เครื่องส่องไฟรักษาเด็กแรกเกิดตัวเหลือง(Phototherapy): นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อดูแลผู้ป่วย


จากการศึกษาย้อนหลังในเด็กทารกที่มีตัวเหลือง ในปี 2546 จำนวน 13 รายและในปี 2547 จำนวน 17 ราย พบว่าลดระดับบิลิรูบินในเลือดได้ไม่น้อยกว่า 3 มก./ดล./วัน ซึ่งใกล้เคียงตามหลักทฤษฎีคือ 3-4 มก./ดล./วัน
ชื่อสิ่งประดิษฐ์ เครื่องส่องไฟรักษาเด็กแรกเกิดตัวเหลือง(Phototherapy)

ชื่อผู้ประดิษฐ์/คิดค้น

1.   นายแพทย์พิเชฐ  บัญญัติ             ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาก
2.   นายสมเกียรติ  จันต๊ะโพธิ์            หัวหน้าหน่วยซ่อมบำรุง
3.   นายอภิชาติ   รอดแสวง                หัวหน้าศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ

สถานที่ติดต่อกลับ

โรงพยาบาลบ้านตาก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก  โทรศัพท์ 0-5559-1435-6                     โทรสาร 0-5554-8066 มือถือ 0-1888-9011  e-mail address : [email protected]

หลักการเหตุผล

                ในการดูแลทารกแรกเกิด อาการตัวเหลืองจะพบได้ประมาณ ร้อยละ 25-50 ของทารกแรกเกิดทั้งหมดและมีความสำคัญรองลงมาจากปัญหาของทางเดินหายใจ อาการตัวเหลืองจะแสดงให้เห็นในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังคลอด อาการตัวเหลืองเกิดจากการมีสารบิลิรูบินสูงในกระแสเลือด ทารกจะดูตัวเหลืองเมื่อบิลิรูบินในกระแสเลือดมีระดับเกิน 5-7 มก./ดล. ในทารกที่คลอดครบกำหนดปกติจะมีบิลิรูบินไม่เกิน 12 มก./ดล.และทารกเกิดก่อนกำหนดจะมีระดับสูงสุดไม่เกิน 15 มก./ดล.  สาเหตุที่เกิดตัวเหลืองมีหลายสาเหตุเช่นเม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าปกติ  เอนไซม์บางตัวในตับน้อย  ขาดเอนไซม์บางอย่าง  ได้รับน้ำกับพลังงานน้อย เป็นต้น  บิลิรูบินที่สูงขึ้นยิ่งสูงก็จะทำให้มีตัวเหลืองมากขึ้นและมีอันตรายมากขึ้นโดยจะไปจับกับเนื้อสมองทำให้เกิดภาวะสมองพิการ มีอาการอ่อนแรง ซึม จนถึงการหยุดหายใจและตายได้  การรักษาเพื่อลดบิลิรูบินในกระแสเลือดจึงมี ความสำคัญอย่างมากในการป้องกันภาวะสมองพิการของทารก  การรักษาทารกที่มีตัวเหลืองจึงมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการลดระดับบิลิรูบินในเลือดให้ต่ำกว่าระดับที่เสี่ยงต่อการเกิดสมองพิการ โดยมีการรักษาที่นิยมใช้อยู่ 3 วิธีคือการถ่ายเปลี่ยนเลือด ใช้แสงบำบัดและใช้ยา
                ในกรณีที่ระดับบิลิรูบินยังไม่สูงถึงระดับที่ต้องถ่ายเปลี่ยนเลือด การใช้แสงบำบัดจะมีความสำคัญและปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย โดยมีหลักการว่าเมื่อบิลิรูบินที่ผิวหนังกระทบกับแสงที่มีคลื่นแสง 420-475 นาโนมิเตอร์ จะถูกเปลี่ยนเป็นสารตัวใหม่ที่ละลายน้ำได้และไม่เป็นพิษต่อเนื้อสมอง ถูกขับออกทางอุจจาระได้ ในโรงพยาบาลบ้านตากเองก็ได้ใช้เครื่องส่องเด็กตัวเหลืองทำเองมานานแล้วแต่เป็นลักษณะตู้ที่ทำด้วยเหล็กฉากที่ไม่สามารถปรับระดับได้และดูไม่น่าเชื่อถือสำหรับมารดาและญาติของผู้ป่วย รวมทั้งปรับระดับและควบคุมแสงและระยะเวลาการใช้หลอดไฟไม่ได้ หากจะซื้อใหม่ก็มีราคาค่อนข้างสูง คณะผู้ประดิษฐ์จึงได้ร่วมกันคิดค้นเครื่องส่องไฟรักษาเด็กตัวเหลืองนี้มาใช้สำหรับรักษาผู้ป่วย ดังกล่าว

วัตถุประสงค์

1.     เพื่อประดิษฐ์เครื่องมือช่วยในการรักษาผู้ป่วยทารกแรกเกิดที่มีภาวะเหลือง ลดอันตรายที่จะเกิดจากสารสีเหลืองจับทำลายเนื้อสมองจนเกิดภาวะสมองพิการ
2.     เพื่อประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องส่องไฟรักษาเด็กตัวเหลืองซึ่งมีราคาสูงในขณะที่เทคโนโลยีในการผลิตไม่ซับซ้อนมากนัก
3.     เพื่อประดิษฐ์เครื่องมือที่ใช้ส่องไฟรักษาเด็กที่ปรับระดับใช้ได้ทั้งเด็กที่นอนในเปล(คลิ๊ป)สำหรับเด็กเล็กและเด็กที่นอนอยู่บนเตียงกับมารดาได้  สามารถกำหนดระยะเวลาในการส่องไฟ อายุการใช้งานของหลอดไฟได้และดูแลทำความสะอาดหลังและก่อนใช้งานได้ง่าย

วิธีการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์

                หลักการสำคัญในการประดิษฐ์เครื่องส่องไฟรักษาเด็กตัวเหลืองเป็นการให้แสงบำบัดแบบปรกติ(Conventional phototherapy) โดยใช้คลื่นแสงที่มีความถี่ระหว่าง 400-500 นาโนเมตร โดยใช้หลอดฟลูออร์เรสเซนต์ 4-8 หลอด โดยจะใช้หลอดสีขาวล้วนหรือให้มีหลอดspecial blue light ปนสลับประมาณ 2 หลอด เพื่อเพิ่มให้มีความเข้มของคลื่นแสง 420-475 นาโนเมตรมากขึ้นและไม่รบกวนสายตาแพทย์พยาบาลมากเกินไป โดยวางอยู่เหนือตัวทารกประมาณ 30-45 เซนติเมตร มีการจดอายุการใช้งานของหลอดไฟไม่ให้เกิน 1,000 ชั่วโมง  จากแนวทางดังกล่าวทางคณะผู้คิดค้นจึงได้ออกแบบและพัฒนาเครื่องส่องไปรักษาเด็กตัวเหลือง ดังต่อไปนี้

1.  อุปกรณ์ที่ใช้

1)      HOUR METER
2)      หลอดไฟ F.18 W  BLUE LIGHT      จำนวน  4  หลอด
3)      หลอดไฟ F.18 W  DAY LIGHT        จำนวน  2  หลอด
4)      ชุดขาหลอดไฟ 18 W                       จำนวน  6  ชุด
5)      ชุดฟิล์ว หลอด 3  A 220 V.AC.        จำนวน  1  ชุด
6)      ชุดโคมสแตนเลสพร้อมฐานเคลื่อนที่  จำนวน  1  ชุด
7)      สวิทย์ไฟมีหลอดไฟโชว์การทำงาน     จำนวน  1  ชุด
8)      เออร์รีเกรต 30 A/15 ma                             จำนวน  1  ชุด

2.  งบประมาณ    ประมาณ12,000 บาท

3.  วิธีการทำงาน

1)    แผงสำหรับใส่หลอดทำด้วยเสตนเลสกว้าง 46x75 ซม.  ความสูงปรับระดับได้จาก 110-145 ซม. ชุดแผงไฟสามารถปรับเอียงทำมุมได้ 45-90 องศา มีล้อขนาด 3 นิ้ว
2)      เมื่อเสียบปลั๊ก ON สวิทย์หลอดไฟทำงานทั้ง  6  ชุด
3)    เมื่อ ON สวิทย์หลอดไฟทำงาน HOUR METER  ก็จะเริ่มนับเวลาการทำงาน  ซึ่งสามารถตรวจเช็คได้ว่าส่องไฟเด็กใช้เวลาเท่าใดเริ่มเมื่อไร
4)      หากเกิดการรัดวงจรของเครื่อง ฟิวล์หลอดก็จะตัดวงจรทั้งหมด
5)      กรณีที่มีกระแสไฟลงกราวด์  15 ma  ตัวเออร์รีเกรตจะตัดวงจรทั้งหมด ซึ่งเป็นตัวเซฟตี้ที่สำคัญของเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด

การทดสอบประสิทธิภาพสิ่งประดิษฐ์

1.     เมื่อนำไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลบ้านตากพบว่าความพึงพอใจและการยินยอมของมารดาในการรับการรักษามากขึ้น  มีความเชื่อมั่นในกระบวนการรักษาเด็กตัวเหลืองมากขึ้น  สำหรับพยาบาลที่นำไปใช้กับผู้ป่วยมีความพึงพอใจมากขึ้นเพราะใช้งานง่าย ปรับระดับได้ ตั้งเวลาได้และนับจำนวนชั่วโมงการใช้งานของหลอดไฟได้โดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องนับเองบันทึกเอง
2.     ได้นำเสนอให้กุมารแพทย์ได้ตรวจสอบและนำไปใช้ที่โรงพยาบาลทั่วไปแล้วอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้และมีความสะดวกในการใช้เพราะใช้ได้ทั้งกับคลิปเด็กและเด็กที่นอนบนเตียงผู้ป่วยกับมารดา
3.     ได้มีการวัดพลังงานแสงที่คลื่น425-475 นาโนเมตร จากหลอดไฟตรงระดับผิวทารกได้ไม่น้อยกว่า 5 ไมโครวัตต์/ตร.ซม./นาโนมิเตอร์ด้วย spectrophotometer
4.     จากการศึกษาย้อนหลังในเด็กทารกที่มีตัวเหลือง ในปี 2546 จำนวน 13 รายและในปี 2547 จำนวน 17 ราย พบว่าลดระดับบิลิรูบินในเลือดได้ไม่น้อยกว่า 3 มก./ดล./วัน ซึ่งใกล้เคียงตามหลักทฤษฎีคือ 3-4 มก./ดล./วัน
ประโยชน์และการนำไปใช้
1.       ใช้รักษาทารกแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลืองที่ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องทำการเปลี่ยนถ่ายเลือด

เอกสารอ้างอิง

1.       ประสิทธิ์  พิทยพัฒน์. การออกแบบระบบไฟฟ้า Electrical System Design. พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ: ทีซีจี พริ้นติ้ง, 2545.
2.     พิมลรัตน์  ไทยธรรมยานนท์. ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดในหนังสือการดูแลทารกแรกเกิด  พิมลรัตน์  ไทยธรรมยานนท์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ชัยเจริญ,2545. หน้า 95-105
3.     ลือชัย  ทองนิล. การออกแบบและติดตั้งระบบไฟฟ้าตามมาตรฐานของการไฟฟ้า. พิมพ์ครั้งที่ 11(ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น), 2547.
4.       ไวพจน์  ศรีธัญ. การติดตั้งไฟฟ้า1. กรุงเทพฯ : ศูนย์ส่งเสริมอาชีวะ, 2545.
5.     วิไล  ราตรีสวัสดิ์. Neonatal Hyperbilirubinemiaในหนังสือปัญหาโรคเด็กที่พบบ่อย  สุจิตรา  นิมมานนิตย์  และประมวล  สุนากร (บรรณาธิการ) พิมพ์ครั้งที่ 6  บริษัทดีไซร์ จำกัด 2532 หน้า 181-185
6.       ศุลี  บรรจงจิตร. หลักการและเทคนิคการออกแบบระบบไฟฟ้า. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2547.
7.       ศุลี  บรรจงจิตร. อุปกรณ์และการติดตั้งในระบบไฟฟ้า. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2547.
8.     อนันต์  เตชะเวช. ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดในหนังสือปัญหาที่พบบ่อยในทารกแรกเกิด การดูแลรักษา  สาธิต  โหตระกิตย์  ประพุทธ  ศิริปุณย์  และอนันต์  เตชะเวช (บรรณาธิการ) บริษัทรวมทรรศน์ จำกัด  2533  หน้า 149-158
คำสำคัญ (Tags): #kmกับนวัตกรรม
หมายเลขบันทึก: 4451เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2005 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ คุณหมอ ผมขาทราบราคา 8 หลอดครับ มีรูปให้ดูไมครับ ถ้าผมจะซื้อมาขายได้หรือไม่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท