แทนคำขอบคุณ (สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดครับ)


ก่อนอื่นต้องขออภัยอาจารย์หมอเป็นอย่างยิ่งครับที่ตอบคำถามข้อที่ 4 และ 5 ช้ากว่าคนอื่น ๆ ครับ

เพราะเป็นข้อคำถามที่หนักใจมากที่สุดเลยครับ จนผมเองต้องกลับมานอนคิดอยู่หลายตลบว่าจะตอบอาจารย์หมออย่างไรดีครับ

สิ่งที่ต้องทำให้กลับมานอนคิดก็คือ คิดอยู่ว่าจะตอบอย่างไรดี จะตอบความจริงดีไหม จะตอบจริงทั้งหมด ตอบจริงบ้างไม่จริงบ้าง หรือตอบแบบไม่จริงเลยดีครับ เป็นสิ่งที่หนักใจมาก ๆ ครับ

เพราะตอนนี้เริ่มรู้สึกว่าโดนเขม่นจากหลาย ๆ ฝ่ายทั้งทางเพื่อนและจากหลักสูตรฯ หลังจากที่มีวาทกรรมพัฒนบูรณาการศาสตร์และบันทึกแบบบ่น ๆ นำเสนอออกไปครับ

แต่หลังจากคิดใคร่ครวญอย่างถ้วนถี่แล้วก็ได้คำตอบครับว่า ความจริงก็คือความจริง และความจริงที่สุดนั่นก็คือความจริงแท้ ประกอบกับกัลยาณมิตรที่เคยให้ข้อคิดกับผมไว้ว่า ถ้าผมไม่พูดแล้วใครจะกล้าพูด ครับ ก็เลยขออนุญาตตอบคำถามของอาจารย์หมอในข้อที่ 4 และ 5 ครับ

โดยขอนำเสนอแบบเบา ๆ ที่สุดครับ ซึ่งอาจจะดูไม่เป็นทางการไปบ้าง

ต้องกราบขออภัยล่วงหน้าครับ


  

4. มีความไม่สะดวกอย่างไรบ้างในการเขียนบันทึกลงบล็อก

สำหรับความไม่สะดวกนั้น ก็ยังเป็นปัญหาเดิมครับ นั่นก็คือระบบ Internet ของมหาวิทยาลัยที่ค่อนข้างช้าในการสื่อสารเข้าสู่ระบบ Internet และเครือข่าย www ครับ  (แต่เข้าดูข้อมูลของ มอบ. เร็วมาก ๆ ครับ)

ช้าแต่ใช้ได้ครับ เพียงแค่เพิ่มเวลาทำงานจาก 1 ชั่วโมงเป็น 4 ชั่วโมงเท่านั้นเองครับ

ปัญหานี้อาจจะเป็นปัญหาที่ผมนำเสนอคนเดียวครับ ถ้านับจากจำนวนนักศึกษาทั้งหมดที่กำลังศึกษาอยู่ ณ ขณะนี้

เพราะความจริงตามบริบทนั้น คนที่จะประสบกับปัญหานี้อย่างหนักและโดยตรงที่สุดมีเพียง 2 คนครับ ก็คือนางสาวพิไล กับตัวของผมเองครับ แต่สำหรับน้องพิไลนั้น คงจะยังไม่มีความกล้าหาญและบ้าบิ่นเพียงพอที่จะออกมายืนหยัดอยู่คนละฟากกับ Social Norm หรือระบบประชาธิปไตยนิยมอย่างผมครับ

สาเหตุที่มีเพียงผมและพิไลที่ต้องประสบปัญหาความไม่สะดวกในการลงบล็อกเนื่องจากระบบ Internet ของม.อุบล เพราะเนื่องจากข้อจำกัดทางด้าน ทุน และ ทางเลือก ครับ ที่ผมไม่มี ทุน และ ทางเลือก เหมือนกับนักศึกษาท่านอื่น ๆ ครับ

ปัญหาเรื่อง ทุน และ ทางเลือก เกิดขึ้นเนื่องจากผมเองมิได้ทำงานราชการและลามาศึกษาต่อเหมือนท่านอื่น ๆ จึงไม่ได้รับเงินเดือนและสวัสดิการมากมายเหมือนกับท่านอื่น ๆ 

ประกอบกับภูมิลำเนาบ้านเกิดที่อยู่ห่างไกลจากจังหวัดอุบลราชธานีมากที่สุด ยิ่งทำให้ ทุน และ ทางเลือก แทบจะไม่มีให้เลือกครับ

เพราะถึงแม้มี ทางเลือก แต่ก็ไม่มี ทุน หรือแม้มี ทุน แต่ก็ไม่มี ทางเลือก ครับ

แต่ผมเองก็ได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยตนเองอย่างมากที่สุดครับ ในขั้นแรกมี ทางเลือก ที่ดีเข้ามาตั้งอยู่หน้าหอพัก ไม่ไกลเลยครับเพียงแค่ 20-30 เมตรเท่านั้น ก็จะมี อินเทอร์เนท คาเฟ่ มาตั้งไว้ให้บริการครับ

ถึงแม้ว่ามีทางเลือกที่ดี แต่ ทุน ไม่มีก็ต้องหาทางเลือกอื่นครับ เพราะช่วงที่เข้าไปใช้บริการจากร้านอินเทอร์เนท นั้น ถึงแม้ว่าจะมีค่าบริการถูกมาก ๆ เพียงชั่วโมงละ 12 บาท แต่ก็ต้องช่างใจเปรียบเทียบกับค่าอาหารตลอดครับ เพราะค่าข้าวราดแกงที่นี่จานละ 15 บาท

ว่าผมจะเลือกมีชีวิตอยู่หรือจะเลือกใช้อินเทอร์เนทดีครับ

ตอนนั้นก็พยายามหาทางเลือกอื่นครับ โดยได้ขออนุญาตเข้าใช้ห้องคอมพิวเตอร์ที่หลักสูตรฯ จัดให้ไว้นอกเวลาราชการครับ เพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดของช่องสัญญาณระหว่างเวลาที่นักศึกษาภาคปกติใช้ในเวลากลางวัน ก็ได้รับความสะดวกและทำงานได้เร็วมากขึ้น แต่ก็มีปัญหาติดขัดด้วยเทคนิคส่วนบุคคลครับ คือเรื่อง กลัวผี ครับ

อาจเป็นเพราะเนื่องจากตอนเด็ก ๆ ดูหนังผีมากไปหน่อยครับ จึงทำให้เกิดอาการ  หลอน ครับ เวลาที่ต้องนั่งทำงานอยู่ในตึกเพียงขนาดใหญ่คนเดียวตอนกลางคืนครับ ทางหลักสูตรฯบอกว่า ใช้ได้ตลอดทั้งคืนเลย แต่ผมคงไม่ไหวครับ แค่นั้นก็แทบแย่ครับ

และอุปสรรคอีกอย่างหนึ่งก็ตามมาครับ เนื่องจากเวลาที่เดินกลับหอตอนดึก ๆ คนเดียว น้องหมาก็เห่าและไล่ตามกัดบ้างครับ เพราะระยะทางจากตึกคอมฯ ถึงหอพักประมาณ 1 กิโลเมตรครับ ใช้เวลาเดินเท้าความเร็วสม่ำเสมอใช้เวลาประมาณ 15 นาที ครับ

แต่ปัญหานี้ก็พอแก้ได้ครับ เพราะบางครั้งก็เจอนักศึกษาใจดีครับ จำได้ว่ามีรุ่นพี่น่ารัก ๆ พักอยู่หอเดียวกัน ถ้าน้องเขาเห็นก็จะรับไปด้วยกันครับ

และตอนนี้ถ้าทำงานตอนกลางคืนก็จะยืมรถมอเตอร์ไซด์จากน้องคนหนึ่งที่เรียนด้วยกันมาใช้ขี่กลับหอตอนดึก ๆ ครับ

ปัญหาทุกอย่างแก้ได้ครับ แต่ก็มีความไม่สะดวกเล็ก ๆ น้อย ๆ ครับ เพราะ ทุน กับ ทางเลือก ไม่ค่อยไปด้วยกันเท่าใดนักครับ


 

5. มีอะไรอีกที่ นักศึกษา อยากแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับทาง มอบ. และ สคส. ในเรื่องการเรียนของตน

 

มีครับ แต่มิใช่ข้อแลกเปลี่ยนครับ เป็นเพียงคำถามซึ่งค้างคาใจมาหลายสัปดาห์ครับ

คำถามที่ขออนุญาตถามทางหลักสูตรฯ , มอบ., สคส., และมหาวิชชาลัยภาคอีสาน ก็คือเรื่องของการตั้งหลักสูตร พัฒนบูรณาการศาสตร์ ครับ ในส่วนเรื่องของ บล็อก และการจัดการความรู้และมหาวิชชาลัยภาคอีสาน ว่าเป็นวิสัยทัศน์ร่วมกันตั้งแต่ตั้งหลักสูตรพัฒนบูรณาการศาสตร์เลยหรือเปล่าครับ

เพราะตั้งแต่ผมได้เข้ามาเรียนและเจอเพื่อน ๆ พี่ ๆ ชาว พัฒนบูรณาการศาสตร์ ก็พบว่า  พัฒนบูรณาการศาสตร์ มีหลายประเภทมากครับ

ตั้งแต่แบบที่มี KM แบบที่ไม่มี KM

แบบที่ต้องลงพื้นที่มหาวิชชาลัยภาคอีสาน และแบบที่ไม่ต้องลงพื้นที่

แบบที่เรียนก็ได้ แบบที่ไม่เรียนก็ได้

หรือแบบที่มีทั้งเรียน มี KM ต้องลงพื้นที่ ฯลฯ

คือคำถามที่ผมคาใจมาก ๆ ก็คือ มาตรฐานของบัณฑิตที่เรียกว่า พัฒนบูรณาการศาสตร์ เป็นอย่างไรเหรอครับ (ผมเคยถามทางหลักสูตรแล้วครับ แต่คำตอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่สอดคล้องกันครับ)

เพราะบริบทของผมแตกต่างจากท่านอื่น ๆ ครับ เพราะผมไม่ได้มาเรียนเพื่อปรับวุฒิ หรือปรับเงินเดือน แต่ผมต้องนำปริญญาบัตรใบนี้ ซึ่งถือได้ว่าอาจจะเป็นปริญญาบัตรตามหลักสูตรใบสุดท้ายของชีวิต เดินออกไปสมัครงาน

ผมจะได้อธิบายคนที่ถามหรือสัมภาษณ์ผมถูกว่า พัฒนบูรณาการศาสตร์ คืออะไรครับ

และจะต้องสร้างคุณภาพของตนเองเพื่อเข้าแข่งขันในตลาดแรงงานและทำประโยชน์กับสังคมและประโยชน์ชาติให้ได้มากที่สุดครับ

เพราะระยะเวลาที่ผ่านมาที่ได้เห็นเพื่อน ๆ พี่ ๆ และน้อง ๆ ทำงานนิพนธ์กัน ถ้าไม่บอกว่าเรียนสาขาอะไร ก็อุปมาอุปมัยได้ตั้งแต่ บางคนก็เรียนเอกท่องเที่ยว เอกการโรงแรม เอกพัฒนาชุมชน เอกเกษตรศาสตร์ เอกการจัดการระหว่างประเทศ

หรือจะว่าต้องบูรณาการ KM เข้ากับงานวิจัยก็ไม่ใช่อีกครับ เพราะบางคนไม่ต้องทำไม่ต้องเรียน KM ก็ได้

หรือจะว่าต้องเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน บางคนก็ไม่ต้องลงพื้นที่ในมหาวิชชาลัยภาคอีสานก็ได้อีก ไม่ต้องมีปราชญ์ชาวบ้านเป็นที่ปรึกษาก็ได้

ผมก็เลยขออนุญาตถามทาง หลักสูตร , มหาวิชชาลัยภาคอีสาน , สคส. และทาง มอบ. อีกครั้งครับ ว่า พัฒนบูรณาการศาสตร์ แท้ที่จริงแล้ว นั่นคืออะไรครับ

 

แต่ผมมิใช่คนช่างถามอย่างเดียวนะครับ ผมก็เตรียมหาทางออกและช่วยเหลือตัวเองไว้เรียบร้อยแล้วครับ ซึ่งผมเคยกล่าวไว้แล้วว่า โอกาส นี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตครับที่ได้มีโอกาสเข้ามาอยู่ในหลักสูตรที่ตามหลักการแล้วดีที่สุดในประเทศครับ

 ดังนั้นสิ่งที่ผมตั้งใจไว้ก็คือ ผมจะเขียนหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ที่เชื่อมโยงและบูรณาการสิ่งที่ดี ๆ ทั้งหมดนั้นเข้ามาให้ได้ครับ เพื่อใช้เป็นตัวดึงศักยภาพและความสามารถออกผมเองออกมาให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งไขว่คว้าหาความรู้จากโอกาสนี้ให้ดีที่สุดเช่นเดียวกันครับ

เพราะคงไม่มีใครมาดึงเราได้นอกจากเราจะดึงตัวเองครับ

ซึ่งตอนนี้ผมพยายามคิดหัวข้องานที่ท้าทายความสามารถและสามารถเค้นศักยภาพออกมาจากทั้ง ตัวเอง และ ทุน ที่พัฒนบูรณาการศาสตร์ เขียนและสร้างไว้ให้ได้อย่างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ครับ

 

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

หมายเลขบันทึก: 44265เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2006 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

อ่านแล้ว มองเห็นเบื้องหลัง ที่น่าทึ่ง

นายรักษ์สุขใช้เวลาในการเขียนบันทึกถึง 4 ชั่วโมงเชียวหรือ

1 วันมี 24 ชั่วโมง  หักออกไป 4 เหลือ 20 ชั่วโมง

20 ชั่วโมง สำหรับการพักผ่อน นอน และทำกิจกรรมอย่างอื่น 

  • แต่สำหรับผมเห็นคุณบอนลงบันทึกวันละหลายสิบบันทึก ยังสงสัยมาก ๆ เลยครับ ว่า "นายบอน" นำพลังและเวลามากมายเพียงใด ถึงได้มอบความรู้และปัญญากับ G2K ได้มากมายขนาดนี้ครับ
ไม่ได้มีพลังมากมายอะไรเลยครับ เพียงแต่เวลาวันหนึ่งในการใช้ Internet ผมมีจำกัด เลยได้แต่ลงบันทึกไว ้ไม่ค่อยได้ตอบข้อคิดเห็นได้บ่อยมากนัก  และมีข้อมูลสะสมไว้มากพอสมควรครับ เลยใช้เวลาได้น้อยในแต่ละวัน

พัฒนบูรณาการศาสตร์ คืออะไรครับ

ถ้าได้คำตอบแล้ว ขออนุญาตทราบด้วยคนค่ะ

ยาวอย่างนี้ไครจะอยากอ่านเขียนให้มันสั้นกกว่านี้ดิพี่
  • นายบอนใช้เวลาได้มีค่ามาก ๆ ครับ
  • แค่ได้อ่านบันทึกของนายบอนก็มีประโยชน์อย่างยิ่งแล้วครับ
  • ถ้าอย่างไรเขียนออกมาเยอะ ๆ นะครับ
  • ยินดีเป็นอย่างยิ่งเลยครับคุณจันทรรัตน์
  • ถ้าได้คำตอบแล้วจะรีบแจ้งอย่างเร็วเลยครับ
  • เพราะเป็นคำตอบที่ผมอยากได้คำตอบมาก ๆ เลยครับ

 

  • ขอบคุณมาก ๆ เลยครับคุณบีม
  • ถ้าชอบสั้น ๆ อย่างไร ช่วงนี้ฝากอ่าน "ละอองความรู้" ไปพลาง ๆ ก่อนนะครับ เพราะเป็นบันทึกสั้น ๆ ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท