การจัดการศึกษา


รูปแบบการจัดการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

               ปัญหาการจัดการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัญหาสำคัญคือ การจัดการศึกษายังไม่ทั่วถึง และไม่สอดคล้องกับความต้องการและวิถีชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น และคุณภาพการศึกษาก็ยังอยู่ในระดับต่ำ อันเนื่องมาจากการขาดเอกภาพในการบริหารจัดการศึกษา และขาดการประสานงานในแนวราบระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดการศึกษาที่อยู่ในระดับพื้นที่ ขาดแคลนครู และครูขาดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน รวมทั้งไม่สามารถระดมทรัพยากรมาใช้เพื่อการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
               ดังนั้น เพื่อให้การบริหารและการจัดการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาการศึกษาเร่งด่วนและในระยะยาว จึงควรมีการจัดรูปแบบการบริหารและการจัดการศึกษาในลักษณะพิเศษ ที่สอดคล้องกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่น และเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) โดยผู้เขียนขอนำเสนอในประเด็นต่างๆ ดังนี้

             
1. ด้านนโยบายของรัฐ

                    1.1 รัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนและต่อเนื่อง และสนับสนุนอย่างจริงจัง ทั้งด้านงบประมาณ และการมอบหมายภารกิจ ความรับผิดชอบให้หน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายได้อย่างจริงจังและทำให้เกิดความสะดวกในการติดต่อประสานงาน

                   1.2 รัฐควรมีข้อมูลที่ มีความถูกต้องและเป็นปัจจุบันอย่างเพียงพอในการกำหนดนโยบาย เพื่อให้นโยบายมีความถูกต้อง ตรงกับสภาพความเป็นจริงและความต้องการของหน่วยงานระดับปฏิบัติและท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยรัฐต้องมีการเก็บข้อมูลที่หลากหลายและครอบคลุมประชากรอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ไม่ใช้ข้อมูลที่ได้รับเพียงด้านเดียวหรือบางส่วน ไปใช้ในการกำหนดนโยบาย ซึ่งจะทำให้นโยบายไม่ถูกต้อง ส่งผลให้มีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนั้นเพียงบางกลุ่มและส่งผลกระทบต่อส่วนใหญ่ในทางตรงข้าม รวมทั้งอาจก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาวได้

                   1.3 กระทรวงศึกษาธิการควรเป็นผู้รับผิดชอบนโยบายโดยตรง ไม่ควรตั้งเป็นคณะกรรมการมารับผิดชอบ ซึ่งลักษณะของคณะกรรมการร่วมอาจมาจากหลายหน่วยงานและหลายฝ่าย อาจเกิดความเห็นที่ขัดแย้งกัน ขาดเอกภาพในการบังคับบัญชา ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายได้ ซึ่งเกิดขึ้นให้เห็นบ่อยครั้ง ในการแต่งตั้งคณะกรรมการในลักษณะนี้ และอีกประการที่สำคัญคือคณะกรรมการในลักษณะนี้มักจะไม่สามารถบังคับใช้นโยบายได้อย่างแท้จริง เนื่องจากมีกฎหมายรองรับไม่เพียงพอ ขาดอำนาจในการให้คุณให้โทษ และอาจเกิดจากที่มาของคณะกรรมการและตัวบุคคลในคณะกรรมการไม่ได้รับการยอมรับ จากบุคคลส่วนใหญ่ทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือจาก ผู้เกี่ยวข้อง อย่างจริงจัง แต่ถ้ามอบอำนาจให้มากเกินไป อาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ดังนั้น จึงควรให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง
               

2.ด้านรูปแบบการจัดการศึกษา

                ควรคงรูปแบบการจัดการศึกษาแบบเดิมไว้ต่อไป เนื่องจากรูปแบบดังกล่าวมีการพัฒนามาจากพื้นฐานของวัฒนธรรมและความต้องการของท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน ซึ่งรูปแบบที่หลากหลายดังกล่าว จะเป็นทางเลือกของผู้ที่มีความต้องการเข้ารับการศึกษาในแต่ละรูปแบบตามวัตถุประสงค์ของตนเอง แต่รัฐควรมีการดำเนินการในลักษณะดังนี้

                   2.1 สนับสนุนงบประมาณในการจัดการศึกษาของท้องถิ่นในแต่ละรูปแบบอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะรูปแบบการจัดการศึกษาที่มีเฉพาะของท้องถิ่น ได้แก่ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งจัดการเรียนการสอนสองหลักสูตรและจัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาเป็นส่วนใหญ่ การจัดการศึกษาปอเนาะและโรงเรียนตาดีกา โดยให้มีการศึกษาความต้องการและความจำเป็นในการใช้งบประมาณของการจัดการศึกษาในแต่ละรูปแบบอย่างจริงจัง เนื่องจากการศึกษาในแต่ละรูปแบบ มีลักษณะความต้องการงบประมาณแตกต่างกัน ทำให้รัฐสามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างถูกต้อง และเป็นธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาได้อย่างแท้จริง และเป็นการป้องกันไม่ให้ถูกแทรกแซงด้านงบประมาณจากภายนอกประเทศ ที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงได้ เมื่อจัดสรรงบประมาณแล้วให้มีระบบควบคุมการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพ มีการให้ความรู้ในการบริหารงบประมาณแก่สถานศึกษาอย่างถูกต้อง ติดตามผลและประเมินผลการใช้งบประมาณอย่างต่อเนื่อง
   2.2 ใช้ระบบการควบคุมคุณภาพการศึกษา โดยกำหนดมาตรฐานและตัวบ่งชี้ด้านคุณภาพการจัดการศึกษาของแต่ละรูปแบบอย่างชัดเจน ให้ครอบคลุมมาตรฐานด้านการบริหาร ด้านครูและด้านผู้เรียน วิธีการกำหนดมาตรฐานและตัวบ่งชี้ ควรได้มาจากการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้มีความสอดคล้องกับท้องถิ่นและนโยบายด้านการศึกษาและนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐ

3.ด้านหลักสูตร

                   3.1ในสถานศึกษาของรัฐและเอกชนใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลักในการเรียนวิชาสามัญ แต่ให้มีการทบทวนเนื้อหาในแต่ละกลุ่มสาระการศึกษา โดยการบูรณาการเนื้อหาหรือปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับวัฒนธรรมพื้นฐานของผู้เรียน

                   3.2 ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โรงเรียนตาดีกาและปอเนาะ ให้มีการปรับปรุง และพัฒนาหลักสูตรศาสนา โดยการมีส่วนร่วมของผู้มีความรู้ทางศาสนา นักการศึกษา และจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้หลักสูตรที่ถูกต้องตามหลักการศาสนาที่แท้จริง

   3.3 ในสถานศึกษาปอเนาะ ให้มีการเรียนการสอนทั้งวิชาสามัญตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหลักสูตรศาสนาที่ได้รับการพัฒนาแล้ว พร้อมทั้งเพิ่มเติมหลักสูตรวิชาชีพตามความต้องการของผู้เรียน

   3.4 จัดระบบหลักสูตรศาสนาให้ต่อเนื่องตามลำดับ ตั้งแต่การเรียนในระดับตาดีกาขึ้นไปให้ต่อเนื่องและสอดคล้องกับจำนวนปีที่ศึกษาในระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย

4. ด้านกระบวนการเรียนการสอน
                จัดกระบวนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตรที่ได้รับการพัฒนาและบูรณาการเนื้อหาแล้ว โดยพิจารณากระบวนการเรียนการสอนและกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและบูรณาการกิจกรรมให้ผู้เรียนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ โดยไม่มีการแยกกันอย่างชัดเจน

5.ด้านบุคลากรทางการศึกษา
    5.1 ผู้บริหารสถานศึกษาในทุกรูปแบบการจัดการศึกษา ควรได้รับการพัฒนาในด้านความรู้ทางการบริหารอย่างจริงจัง ศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างถูกต้องและยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ใช้หลักการมีส่วนร่วมในการบริหารอย่างเหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาและชุมชน

   5.2 ครูผู้สอน

         5.2.1 ครูผู้สอนศาสนาในสังกัดของเอกชน โรงเรียนตาดีกา และปอเนาะให้มีการฝึกอบรมวิชาชีพครู หรือศึกษาต่อให้มีคุณวุฒิทางการศึกษา และนำเข้าสู่ระบบบุคลากรทางการศึกษาของรัฐ

         5.2.2 ครูผู้สอนในสังกัดของรัฐทั้งที่มีอยู่เดิมและจะเข้าใหม่ ควรพัฒนาเจตคติ ที่ถูกต้องให้มีการศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง โดยการเปิดใจให้กว้างและยึดถือหลักความเป็นกลาง หลักการอยู่ร่วมอย่างสันติ และยึดถือปฏิบัติอย่างจริงจัง ทำความเข้าใจหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนที่ได้รับการปรับปรุงและบูรณาการแล้วอย่างชัดเจนก่อนทำการเรียนการสอน

                        5.2.3หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาต้องร่วมมือกันจัดระบบการพัฒนา การประเมิน บุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

                การจัดการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องให้มีความสอดคล้องกับท้องถิ่นซึ่งมีลักษณะความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานอยู่เดิม รวมทั้งตอบสนองต่อวัฒนธรรมที่แตกต่างกันด้วย ไม่จัดเพื่อตอบสนองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นชนส่วนมาก หรือส่วนน้อย เนื่องจากต่างก็มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ทุกฝ่ายต้องมีความตระหนักร่วมกัน รัฐต้องจัดการศึกษาเชิงรุก ให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงและเสมอภาค ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต อันจะส่งผลถึงความสงบสุขของสังคม และความมั่นคงของชาติในลำดับต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4446เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2005 19:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท