พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการศึกษานอกระบบ


การศึกษานอกระบบ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ นั้น สภาพบ้านเมืองและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยยังอยู่ในสภาพล้าหลัง ประชาชนส่วนใหญ่ยังอัตคัตขาดแคลนในทุกด้าน เหตุที่พระองค์ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของอาณาประชาราษฎร์ จึงตัดสินพระราชหฤทัยที่จะเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทยากจน ห่างไกล และทุรกันดารเสียก่อน การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในระยะต้นรัชกาลระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๔๒๔๙๖ มีลักษณะเป็นการส่วนพระองค์ โดยทรงเยี่ยมราษฎรเพื่อทรงไต่ถามถึงความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของราษฎรอย่างใกล้ชิด ต่อมาการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนพสกนิกรทั่วทุกภาคเปรียบประดุจดั่งการสร้าง "พระคลังข้อมูลด้านการพัฒนา" ด้วยพระองค์เอง เพราะทำให้ทรงทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนนานาประการที่มวลพสกนิกรของพระองค์ประสบอยู่จนมิอาจช่วยเหลือตนเองได้ โครงการพระราชดำริที่นับได้ว่าเป็นโครงการพัฒนาชนบทโครงการแรกเกิดขึ้น ใน พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรถบูลโดเซอร์ให้หน่วยตำรวจตระเวนชายแดนค่ายนเรศวรสร้างถนนเข้าไปยังหมู่บ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้ราษฎรสามารถสัญจรไปมาและนำผลผลิตออกมาจำหน่ายยังชุมชนภายนอกได้สะดวกขึ้น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในระยะเริ่มแรกนั้นจึงเป็นโครงการที่สำคัญเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาของราษฎรเพื่อส่งเสริมให้เกิดการอยู่ดีกินดีทั้งสิ้น และโดยที่ประชาชนของพระองค์ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร จึงทรงเน้นการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทรงเริ่มศึกษาเรื่องพืช โดยการปลูกพืชบนดาดฟ้าพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และภายในสวนจิตรลดาพระราชวังดุสิต ซึ่งก็ยังทรงศึกษาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน สำหรับการศึกษาของประชาชนชาวไทยที่อยู่นอกระบบโรงเรียน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาสำหรับประชาชนที่อยู่ในชนบทเป็นอย่างมาก ทรงริเริ่มตั้ง "ศาลารวมใจ" ตามหมู่บ้านชนบทเพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นที่อ่านหนังสือ โดยพระราชทานหนังสือประเภทต่างๆ แก่ห้องสมุด "ศาลารวมใจ" นอกจากนั้นมีพระราชดำริ จัดทำโครงการพระดาบส เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ "อาศรมของพระดาบส" เป็นพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงห่วงใยประชาชนนอกระบบโรงเรียนที่พลาดโอกาสในการศึกษา เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแก่ประชาชนที่มีความรักวิชาการ ใฝ่หาความรู้ใส่ตนเองแต่ไม่สามารถหาที่เรียนได้อาจเนื่องจากการขาดแคลนทุนทรัพย์ จึงมีพระราชดำริให้การศึกษาแก่ประชาชนประเภทนี้ ให้มีลักษณะเดียวกับการศึกษาในสมัยโบราณ ที่ผู้ต้องการหาวิชาต้องดั้นด้นไปหาพระอาจารย์ ซึ่งเป็นพระดาบสมีสำนักอยู่ในป่า แล้วฝากฝังตัวเป็นศิษย์ สำหรับอาศรมของพระดาบสหรือส่วนใหญ่เรียก "โรงเรียนพระดาบส" ใช้สถานที่ของสำนักพระราชวัง ณ ๓๘๔๓๘๙ ถนนสามเสน รับสมัครผู้เรียนไม่จำกัดเพศ วัย วุฒิ ความรู้หรือฐานะ เปิดสอนครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๑๙ มีผู้เข้าศึกษาจำนวน ๖ คน หลักสูตรการเรียนใช้เวลา ๑ ปี แต่เมื่อปฏิบัติจริงๆ ใช้เวลาเพียง ๙ เดือน นักศึกษาที่เรียนสำเร็จการโรงเรียนพระดาบส มีความรู้ความสามารถประกอบอาชีพได้ตามวิชาที่ต้องการ ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาในโรงเรียนพระดาบสมีทั้งตำรวจ ทหาร พลเรือน และทหารผ่านศึกที่ทุพพลภาพ ครูผู้สอนส่วนมากเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ อาสาสมัคร โดยถือว่าการสอนวิชาความรู้ให้ศิษย์เป็นวิทยาทาน ไม่คิดค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น โรงเรียนนี้มีองคมนตรีและผู้ทรงคุณวุฒอื่นๆ เป็นผู้ดำเนินการ วิชาที่โรงเรียนเปิดสอนครั้งแรก ได้แก่ วิชาซ่อมเครื่องไฟฟ้า วิทยุติดตั้งไฟฟ้า พร้อมกับการเรียนการสอนนี้ ผู้เรียนสามารถหารายได้ในรูปสหกรณ์ด้วย  สำหรับการศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ประชาชนนอกระบบโรงเรียนนั้นได้แก่ ในขณะที่พระองค์เสด็จแปรพระราชฐานไปยังต่างจังหวัดทุกภาค เฉลี่ยภาคละ ๑ เดือนครึ่ง ระหว่างที่ทรงเยี่ยมเยียนราษฎร ไต่ถามถึงทุกข์สุข และปัญหาต่างๆ ในการดำรงชีพ แนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้คือ พระราชทานพระราชดำริในลักษณะของการแก้ไขปัญหาและพัฒนาในพื้นที่ที่ประสบกับปัญหานั้นๆ ในขณะเดียวกันก็ใช้พื้นที่นั้นๆ เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าและให้ความรู้แก่ประชาชนผู้สนใจทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะทั้งในระบบ นอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากพระราชประสงค์ที่ทรงมุ่งหวังพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎร ให้สามารถช่วยเหลือพึ่งตนเองได้ ทรงพิจารณาเห็นว่าการได้เรียนรู้และพบเห็นด้วยประสบการณ์ของตนเองนั้นเป็นวิธีการหนึ่งของการสร้างการเรียนรู้ในการพัฒนาชนบท ด้วยเหตุนี้จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยให้ทำหน้าที่เสมือน "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" เพื่อเป็นศูนย์รวมของการศึกษาค้นคว้า ทดลองวิจัยและแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และการประกอบอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศนั้นๆ และเมื่อค้นพบพิสูจน์ได้ผลแล้วก็จะนำผลที่ได้ไป "พัฒนา" สู่ราษฎรในหมู่บ้านใกล้เคียงจนกระทั่งขยายผลแผ่กระจายวงกว้างออกไปตามลำดับ

ที่มาhttp://www.onec.go.th/theking/k004.htm

หมายเลขบันทึก: 44470เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2006 14:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงมีพระเมตตาและทรงมีพระอัฉริยภาพในทุกๆด้านจริงๆ...ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ...และในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งจะตั้งใจทำงานของตนอย่างดีที่สุดเพื่อถวายแด่พระองค์ท่าน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท