเครื่องมือให้รู้จัก/ สำรวจตนเองทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน 

กระบวนการ/วิธีการ -  ตั้งเป้าในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน   ระดับครอบครัวจดทุกอย่างที่รับจ่าย  สรุป วิเคราะห์สภาพที่เป็น  ตั้งเป้าการลด ละ เลิก   ระดับชุมชนสรุปภาพรวมสภาพหนี้สินให้เห็นเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ปัญหาทางปฏิบัติ - การจัดแยกหมวดหมู่รายการรายจ่าย  รายรับ    การวิเคราะห์หรือประมวลภาพให้เห็นปัญหาหรือสภาพที่จะต้องแก้ไข    การบันทึกเพียงเพื่อส่งรายงานหน่วยงานอื่น เช่น ธนาคาร  แหล่งทุนภายนอก

สิ่งที่เกิดขึ้น - เท่าทันสถานการณ์   รู้สภาพตัวเอง  นำไปสู่การปรับพฤติกรรมลด ละ เลิก   หนี้สินลดลง  เกิดความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านที่แนบแน่นขึ้น    ในระดับชุมชนเห็นภาพใหญ่ของชุมชน   สร้างกิจกรรมที่หลากหลายขึ้น   ส่งเสริมวิถีชีวิตแบบพอเพียง   เชื่อมโยงระดับชุมชน

กลุ่มห้า  สร้างอาชีพ  สร้างรายได้

สภาพปัญหา - ภาคีไม่เข้าใจเรื่องการทำแผนแม่บท   สภาพการปลูกพืชเชิงเดี่ยว   ราคาผลผลิตตกต่ำ  ต้นทุนการผลิตสูง   รายได้ไม่พอรายจ่าย

การปรับเปลี่ยน - บัญชีครัวเรือนเป็นกระจกเงาให้เห็นสภาพตนเองมากขึ้น   คิดจากการเรียนรู้ปัญหาร่วมกันระหว่างเพื่อน   คิดค้นสิ่งที่เหมาะสมกับพื้นที่ (สร้างความรู้ขึ้นใช้เอง) เช่น พันธุ์ข้าว  ปุ๋ยอินทรีย์      พัฒนาอาชีพและคุณภาพผลผลิต เช่น ความรู้การเก็บมังคุด เป็นต้น   

อาชีพ - คิดค้นสร้างอาชีพเสริมจากวัตถุดิบ (ทุนทางปัญญา) ที่มีในพื้นที่    ใช้หลักเกษตรหลากหลาย ปลูกทุกอย่างที่กิน  กินทุกอย่างที่ปลูก     สร้างกระบวนการกลุ่มเพื่อต่อรองทางการตลาด   เพื่อใช้แผนชุมชนต่อรองกับ อบต.

ฐานคิด - เกษตรผสมผสาน ปลูกทุกอย่างที่กินเอง  กินทุกอย่างที่ปลูกเอง     ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค  การออม     ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต   คำนึงถึงคุณภาพชีวิต/ ผลผลิต    สภาพแวดล้อมที่ดี   รักษาดิน  รักษาสัตว์ที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาสมดุลธรรมชาติ

กลุ่มหก  วางแผนสร้างเครือข่าย

ประสบการณ์ และกิจกรรมของมวลสมาชิก   - การทำบัญชีครัวเรือน  การออมให้สัมพันธ์กับการแก้หนี้   การมองหนี้ทั้งระบบ   การออมเพื่อสวสดิการ    สร้างกองทุนชุมชน    ใช้ทุนในชุมชนริเริ่มหนุนเสริม

ข้อสังเกต - ทำอย่างไรให้มองเห็นปัญหาร่วม   ขยายผลโดยเริ่มจากชุมชนที่สนใจ    งบประมาณจากชุมชนเป็นจุดเริ่มต้น   ใช้ระบบการทำแผนแม่บทชุมชน    สร้างงานในชุมชน

รูปแบบการขยายผล - จากตัวบุคคล สู่ ครอบครัว  จากครอบครัว สู่ ชุมชน  จากชุมชน สู่ ตำบล  เครือข่าย  หรือภาคีอื่นๆ

คำถามที่ทิ้งท้ายให้เวทีใหญ่ตลาดนัดความรู้ช่วยกันคิด  และทำให้เป็นจริงขึ้นมา

1. การสร้างความเชื่อมโยงของกระบวนการภายในได้อย่างไร?

2. สร้างพื้นที่เรียนรู้  จุดประกายความคิดได้อย่างไร?

 

ข้อเสนอจากเวที่

  • "เปิดท้ายขายของ"  เป็นตลาดนัดในพื้นที่ที่สามารถทำได้ง่าย (คงจะหมายตลาดนัดความรู้กลุ่มเล็กๆ  จัดขึ้นมาในรูปแบบง่ายๆ)
  • ทำ Road Map
  • เวทีประชาคม  เรียนรู้สภาพที่เป็น   หาความต้องการที่แท้จริง  กำหนดกิจกรรมที่เหมาะ
  • ผู้นำในพื้นที่รวมตัวกัน  ช่วยเหลือสมาชิก  เพิ่มพลังต่อรองทางนโยบาย
  • และ........................................

(ทีมงาน  พอช. สามารถเพิ่มเติมข้อคิดเห็นจากเวทีใหญ่เพิ่มได้นะครับ)

 

หมายเลขบันทึก: 4459เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2005 11:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 11:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท