การอ่านคือชีวิต


“คุณครูมีอิทธิพลต่อการไขว่คว้าในการอ่านค่อนข้างมาก” ในความรู้สึกของดิฉัน ครูเหมือนมัคคุเทศก์ในการอ่าน

            ดิฉันเกิดมาในสภาพแวดล้อมของคนอ่านหนังสือทั้ง ๆที่ ฐานะทางบ้านยากจนมาก  แม่ซึ่งไม่เคยเข้าโรงเรียนกลับเป็นคนหนึ่งที่เป็นต้นแบบของการอ่าน ภาพการอ่านหนังสือของแม่และคนรอบข้างในวัยเด็กจำติดตา มือหนึ่งของแม่ถือหนังสืออีกมือหนึ่งป้ายน้ำมูกน้ำตา  เมื่อเด็กในวัยห้าขวบเห็นรู้สึกสงสัยยิ่ง  จึงเข้าไปถามทราบว่าแม่กำลังอ่านหนังสือเวสสันดรชาดกกัณฑ์ชูชกและกัณฑ์กุมาร  แม่สงสารกัณหา และชาลีที่ถูกชูชกทำร้าย     การอ่านของแม่จะเป็นการออกเสียงทีละคำเบา ๆ ไม่รวดเร็วนักเพราะท่านคงต้องประสมก่อน  เช่นเดียวกับยายที่อ่านนิยายจากหนังสือบางกอกเล่มเก่า ๆ ของคนข้างบ้าน  นวนิยายที่จำได้ตั้งแต่ยังอ่านหนังสือไม่ออกคือเรื่อง เชิงชายชาญ     จำได้เพราะ  พี่ ๆ ซึ่งจบแค่ ป.๔  ต่างถกเถียงกันถึงชื่อของพระเอกว่าชื่ออะไรกันแน่  ระหว่าง  อาด-อง  กับ อา-จอง   ขณะอายุ๖ ขวบ พ่อก็สอนการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียน โดยพ่อและพี่ ๆ สอนให้อ่านแบบเรียนของชั้น ป.๑  ดิฉันจึงอ่าน พ่อหลีพี่หนูหล่อ    ตาเป๊าบิดาเจ้าเป้า     และตาคำแกทำนากะเมียแก  ได้ก่อนเข้าโรงเรียน  และมีการพัฒนาความยากและความหลากเนื้อหาไปตามสภาพแวดล้อม          หนังสือเล่มแรกที่อ่านออกคงจะเป็นหนังสือแบบเรียนภาษาไทย  คือเรื่อง พ่อหลีพี่หนูหล่อ  ที่พ่อเลือกเรื่องนี้สอนก่อนคงเพราะท่านเห็นว่าเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ ป.๒- ป.๓ อ่านหนังสือตามแบบเรียนที่ครูให้อ่าน  เช่นนิทานร้อยบรรทัดที่เด็กชื่อตุ้มกับนก  บทดอกสร้อย( แมวเอ๋ยแมวเหมียว)   กาพย์พระไชยสุริยา 

 (เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน            เหมือนอย่างนางเชิญ

พระแสงสำอางข้างเคียง                      

เขาสูงฝูงหงส์ลงเรียง                            เริงร้องซ้องเสียง                 

สำเนียงน่าฟังวังเวง          

กลางไพรไก่ขันบรรเลง                      ฟังเสียงเพียงเพลง

ซอเจ้งจำเรียงเวียงวัง    ฯลฯ)   

ทุกเย็นครูให้ท่อง   ท่วงทำนอง เป็นจังหวะที่สนุกมาก  ยังจำภาพการลงเสียงกระแทกกระทั้นครั้งนั้นได้ดี  หรือจะเป็นเงาะป่า ยังจำได้ (บัดนั้น    นวลนางลำหับพิสมัย )    รู้สึกสงสารซมพลามาก       

             ป.๔ เริ่มอ่านหนังสือพิมพ์ติดตามข่าว อพอลโล่ ๑๑ ประกอบกับการชมโทรทัศน์ของคนข้างบ้าน  อ่านนิทาน  วารสารเรื่องปลาน้ำจืดชนิดต่าง ๆ ของกรมประมง  ซึ่งเพื่อนพี่สาวที่จบวิทยาลัยเกษตรและทำงานกรมประมงนำมาให้อ่าน  เกิดจินตนาการว่าวันหนึ่งจะต้องมีบ่อเลี้ยงปลาและมีปลาสวาย ปลานิล ปลายี่สก ตามข้อมูลนั้น   อ่านเพชรพระอุมา  ร้อยป่า  หล่อนเกิดมาเพื่อฆ่า ซึ่งเรียกว่า เพลินจิตต์ฉบับกระเป๋า  ที่พี่ชายอ่าน       

             ป.๕-ป.๗ เริ่มอ่าน หนังสือชาวกรุง  คุณหญิง และทานตะวัน ตามที่พี่สาวรับและคนข้างบ้านรับ  ในหนังสือชาวกรุงชอบอ่านคอลัมน์ก้างติดคอของถนัดศอ  เริ่มรู้จักชื่อนักเขียน  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมชย์  ถนัดศอ  รงษ์  วงศ์สวรรค์  ในหนังสือชาวกรุง   รู้จักลาวคำหอม   ศิราณี   วศิษฏ์  เดชกุญชร  จากหนังสือคุณหญิง   และติดนวนิยาย เรื่องหนึ่ง ที่มีพระเอกชื่อแดน หรือแคนไม่มั่นใจ เป็นนักล่าปลาบึกจากลุ่มน้ำโขงในหนังสือทานตะวันซึ่งเป็นนิตยสารที่เพิ่งออกในขณะนั้น       

              ม.ศ. ๑ ติดนวนิยายในบางกอก  นวนิยายเรื่องยาวของบุษยมาส  และเรื่องราชาธิราช   หนังสือบางกอกนั้นติดเนื่องจากพี่ชายซื้อประจำ  ติดถึงขั้นเมื่อพี่ชายไม่อยู่หุ้นกับเพื่อนคนละครึ่งคือคนละ๑บาทห้าสิบสตางค์  ซื้อมาอ่านยังถูกพี่สาวของเพื่อนซึ่งเป็นคุณครูด่าว่าไร้สาระแล้วคุณครูท่านนั้นก็ริบไปอ่านก่อนจนจบแล้วจึงคืน   ความรู้สึกขณะนั้นเหมือนจะลงแดงตาย  นิยายของบุษยมาส เรื่องแรกที่อ่านคือเรื่อง กลิ่นร่ำ  แอบรักพระเอกและสงสารนางเอกมาก จากที่เคยนั่งเรียนโต๊ะหน้ากลับไปนั่งด้านหลังสุดเพื่อที่จะได้แอบอ่านนวนิยายได้  เพราะถึงเวลากำหนดส่งแต่ดิฉันยังอ่านไม่จบ  และเมื่อคุณครูให้อ่านเรื่องราชาธิราช  ซึ่งทหารเอกคือสมิงพระราม  ครูให้อ่านทีละคน ๆ  ช่างช้าเสียจริง ๆ ขณะที่ครูให้เพื่อนอ่านดิฉันอ่านไปล่วงหน้าแล้วเพราะไม่ทันใจ   ภาพพระเอกในใจก็จะมีทั้ง พระเอกของบุษยมาส และพระเอกของราชาธิราช        

              ม.ศ.๒ ได้พัฒนาการอ่านเพิ่มปริมาณและความหลากหลายของเนื้อหามากขึ้น  ตอนนี้นวนิยายของบุษยมาสในห้องสมุดโรงเรียนและห้องสมุดประชาชนหมดแล้ว ต้องอ่านของชูวงศ์  ฉายะจินดา   และเรียนเรื่องอิเหนา  จำไม่ได้ว่าเป็นตอนใด   เมื่อครูคนสวยซึ่งเพิ่งบรรจุ ท่านน่ารักมาก  เล่าเรื่องย่อของอิเหนาได้อย่างสนุกสนาน  โดยเฉพาะตอนที่อิเหนาแอบเขียนกลอนบนกลีบดอกไม้ลอยน้ำมาหาบุษบาและสาว ๆ ที่กำลังเล่นน้ำ   การละเมอถึงบุษบาของอิเหนาที่เฝ้าจูบกอดสังคามาระตา  และพฤติกรรมที่แอบหลังองค์พระปฏิมาเพื่อหลอกบุษบายิ่งทำให้ดิฉันเคลิบเคลิ้มคิดว่าตัวเองเป็นบุษบา จนต้องยืมหนังสือเรื่องอิเหนาไปอ่านจนจบ  นั่นคือวรรณคดีร้อยกรองเรื่องแรกที่อ่านจบในเวลารวดเร็ว   นอกจากนั้นยังเริ่มอ่านหนังสือใต้ดินแล้ว  เพราะเพื่อนพี่สาวเป็นคนหัวรุนแรง  รับวารสารอาทิตย์ รึอะไรสักอย่างเป็นวารสารของกลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรง  และเรื่องสั้นของเสนีย์  เสาวพงศ์  เริ่มรู้จักพิราบขาวพิราบแดง   หิมะสีแดง รู้จัก จิตร  ภูมิศักดิ์   ชลธิชา  กลัดอยู่   ดร.ปรีดี  พนมยงค์  ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  ซึ่งท่านนี้เกี่ยวข้องกับ ธ.ก.ส.ในขณะนั้น           

              ม.ศ.๓  ความสามารถในการอ่านพัฒนาขึ้นตามลำดับ นวนิยายที่อ่านในวัยนี้เปลี่ยนไป อ่านของวลัย  นวาวะ  และของพนมเทียน เท่าที่มีในห้องสมุดประชาชน   แต่จำได้ว่าห้องสมุดสั่งซื้อมาไม่ทัน   วรรณคดีมาจากอาจารย์ที่สอนคือ คุณครูระเบียบ  เหล่านาค เป็นครูที่สอนตลกสนุกสนาน  ท่านได้ท่องเรื่องพระมะเหลเถไถ ให้ฟังและเล่าเนื้อหาให้ฟังเล็กน้อยรู้สึกสนุก จึงไปยืมมาอ่านอีกด้วยความแปลกในภาษาถึงกับท่องจำได้  มาท่องให้เพื่อนฟัง เพื่อนกลับว่าบ้า  นอกจากนั้นได้ของแถมมาโดยไม่ตั้งใจคือระเด่นลันได  คุณครูคนเดียวกันนี้ได้ ท่องบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ บท 

   อ้าอรุณแอร่มระเรื่อรุจี                    ประดุจมะโนภิรมระตี ณ แรกรัก     แสงอรุณวิโรจน์นะภาประจักษ์        แฉล้มเฉลาและโสภินัก ณ ฉันใด     หญิงและชาย ณ ยามระตีอุทัย    สว่าง ณ กลาง กะมลละไม ก็ฉันนั้น  ฯลฯ

            จาก  มัทนะพาธา  เกิดความรู้สึกไพเราะยิ่งนัก  จึงไปหาอ่านอีก จึงได้อ่านเรื่องสกุนตลา  แถมมาอีกเรื่องหนึ่ง  และขณะนั้น  เป็นนักเรียนที่เรียนเก่ง ๒วิชา และ ๒วิชานี้ทำให้เรียนได้ที่ ๑- ๓ ของห้องคือภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ ส่วนวิชาอื่น ๆ เกือบตกกับตก  ด้วยนิสัยที่ชอบอ่านหนังสือล่วงหน้าก่อนครู  จึงอ่านเนื้อหาใน English  for  Thai  Student  และ หนังสือไวยากรณ์อังกฤษชื่อ  Standard  ของ Oxford  (ไม่มั่นใจนัก ) เมื่อครูอธิบายจึงมักชิงพูดล่วงหน้าจนกระทั่งครูคงจะรำคาญ  ให้ออกมาอธิบายหน้าชั้น   ยิ่งทำให้สนุกยิ่งขึ้น     และได้นำความพยายามของ คิงอาเธอร์ที่เอาอย่างความพยายามของแมงมุมในการกระโดดข้ามเพื่อสานใยครั้งแล้วครั้งเล่า ในการกู้บ้านเมืองกลับมาใช้ในการดำเนินชีวิตด้วย              

                 ม.ศ.๔- ๕  มีโอกาสเข้าเรียนในตัวเมือง คือ โรงเรียนศรียาภัย  โลกของการอ่านจึงเปิดกว้างขึ้น  เพราะนอกเหนือจะได้ยืมหนังสือจากห้องสมุดของโรงเรียน ห้องสมุดประชาชนแล้ว  ยังมีร้านหนังสือให้เช่าอีก  ม.ศ.๔เริ่มรู้จักการอ่านเรื่องสั้นเรื่องตึกกรอส   หางแมว   มอม   เรื่องมอมนี่ยังซึมซับเป็นมโนภาพถึงปัจจุบัน  เลี้ยงสุนัขกี่ตัวก็อยากให้ชื่อมอมหมด   รู้สึกว่าชื่อนี้ล่ะใช่เลย ต่อมาเริ่มอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์สากล  ทั้งนี้มีแรงจูงใจมาจากครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ เป็นคุณครูผู้หญิงท่านหนึ่ง  ท่านเล่าเรื่องเกี่ยวกับประเทศกรีก เมืองบาบิโลน  สงครามโลกครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ จนมองเห็นภาพผู้นำแต่ละคน  เห็นภาพการพูดจาต่อรอง  การทำสัญญาต่าง  ๆ จนรักที่จะอ่านหนังสือประวัติศาสตร์  ผลจากการสั่งสมการอ่านในช่วงนั้นทำให้มีผลงานการเขียนที่โดดเด่น ๒ เรื่องคือ เรียงความเรื่อง ห้องสมุดคือขุมทรัพย์ทางปัญญา ได้ที่ ๒ ของจังหวัด ในงานสัปดาห์หนังสือ    รู้จักการสืบค้นประวัติของห้องสมุดแห่งแรก  กระทั่งกษัตริย์ที่สร้างห้องสมุดตั้งแต่สมัยกรีก   และเขียนเรื่องสั้นเรื่อง ใครผิด  เสนอแนวคิดเรื่องปัญหาครอบครัวกับยาเสพติด  จนคุณครูถามว่าแต่งเองหรือ   ส่วนการอ่านเรื่องบันเทิงในช่วงนั้นจะอ่านของพนมเทียน   โรสลาเรน  ทมยันตี  สำนวนภาษาจะเลื่อนขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง  อ่านวรรณคดีอังกฤษเรื่องโอลิเวอร์ทวิส  รีเบคก้า  และอีกหลายเรื่อง  การติดหนังสือนวนิยายในช่วงนี้ถึงขั้นยอมลาโรงเรียนเพียงเพื่อที่จะอ่านให้จบเรื่องในคืนนั้น ๆ จะได้คืนหนังสือให้แก่ร้านเช่า   ผลการเรียนในช่วงนี้จึงไม่ดีเท่าที่ควร  ขณะเดียวกันคุณครูได้แนะนำให้อ่านสามก๊กฉบับพระยาพระคลัง(หน)  และร่มฉัตร  ภาษาในหนังสือคงจะสูงเกินวัยของดิฉัน จึงเพียงแต่ยืมมาตั้งไว้ตั้งท่าจะอ่านแต่ไม่ได้อ่านจนกระทั่งทางห้องสมุดเรียกคืน พร้อมกับต้องเสียค่าปรับเป็นเงินถึงหนึ่งร้อยบาท ซึ่งเป็นเงินที่ค่อนข้างสูงในสมัยนั้น      

             ป.กศ.สูง  เรียนวิชาเอกภาษาไทย วิชาโทศิลปศึกษาที่วิทยาลัยครูสุราษฎร์ธานี (รุ่นแรกวิทยาลัยยังไม่มีความพร้อมที่จะเปิดวิชาภาษาอังกฤษ) โลกการอ่านจะเป็นการอ่านเพื่อวิเคราะห์ เช่นเรื่องสั้น  นวนิยาย  บทกวีนิพนธ์  วรรณคดีนิราศ       นวนิยายของครูคำหมาน   อ่านวรรณคดีกำสรวลโคลงดั้นและนิราศนรินทร์  อ่านพิจารณาอย่างลึกซึ้ง  ประกอบกับทำหน้าที่รับผิดชอบบรรณารักษ์ของภาควิชาภาษาไทยให้เพื่อน ๆ และน้องยืมหนังสือช่วงพักเที่ยง  จึงมีสิทธิพิเศษในการยืมหนังสือได้ มากกว่าคนอื่น ๆ   มีความสุขกับการอ่านมาก  ไม่ต้องลงทุนแต่อย่างใด   ผลพลอยได้จากเรียน ป.กศ.สูงวิชาโทศิลปศึกษา เมื่อครูได้เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ศิลป์  เล่าถึงประวัติของจิตรกรต่าง ๆ รู้สึกอิ่มเอิบยิ่งนัก  ถึงขั้นเข้าไปอ่านและฝึกแปลประวัติศาสตร์ศิลป์ของจิตรกร  คำบรรยายใต้ภาพที่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งต้องใช้เวลาในการนั่งอ่านที่ห้องสมุดค่อนข้างนาน  เพราะหนังสือเหล่านี้ห้ามยืมออกนอกห้อง    ตลอดระยะเวลาที่ได้อ่านหนังสือดิฉันรู้สึกว่า  คุณครูมีอิทธิพลต่อการไขว่คว้าในการอ่านค่อนข้างมาก    ครูคือมัคคุเทศก์ในการอ่าน           

           ปี พ.ศ.๒๕๒๓-๒๕๒๘  บรรจุเป็นครูสอนในถิ่นทุรกันดาร คือ อ.พระแสง ในสมัยนั้น มีปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์ด้วยไปไหนมาไหนก็ไม่ค่อยสะดวก    การอ่านที่เป็นหลักคือการเตรียมเนื้อหาการเรียนการสอน  ขณะเดียวกันได้เรียนต่อปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  โลกการอ่านกว้างยิ่งขึ้น  ตำราของ มสธ.ให้ความรู้ความกระจ่างแก่การเป็นครูอย่างยิ่ง ทั้งตำราภาษาไทย และวิชาเทคโนโลยีซึ่งอ่านแล้วเกิดภาพพจน์เกิดแนวทางในการพัฒนาการเรียนรู้มากมาย  ชอบอ่านวิชาเทคโนโลยีของ ดร.ชัยยงค์  พรหมวงศ์  มากเพราะมีความทันสมัย ได้รู้แนวทางการผลิตสื่อที่ไม่เคยรู้จัก  การจัดทำชุดการเรียนการสอน ทำให้เรียนได้ดีถึงขั้นเกียรตินิยมของ คณะศึกษาศาสตร์ รุ่นแรกของ มสธ.  และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้กลายเป็นครูที่สนใจรักการผลิตสื่อเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน และทำให้ประสบผลสำเร็จในการทำผลงานทางวิชาการในเวลาต่อมา    ต่อจากนั้นได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่บรรณารักษ์ห้องสมุดของโรงเรียน  จึงอ่านหนังสือได้อย่างหลากหลาย  ชีวิตที่อยู่บ้านพักในโรงเรียนจึงได้อ่านหนังสืออย่างเต็มที่ ทั้งวารสาร นวนิยาย  ประวัติศาสตร์ต่าง ๆ       

              ปีพ.ศ.๒๕๒๙-๒๕๓๒  อยู่ในช่วงการป่วยเป็นมะเร็ง  ต้องอยู่ที่โรงพยาบาลค่อนข้างนาน  มีเพื่อน ๆ หาหนังสือมาให้อ่านมากมาย จึงเริ่มอ่านนวนิยายแปลประเภทสอบสวนสืบสวน  โดยเฉพาะ  เฮอคูล  ปัวโร  ของอกาธา  คริสตี้  หาอ่านจนครบชุ  และเริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ       

               ปี พ.ศ.๒๕๓๓ -๒๕๓๘  เป็นช่วงที่หันมาสนใจเกี่ยวกับการอ่านตำราวิชาการมากขึ้น  เพราะวารสารข้าราชการครู   สารพัฒนาหลักสูตร  ต่างผ่านเข้ามาในห้องของผู้อำนวยการที่ดิฉันได้ทำงานอยู่ มีเนื้อหาแนวการสอนใหม่ตลอดเวลาทำให้ทันสมัย   มีผลงานนำเสนอในโอกาสต่าง ๆ  และช่วงเวลานี้ได้ไต่ระดับการอ่านไปอีกขั้นหนึ่งคือการอ่านวิทยานิพนธ์ เพราะต้องการจะทำผลงานทางวิชาการแต่ไม่มีความรู้เรื่องการทำรายงาน ๕ บท  กัลยาณมิตร คือ อ.ราตรี  เชื้อบ่อคา เพื่อน รุ่นพี่ซึ่งจบปริญญาโทจาก   มศว.ประสานมิตรได้พาไปเข้าห้องสมุดของมศว.ประสานมิตรชั้นของวิทยานิพนธ์ สอนวิธีการอ่านการบันทึกข้อมูล การเขียนอ้างอิง การเลือกเรื่องอ่านให้ตรงกับจุดมุ่งหมาย เป็นเวลา ๓ วันเต็ม  จึงอ่านงานวิจัยเป็นตั้งแต่นั้นและทำให้สามารถเขียนรายงานผลงานวิชาการจนได้รับอนุมัติเป็นอาจารย์ ๓ ระดับ ๖ -๘ ในปีพ.ศ.๒๕๓๘       

              ปี พ.ศ. ๒๕๓๙  - ปัจจุบันจะอ่านหนังสือ ๕ ลักษณะคือ                               ตำราวิชาการ  การพัฒนาการเรียนการสอน หลักสูตร  การ   พัฒนาสื่อ งานวิจัยที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน   วรรณกรรมวรรณคดี  หลักการใช้ภาษาไทย  ภูมิปัญญา  เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน จัดทำแหล่งค้นคว้าสำหรับครู นักเรียนนักศึกษาและผู้สนใจที่ต้องการสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต  

           บันเทิงคดีสารคดี  นวนิยายฉบับย่อของละครโทรทัศน์เรื่องต่าง ๆ วารสารคู่สร้างคู่สม    วารสารชีวจิต  หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  และรายสัปดาห์  ซึ่งซื้อหามาอ่านเอง  จากร้านเช่าที่เป็นสมาชิกประจำและส่วนหนึ่งอ่านจากเว็บไซต์               ปรัชญาคำสอน  หนังสือประเภทนี้จะอ่านเมื่อมีความทุกข์ทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ  เช่น   ปี พ.ศ.๒๕๔๖   ป่วยระยะยาวต้องอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน เพื่อนหาหนังสือดี ๆ มาให้อ่านมากมาย  หนังสือที่ประทับใจในการอ่านมากและอยากบอกให้ทุกคนหาอ่านคือ สอนลูกให้เป็นมังกร  ของใบไผ่สีเขียว   และสามก๊กฉบับนักบริหาร  สอนลูกให้เป็นมังกร  สอนได้ดีจริง ๆ คือสอนลูกให้เป็นคนดีของสังคม สอนลูกให้อยู่ในสังคมอย่างปลอดภัย  ส่วนสามก๊กฉบับนักบริหารนั้นเหมาะแก่คนที่เป็นทั้งหัวหน้าและลูกน้อง  ให้รู้จักวางตัว  การดำเนิน การวางแผนต่าง ๆ  ความสุขที่ได้จากการอ่านในครั้งนั้นช่วยทำให้บรรเทาความเจ็บปวดและความกังวลเกี่ยวกับโรคร้ายไปได้   แต่เมื่อทุกข์ใจ  รุ่มร้อนเพราะไม่สมหวัง  ไม่ได้  ไม่เป็นเช่นคนอื่นเขา    น้อยใจในโชคชะตา  พยายามสงบใจอย่างไรก็ไม่สงบ  ก็ต้องหันมาอ่านคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ  ซึ่งเพื่อนมาฝากไว้ให้อ่านตั้งแต่ป่วยกาย แต่ไม่ยอมหยิบมาอ่านเหมือนเป็นยาขม  แต่เมื่ออารมณ์ขณะนั้นเหมือนจะบ้า  ก็ต้องหยิบมาอ่านเพราะเป็นหนทางสุดท้ายที่จะเลือก ก็หยิบหนังสือ  อตัมมยตา มนตราสำหรับชีวิต : พุทธทาสภิกขุ อตัมมยตา คือไม่เอาแล้วโว้ย ! ไม่เอาอะไร ไม่เอารัก โลภ โกรธหลง ความผูกพันที่เป็นอารมณ์สนุก ตื่นเต้น เบิกบานและอิ่มเอิบทั้งหลาย  ได้เห็นอารมณ์ขันของท่านพุทธทาสจากตัวหนังสือ และได้ข้อสรุปว่า  ไม่มีอะไรที่ไปยึดถือแล้วไม่กัดไม่มี ทำให้ความ    รุ่มร้อนในใจสงบได้  จึงทำให้หยิบเรื่องที่ ๒ ตามมาคือ สวรรค์ในหน้าที่การงาน ธรรมะที่ควรรู้จักเพื่อทำงานให้สนุก : พุทธทาสภิกขุ  หนังสือเล่มนี้สอนให้ทำงานโดยไม่หวังผล ใจความสำคัญที่จับได้คือ ธรรมะก็คือหน้าที่ แม้แต่พระพุทธเจ้ายังปฏิบัติหน้าที่ (ธรรมะ) จนวาระสุดท้าย โปรดเทศนาให้นักบวชนอกศาสนาที่มาขอเฝ้าทูลถามปัญหาให้สั่งสอน ขณะที่พระองค์กำลังจะเสด็จปรินิพพาน จนนักบวชนอกศาสนารู้ธรรมะสูงสุดในพระพุทธศาสนาได้  ความปิติที่เกิดจากการอ่านหนังสือ ๒ เล่มนี้อยากจะให้คนอื่นที่กำลังทุกข์หาทางออกไม่ได้  ได้อ่านได้รับรู้เหมือนที่ดิฉันรับรู้จึงถ่ายทอดลงเว็บบอร์ดในอินเตอร์เน็ตในกระดานสีชมพูเมื่อ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๘          จากพฤติกรรมการอ่านที่ได้ถ่ายทอดมาตั้งแต่ต้น  ดิฉันพบว่าบริบทที่มีอิทธิพลต่อการอ่านของดิฉันนั้นมีหลายปัจจัย เริ่มตั้งคนในครอบครัว  คุณครู ความพร้อมของแหล่งเรียนรู้   การศึกษา  บทบาทหน้าที่ในการทำงาน  และสภาวะทางอารมณ์   และคุณค่าของการอ่านนั้นมีมหาศาลทำให้ดิฉันเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์  รู้จักคิดวิเคราะห์  ประเมินค่า รู้จักการปรับตัว  การแบ่งปัน  อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข   และด้วยความตระหนักในคุณค่าในการอ่านดิฉันจึงได้อุทิศตนในการบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างโอกาสในการอ่าน การเรียนรู้แก่องค์กรหลาย ๆ องค์กร เช่นเป็นสมาชิกบริจาคเงินสนับสนุนการอ่านการเรียนรู้ของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กของครูหยุยมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๓๒   - ปัจจุบัน  บริจาคหนังสือให้แก่นักโทษในทัณฑสถานสุราษฎร์ธานี   บริจาคเงินเพื่อซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดโรงเรียนสุราษฎร์ธานีเป็นต้น        

             ดังได้กล่าวมาแล้วว่าบริบทต่าง ๆ ทั้งคนในครอบครัว  คุณครู  แหล่งเรียนรู้   เป็นปัจจัยให้ดิฉันต้องอ่านหนังสือมาตลอดชีวิต    คราใดที่หนังสืออ่านหมด  กระทั่งกรอบข้อความโฆษณาก็ต้องอ่าน  แต่เมื่อใดที่มีหนังสือหลากหลายก็จะอ่านตามความจำเป็นเร่งด่วนหรือเรื่องที่ชอบก่อน ทั้งนี้เพราะอ่านแล้มีความสุข   ความสุขที่เกิดจากการอ่านนั้นมีทั้งจากตำราวิชาการ  บันเทิงคดี  สารคดี  และปรัชญาคำสอน  กล่าวคือ         ความสุขจากการอ่านตำราวิชาการ   จะเกิดความสุขเมื่อได้ค้นพบความรู้ใหม่ ได้ค้นพบข้อเท็จจริง  ที่ไม่เคยรู้มาก่อน  ได้ค้นพบแนวทางหนทางในการพัฒนาตนเอง  แนวทางในการช่วยเหลือผู้สนใจ  นักเรียนนักศึกษา         ความสุขจากการอ่านบันเทิงคดีสารคดี   จะเป็นพวกนวนิยายประโลมโลก ซึ่งก็ช่วยประโลมใจจริง ๆ ช่วยปลุกปลอบให้คลายเหงา ให้ความอิ่มเอิบแก่จิตใจ  ส่วนสารคดีจะเป็นความสุขที่ได้พบเห็นโลกกว้าง วิถีชีวิต  การดำเนินชีวิต ความงดงามของธรรมชาติ   การเยียวยารักษากายใจ  เป็นความสุขแบบอิ่มเอิบซ้อนบนความปิติ  หลังจากอ่านหนังสือประเภทบันเทิงคดีและสารคดีนี้สามารถทำให้ดิฉันหลับไปพร้อมกับรอยยิ้มได้   ความสุขจากการอ่านหนังสือปรัชญาคำสอน   เป็นความสุขแบบยั่งยืนเพราะก่อนที่จะหยิบมาอ่านนั้นจะมีความทุกข์อาจเป็นความทุกข์กายหรือทุกข์ใจแล้วหาทางออกให้กับตัวเองไม่ได้   จึงต้องอ่านหนังสือประเภทนี้  เมื่ออ่านแล้ว  จะพบหนทาง  มีความสงบเกิดขึ้น    ความรุ่มร้อนวุ่นวายในจิตใจค่อย ๆ เบาลง   และกลายเป็นความปิติในที่สุด            การอ่านหนังสือของดิฉันเป็นไปตามบริบทแวดล้อม  ขึ้นอยู่กับว่า ณ เวลานั้นต้องการความรู้  ต้องการความเพลิดเพลิน  ต้องการหาแนวทางแก้ปัญหา  หรือว่าสถานที่อยู่นั้นมีหนังสืออะไร    และที่สำคัญไม่ว่าจะเดินทางไปที่ใดจะมีหนังสือติดกระเป๋าทุกครั้ง  และการมีหนังสือติดตัวนี่เองที่ช่วยให้หายเบื่อจากการเดินทางเมื่อรถยนต์หรือรถไฟมีปัญหาในการเดินทาง   มีอยู่ครั้งหนึ่งที่รถไฟมีปัญหา  ขณะนั้นมีรามเกียรติ์ฉบับร้อยแก้วติดมือไป  เพราะต้องการอ่านให้จบเพื่อมาเล่าให้นักเรียนฟัง  ถ้ารถไม่เสียดิฉันก็ไม่แน่ใจนักว่าจะอ่านหนังสือเล่มนั้นจบหรือไม่  แต่เพราะรถไฟเสียต้องนำรถจักรมาลากเป็นเวลาถึง ๓ ชั่วโมง  ในขณะที่คนอื่นนั่งบ่นพึมพำ  บ้างถอนหายใจวุ่นวายกันไป   แต่ดิฉันนั่งได้อย่างสงบ อ่านเรื่องรามเกียรติ์ไปอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว   เช่นเดียวกันกับการนั่งรอรถที่สถานีไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟหรือสถานีขนส่งสายใต้   ซึ่งดิฉันจะต้องมานั่งคอยก่อนเป็นเวลานานเพราะกังวลกลัวตกรถ  กลัวปัญหารถติด  ก็จะซื้อหนังสือนวนิยายฉบับย่อ  วารสารนิตยสาร  หนังสือพิมพ์   และปริศนาอักษรไขว้  มานั่งอ่านอย่างมีความสุข 

          หากมองเห็นผู้หญิงสูงวัยนั่งอ่านหนังสือแถวที่รอรถ  ใครคนนั้นอาจจะเป็นครูภาทิพก็เป็นได้

หมายเลขบันทึก: 44324เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2006 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)
เยี่ยมมากครับ สำหรับชีวิตกับการขวนขวายหาความรู้โดยการอ่านของท่าน
ขอบพระคุณมากค่ะ

เห็นบอกว่า อาจารย์เคยป่วยเป็นมะเร็ง

อยากให้อาจารย์นำเรื่องเหล่านั้นมาเขียนบันทึก

คิดว่าจะมีประโยชน์แก่ผู้อ่านมากเลยครับ

ขอให้อาจารย์สุขภาพแข็งแรงครับ 

ขอบคุณค่ะ  จะพยายามเรียบเรียงให้ค่ะ
ชอบโดราเอมอนที่สุดเลยค่ะ
ทราบว่าคุณภาทิพเคยอ่านหนังสือชาวกรุง เคยอ่านคอลัมน์ของ "เมธาวี" หรือไม่คะ เพราะชอบการแต่งกลอนของท่านมาก เคยจดใส่สมุดไว้หลายบท แต่สมุดเล่มนั้นหายไปตอนย้ายบ้าน เสียดายมาก คุณพอจะแนะนำได้ไหมว่าจะหาหนังสือที่มีการรวมเล่มของท่านไว้บ้างไหมคะ  ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ
  • สุดยอดจริง สิ่งสำคัญ อันยกหยิบ
  • ครูภาทิพ เล่าขาน อ่านหนังสือ
  • การสั่งสม ล้ำลึก ทั้งฝึกปรือ
  • จากสารสื่อ ล้ำค่า สารพัน
  • เป็นตัวอย่าง เยาวชน คนรักเรียน
  • ได้พากเพียร เดินตาม สู่ความฝัน
  • ชีวิตเหมือน นิยาย ได้รางวัล
  • สืบสร้างงสรรค์ เถิดหนอ  ขอเชิดชู

สวัสดีค่ะคุณนิตย์  ช่วงนั้น ป๔- ป.๗  ยังไม่สนใจเรื่องการอ่านกลอนเลยค่ะ   อ่านการ์ตูนล้อการเมืองมากกว่าค่ะ     ชอบข้อความที่ขัดคอประมาณนั้น

 

สวัสดีค่ะคุณพิสูจน์

       แหมยกย่องเกินไปในคำขาน
ขี้เกียจงานจึงหลบพบหนังสือ
ตำราเรียนอำพรางข้างในคือ
นิยายเช่าและซื้อสอดไส้ใน

      เล่มนอกEnglish for Thai Student
ตรงกลางเร้น"กลิ่นร่ำ"  รักฉ่ำใส
พ่อมองเห็นตื่นเต้นด้วยดีใจ  
แม้ดึกดื่น"เวลาไก่"ยังใฝ่เรียน

เยี่ยมมากคคะ อ่านแล้วมีประดยชน์จริงๆ ดึกแล้วนะคะ วันต่อไปจะเข้ามาแวะอีกคะ ขอให้ สุขภาพดีคะ

อ่านเรื่อง การอ่านคือชีวิตของพี่จุ๋ม นี่มีประโยชน์จริงๆ พี่จุ๋มยังขยัน และค้นคว้าอยู่ตลอดเวลา ต้องขอชมจริงๆค่ะ

ไม่ทราบว่าจะนำเรื่องของพี่จุ๋ม ไปเผยแพร่ให้เด็กนักเรียนอ่านได้หรือเปล่าค่ะ

ขอให้พี่จุ๋มมีความสุขกับการอ่าน การเขียน การท่องเที่ยว และขอให้มีสุขภาพแข็งแรงค่ะ

สวัสดีค่ะน้องไพตะวันศิลป์  และน้องอำมอญ

ขอบคุณที่แวะมา  ยินดีที่เจอกัน(ผ่านจอ)  ยินดีที่จะนำประสบการณ์การอ่านไปใช้

คิดถึงห้องสมุดที่น้องอำมอญเคยทำ

ขอบพระคุณ พี่จุ๋มมากค่ะที่ยินดีให้เผยแพร่ประสบการณ์การอ่านให้นักเรียน

เข้ามาเจอะเจอโดยบังเอิญค่ะ ส่วนหนึ่งก็เบื่อหน่ายข่าวสารทุกวันนี้ นึกถึง "บทรำพึงในป่าช้า" อยากอ่านทบทวน จึงกูเกิ้ลดู มันก็นำมายังไซต์ของคุณครู ซึ่งลงให้อ่านอย่างหนำใจ ทั้งต้นฉบับภาษาอังกฤษด้วย ดีใจจังค่ะ ได้ความรู้สึกที่แตกต่างจากที่เคยอ่านผ่านๆครั้งยังเป็นเด็กนักเรียน ไม่มีอะไรในหัว จำได้แต่ชื่อเรื่อง แล้วก็เลยคลิกอ่านต่อๆๆๆ คุณครูได้แบ่งปันความรู้ดีๆ โดยเฉพาะภาษาและวรรณศิลป์ต่อผู้ร่วมโลกอินเตอร์เน็ต ทึ่งและประทับใจมาก จะกลับมาศึกษาจากคุณครูอีกค่ะ (เหมาอ่านวันเดียวไม่หมด) มาสังเกตุว่าคุณครูยังตอบสนทนาเพื่อนๆ เมื่อ ตค. ๕๓ จึงลองฝากข้อความไว้ค่ะ ขอบพระคุณ

สวัสดีค่ะ คุณอรวรรณ  ขอบคุณที่เข้ามาฝากข้อความ   ครูภาทิพจะเข้าไปตอบทุกบันทึก ค่ะ  แม้ว่าบันทึกนั้นจะเขียนมาหลายปีแล้วก็ตาม  gotoknow  จะมีระบบแจ้งเตือนให้เราทราบว่ามีใครมาฝากข้อความไว้ที่ไหน เมื่อไรค่ะ  ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ

แวะหาครูภาทิพได้ทุกที่ค่ะ  (คนหลายบ้าน)

รวมเว็บที่ครูภาทิพจัดทำ

 

ห้องเรียนสีชมพู ภาษาไทยภาษาทอง
ภาษาไทยวิทยาทาน ภาษาพาสารผ่านดารากับภาทิพ
ร้อยกรองของภาทิพ หนังสือ ธรรมชาติ ธรรมดา กับภาทิพ
แหล่งเรียนรู้โรงเรียนสุราษฎร์ธานี ร้อยกรองที่gotoknow
นิราศแม่ปิง    นิราศภูเรือ     นิราศอ้อมกอด     ครูหมูผู้ทะเล้น    เมื่อครูเขียนกลอน
นิราศศูนย์นวัตกรรม   กาพย์ห่อโคลงหนำไพรวัลย์ ย้อนรอยกลอนครูหมู
สุภาษิตคำโคลง โ คลงกลอนเบ็ดเตล็ด1 2 3 5 4  
วันสำคัญทางศาสนาไดอารี่ปี49 การดูแลนักเรียน 
ฝากคำฝากความ  

สมุดเยี่ยม 1   2  3

 

มาเยี่ยมคุณครูในที่นี้ ได้รู้เรื่องราวของคุณครูมากมาย

มาเชียร์คนเก่งครับผม

สบายดีนะครับ

นมัสการพระคุณเจ้า

Ico48

สวัสดีค่ะ ผศ.โสภณ  

Ico48

 

วันนี้มาเยี่ยมไกลนะคะ   มาถึงบันทึกแรกเมื่อ ๕ ปีที่แล้ว

บันทึกนี้เป็นการเขียนตามกรอบของ การคัดเลือกครูนักอ่านค่ะ  และได้รางวัล

ครูนักอ่านระดับยอดเยี่ยม ของ สพท. ได้รับโล่และเงินรางวัล ๒,๐๐๐ บาท

(อิอิ  มากจัง)  แต่บริจาคไป ๓,๐๐๐ บาท   

 

  สบายดีค่ะ  แต่ออกจากโรงเรียน ๒ ทุ่มทุกวัน ไม่ทราบว่าทำอะไรนักหนา

 

ขอบคุณที่แวะมาค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท