ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองอำเภอปง-พะเยา


พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้เกิดสงครามการเมืองภายในประเทศขึ้น เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๑๑ ราษฎรในหมู่บ้านจึงได้หลบหนีเข้าป่า เพื่อร่วมกับ พ.ค.ท. ทำสงครามการเมืองและแยกกันตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ขุนห้วยน้ำขาม (บ้านน้ำขาม) ขุนห้วยแม่ยัด(บ้านร่วมใจ) ขุนห้วยกำปอง(บ้านยืนหยัด) ขุนห้วยน้ำสาวเหลือง(บ้านลูกไฟ) โดยการนำของนายเลามี แซ่กือ

๕.ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองอำเภอปง

      ปง เป็นอำเภอที่เก่าแก่แห่งหนึ่ง เป็นอำเภอขึ้นชื่อในเรื่องการทำไม้และยาสูบ มีที่มา  ๒  ทัศนะ คือ มาจากตำนานพระธาตุดอยหยวกที่พญานาคราชขออดโทษ หรือ ขมา ภาษาพื้นเมืองว่า ป๋งโตษ ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เสด็จมาในคราวครั้งนั้นและต่อมามีการสร้างพระธาตุดอยหยวก

     อีกทัศนะหนึ่งมาจากตำนานปรัมปราเล่าว่า ปู่ฟ้าโง้ม ซึ่งโดยปกติจะมีรูปร่างที่ใหญ่โตมโหฬารเวลาเดินไปไหนมาไหนต้องก้มหัวลงเพื่อไม่ให้ถูกฟ้า (โง้ม คืออาการที่คนก้มหัวหลบ) ได้หนึ้งข้าว คือหุงข้าวเหนียว แล้วปง หรือปลดลง ณ บ้านแห่งหนึ่ง ต่อมาบริเวณดังกล่าวจึงได้ชื่อว่าเมืองปง[1]

มีคำขวัญประจำอำเภอ ดังนี้             

พระธาตุดอยหยวกคู่เมือง   นามลือเลื่องภูลังกา   รักษ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง

ถ้ำผาตั้งตระการตา   ตาดซาววางามล้ำเลิศ   แหล่งกำเนิดแม่น้ำยม

 

๕.๑. ตำบลควร

            ตำบลควร เป็นตำบลที่มีแม่น้ำสำคัญคือแม่น้ำควรไหลผ่าน จึงได้ชื่อว่าตำบลควร ตามประวัติมีการอพยพมาจากจังหวัดน่าน และเคยมีการประสบอุทกภัยในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ทำให้ราษฎรได้ย้ายไปบนพื้นที่ดอน 

มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับตำบลออย อำเภอปง ทิศใต้และทิศตะวันออก ติดกับตำบลขุนควร อำเภอปง ทิศตะวันตก ติดกับตำบลนาปรัง อำเภอปง

                มีหมู่บ้านที่มีที่มาและน่าสนใจ  ดังนี้

  • บ้านใหม่ดอนมูล เป็นหมู่บ้านที่ย้ายมาจากบ้านดอนมูล (หมู่บ้านเก่า หมู่ที่  ๑๖ ของตำบลปง)
  • บ้านป่าคา เป็นชื่อหมู่บ้านเดิมคือบ้านป่าคา อำเภอบ้านม่วง จังหวัดน่าน เมื่อมีชาวบ้านย้ายมาจึงได้ตั้งชื่อบ้านเดิมของตนเป็นชื่อหมู่บ้าน

                นอกจากนี้ยังมีบ้านควรดง  บ้านสีพรม  บ้านห้วยขุ่น  บ้านแสะ  บ้านวังบง  บ้านป่าคาใหม่  บ้านเหล่า  บ้านหัวฝาย  บ้านดงเจริญ

 

๕.๒. ตำบลขุนควร

            ตำบลขุนควร ได้แยกมาจากตำบลควรมาเป็นตำบลขุนควร เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม  ๒๕๓๕ เป็นตำบลที่ห่างจากตัวอำเภอปง ๑๗ กิโลเมตร และห่างจากตัวอำเภอเมืองพะเยา ๙๓  กิโลเมตร ตำบลนี้ได้มีชาวจังหวัดน่านได้อพยพมาตั้งหลักถิ่นฐานทำมาหากิน

     มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับตำบลควร และตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง ทิศใต้ติดอำเภอเชียงม่วน และอำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน ทิศตะวันออก ติดกับอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ทิศตะวันตก ติดกับตำบลปง และตำบลควร อำเภอปง 

มีหมู่บ้านที่มีที่มาและน่าสนใจ  ดังนี้

  • บ้านน้ำปุก เป็นหมู่บ้านที่มีลำน้ำปุกไหลผ่าน โดยมีพ่อหนานติ อินธิยา ได้พาชาวบ้านและญาติพี่น้องมาจากหมู่บ้านสักน้ำปั้ว จังหวัดน่าน และตอนที่ย้ายมาใหม่มีไม่ถึง ๑๐ หลังคาเรือนและยังอยู่ร่วมกับพวกชาวเขาอีกด้วย พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้เกิดน้ำท่วมหมู่บ้านและชาวบ้านก็พากันย้ายหมู่บ้านขึ้นอยู่ที่สูง  เป็นหมู่บ้านโอนไปมาใน ๓ จังหวัด คือ  เดิมทีสังกัดอยู่ในเขตจังหวัดน่าน ต่อมาโอนย้ายมาเป็นเขตจังหวัดเชียงรายในปี พ.ศ. ๒๔๙๒  และย้ายมาขึ้นอยู่กับจังหวัดพะเยาในปี พ.ศ. ๒๕๒๗

                ตามเรื่องเล่าว่าชาวบ้านจะมีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์มาก วันไหนที่เป็นวันพระวันนั้นในหมู่บ้านจะไม่มีใครออกไปทำงาน 

  • บ้านน้ำแป้ง เป็นหมู่บ้านที่มีลำน้ำแป้งไหลผ่าน เดิมทีมีราษฎรเข้ามาอยู่อาศัยประมาณ ๗-๘ หลังคาเรือนโดยมีนายสุข สมคิด เป็นผู้ใหญ่บ้าน แต่เดิมอยู่กับการปกครองของบ้านน้ำปุก หมู่ที่ ๙ ตำบลออย อำเภอปง ในขณะที่อยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดน่าน  พ.ศ. ๒๕๐๐ จึงได้โอนเข้ามาอยู่กับหมู่บ้านนาอ้อมหมู่ที่ ๕ ตำบลควร อำเภอปง  ในขณะที่อยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดเชียงราย และที่สำคัญหมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านในเขตพื้นที่สีชมพู

                วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๒๕ ได้มีคำสั่งให้ก่อตั้งเป็นหมู่บ้านน้ำแป้งหมู่ที่ ๑๔  ตำบลควร อำเภอปง จังหวัดพะเยาและวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๓๐ ยังได้เป็นหมู่บ้านอาสาพัฒนาป้องกันตนเองอีกด้วย

  • บ้านสบเกี๋ยง เป็นหมู่บ้านที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ เริ่มแรกที่เดียวนั้นมีเพียง ๓ ครอบครัว ซึ่งเป็นชาวบ้านที่มาเลี้ยงวัว เดิมที่ได้อยู่ในเขตการปกครองของบ้านสีพรม หมู่ที่ ๔ ตำบลควร อำเภอปง ในขณะที่ขึ้นอยู่กับเขตการปกครองของจังหวัดเชียงราย ต่อมามีชาวบ้านอพยพมาตั้งถิ่นฐานรวมกันอีก ๑๒ หลังคาเรือน โดยขึ้นอยู่กับการปกครองของบ้าน   วังบง หมู่ที่ ๗ ตำบลควร อำเภอปง ในขณะที่ขึ้นอยู่กับเขตการปกครองของจังหวัดเชียงราย โดยมีนายอินต๊ะ ตามล เป็นผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. ๒๕๒๓ กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติให้แยกเป็นหมู่บ้านสบเกี๋ยง ในนามหมู่ ๑๒ ตำบลควร โดยมีนายมูล ถาวดี เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก และเมื่อแยกตำบลใหม่หมู่บ้านสบเกี๋ยงขึ้นอยู่กับหมู่ที่ ๓ ของตำบลขุนควร
  • บ้านขุนกำลัง       พ.ศ. ๒๔๙๐ ตั้งหมู่บ้านอยู่ที่ขุนห้วยแฟต ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ ในขณะที่อยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดเชียงราย ในขณะนั้นได้มีสงครามระหว่างประเทศเกิดขึ้น จึงทำให้ราษฎรในพื้นที่แนวชายแดนไทย-ลาว มีความเดือดร้อนไม่สงบสุขต่อเนื่องกันมา พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยการนำของนายหย่างก๋าย แซ่หาญ ผู้ใหญ่บ้าน จึงได้หาแนวทางออกโดยอพยพราษฎรไปหาที่ที่ห่างไกลจากสงคราม และมีความสงบร่มเย็น และได้อพยพเข้ามาในพื้นที่บ้านผาช้างน้อย ตำบลผ้าช้างน้อย อำเภอปง ในขณะขึ้นอยู่กับเขตการปกครองจังหวัดเชียงราย และเรียกชื่อว่า บ้านจำไข่นุ่น ได้เปลี่ยนตัวผู้ใหญ่บ้านคนใหม่คือ นายต้าโก๋ว แซ่ว่าง

     พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้เกิดสงครามการเมืองภายในประเทศขึ้น เมื่อเดือนกันยายน  ๒๕๑๑ ราษฎรในหมู่บ้านจึงได้หลบหนีเข้าป่า เพื่อร่วมกับ พ.ค.ท. ทำสงครามการเมืองและแยกกันตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ขุนห้วยน้ำขาม (บ้านน้ำขาม) ขุนห้วยแม่ยัด(บ้านร่วมใจ) ขุนห้วยกำปอง(บ้านยืนหยัด) ขุนห้วยน้ำสาวเหลือง(บ้านลูกไฟ) โดยการนำของนายเลามี แซ่กือ ซึ่งเป็นประธานการนำอำนาจรัฐ พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้เปลี่ยนมาเป็น นายเลาใต้ แซ่หาญ เป็นประธานอำนาจรัฐเขตผ้าช้าง มาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เปลี่ยนอำนาจรัฐมาเป็น นายอยู่สัว แซ่ซ่ง เป็นประธานกรรมการอำนาจรัฐเขตผ้าช้าง 

     จนถึงเดือนเมษายน ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ สงครามการเมืองภายในประเทศจึงได้ยุติลง  ราษฎรจึงหันมาร่วมกันพัฒนาประเทศชาติไทย โดยตั้งหมู่บ้านใหม่ว่า บ้านฉลองกรุง ภายใต้การปกครองของ นายอยู่สัว แซ่ซ่ง เป็นผู้ใหญ่บ้าน ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เปลี่ยนผู้ใหญ่บ้านเป็นนายสมชาย แซ่ว่าง ในเดือนมีนาคม ๒๕๒๗ กองทัพภาคที่ ๓ ส่วนหน้า ได้โยกย้ายราษฎรบ้านฉลองกรุงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่ราบ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากบ้านฉลองกรุงประมาณ ๑๘ กิโลเมตร  ก่อตั้งเป็นหมู่บ้านชื่อ บ้านขุนกำลัง โดยเข้าเป็นหมู่ที่ ๑๖ ตำบลควร

  • บ้านนาอ้อม พ.ศ. ๒๔๔๒ ประชาชนเดิมได้อพยพมาจาก หมู่บ้าน   ตาลจุน อำเภอสา จังหวัดน่าน 
  • บ้านผาตั้ง มีครอบครัวที่อพยพเข้ามาเพื่อการตั้งถิ่นฐานและทำมาหากินในบริเวณนี้เป็นการอพยพที่มาจากหลายท้องที่ใน ๔ จังหวัดคือ จากจังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน  จังหวัดลำปาง และจากอำเภอเชียงคำ ซึ่งขึ้นอยู่กับเขตการปกครองของจังหวัดเชียงราย ตอนแรกมีจำนวนอยู่เพียง ๗ หลังคาเรือน และเป็นหมู่บ้านในปี พ.ศ. ๒๔๔๐
  • บ้านสันติสุข พ.ศ. ๒๕๐๐ ชาวบ้านได้อพยพมาจากบ้านสบบง ตำบลสบบง อำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงราย (ในขณะนั้น) เข้ามาตั้งอยู่ ณ ดอยผาจิ ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างจังหวัดเชียงรายกับจังหวัดน่าน
  • บ้านผาจิ หรือ บ้านปงอาง ๑ เดิมขึ้นอยู่กับหมู่ที่ ๕ ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดเชียงราย (ขณะนั้น) โดยมี นายเงี่ยโก๊ แซ่ม้า เป็นผู้ใหญ่บ้าน

                เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้มีขบวนการทางการเมือง (พคท.) เข้ามาเคลื่อนไหวปลุกระดมลัทธิคอมมิวนิสต์ในพื้นที่บริเวณบ้านผาจิ เมื่อทางราชการที่จังหวัดน่าน (สมัยนั้น) ทราบข่าวจึงส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามทำให้ชาวบ้านผาจิเดือดร้อน

                เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๑ ชาวบ้านผาจิทั้งหมดได้พร้อมใจกันเข้าร่วมกับ พ.ค.ท. จับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาล รวมเป็นระยะเวลา ๑๔ ปี ในช่วงนี้เองทางพรรคคอมมิวนิสต์ได้จัดวางกำลังเพื่อความสะดวกในการควบคุมและดูแลชาวบ้านผาจิออกเป็น ๓ หมู่บ้าน คือ

๑) บ้านธงแดง  ๒) บ้านเอกราช  ๓) บ้านต่อสู้  โดยในแต่ละหมู่บ้านจะมีคณะกรรมการหมู่บ้านดังนี้

๑. กรรมการฝ่ายปกครอง

๒. กรรมการฝ่ายป้องกัน  (หัวหน้าทหารบ้าน)

๓. กรรมการฝ่ายเศรษฐกิจ  (สหกรณ์)

๔. กรรมการฝ่ายอนามัย

๕. กรรมการฝ่ายสตรี

     โดยให้แต่ละหมู่บ้านมีการจัดตั้งการทำงานรวมหมู่ในระบอบสหกรณ์ โดยได้รับส่วนแบ่งตามแรงงานที่ได้ทำเท่าเทียมกันอย่างเสมอภาคต่อมาประชาชนบ้านผาจิได้ร่วมกับประชาชนบ้านผาช้าง หรือบ้านฉลองกรุง อีก ๓ หมู่บ้าน คือ บ้านร่วมใจ บ้านยืนหยัด และบ้านลูกไฟ 

     ประชาชนทั้ง ๖ หมู่บ้านได้จัดตั้งเป็นสภาตำบลขึ้นให้มีหน้าที่บริหารงานในด้านต่างๆ ของฝ่ายอำนาจรัฐทั้งสองหัวภูผาจิ และผาช้างทั่งทั้งเขต

     พ.ศ. ๒๕๒๕ รัฐบาลได้ประกาศนโยบายที่ ๖๖/๒๓ แผนยุทธการสุริยพง  ประชาชนผาจิทั้งหมดได้พร้อมใจกันเข้ามอบตัวกับรัฐบาลเพื่อพัฒนาจังหวัดน่านและได้เข้าอบรมที่ศูนย์กรุณยเทพ จังหวัดน่าน เป็นระยะเวลา ๓ เดือนและในปีเดียวกันได้กลับมายังพื้นที่เดิม ตามโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงของกองทัพภาคที่ ๓

     พ.ศ.๒๕๒๖ กองทัพภาคที่ ๓ ได้เริ่มดำเนินการตามโครงการพัฒนาพื้นที่ดอยผาจิโดยเริ่มสร้างถนนจากบ้านผาตั้ง เข้าบริเวณลำน้ำสาวและออกไปบ้านสบขุ่น และอีกสายหนึ่งจากบ้านปี้เหนือ มาบรรจบที่ลำน้ำสาว และพัฒนาที่บริเวณลำน้ำสาวให้ชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัย

     พ.ศ. ๒๕๒๗ ชาวบ้านก็เข้ามาตั้งหมู่บ้านในพื้นที่จัดสรรในบริเวณลำน้ำสาวตามโครงการ

     พ.ศ. ๒๕๒๘ หมู่บ้านสันติสุขได้ถูกจัดตั้งเป็นหมู่บ้านตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย

  • บ้านสบขาม คำว่า “สบขาม” มาจาก ลำน้ำควร ไหลไปเจอกับ ลำน้ำขาม กิริยาดังกล่าวนี้ชาวบ้านจึงเรียกว่าสบขาม เดิมที นายโทน บุญเทพ ได้นำเอาชาวบ้านจากอำเภอสา  จังหวัดน่าน มาก่อตั้งบุกเบิกสร้างบ้านทำมาหากินโดยมี นายไชยา ปัญญามูล เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก             หมู่บ้านนี้อยู่ห่างจากตัวอำเภอไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๑๕ กิโลเมตร
  • บ้านแสงไทร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ เจ้าหน้าที่ ก.อ.ร.ม.น. เชียงรายได้อพยพชาวบ้านจากบ้านแม่ต๋ำน้อย ตำบลปิน อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดเชียงราย (ปัจจุบันบางส่วนขึ้นอยู่กับตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา) จำนวน ๑๒ หลังคาเรือน เข้ามาอยู่ที่ศูนย์อพยพชาวเขาบ้านสบขาม หมู่ที่ ๘ ตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดเชียงราย (ขณะนั้น)

                พ.ศ. ๒๕๒๐ มีชาวเขาย้ายมาจากหมู่บ้านห้วยซ่าน หมู่ ๑๑ บ้านนาหนุน หมู่ ๑๒  ตำบลภูซาง อำเภอเชียงคำ มาเพิ่มอีก ๒๐ หลังคาเรือน

                พ.ศ. ๒๕๒๒ ผู้เข้าร่วมพัฒนาชาติไทยที่ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้ดูแลสนับสนุน จำนวน ๒๐ หลังคาเรือนจากอำเภอเชียงคำ มาเพิ่มอีก

                พ.ศ. ๒๕๒๔ ฝ่ายความมั่นคงได้มอบหมายให้ทางศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาเป็นผู้ดูแลต่อ โดยเปลี่ยนชื่อเป็นหน่วยพัฒนาสงเคราะห์ชาวเขาบ้านสบขาม

                พ.ศ. ๒๕๒๘ อำเภอปงได้พิจารณาสัญชาติไทยให้กับราษฎรในหมู่บ้านที่ขึ้นกับบ้านสบขาม

                ในวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๓๙ กรมการปกครองได้ประกาศแยกหมู่บ้านสบขาม หมู่ที่ ๘  เป็นบ้านแสงไทรงาม หมู่ที่ ๙ และวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๓๙ มีการเลือกผู้ใหญ่บ้านโดยมี นายสมบูรณ์ วิวัฒน์วิทยา เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

  • บ้านน้ำริน เป็นหมู่บ้านที่แยกมาจากบ้านสบขาม หมู่ที่ ๘ เมื่อวันที่ ๑๖  มีนาคม ๒๕๔๑ โดยมี นายสนั่น ยะกิจ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก
  • บ้านสารถี บ้านแห่งนี้ได้แยกออกมาจากบ้านผาตั้ง หมู่ที่ ๖ เมื่อ วันที่ ๒๙  สิงหาคม ๒๕๔๔ โดยมี นายมานัด บุญศรี เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก
  • บ้านสันกลาง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ มีชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัย เดิมชื่อว่าบ้านปางยา เหตุเพราะมีราษฎรมีอาชีพทำไร่ยาสูบกันมาก ครั้งแรกได้อยู่ในเขตการปกครองของหมู่บ้านน้ำปุก ตำบลควร อำเภอปง จังหวัดเชียงราย (ขณะนั้น) โดยมี นายตา อินธิยา เป็นผู้ใหญ่บ้าน

                ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ อำเภอพะเยายกฐานะเป็นจังหวัดพะเยา จึงทำให้หมู่บ้านแห่งนี้แยกออกจากบ้านน้ำปุกเป็นหมู่ที่ ๑ ตำบลขุนควร โดยมี นายพร อินธิยา เป็นผู้ใหญ่บ้านที่ปกครองทั้งสองหมู่บ้านทั้งนี้เพราะมีระยะห่างกันแค่ ๒ กิโลเมตร

                ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้มีคำสั่งจากกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่ชื่อบ้าน  สันกลาง หมู่ที่ ๑๒ โดยมี นายศักดิ์ อำมาตย์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก และอยู่ได้ไม่นาน นายยุทธ  มานะ จึงได้เป็นผู้ใหญ่บ้านต่อมา 

 

๕.๓. ตำบลนาปรัง

            คำว่า  “นาปรัง” มีคนเล่าว่า เป็นลักษณะของนาพัง (ภาษาถิ่น) หมายถึงที่นาพังทลาย มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับตำบลออย อำเภอปง ทิศใต้ ติดกับตำบลปง อำเภอปง ทิศตะวันออก ติดกับอำเภอจุน ทิศตะวันตก ติดกับตำบลควร อำเภอปง

     ปัจจุบันมีเขตการปกครอง จำนวน ๙ หมู่บ้าน คือ  บ้านนาปรัง  บ้านบุญยืน  บ้านหมุ้น  บ้านดอนแก้ว  บ้านบ่อค้าง  บ้านห้วยแม่แดง  บ้านหนองท่าควาย  บ้านห้วยคอกหมู  บ้านแสนสุข

 

๕.๔. ตำบลผาช้างน้อย

                เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ ชาวบ้านได้ย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดน่าน ขึ้นอยู่กับจังหวัดน่านต่อมาได้ขึ้นอยู่กับอำเภอปง ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา เช่น เย้า ม้ง ส่วนใหญ่ยังรักษาขนบธรรมเนียมดังเดิมอยู่มาก คือนับถือผีและผีบรรพบุรุษอย่างเหนียวแน่น 

     มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับตำบลแม่ลาว ตำบลฝายกวาง และตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ ทิศใต้ ติดกับตำบลยอด อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน และตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดน่าน ทิศตะวันตก ติดกับตำบลงิม ตำบลควร และตำบลขุนควร อำเภอปง

                ปัจจุบันมีเขตการปกครอง จำนวน ๗ หมู่บ้าน คือ บ้านปางค่า  บ้านห้วยกอก  บ้านปางพริก  บ้านปางมะดอ  บ้านน้ำต้ม  บ้านปางค่าเหนือ  บ้านสิบสองพัฒนา

 



[1] เรื่องเดียวกัน. หน้า ๘๕.

หมายเลขบันทึก: 442969เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2011 08:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 11:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท