การศึกษาดูงานและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการความรู้


KM กำแพงเพชร

การศึกษาดูงานและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการความรู้ (KM Sharing and Study Tour)

.............................................                  

            ทีมงาน KM กองพัฒนาการเกษตรพื้นที่เฉพาะ ได้มีโอกาสทัศนศึกษาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการความรู้ของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ที่ผู้สนใจด้าน KM (Knowledge Management) รู้จักกันดีว่าเป็นพื้นที่นำร่องที่ประสบผลสำเร็จในเรื่องนี้ และวันนี้ทีมงาน KM ของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร นำโดยคุณสายัณห์ ปิกวงศ์ และคุณวีรยุทธ สมป่าสัก ได้นำไปสัมผัสบรรยากาศการเล่าสู่กันฟังในพื้นที่จุดดูงาน (Best Practice) ณ กลุ่มศูนย์ข้าวชุมชน บ้านหนองกอง ตำบลนาบ่อคำ อำเภอเมืองกำแพงเพชร ทันทีที่ถึงกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหนองกอ ได้เห็นรอยยิ้มและความยินดีต้อนรับของสมาชิกกลุ่มและคุณเชิงชาย เรือนคำปา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรเจ้าของพื้นที่ได้แนะนำให้รู้จักกับกลุ่ม ซึ่งประธานกลุ่มคุณทองดี งามเสริฐ และสมาชิกกลุ่ม (นักวิจัยชุมชน) ได้พลัดกันเล่าความเป็นมาของศูนย์ฯ และถ่ายทอดประสบการณ์ให้พวกเราฟัง  

   

              การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จุดดูงาน เริ่มที่กลุ่มเล่าให้ฟังว่ากิจกรรมศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหนองกอ เกิดขึ้นเมื่อเกือบหกปีที่ผ่านมาจุดเริ่มต้นแรกคือการเกิดโรงเรียนเกษตรกรข้าว สำนักงานเกษตรอำเภอได้จัดสรรโครงการศูนย์ข้าวชุมชนทำให้กลุ่มได้มีโอกาสรู้เรื่องข้าว ซึ่งยอมรับว่าแต่เดิมที่ทำนามาไม่เคยรู้จริงตั้งแต่เรื่องพันธุ์ข้าว ปุ๋ย การดูแลรักษา ฯลฯ เมื่อทบทวนดูแล้วพบว่าความไม่รู้ทำให้ปฏิบัติแบบผิดๆ ต้นทุนสูงผลตอบแทนต่ำ ปัญหาสุขภาพไม่ดีสารเคมีตกค้าง (ผลการตรวจเลือดพบว่า 20% ของคนในหมู่บ้านมีสารพิษตกค้างในร่างกาย) และยังเคยถูกหลอก กระบวนการโรงเรียนเกษตรกรข้าวสอนให้รู้ว่าต้องเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เกษตรกรได้นำปัญหามาแลกเปลี่ยนและรับความรู้จากวิทยากรที่ถ่ายทอดโดยให้กลุ่มฝึกปฏิบัติทั้งในห้องเรียนและแปลงนา เมื่อกลุ่มได้เรียนรู้เห็นผลกับตาและมือตนเองจึงมีความมั่นใจ กลุ่มได้ร่วมกันตั้งโจทย์ในการเรียนรู้ว่าต้องการรู้อะไรตามระยะเวลาการเจริญเติบโตของข้าว ทำให้ทราบปัญหาตลอดกระบวนการผลิต ปัญหาต้นทุนสูงผลตอบแทนต่ำคือโจทย์ใหญ่ที่กลุ่มร่วมค้นหาคำตอบแล้วพบว่ากลุ่มยังใช้พันธุ์ข้าวไม่เหมาะสม การใช้ปุ๋ยและสารเคมีไม่ถูกต้องและเป็นอันตราย ผลการเรียนรู้ทำให้สมาชิกทั้ง 40 คน รู้จักการผลิตข้าวพันธุ์ดีเกิดเป็นศูนย์ข้าวชุมชนตั้งแต่ขบวนการคัดเลือกพันธุ์ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวและบรรจุกระสอบ สามารถผลิตและใช้น้ำหมักชีวภาพทำเองทดแทนปุ๋ยและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยวัสดุในท้องถิ่น 

 

             ปี 2546 โครงสร้างของกลุ่มแข็งแรงขึ้น ข้าวพันธุ์ดีของศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหนองกอได้รับการยอมรับขายดีมาก ได้รับการการันตีกระสอบบรรจุ ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับจังหวัด เกิดกองทุน จึงพัฒนาการผลิตโดยลงทุนซื้อเครื่องผสมปุ๋ยอินทรีย์มูลค่า 300,000 บาท สำรองปุ๋ยคอกเพื่อเป็นวัสดุผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ตลอดทั้งปี กลุ่มเดินทางไปดูงานภายนอกด้วยทุนของตนเองได้เห็นการทำนาข้าวครบวงจรและการเพาะข้าวด้วยเมล็ดข้าวสาร ที่บ้านทับหมัน อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร กลับมากลุ่มทดลองทำทันทีตั้งแต่ปลูกในกระถางเพื่อพิสูจน์ให้เห็นกับตาและมือตนเอง สร้างความมั่นใจก่อนถ่ายทอดต่อไป กลุ่มจะทดลองปฏิบัติทุกอย่างก่อนและแนะนำสมาชิกรายด้วยโดยแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งมาทำแปลงทดลองปลูกข้าวโดยเปรียบเทียบ 3 วิธีให้ดู แปลงที่ 1 ไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมีใดๆ แปลงที่ 2 ใช้ปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพที่ผลิตเอง แปลงที่ 3 ปลูกแบบวิธีเดิมใช้ปุ๋ยและสารเคมี และได้บันทึกไว้เป็นวีซีดี เมื่อเห็นผลที่คุ้มค่าของแปลงที่ 2 ทุกคนจึงประจักษ์ เมื่อกลุ่มได้เล่าให้ฟังแล้วทีมของเราจึงได้แสดงภาพวิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์แบบมีท่อระบายอากาศไม่ต้องกลับกองให้กลุ่มดูเพื่อแลกเปลี่ยนกัน ก่อนจบการพูดคุยทีมงานจังหวัดและอำเภอได้สรุปเรื่องราวที่คุยกันผ่านสื่อกระดาษฟางและให้ทุกคนให้คะแนนความพอใจ เมื่อดูงานในพื้นที่แล้วกลุ่มและเลขาศูนย์ถ่ายทอดฯ ได้พาไปแวะเยี่ยมชม อบต.นาบ่อคำ ได้เห็นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างองค์กรและวิธีคิดสนับสนุนอาชีพเกษตรเป็นความสำคัญลำดับแรก ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า แหล่งน้ำพอเพียง บ้านเมืองน่าอยู่ เคียงคู่เกษตรธรรมเทค

 
              

            ปัจจุบัน กลุ่มสามารถผลิตเมล็ดข้าวพันธุ์ดีในระดับปลอดภัยจากสารพิษได้เต็มพื้นที่ของสมาชิก (40 คน) ผลผลิตเฉลี่ย 700 กิโลกรัมต่อไร่ (ชัยนาท1 นาน้ำฝน) ใช้เมล็ดพันธุ์อัตรา1.5-2 ถังต่อไร่ พันธุ์ที่ผลิตคือ ชัยนาท1 กข10 สันป่าตอง1 คำนวณผลผลิตเมล็ดพันธุ์ได้แม่นยำตรงกับยอดการจองเมล็ดพันธุ์ มีการรับประกันเมล็ดพันธุ์ และผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยวัสดุในท้องถิ่นขายด้วย กลุ่มยังมีวิธีคิดก่อนรับโครงการต่างๆ ว่าจะพิจารณาว่ากลุ่มสามารถทำได้หรือไม่ จะไม่รับโดยอยากได้ของฟรี แต่อยากพึ่งตนเองก่อน ทีมดูงานได้พบว่ากลุ่มมีลักษณะเป็นนักวิจัยชุมชน เมื่อรับความรู้มาจะพิสูจน์ก่อน เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงและสามารถถ่ายทอดได้ ค้นพบทางออก ทำการเกษตรอย่างมีความสุขและพอเพียง แต่ก็มีความมุ่งมั่นพัฒนาดังวิสัยทัศน์ของกลุ่มที่ว่า เดินโซเซไปข้างหน้า ดีกว่ายืนเต๊ะท่าอยู่กับที่และสิ่งที่ได้เห็นจากการดูงานครั้งนี้พบว่าเป็นกระบวนการ KM ที่เกิดขึ้นและทำในพื้นที่ได้โดยไม่รู้ตัว

 

 ......................................................... 

หมายเลขบันทึก: 44259เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2006 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

กลับมาทำ KM ให้นักศึกษาที่เรียนวิชาเทคนิคการพัฒนาบุคลิกภาพได้ผลดี ขอบคุณวิทยากรอย่างสูง

เรียน คุณอาณัติ เป็นเรื่องเล่าที่ดีมากครับ ผมขออนุญาติทำลิงค์เพื่อนำบันทึกเป็นคลังความรู้ของกำแพงเพชรไว้เผยแพร่ต่อไปนะครับ
ยินดีต้อนรับ บล็อกเกอร์คนใหม่ อ่านแล้วเหมือนได้ไปร่วมด้วยเลยคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท