dararat
ดร. ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์

สภาพห้องเรียนสำหรับเด็กปฐมวัย


สภาพห้องเรียนที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย

สภาพห้องเรียนที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็ก

 

             ในโรงเรียนที่เปิดสอนชั้นอนุบาลนั้นห้องเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับเด็กเล็กๆ  ครูจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียน สิ่งสำคัญที่จะต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกคือการจะทำให้เด็กได้พัฒนาทั้งสี่ด้านคือด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม สติปัญญา และเต็มศักยภาพ แล้วจะจัดอย่างไรที่จะทำให้เด็กเกิดการพัฒนาได้ดังกล่าว การจัดห้องเรียนมีเพียงโต๊ะ เก้าอี้ เพื่อให้เด็กทำงานเหมือนเด็กโตเท่านั้นคงจะไม่ใช่ การเรียนรู้ไม่ใช่เพียงเพื่อให้เด็กเล็กได้เก่งด้านวิชาการเท่านั้น สิ่งสำคัญสำหรับการเรียนรู้ของเด็กคือความรู้เรื่องสมอง ถ้าเราเข้าใจแล้วเราสามารถจัดห้องเรียนได้เหมาะสมและสอดคล้องกับพัฒนาการ การพัฒนาสมองของเด็กวัยนี้คือ

              สมองของเด็กเล็กอยู่ในระยะที่กำลังเก็บรับประสบการณ์จากการเคลื่อนไหวร่างกายทุกส่วน และเกิดจากการสัมผัสของเด็ก โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า คือตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัสต่างๆเพื่อให้ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นส่งไปยังสมอง ประสบการณ์ที่สมองต้องได้รับในเด็กเล็ก ได้แก่  ประสบการณ์ด้านภาษา  ด้านกระบวนการคิด  ด้านศิลปะหรือกิจกรรมสร้างสรรค์   ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์  ด้านการเคลื่อนไหว  เป็นต้น ฉะนั้นครูหรือผู้เกี่ยวข้องจะต้องจัดสภาพแวดล้อมหรือห้องเรียนให้เด็กได้พัฒนาประสบการณ์ดังกล่าวข้างต้น ถ้าเรามีจุดมุ่งหมายและเป้าหมายที่ชัดเจน การจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียนไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณที่มากเกินความสามารถที่จะทำได้ ข้อเสนอแนะในการจัดห้องเรียนพอจะกล่าวได้ดังนี้

-          คำนึงถึงความสะอาดของห้องเรียน  วัสดุ อุปกรณ์และความปลอดภัยของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ

-          ป้ายนิเทศ หรือบอร์ดต่างๆที่จัดประสบการณ์ให้กับเด็กต้องมีจุดประสงค์ที่ชัดเจน ไม่ใช่จัดเพื่อความสวยงามเท่านั้น เช่น การจัดให้สัมพันธ์กับหน่วยการเรียนรู้  ติดผลงานของเด็กพร้อมชื่อเจ้าของผลงาน ติดโปสเตอร์ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ต้องการให้เด็กทำ ติดภาพกิจกรรมหรือเหตุการณ์ที่น่าประทับใจ ติดภาพกิจกรรมที่ทบทวนสิ่งที่ได้เรียนไปแล้ว

-          อุปกรณ์ของใช้ประจำตัวเด็ก จัดเตรียมให้สะดวกต่อการใช้ และเป็นระเบียบเรียบร้อย

-          ตกแต่งห้องเรียนด้วยสีสันที่กระตุ้นสมอง  ไม่ใช้สีสะท้อนแสงที่จะทำลายสายตาเด็ก

-          จัดวางเก้าอี้เป็นกลุ่มๆ เพื่อให้เด็กได้พูดคุยขณะทำกิจกรรม หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน

-          จัดมุม โต๊ะ ชั้น เพื่อจัดวางสิ่งต่างๆให้เหมาะสมกับสภาพห้องเรียน

-          จัดมุมเล่นหรือมุมประสบการณ์ต่างๆ ให้เหมาะสมกับสภาพห้องเรียน เช่น  มุมบล็อก มุมบทบาทสมมติ มุมวิทยาศาสตร์ มุมหนังสือ ฯลฯ สำหรับการจัดมุมครูปฐมวัยจะต้องคำนึงถึง ห้องเรียนควรมีมุมอย่างน้อย 3-5 มุม มีการผลัดเปลี่ยนสื่อของเล่นตามมุมที่เกิดจากความสนใจของเด็ก มีการเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการจัดมุมเล่น เพื่อให้เด็กได้เกิดความรู้สึกในความเป็นเจ้าของ อยากเรียนรู้ และครูจะต้องฝึกให้เด็กได้เรียนรู้ในข้อตกลงระหว่างการเล่นร่วมกัน การจัดเก็บอุปกรณ์  การเสริมสร้างวินัยในตนเองและวินัยภายในห้องเรียน

ฉะนั้นการพัฒนาสมองของเด็กให้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพนอกจากการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แล้ว ยังมีส่วนสัมพันธ์กับการจัดห้องเรียนดังที่กล่าวไว้แล้ว

 

หมายเลขบันทึก: 445108เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2011 00:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีค่ะ
  • ห้องเรียนสำคัญต่อเด็กมากนะคะ
  • เพราะเด็กต้องอยู่ในห้องเกือบทั้งวันที่อยู่โรงเรียน
  • แนวคิดที่อาจารย์แนะนำเป็นประโยชน์มากค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ลำดวนมากค่ะที่ได้สื่อสารกลับมาค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท