ความอัตโนมัติของสมอง ญาณทัศนะหรือพัฒนาการถดถอย


ชีวิตได้ติดตั้ง “การตอบสนองอย่างอัตโนมัติ” (Reflexes) ขึ้นมาเพื่อประโยชน์แก่ตัวชีวิตเอง การติดตั้งนั้นทำโดยการหุ้มเซลล์ประสาทสำคัญๆ (Mylination) ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าว ซึ่งได้ก่อให้เกิดความมั่นคงและเสถียรภาพ แต่หากมองอีกด้านหนึ่งมันก็เป็นแนวต้านทานการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน แล้วเราจะเริ่มเห็นว่าการติดตั้ง “การตอบสนองอย่างอัตโนมัติ” นั้นมีทั้งผลดีผลเสียอย่างไร กล่าวคือความเป็นอัตโนมัติทำให้มนุษย์สามารถกระทำการได้อย่างไม่ต้องคิดมาก มันให้ความฉับไวในการตอบสนองต่อเรื่องราวต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันนั้นมันก็จะไม่เปิดช่องว่างให้กับการใคร่ครวญ ตลอดจนช่องว่างหรือพื้นที่แห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างเพียงพอ


ความอัตโนมัติของสมอง
ญาณทัศนะหรือพัฒนาการถดถอย
วิศิษฐ์ วังวิญญู
เรื่องราวความเข้าใจในการทำงานของสมอง อาจจะทำให้ง่ายขึ้นพอที่เราจะสามารถจัดการ กับอารมณ์ความรู้สึกและความคิดของเราเองได้ ถ้าเราสังเกตตัวเองอย่างเนิ่นนานเพียงพอ จะพบว่ามีอยู่หลายครั้งที่เราทำอะไรไปอย่างอัตโนมัติ ในด้านหนึ่งเหมือนไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความเป็นอัตโนมัติก็ทำให้ชีวิตของเราสะดวกสบายหลายประการ ทำอย่างไรเราจึงจะเข้าใจการทำงานของสมองในสิ่งเหล่านี้ และเข้าไปเกี่ยวข้องกับมันได้ในฐานะของผู้กระทำ ไม่ใช่ในฐานะของผู้ถูกกระทำ
Reflexes and State Specifics (การตอบสนองอย่างอัตโนมัติกับสภาวะจำเพาะ)
ชีวิตได้ติดตั้ง “การตอบสนองอย่างอัตโนมัติ” (Reflexes) ขึ้นมาเพื่อประโยชน์แก่ตัวชีวิตเอง การติดตั้งนั้นทำโดยการหุ้มเซลล์ประสาทสำคัญๆ (Mylination) ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าว ซึ่งได้ก่อให้เกิดความมั่นคงและเสถียรภาพ แต่หากมองอีกด้านหนึ่งมันก็เป็นแนวต้านทานการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน แล้วเราจะเริ่มเห็นว่าการติดตั้ง “การตอบสนองอย่างอัตโนมัติ” นั้นมีทั้งผลดีผลเสียอย่างไร กล่าวคือความเป็นอัตโนมัติทำให้มนุษย์สามารถกระทำการได้อย่างไม่ต้องคิดมาก มันให้ความฉับไวในการตอบสนองต่อเรื่องราวต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันนั้นมันก็จะไม่เปิดช่องว่างให้กับการใคร่ครวญ ตลอดจนช่องว่างหรือพื้นที่แห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างเพียงพอ
ส่วนสภาวะจำเพาะ (State Specifics) มันเป็นส่วนที่เข้ามาร่วมกับการตอบสนองอย่างอัตโนมัติ ตรงที่แต่ละการตอบสนองอย่างเป็นอัตโนมัติจะมีสภาวะจำเพาะ ซึ่งจะช่วยให้เราจดจำการตอบสนองอย่างอัตโนมัติหนึ่งๆ ได้ และกลับเข้าไปใช้มันได้อีกนับครั้งไม่ถ้วน
สภาวะจำเพาะมันเป็นสีสันหรือแต้มสีที่ทำให้เราสามารถค้นหาไฟล์หรือซอฟต์แวร์นั้นๆ ได้อย่างรวดเร็ว และนำกลับมาใช้การได้อีก เหมือนบรรยากาศหรือฉากประกอบในหนังที่ทำให้เรากลับไปจดจำบทสนทนาที่เกิดขึ้นในฉากนั้นๆ ได้
แต่เวลาไปสู่สภาวะจำเพาะหนึ่งใด เราจะกลับไปสู่ความทรงจำของสมองทั้ง ๓ ชั้น บางสภาวะจำเพาะมันจะมีความกลัวของสมองชั้นต้น ร่องอารมณ์ของสมองชั้นกลาง เช่นความเกลียด และสุดท้ายคือเทปม้วนเก่า หรือความคิดของสมองชั้นนอก อันเป็นความทรงจำของความคิดที่เราคิดกับเรื่องราวนั้นๆ ทุกสภาวะจำเพาะจะมีสามระนาบของความเป็นไปในสมอง ๓ ชั้นกลับเข้ามาเสมอ
การตอบสนองอย่างอัตโนมัติแบบลบกับแบบกลาง ๆ
การตอบสนองอย่างอัตโนมัตินี้ เป็นกลไกที่สำคัญในการดำเนินชีวิตตามปกติของมนุษย์ มันช่วยย่นย่อเรื่องราวจำเจที่ต้องทำเป็นประจำ ให้ดำเนินไปได้โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะฉะนั้นการตอบสนองอย่างอัตโนมัติหลายๆ ประการ จึงเป็นอะไรกลางๆ เพียงพอกับที่ชีวิตจะดำเนินไปตามปกติ แต่การตอบสนองอย่างอัตโนมัติของอีกกลุ่มหนึ่ง จะเป็นไปในท่วงทำนองลบๆ ตั้งแต่ลบน้อยไปถึงลบมาก มันเป็นวงจรวิวัฒนาการแบบถอยหลังเข้าคลอง (devolution) คือมันไปเอาความกลัว ความวิตกกังวล ความหวาดระแวงของสมองสัตว์เลื้อยคลานมาเป็นนายใหญ่ เอา “ร่องอารมณ์” หรืออารมณ์ติดลบทั้งหลายมาเป็นนายรอง และเอาสมองซีกซ้ายแบบฉลาดแกมโกงมาเป็นผู้รับใช้ สมองซีกซ้ายจะชอบการทำงานแบบเทปม้วนเก่า คือไม่ต้องใคร่ครวญอะไร ไม่ต้องห้อยแขวนหรือรีรอ แต่จะตัดสินความ ตัดสินผู้คนไปเลย แม้เพียงแวบเดียวที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง
ถ้ามองจากจุดยืนของความเข้าใจเรื่องคลื่นสมอง ๔ ชนิด คือ เบต้า อัลฟ่า เธต้า และเดลต้า ดังที่กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้า ความเป็นอัตโนมัติเหล่านี้จะทำงานในคลื่นเธต้าเป็นหลัก คือทำงานในปริมณฑลของจิตใต้สำนึก เบต้าในจิตสำนึกจะล่วงรู้บ้างแต่เป็นไปแบบผิวเผิน หากเราได้ฝึกการตื่นรู้แบบปฎิบัติธรรมหรือแบบมณฑลแห่งพลังก็ดี คลื่นอัลฟ่าจะถูกบ่มเพาะให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อที่จิตรับรู้ในเบต้าจะเข้าไปรับรู้ว่า เราจะใช้อะไรที่เป็นอัตโนมัติอยู่บ้าง ไม่ปล่อยให้กิจกรรมอัตโนมัติดำเนินไปอย่างไม่ล่วงรู้หรือในอาการแบบครึ่งหลับครึ่งตื่น แต่ให้มันกระทำการอยู่บนพื้นที่แห่งการตื่นรู้เต็มๆ เพื่อมีโอกาส “ใคร่ครวญ” “พิจารณา” ความเหมาะสมของมัน สามารถหยุดได้ ช้าลงได้ และเปลี่ยนจากการให้เครื่องขับไปแบบอัตโนมัติ มาเป็นการขับเครื่องเอง (manual) หรือให้จิตสำนึกในคลื่นเบต้าเป็นผู้ขับเองอย่างไม่ปล่อยไปตามอัตโนมัติได้ด้วย สามารถรื้อสร้าง คือรื้อโปรแกรมอัตโนมัติเก่า เพื่อสร้างโปรแกรมอัตโนมัติใหม่ ได้อย่างตื่นรู้และไม่ตกเป็นเพียงเบี้ยล่างต่อโปรแกรมอัตโนมัติทั้งหลาย
เมื่อเป็นเช่นนี้ได้ เราอาจค่อยๆ ปรับโปรแกรมอัตโนมัติแบบลบๆ ทั้งหลาย ให้ย้ายมาเป็นกลางหรือให้เป็นบวกทีละเล็กละน้อย จนในที่สุดไม่มีโปรแกรมอัตโนมัติที่เป็นลบเหลืออยู่อีกเลย นั่นเท่ากับเป็นการจัดตั้งแบบแผนคลื่นสมองแบบตื่นรู้ (Awakening Mind) อย่างยั่งยืนขึ้นในชีวิตของเรา
สัญชาตญาณกับญาณทัศนะ
คำสองคำนี้ ไทยแปลอังกฤษ-อังกฤษแปลไทยกันอย่างวุ่นวายพอสมควรทีเดียว จึงควรให้เวลากับเรื่องภาษา และทำความเข้าใจให้ชัดเจนกับคำเหล่านี้ในระดับหนึ่งเสียก่อน
ภาษาอังกฤษอาจจะมีคำว่า instinct, intuition, insight, enlightment เป็นต้น ภาษาไทยก็มีสัญชาตญาณ, ญาณทัศนะ, รู้แจ้ง, ตรัสรู้ แต่ในที่นี้จะเน้นให้ความสำคัญกับคำไม่กี่คำที่จะนำมาใช้งาน
ในภาษาไทย สัญชาตญาณอาจจะแปลว่าความรู้ที่เกิดเองแบบไม่ต้องเรียนไม่ต้องสอน อย่างในสัตว์ เช่นลูกจระเข้เกิดมาก็ว่ายน้ำได้แล้ว ไม่ต้องสอน ซึ่งความหมายนี้จะตรงกับคำว่า instinct ของฝรั่ง
แต่ ส. ศิวรักษ์ ครูของผมก็ใช้คำว่าสัญชาตญาณนี้ในความหมายของ intuition ด้วยซึ่งก็ไม่ผิด โดย intuition แม้จะมีความหมายเหลื่อมล้ำออกมาจาก instinct อยู่บ้างแล้ว แต่ intuition มันก็อาจจะมาจากความรู้สึกลึกๆ ทางสัญชาตญาณได้ด้วย คือมาจากฐานกึ๋น หรือ gut ในภาษาฝรั่ง อันนี้จะมาตรงกับตันเถียนล่างในภาษากำลังภายในหรือมวยจีน มันเป็นความรู้สึกลึกๆ ในช่องท้องตอนล่าง ว่าเราจะเอาอย่างไรดีกับสถานการณ์บางอย่างที่เผชิญอยู่ข้างหน้า ความรู้สึกนั้นไม่ได้เกิดจากความคิดในจิตสำนึกหรือเบต้า แต่มาจากเธต้าที่ขมุกขมัว แต่แรงและสัมผัสได้
แต่ในภาษาอังกฤษ intuition ก็ไม่ได้จบลงแค่ความรู้สึกที่มาจากช่องท้องช่วงล่าง แต่อาจจะมาจากจิตไร้สำนึกที่มาจากฐานของหัวใจและฐานของหัวหรือศีรษะได้ทั้งนั้น ในความหมายเช่นนี้ intuition จะใกล้เคียงกับ “ญาณทัศนะ”ได้มากกว่า
แน่นอนญาณทัศนะจะแปลกลับไปเป็น intuition ก็ได้ insight ก็ได้ แม้ enlightment ก็ได้ โดยคำหลังอาจจะกินความไปถึงขั้นตรัสรู้ได้เลยก็ตาม
แต่ถ้าเดินตามคติท่านพุทธทาส เราไม่จำเป็นต้องประเมินจนมากความ โดยเฉพาะถ้าการประเมินนั้นเกินประสบการณ์ตรงของเรา แนวทางของเราในตอนนี้ก็ขอเดินทางสายสามัญชนเอาไว้ก่อน เอาเป็นนิพพานน้อยๆ การรู้แจ้งเล็กๆ เพื่อบ่มเพาะให้เกิดความยั่งยืนแห่งสภาวะจิตตื่นรู้ในภายหลังก็แล้วกัน
การเติบโตของสมองแบบโย้หน้าหรือโย้หลัง
มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่า เด็กที่เกิดมาจากท้องแม่ที่มีความเครียด ความกลัว วิตกกังวล สมองของเด็กจะโตด้านหลังมากกว่าด้านหน้า
คำว่า ด้านหน้า (Fore brain) และด้านหลัง (Hind brain) ก็คือบรรดาสมองดึกดำบรรพ์หรือสมองในอดีตทั้งหลาย อันได้แก่สมองสัตว์เลื้อยคลานและสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สมองในช่วงแรกๆ ของวิวัฒนาการจะเป็นสมองที่เน้นความอยู่รอด ส่วนสมองด้านหน้าคือสมองปัจจุบันและอนาคต อันได้แก่สมองชั้นนอก (Neo cortex) และสมองส่วนหน้าที่เรียกว่า Pre-frontal lobe อันเป็นวิวัฒนาการล่าสุดในมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับปัญญาอันสุขุมลุ่มลึกยิ่งขึ้น ตลอดจนญาณทัศนะ
ภาพคลาสสิกอันเป็นเรื่องเล่าของการถดถอยทางวิวัฒนาการ คือภาพที่เด็กเล็กๆ กำลังจะเดินไปคว้าแจกันคริสตัลของคุณแม่ที่โต๊ะรับแขก และคุณแม่แผดเสียง “อย่า” ขึ้นมา เด็กก็หันกลับมามองคุณแม่ แต่ยังเดินไปข้างหน้าด้วยโมเมนตัมของความอยากสำรวจโลก แต่ด้วยความที่เด็กจะพึ่งพาพ่อแม่ในฐานะเสาหลักที่จะคอยบอกว่าอะไรปลอดภัยอะไรไม่ปลอดภัย อาการหันรีหันขวางอย่างนั้นเอง ทำให้เด็กไขว่คว้าแจกันอย่างสะเปะสะปะ แล้วแจกันคริสตัลใบสวยก็แตกกระจาย พ่อหรือแม่ก็ตีลูก และลูกก็ร้องไห้ด้วยความสับสนไม่เข้าใจ
การส่งสัญญาณความไม่ปลอดภัยในสัตว์ของสัตว์ที่เป็นพ่อแม่ จะส่งให้เฉพาะเรื่องราวที่เป็น “ภัย” แก่ลูกจริงๆ แต่ในโลกของมนุษย์ มันมีเรื่องการไม่เหมาะควรทางมารยาทสังคมเข้ามาด้วย ข้อตกลงในโลกของผู้ใหญ่ที่เด็กยังไม่ได้เรียนรู้รับรู้ แต่เมื่อกระทำไปอย่างไม่เหมาะสมสอดคล้องกับกาลเวลา ตลอดจนพัฒนาการของเด็ก และกระทำต่อเด็กบ่อยๆ นั่นคือการส่งสัญญาณให้สมองด้านหลังหรือสมองในวิวัฒนาการต้นๆ กลับมาเติบโตมากกว่าสมองด้านหน้าหรือสมองในวิวัฒนาการหลังๆ มันไปสร้างการกระทำอย่างเป็นอัตโนมัติที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองจากการเข้าไปสำรวจโลก เรียนรู้โลก แต่กลับมาจมอยู่กับชุดอัตโนมัติต่างๆ ที่เดินตามกรอบ ธรรมเนียมปฏิบัติของสังคมไปวันๆ อย่างน่าเบื่อหน่ายและปราศจากแรงบันดาลใจ
เรามักจะมีคำถามแก่เด็กๆ และลูกของเราว่า “ทำไมโตป่านนี้ยังไม่รู้อีกว่าตัวเองต้องการอะไร จะเป็นอะไร?” หรือเราจะพบลูกน้องในที่ทำงานของเราทำงานไปวันๆ อย่างเฉื่อยแฉะ ไม่มีความริเริ่ม ไม่มีแรงบันดาลใจ แต่เราไม่เคยได้เรียนรู้เลยว่า การเลี้ยงลูกของเรา ระบบโรงเรียนของเรา วัฒนธรรมองค์กรของเรา ได้เข่นฆ่าความอยากสำรวจเรียนรู้โลกของทุกคนไปตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว และเราก็ได้กระทำการเช่นนั้นตลอดมาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะหวังผลพวงที่แตกต่างออกมาได้อย่างไร?
ห้วงขณะที่หลุดออกจากโปรแกรมอัตโนมัติ
ห้วงขณะที่หลุดออกจากโปรแกรมอัตโนมัติ หรือการตอบสนองอย่างเป็นอัตโนมัติทั้งหลายคืออะไร?
มันคือห้วงขณะจิตที่ตื่นรู้อยู่กับปัจจุบันขณะ มันคือจิตตื่นรู้อันมีแบบแผนของคลื่นสมองทั้ง ๔ ซึ่งในภาพกราฟฟิกของ แอนนา ไวส์ (Anna Wise) จะเป็นรูปตุ๊กตา มันคือจิตที่เป็นสมาธิ เหมาะควรแก่การงาน มันคือจิตในขณะที่เฝ้าดูอย่างเนิ่นนานต่อเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่ง และมันคือจิตที่เฝ้ารอญาณทัศนะให้ผุดพรายขึ้นมาเอง

วิศิษฐ์ วังวิญญู
แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
www.jitwiwat.org
ตีพิมพ์ใน มติชนรายวัน วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๙

คำสำคัญ (Tags): #จิตวิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 44428เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2006 09:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 13:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท