ร่วมมือกันสู้ไข้เลือดออก


จุดประกายการมีส่วนร่วมของคนในสังคมเดียวกันไม่ว่าจะทำหน้าที่ใด ร่วมรับผิดชอบในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งเหมือนกัน ร่วมป้องกันโรคให้ลูกหลานพวกเรากันเอง

     ในวันที่ 23 กค 49 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์ กิจกรรมอย่างหนึ่งในชุมชน เป็นการรวมพลังกันระหว่าง สาธารณสุข องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และ ทหารกองทัพภาคที่ 3 เพื่อปลุกให้คนในชุมชนรับรู้ถึงภัยอันร้ายกาจของยุง (ก้นลายสลับขาวดำตัวเล็กๆ) แต่พิษสงเหลือหลาย ทำให้คนไทยต้องตายมานักต่อนักในช่วงเวลาหลายสิบปี จาก ไข้เลือดออก ที่ยุงลายเป็นพาหะนำมา ในวันนั้นพวกเรานัดรวมพลกันแต่เช้าครับที่ วัดหล่ม ตำบลวัดพริก อำเภอ เมือง จังหวัดพิษณุโลก ที่เลือกตำบลวัดพริกก็เพราะว่าเพิ่งพบผู้ป่วยด้วยไข้เลือดออกไปนอนรักษาตัวอยู่หมาดๆเลยครับ โชคดีที่เด็กไม่เป็นอะไรรุนแรงเพราะตรวจพบและรักษาได้เร็ว แต่ว่าถ้าช้าหรือไม่รู้มาก่อนล่ะครับ ความสูญเสียก็จะเกิดขึ้นแน่ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะเกิดกับคนที่เรารัก ได้แต่ภาวนาว่าขอให้เราจัดการโรคนี้ได้อย่างเด็ดขาดซะที

     ประตูทางเข้าวัดหล่มคร้บ เป็นวัดที่อาณาเขตกว้างขวางร่มรื่น เพลิดเพลินเดินชมไปก็จะพบสิ่งดีๆมากมาย

     ที่ประทับใจมากคือ ฝีมือช่างปูนปั้นของที่นี่ครับ ปั้นได้สวยจนน่าเสียดายถ้าไม่มีการอนุรักษ์รักษาไว้

     นี่คือศาลาการเปรียญที่จะใช้เป็นที่ประชุม ร่วมมือกันสู้ไข้เลือดออก

    เดินชมวัดไปเรื่อย ก็ได้ยินเสียงเจื้อยแจ้วของเด็กน้อยท่องธรรมะ มองหาจนพบต้นเสียงอยู่ในศาลาหลังน้อยนี่เองครับ พระหนุ่มรูปนี้กำลังตั้งอกตั้งใจถ่ายทอดธรรมะให้กับเยาวชนตัวเล็กๆ นี่คือสิ่งงดงามที่ผมพบในเช้าอันสดใสนี่  คิดไปไกลถึงว่า ถ้าเด็กกลุ่มนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยมีธรรมะติดตัวติดหัวใจไปตลอด พวกเค้าคงสร้างสิ่งดีๆให้เกิดกับโลกใบนี้ได้อย่างมากมาย

     อีกด้านหนึ่งของศาลาการเปรียญ เป็นที่ประดิษฐานรูปบูชาของหลวงปู่สุ่ม อดีตเจ้าอาวาส วัดหล่ม เห็นคนเข้ากราบไหว้บูชาตั้งแต่เช้าไม่ขาดสายเลยครับ แสดงว่าคนวัดพริก ศรัทธาหลวงปู่สุ่มอยู่ไม่น้อย

      ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องทั้ง สมาชิกสภาจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ นายก อบต. อสม. ทหารจากกองทัพภาคที่ 3 ผู้ช่วยสาธารณสุขจังหวัด หมอจากโรงพยาบาลพุทธชินราช (นั่นคือผมเองมาร่วมชมกิจกรรมกับเค้าด้วย) รวมทั้งพี่ๆน้องๆ ชาววัดพริก และ เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยโซนนี้หลายๆแห่ง(วังน้ำคู้ เสาหิน วัดพริก) มาร่วมมือกันสู้ไข้เลือดออกกันอย่างพร้อมเพรียงครับ

     สาธารณสุขอำเภอเมือง สมาชิกสภาจังหวัด และนายทหารจากกองทัพภาค 3 สามหน่วยร่วมแรงร่วมใจ

     ทีมงาน ที่เป็นแกนนำปฏิบัติการครั้งนี้ ทั้งส่วนของท้องถิ่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลพุทธชินราช ร่วมมือกันเต็มที่ครับ

     ท่านสาธารณสุขอำเภอเมือง คุณทองพูล บริยัง กล่าวถึงการจัดกิจกรรมครั้งนี้ และความรุนแรงของไข้เลือดออกในเขต อำเภอเมืองของเรา พร้อมทั้งขอความร่วมมือในการกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลาย

     คุณทองพูล แต้สมบัติ ผู้ช่วยสาธารณสุขจังหวัด ไปไหนไปกัน กิจกรรมในชุมชนเจอกันทุกงานครับ

     ทั้งสองท่านที่นั่งโซฟาเป็นตัวแทนส่วนท้องถิ่น พี่ผู้หญิงเป็นสมาชิกสภาจังหวัด พี่ผู้ชายเป็น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวัดพริก ท่านสองท่านยืนยันสนับสนุนร่วมสู้ไข้เลือดออกเต็มที่

     บุคคลสำคัญของงาน คืออาสาสมัครสาธารณสุข ประชาชน และ ทหารจากกองทัพภาคที่ 3 ร่วมงานกันอย่างพร้อมเพรียง

     ท่านกำนันคำรณ ใจรักษ์ กำนันตำบลวันพริก เป็นกำนันมา 12 ปีแล้วครับ กำนันคำรณ เป็นผู้ที่มีแนวคิดเรื่องเกษตรพอเพียงอย่างมาก พยายามผลักดันให้ลูกบ้านหันมามองแนวทาง ความเป็นอยู่อย่างพอเพียง ท่านกำนันบอกว่าไม่เคยท้อใจจะผลักดันต่อไปเรื่อยๆจนกว่าชีวิตจะหาไม่

     หลังจากเสร็จกิจกรรมในศาลาที่ใช้เป็นห้องประชุม พวกเราก็แบ่งสายออกเดินตามหมู่บ้าน โดยการนำของ อสม เพื่อตีฆ้องร้องป่าว ให้ชาววัดพริก ช่วยกันจัดการสิ่งแวดล้อม คว่ำกระโหลก กะลา ที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย

     เดินกันจนเที่ยงกว่าๆ หมดแรงข้าวต้มเมื่อตอนเช้า เหงื่อหยดเหมือนน้ำตกผ้าเช็ดหน้าห้าผืนก็ซับไม่หมด แต่ก็มีความสุขที่ได้เห็นความร่วมมือร่วมใจในการป้องกันไข้เลือดออกมหันตภัยที่คร่าชีวิตคนไทยไปนักต่อนัก ถึงแม้กิจกรรมครั้งนี้จะไม่ได้ส่งผลลัพธ์ออกมามากมาย ผมก็เชื่อว่าอย่างน้อยได้จุดประกายการมีส่วนร่วมของคนในสังคมเดียวกันไม่ว่าจะทำหน้าที่ใด ร่วมรับผิดชอบในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งเหมือนกัน ร่วมป้องกันโรคให้ลูกหลานพวกเรากันเอง ไม่ให้ยุงตัวน้อยคร่าชีวิตไปได้โดยง่าย

     การป้องกันโรคไข้เลือดออก ความจริงมันก็ไม่มากไปกว่าการ กำจัดตัวแก่ของยุงลายที่แพร่เชื้อได้ และก็ทำลายตัวอ่อนคือลูกน้ำที่ชอบอยู่ตามน้ำใสนิ่งในภาชนะที่เราทิ้งๆไว้ตามกองขยะหรือลานบ้าน กระถางใส่บัว โอ่งใส่น้ำนี่แหละครับ ผมมีคำถามกับตัวเองเสมอว่า "ทำไมมันถึงควบคุมการระบาดยากเย็นอย่างนี้หนอ?" การมาทำกิจกรรมในวันนี้ ผมได้คำตอบให้กับตัวเองอย่างหนึ่ง นั่นคือ ไม่ว่าจะตีฆ้องร้องป่าวให้เสียงดังขนาดไหน แจกทรายอะเบทซักกี่กระสอบก็ตาม ถ้าชาวชุมชนไม่ร่วมกันคนละไม้คนละมือ จัดการบริเวณบ้านตัวเองให้ปลอดแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลาย(ไม่ให้มีแหล่งน้ำขัง)  รวมถึงที่สาธารณะในชุมชน เช่น วัด โรงเรียน ด้วยแล้ว คงไม่มีโอกาสควบคุมโรคร้ายนี้ได้ ผมเชื่อว่าในประเทศนี้มีชุมชนที่เข้มแข็งอยู่มาก และคนในชุมชนนั้นเสียสละออกมาร่วมมือร่วมใจ ทำสิ่งดีๆด้วยใจสาธารณะยกระดับความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น รวมถึงป้องกันโรคร้ายเช่นไข้เลือดออกนี้ได้ ผมฝันจะเห็นชุมชนแบบนี้ที่บ้านผมบ้าง คงจะมีความสุขอย่างยิ่งยวด ... เรามาร่วมสานฝันกันนะครับ

 

 

 

    

    

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ไข้เลือดออก#srrt
หมายเลขบันทึก: 44572เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2006 16:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
    ก่อนอื่นต้องขอชมฝีมือการถ่ายรูปของ ลุงปุ๊ ก่อนนะสวยดีค่ะโดยเฉพาะรูปพวกวัด, พระ, โบราณสถาน,  โบราณวัตถุ.ในทุกป้ายที่ติดตาม (เปลี่ยนอาชีพได้ละมั้ง) 
การรณรงค์ลักษณะนี้ ถ้ามีการจัดต่อเนื่องกันไปตลอด มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรม และชื่นชมคนทำงาน รวมถึงให้กำลังใจกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และส่งเสริมกิจกรรมถึงระดับหมู่บ้าน คิดว่าน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการปลูกจิตสำนึกให้กับคนรุ่นหลังต่อไป

สามัคคีคือพลังช่วยสร้างสรรค์... เป็นอย่างนั้นจริงๆ..และจะดียิ่งขึ้น ถ้าได้ผู้นำที่ชี้แนวทางที่ดีให้

  • วันนี้ชมข่าวชุมชนแห่งหนึ่ง
  • ใช้น้ำหมักใส่แหล่งน้ำทิ้งในชุมชน
  • สิ่งที่ได้คืนมาคือลูกน้ำยุงลายค่อยๆหมดไป
  • และในน้ำมีปลาให้ชื่นชม
  • เปิดบันทึกมาอ่านพบเรื่องนี้
  • เลยเอามาแลกเปลี่ยนบอกต่อจ้า
  • คิดถึงนะ

ขอบคุณครับเจ๊ ต้องลอง ต้องลอง ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท