เยียวยาหัวใจดวงน้อย ด้วยสองมือแม่


  คุณอาจนึกไม่ถึงเลยว่า นอกจากความเจ็บป่วยทางกายทั้งหมดที่หนูน้อยวัยอนุบาลจะต้องเผชิญแล้ว ชีวิตน้อยๆ และครอบครัวของเขาเหล่านี้ ก็ยังต้องต่อสู้กับความเจ็บป่วยทางจิตใจอีกมากมาย ที่เดินทางมาพร้อมกันในวันที่ได้ทราบข่าวร้าย

   มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ความเจ็บป่วยทางกายเป็นเพียงอาการเรื้อรังที่ต้องการ การรักษาอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้ส่งผลรุนแรงต่อการใช้ชีวิตในโรงพยาบาลเท่ากับความกังวลที่เกิด ขึ้นในจิตใจ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ

1. ความกลัวของเด็ก 

  • แรกคลอดจนถึง 6 เดือน เป็นช่วงวัยที่เด็กยังไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับการพลัดพราก และยังไม่รับรู้ความเสียใจที่จะเกิดผลกระทบต่อไปในอนาคต สิ่งที่ทำให้เด็กในช่วงวัยนี้กลัว จึงเป็นเรื่องของ “ความเจ็บปวดทางกาย” มากที่สุด
  • ช่วง 1-6 ขวบ เป็นช่วงวัยที่สมองจะพัฒนาเรื่องของ “จินตนาการ”มากมากที่สุด ประกอบกับเขายังไม่มีความรับรู้ในเรื่องของ “เหตุผล” มากนัก ทำให้เด็กๆ ในวัยนี้มักมีจินตนาการเกินจริง กลัวเสียงต่างๆ กลัวความมืด กลัวสัตว์ และกิจกรรมที่หมอ หรือพยาบาลทำกับเขา เมื่ออยู่ที่โรงพยาบาล
  • ช่วง 6-7 ขวบ หรือในวัยเรียน เขาจะเริ่ม “กลัวความตาย” เนื่องจากเริ่มได้รู้จักความตายจากหลายทาง เช่น จากละครโทรทัศน์ จากเพื่อนๆ หรือประสบการณ์เห็นสัตว์ตาย และไปร่วมงานศพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่ในชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว
  • ช่วงวัยรุ่น สิ่งที่จะทำให้เด็กวัยนี้เกิดความกลัว มักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ภาพลักษณ์” เนื่องจากความเจ็บป่วยเรื้อรังในบางโรค ทำให้ต้องมีการตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต หรือตัวยาบางอย่าง ทำให้เขาอ้วนขึ้น เป็นสิวหรือผื่น เขาก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมือนคนอื่น ไม่สามารถร่วมกิจกรรมกับคนอื่นได้ และไม่กล้าออกไปไหน หรือเข้าหาคนอื่น เพราะกลัวถูกล้อเลียน

2. ความกังวลของเด็ก

   ความกังวลต่อโรคที่มีในเด็กนั้น เป็นสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ลึกๆ เนื่องจากในบ้านเรา พ่อแม่มักจะไม่ยอมให้ลูกรับรู้ว่าเขาป่วยเป็นอะไร แต่จะคอยกังวล ห้ามทำโน่นนี่ โดยเฉพาะเมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ที่มีแพทย์ หรือพยาบาลคอยควบคุมดูแล ทำให้เด็กรู้สึกว่า “นี่ไม่ใช่กิจวัตรปกติ”ของเขา ความคลุมเครือเหล่านี้ทำให้เด็กเริ่มวิตกกังวลได้ นอกจากนี้ ความไม่เอื้ออำนวยต่างๆ ในโรงพยาบาล ก็ทำให้เขาวิตกกังวลได้มากขึ้น อย่างเช่น การไม่อนุญาตให้พ่อแม่เฝ้าไข้เด็ก ในห้องผู้ป่วยรวม หรือห้องไอซียู มักจะทำให้เด็กเครียด วิตกกังวล และรู้สึกไม่ปลอดภัยอย่างรุนแรง และจะแสดงพฤติกรรมในเชิงลบออกมาอย่างชัดเจน
   ...แต่นอกเหนือจากสาเหตุของความกลัวแล้ว ยังมีความจริงบางอย่าง ที่พ่อแม่หลายคนไม่รู้...

ความวิตกที่เกินพอดีของพ่อแม่

   มีงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า เด็กๆ ที่ป่วยจะมีปัญหาทางอารมณ์สูง และปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้น้อยกว่าเด็กปกติ เมื่อศึกษาลึกลงไป พบว่าพฤติกรรมเหล่านี้เกิดจากการได้รับผลทางอารมณ์และความรู้สึกโดยตรงจาก “แม่” โดยปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของเด็ก มักจะสัมพันธ์กับความวิตกกังวล และกระวนกระวายใจของแม่ ส่วนปัญหาด้านการปรับตัวเข้ากับสังคม สัมพันธ์กับความเอาใจใส่ที่มากเกินไป และความรู้สึกผิดที่แม่มีต่ออาการป่วยของลูก

พฤติกรรมที่แสดงออก บ่งบอกจิตใจที่เจ็บป่วย

   ความเจ็บป่วยทางจิตใจซึ่งโดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 ระยะ

1. ระหว่างรับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ

  • พฤติกรรมที่ถดถอย  คือ การกลับไปทำพฤติกรรมในช่วงวัยที่ผ่านมาแล้ว เช่น การร้องงอแง ดูดนิ้ว หรือปัสสาวะรดที่นอน หรือทักษะทางสังคมที่แย่ลง เช่น เคยเป็นเด็กเข้ากับคนง่ายก็กลายเป็นกลัวคนแปลกหน้า และไม่ยอมแยกจากแม่ และเอาแต่พึ่งพาคนอื่น ไม่ยอมช่วยเหลือตัวเอง
  • พฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งมักเกิดจากทั้ง ความเจ็บปวดเมื่อรับการรักษา หรือจากความกลัว หรือวิตกกังวล ทำให้บางคนแสดงพฤติกรรมต่อต้านการรักษา
  • พฤติกรรมซึมเศร้า อาจทำให้มีปัญหาการนอน หรือมีภาวะที่อาการแย่ลง ทั้งที่จริงๆ ตัวโรคไม่ได้แย่ลงอย่างที่ควรจะเป็น 

2. ระยะหลังจากรับการรักษาที่โรงพยาบาล 

   เด็กที่เจ็บป่วยเรื้อรังหลายคน แม้หลังจากการรักษาจนอาการทางกายต่างๆ ดีขึ้น และแพทย์อนุญาตให้พ่อแม่สามารถรับเด็กกลับไปดูแลที่บ้านได้แล้ว แต่ด้วยผลกระทบทางจิตใจ ทำให้พวกเขาต้องกลับมาพบจิตแพทย์ด้วยอาการต่างๆ เช่น มีพฤติกรรมเรียกร้องทั้งสิ่งของ ความรัก และเอาแต่ใจมากขึ้น บางคนจะเกิดอาการซึมเนื่องจากไปโรงเรียนแล้วตามเพื่อนไม่ทัน เขาก็จะรู้สึกว่าไม่เก่ง ไม่เป็นที่ยอมรับ บางคนก็ขี้หงุดหงิดไปเลย ซึ่งระยะของอาการเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น พื้นฐานนิสัยเดิมของเด็กเป็นอย่างไร พ่อแม่ปรับตัวได้แค่ไหน ช่วยเหลือลูกมากเกินไปหรือเปล่า 


  จากผลวิจัยเรื่องความวิตกกังวลของแม่ ที่ถ่ายทอดมาสู่ลูก เป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่า แม่นั้นมีความสำคัญต่อจิตใจของเด็กๆ ที่เจ็บป่วยแค่ไหน เกี่ยวกับเรื่องนี้ ร.ศ.นพ.ไพโรจน์ โชติวิทยธารากร กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคหัวใจในเด็ก จากโรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นนอล แนะนำว่า...

  • แม่ต้องแสดงความรัก และให้ความเข้าใจในตัวเด็ก
  • ไม่ควรโทษตัวเองว่าเป็นต้นเหตุของอาการป่วยทั้งหมดของโรค
  • ไม่แสดงความวิตกกังวลให้ลูกเห็น ควรหาวิธีจัดการความเครียดที่เหมาะสม รวมทั้งวิธีสร้างกำลังใจให้ตัวเอง เพื่อจะได้เป็นหลักยึดที่มั่นคงทั้งทางจิตใจ อารมณ์ และสังคม ให้เด็กต่อไป
  • จะต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับโรคที่ลูกป่วยอย่างละเอียด เพื่อจะได้เข้าใจกระบวนการรักษา และเป็นสะพานเชื่อมระหว่างลูกกับแพทย์ เพื่อให้การรักษาง่ายขึ้น นอกจากนี้ การเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษา จะช่วยให้ตัวแม่เอง ลดความกังวล และเกิดความมั่นใจในกระบวนการรักษามากขึ้นด้วย

เมื่อแม่ต้องการตัวช่วย...

เมื่อแม่มีปัญหา ควรปรึกษาบุคคลต่อไปนี้

  • แพทย์ผู้ทำการรักษา - โดยปกติแล้ว กุมารแพทย์จะเป็นด่านแรกของการพูดคุย สอบถามอาการ แต่หากพ่อแม่ ผู้ปกครองที่กุมารแพทย์ซักประวัติแล้วเห็นว่า ระบบครอบครัวดูมีปัญหา ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการดูแลเด็กในอนาคต ก็มักแนะนำให้เข้ารับการปรึกษากับจิตแพทย์ตั้งแต่ต้น
  • พยาบาล - นอกจากให้คำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัว คอยรับฟังปัญหา และตอบข้อสงสัยต่างๆ ที่พ่อแม่ไม่กล้าถามกับหมอโดยตรงแล้ว บ่อยครั้งที่พยาบาลจะสามารถจับอาการความเครียด และซึมเศร้าของเด็กได้ก่อนใครเสมอ
  • นักสังคมสงเคราะห์ในโรงพยาบาล - นักสังคมสงเคราะห์ในโรงพยาบาลจะให้ความช่วยเหลือทั้งการประเมินสิทธิบัตรทอง และให้ความช่วยเหลือในเชิงลึก รวมถึงให้คำปรึกษาปัญหาครอบครัวด้วย

ความช่วยเหลือเพิ่มเติมที่ไม่ควรมองข้าม


  • การศึกษาพิเศษสำหรับเด็กที่เจ็บป่วย - การจัดการศึกษาพิเศษจะช่วยให้เด็กป่วยเรื้อรังซึ่งสามารถเคลื่อนไหวร่างกาย ได้สะดวก มีกิจกรรมทำระหว่างที่มารับการรักษา นอกจากนี้ยังผลักดันให้มีการสอบวัดผล และออกวุฒิการศึกษาให้กับเด็กที่ต้องเรียนหนังสือในโรงพยาบาล เพื่อว่าวันหนึ่งหากเขาสุขภาพดีขึ้น จะได้กลับเข้าไปเรียนต่อในระบบโรงเรียนปกติด็โดยไม่ต้องซ้ำชั้น เพราะจะทำให้เขาอายจนไม่อยากไปเรียน และจะเสียสังคมส่วนนี้ไป
  • กิจกรรมสนุกสนาน สันทนาการและเรียนรู้ - โรงพยาบาลซึ่งมีเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังเข้ารับการรักษาอยู่ ควรจะจัดกิจกรรมสนุกสนาน ในวันสำคัญต่างๆ เช่นวันเด็ก หรือวันปีใหม่ เพื่อให้พวกเขาได้ผ่อนคลายความกังวล รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้คนภายนอก ได้มีส่วนร่วมเข้ามาเป็นหนึ่งในความทรงจำดีๆ ให้กับพวกเขาด้วย

มุมมองที่อยากให้ภาครัฐมองเห็นปัญหา

  • สิทธิการการลาเฝ้าบุตร - สิ่งที่สำคัญมากต่อสุขภาพของเด็กป่วยเรื้อรังที่สุด คือ “การได้อยู่กับพ่อแม่”  แต่ทุกวันนี้ พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่สามารถมาเยี่ยมลูกได้ทุกวัน เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการลางาน ดังนั้นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องน่าจะจัดให้พ่อแม่มีสิทธิลาเฝ้าลูกได้ โดยมีใบรับรองแพทย์ของลูกเป็นหลักฐาน และไม่เสียวันลาปกติ
  • บุคลากรที่เพียงพอ - ทุกวันนี้ ทั้งกุมารแพทย์ จิตแพทย์ หรือแม้กระทั่ง ครูการศึกษาพิเศษ ยังมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบอัตราส่วนของเด็กๆ ที่ป่วย
  • บรรยากาศเด็กๆ ในโรงพยาบาลของเด็ก - การปรับปรุงบรรยากาศภายในตึกผู้ป่วย หรือห้องตรวจโรค ให้ดีขึ้น อาจจัดห้องให้เขาได้อยู่กับพ่อแม่ มีมุมสำหรับเล่นต่างๆ ที่ทำให้เขารู้สึกว่าผ่อนคลาย ไม่เครียด ซึ่งน่าจะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น

    ที่มา นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 188
    ปีที่ : 5    1 สิงหาคม 2548
หมายเลขบันทึก: 44298เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2006 12:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท