ตามไปดูครูพัฒนาตนเองที่โรงเรียนไผทอุดมศึกษา


ครูเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่องได้อย่างมีความสุขในองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่ทุกคนมีส่วนร่วม
ตามไปดูครูพัฒนาตนเองที่โรงเรียนไผทอุดมศึกษา (2)          การพัฒนาครู ด้วยการฝึกอบรมเป็นวิธีการที่หน่วยงาน โรงเรียนใช้มาช้านานแล้ว  เพราะถือว่าเป็นวิธีการสื่อสารให้ผู้ปฏิบัติได้รับทราบ และ เรียนรู้เทคนิคการสอนที่สอดคล้องกับหลักสูตรและนโยบายของรัฐ   ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร กระทรวงศึกษาจะใช้การอบรมให้ครูมีความพร้อมเพื่อการใช้หลักสูตรอย่างเข้าใจ    การอบรมในอดีต (ก่อนการปฏิรูปการศึกษา) รัฐเขียนโครงการจัดสรรงบประมาณให้ครูเดินทางเข้ามารับการอบรม  บ่อยครั้งที่การอบรมจะจัดในวันเปิดภาคเรียนที่ครูต้องทำการสอน จำนวนวันที่ครูจะต้องทิ้งห้องมานั่งเรียนขึ้นอยู่กับเรื่อง ว่าเป็นเรื่องใหม่หรือเก่า เช่น อบรมการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร 2521 มีสาระมาก ก็จะอบรมหลายวัน  ครูเดินทางเข้ารับการอบรมจากโรงเรียนต่าง ๆ โรงเรียนละ 2 คน 3 คน กระจายเพื่อความทั่วถึง และตามข้อจำกัดของงบประมาณ  การอบรมลักษณะนี้ พบว่า เมื่อครูกลับเข้าโรงเรียน มักขาดกำลังร่วมคิด บางคนก็เลิกทำ  ครูที่มีความตั้งใจสูง แต่อยู่ในสังคมที่ไม่สนับสนุนกัน จะทำงานด้วยความรู้สึกที่ติดขัด  การอบรมในสมัยนั้น จึงมีความสูญเปล่ามาก  ในด้านหลักสูตรการอบรม วิทยากรมีหน้าที่บอกให้รู้  ส่วนความเข้าใจที่จะนำไปใช้ สุดแล้วแต่บุคคลเหตุการณ์จากอดีตได้คลี่คลายด้วยการเรียนรู้ของผู้สนใจ  และความก้าวหน้าของวิทยาการจัดการสมัยใหม่ การอบรมจึงมีรูปแบบปรับเปลี่ยนไปที่เน้นประสิทธิภาพ หรือผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น  โรงเรียนส่งครูเข้าอบรมเป็นทีม เพื่อให้เป็นกำลังเพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน  วิทยากรมีเทคนิคการอบรมที่เน้นครูผู้เรียนเป็นสำคัญ  มีการจัดกิจกรรมตามความต้องการและลักษณะเฉพาะกลุ่มมากขึ้นเสมือนการออกแบบตัดเย็บเฉพาะตัว ไม่ใช่มีแบบเดียวใส่ทุกคนทั้งประเทศ  ครูที่เคยเข้ารับการอบรมทุกเรื่อง เริ่มกังวลกับการถูกติดตามและประเมิน  แต่อย่างไรก็ตาม การอบรมก็ยังเป็นหนทางการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนที่รัฐหรือหน่วยงานต้นสังกัดต้องจัดทำแผนรองรับในแต่ละปี  โดยเฉพาะยุคปฏิรูปการศึกษาถือว่าการพัฒนาผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้นำชุมชนและผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นยุทธศาสตร์หลักในการสร้างกลไกและเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญยิ่ง โรงเรียนไผทอุดมศึกษามีโครงการพัฒนาผู้บริหารและครูทุกปี  กำหนดหัวเรื่องที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาโรงเรียน จัดทำแผนปฏิบัติการที่เสริมงานอย่างได้จังหวะ  จัดอบรมในเวลาที่ไม่กระทบกับตารางเรียนของนักเรียน ส่วนมากจัดอบรมปฏิบัติการในช่วงปิดภาคเรียน  ถ้าเป็นกิจกรรมเสริม หรือมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ มักจัดในวันเสาร์สิ้นเดือน  ซึ่งเป็นวันที่มีการประชุมครูทั้งโรงเรียน  สรุปลักษณะการจัดอบรม มี  3 ลักษณะ  คือ  การอบรมครูทั้งโรงเรียนมุ่งให้ครูสามารถทำงานในหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นครูมีฝีมือ มีการคัดสรรหัวข้อตามความจำเป็นและเร่งด่วนเช่น เมื่อ ปีการศึกษา 2544 จัดเป็นประชุมปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ครูลงปฏิบัติการเรียนรู้กับของจริง ทำเสร็จได้ใช้จริง และนำไปปรับปรุงไปอย่างต่อเนื่อง ครูทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร  ร่วมสร้างกิจกรรมบูรณาการ  ครูใหม่เรียนรู้งานวิชาการยากๆ ไปกับการปฏิบัติเป็นทีม มีการตรวจทานแก้ไขอย่างจริงจัง  ลักษณะที่สอง  ส่งครูจำนวนหนึ่งเข้ารับการอบรมตามหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะจากสถาบันอุดมศึกษา ส่วนมากเป็นนวตกรรมทางการศึกษาที่ครูจะไปรับมาถ่ายทอดให้กับเพื่อนครู หรือนำมาสร้างงานให้เกิดในโรงเรียน เช่น การเข้าอบรมในโครงการเครือข่าย ICT เมื่อปีการศึกษา 2546  จากฐานเดิมที่ครูได้พัฒนาจากกลุ่มงานภายในโรงเรียนจนสามารถจัดการเรียนการสอนด้วย ICT อีกระดับหนึ่ง  ครูกลุ่มนี้ได้เรียนรู้จนสร้างงานสอนที่เสริมสร้างศักยภาพผู้เรียนอย่างน่าภาคภูมิใจ  ส่วนลักษณะที่สาม คือ โรงเรียนอนุญาตให้ครูลาศึกษาต่อนอกเวลา  ครูมีความตั้งใจ ทำสำเร็จแล้วหลายคน   จากบรรยากาศการทำงานไปเรียนรู้ไปของครู เป็นภาพที่สร้างความเข้มแข็งทางวิชาการให้กับผู้เรียน  ครูเกือบทุกคนทำงานเต็มที่ตามหน้าที่เพื่อมุ่งให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับนักเรียนช่วงปิดภาคเรียนที่ผ่านมา  ครูโรงเรียนไผทอุดมศึกษาก็ได้มาเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาตนตามนัดหมายอีกครั้งหนึ่ง  การนัดหมายในช่วงปิดเทอมเป็นเรื่องธรรมดา  แต่นัดหมายมากันวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ช่วงปิดเทอมนั้น น่าจะไม่ธรรมดา  แต่เมื่อนัดก็ต้องมาตามการนัดหมาย   หลังการอบรม เกือบทุกคนเขียนสะท้อนความรู้สึกไว้ในอนุทินของตนเองว่า เกิดความรู้และความรู้สึกจากการอบรมที่ไม่ธรรมดา  เป็นสิ่งที่มีความวิเศษที่จะต้องนำไปปรับใช้ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างที่เกิดกับครูเอง   ผลลัพธ์ที่กล่าวถึง เป็นความจริงไม่ใช่ความบังเอิญ  เป็นความตั้งใจของวิทยากรที่เตรียมการให้สิ่งเหล่านี้เกิดตามแผนกิจกรรมนั่นเอง   จากการสัมภาษณ์ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิราพล สินธุนาวา อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล นักสิ่งแวดล้อมที่ห่วงใยมนุษย์  วิทยากรผู้เป็นที่รักและศรัทธาของครู เล่าว่า การอบรมครั้งนี้ ใช้เทคนิคการพัฒนาองค์กรเพื่อการเรียนรู้ (Learning Organization Development) มุ่งให้คุณครูเข้าใจวิธีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มพูนผลผลิตและศักยภาพของการปฏิบัติงานครู โดยเฉพาะด้านการสอน  กิจกรรมที่คัดมาต้องการสะท้อนให้ครูทราบว่าการปฏิบัติงานภายใต้แผนงานประจำแตกต่างกับการปฏิบัติงานด้วยจิตใต้สำนึกอย่างไร  การปฏิบัติงานที่ต่อเนื่องเป็นเวลานานโดยขาดการประเมินและขาดเป้าหมายที่ชัดเจน จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานปรับตัวเพียงเพื่อให้อยู่รอดแทนที่จะสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า  การคิดนอกกรอบเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เห็นแนวทางอื่นที่จะนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน  บางสิ่งบางอย่างคนคนเดียวอาจทำได้ แต่ก็ตั้งใจเลือกกิจกรรมที่ให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้ว่าถ้าทำด้วยกันหลายคนพร้อมๆกันจะทำได้ดีกว่า   การแก้ปัญหาอาจทำได้หลายวิธี  แต่การแก้ปัญหาโดยการมีส่วนร่วม จะช่วยให้มีการพิจารณาป้องกันปัญหาด้วยการสื่อสารภายในที่ชัดเจนและการสื่อสารภายนอกที่มีประสิทธิภาพเป็นอีกปัจจัยหนึ่งถูกนำมาใช้ในการออกแบบกิจกรรมการฝึกอบรม  การสร้างความไว้วางใจและปัจจัยที่ทำให้ความไว้วางใจถูกทำลายไปมีอะไรบ้าง เป็นส่วนที่สำคัญของการอบรมวิทยากรชมครูโรงเรียนไผทฯ ว่ามีความตื่นตัวในการเรียนรู้สูง ซึ่งเป็นคุณลักษณะของครูยุคปฏิรูป ทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ และการดำรงชีพ  จากประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสร่วมปฏิบัติงานกับครูโรงเรียนไผทฯมาหลายปี พบว่าคณะครูมีศักยภาพ เรียนรู้ร่วมกันจนมีผลงานหลากหลายอย่างต่อเนื่อง  จนเกิดการซึมซับในความสำเร็จของโรงเรียน ทั้งความสำเร็จของครู  นักเรียนและโรงเรียน ล้วนเป็นดัชนีชี้วัดศักยภาพของโรงเรียนและองค์กรเป็นอย่างดี   และการพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดนิ่งของโรงเรียน จะทำให้โรงเรียนมีฐานภูมิปัญญาและองค์ความรู้ใหม่ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ในยุคปฏิรูปที่สำคัญ  คือ การขจัดความกลัว  และการปลดปล่อยตนเองให้มีอิสรภาพทางความคิด เข้าสู่โลกแห่งการเรียนรู้ตลอดเวลาและในทุกสถานที่  ที่จะนำเอากระบวนการเรียนรู้นี้ทำให้เด็กก้าวพ้นพันธนาการการคิดที่สื่อต่างๆ หยิบยื่นให้ดร. จิราพล สินธุนาวา อยากให้ครู มีความตื่นตัวในการเรียนรู้ตลอดเวลาและในทุกเรื่องเพื่อเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ กับบทเรียนและกิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนได้อย่างน่าสนใจ  ครูใช้เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันเป็นโอกาสการเรียนรู้ที่น่าติดตามและให้แง่มุมต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนในชั้นเรียน  ครูควรเป็นนักคิด  ไม่ใช่คิดตามผู้อื่นตลอดเวลา  ถ้าอยากเป็นนักคิดและเป็นอิสระในการคิดต้องลดการเฝ้าดู ติดตามและหาความเพลิดเพลินกับสื่อที่ไม่มีสาระประโยชน์ ลดจำนวนชั่วโมงของการเสพ  และเพิ่มจำนวนชั่งโมงของการคิดวินิจฉัยในแต่ละวันเพื่อเตรียมพร้อมต่อการปฏิบัติภายในชั้นเรียนที่น่าสนุกและท้าทาย  ครูต้องบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเพื่อคุณภาพชีวิตและสังคมที่ดีทั้งที่บ้านและที่ทำงานการพัฒนาครูที่โรงเรียนไผทอุดมศึกษา นับเป็นแบบอย่างของการพัฒนาอย่างมีระบบ  มีการวางแผน มีหลักสูตรที่ครูมีส่วนร่วม และมีกระบวนถ่ายทอดอย่างมืออาชีพ มีลักษณะของการบูรณาการเพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่มีความจริงจัง และต่อเนื่อง นับเป็นบทเรียนหนึ่งของ"ครูเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่องได้อย่างมีความสุขในองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่ทุกคนมีส่วนร่วม"
คำสำคัญ (Tags): #สังคมครูพัฒนา
หมายเลขบันทึก: 44336เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2006 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ด.ญธัญณิภา นามอินทร์

หนูก็เป็นนักเรียนคนหนึ่งในโรงเรียนไผทอุดมศึกษา

         ผมเคยมีโอกาสเข้ารับฟังการถ่ายทอดประสบการณ๋ในการจัดการศึกษาจากโรงเรียนไผทอุดมศึกษา  เมื่อ 5 - 6 ปีมาแล้ว

        ต้องยอมรับจากใจจริงว่า เป็นของจริง" ครับ

                        ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท