ชีวิตอินเทอร์น : ถอดบทเรียน


          วันนี้ (๑๑ ส.ค. ๒๕๔๙) ได้ไปเรียนรู้วิธีการ"ถอดบทเรียน" กับอาจารย์กาญจนา แก้วเทพ ที่ สสส. ซึ่งอยู่ที่ชั้น ๓๔ ในอาคารเดียวกันกับ สคส.นี่เอง  อาจารย์ได้กล่าวก่อนที่จะเริ่มต้นการบรรยายแบบเปิดโอกาสให้ผู้ฟังเข้ามามีส่วนร่วมร่วมว่า การถอดบทเรียนนี้เป็นกุญแจสำคัญในการทำงานของ สสส.ที่เป็นองค์กรพันธุ์ใหม่ จิตพิสัยเดือด  ที่เดือดก็เพราะ


 ๑. เป็นองค์กรที่ใช้เงินภาษีของรัฐ เช่นเดียวกับภาครัฐ
 ๒. คนทำงานมีจิตวิญญาณและประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับภาคธุรกิจ
 ๓. คนทำงานมีจิตสาธารณะ เช่นเดียวกับภาคประชาสังคม


            สสส.จึงเป็นองค์กรในระบบไตรภาค ที่ต้องทำงานประสานกับเครือข่ายมากมาย ในฐานะของผู้ให้เงินทุนสนับสนุนกิจกรรม ดังนั้นจึงมีโอกาสได้พบเห็นรูปแบบของโครงการมากมาย ที่หากมีการถอดบทเรียนก็จะทำเกิดการสะสม pattern การทำงานแบบต่างๆเก็บไว้เป็นคลังความรู้ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของ coach หรือ midfield ที่อยู่ในจุดสังเกตการณ์ที่มองเห็นทุกอย่าง


           แต่การจะถอดบทเรียนนั้น ต้องการความพร้อมของบุคคล และเงื่อนไขสนับสนุน เพราะคนที่พร้อมจะถอดบทเรียนก็เหมือนดอกไม้ที่พร้อมจะผลิบาน  หน่วยงานต้องให้เวลาที่เขาจะหยุดทบทวนในสิ่งที่ได้ทำไปแล้วด้วย
 
           อาจารย์ได้ให้ความกระจ่างว่า ระหว่างการสรุปบทเรียน และ การถอดบทเรียน นั้นมีความคล้ายกันอยู่ คือ ต่างก็เป็นการย้อนกลับไปดูสิ่งที่ผ่านไปแล้ว  และเป็นการแปลง tacit k. ออกมาเป็น explicit k. แต่ส่วนที่ต่างกันคือ


การสรุปบทเรียน

 - มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์เบื้องต้น ที่เป็นไปเพื่อการปรับปรุงงานของตน และเพื่อยกระดับความเข้าใจ และประโยชน์เบื้องกลาง ที่เป็นไปเพื่อองค์กรและหน่วยงาน 
- ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวมาขบคิด
- อาจทำเป็นส่วนตัว/ส่วนรวม

 การถอดบทเรียน

- มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์เบื้องต้น  ประโยชน์เบื้องกลาง ดังที่ได้กล่าวแล้ว  และประโยชน์เบื้องปลาย คือ การขยายผผลไปสู่สังคมที่อยู่ต่างบริบทออกไป
- ใช้แนวคิด และทฤษฎีมาเป็นเครื่องมือในการถอดบทเรียน
- ทำเป็นส่วนรวม

 

 เครื่องมือทางความคิด ที่ใช้ช่วยตั้งคำถามที่สำคัญต่อการถอดบทเรียนคือ

* Common and Difference Analysis (C & D) คือการเห็นจุดร่วม และการเห็นจุดต่าง  หากสิ่งนั้นต่างให้มองหาจุดร่วม  หากสิ่งนั้นมีจุดร่วมให้มองหาจุดต่างให้พบ

* Why and How  เป็นการมองหาฐานคิดที่อยู่ข้างหลังการกระทำ  ถามหาผลจากการกระทำ  และ อธิบายได้ว่าทำไม / อย่างไร ในทางทฤษฎี (ซึ่งต้องค่อยๆศึกษาเพิ่มเติม และฝึกใช้ให้เชี่ยวชาญ)

* ชุดคำถามเกี่ยวกับการทำกิจกรรม

  ๑. กิจกรรมนี้ทำเพื่อใคร
  ๒. ทำเพื่ออะไร (ระบุเป้าหมาย)
  ๓. ใครทำ / ทำกับใคร (ระบุชื่อผู้รับผิดชอบ)
  ๔. ใช้อะไรมาทำ (เนื้อหาของงาน)
  ๕. วิธีทำ (กระบวนการ / การดำเนินงาน)
  ๖. สิ่งที่ทำมามีความหมายอะไร (ให้แน่ใจเรื่องรูปแบบ และ เนื้อหา)
  ๗. มีวิธีการติดตามผลอย่างไร
  ๘. กิจกรรมนี้ดีต่อเป้าหมายหลักขององค์กรในด้านไหน / อย่างไร (ตามหัวปลาใหญ่ที่ตั้งไว้ -สคส.)

           แนวทางดังกล่าวนี้จะเกิดผลก็ต่อดีเมื่อ ทุกคนนำไปลองปฏิบัติกับงานของตนเท่านั้น  เพราะ "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น  สิบตาเห็นไม่เท่าหนึ่งมือคลำ" จ้า

หมายเลขบันทึก: 44371เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2006 19:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • เก็บรายละเอียดและถอดความรู้ได้เยี่ยมมาก ๆ เลยครับ
  • ขออนุญาตยืมหลักการถอดบทเรียนไปใช้บ้างนะครับ
  • ขอบคุณล่วงหน้าครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท