ไปอินเดีย : 6. พิธีแต่งงานแบบเตลูกู


     ค่ำวันที่ 29 กค. เป็นพิธีด้านสังคม   มีการอวยพรคู่บ่าวสาว   แล้วกินเลี้ยง   เริ่มด้วยพิธีต้อนรับซึ่งกันและกันของพ่อ-แม่เจ้าบ่าว   กับพ่อ-แม่เจ้าสาว    การต้อนรับทำโดยทาชาดที่หว่างคิ้ว   ทาขมิ้นที่หลังมือ 2 ข้าง  พรมน้ำมนตร์  และฉีดน้ำหอม    ตลอดเวลาบัณฑิตคนเดิมท่องมันตราตลอดเวลา   
 
     พอเสร็จพิธี ทีวีมาถ่ายสัมภาษณ์คู่บ่าวสาว  และพ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย   เขาถามคำถามแก่ฝ่ายแม่มากกว่า    ถามคำถามพื้นๆ   

     เสร็จแล้วเป็นการแสดงความยินดีของญาติมิตรทีละครอบครัว    แล้วถ่ายรูปร่วมกันทีละครอบครัว    จนเวลาประมาณเกือบ 3 ทุ่มคณะของเราจึงลงไปกินอาหาร ซึ่งเป็นบุฟเฟ่ต์อาหารมังสวิรัตอินเดียหลากหลายภาค    แขกที่มาแสดงความยินดีและเอาของขวัญมาให้ ลงมากินกันเต็มห้องอยู่ก่อนแล้ว     ญาติๆ ของมูราลี่ มาคอยดูแลพวกเราเป็นอย่างดี     เขาไม่กินอาหาร แต่คอยเดินคุยกับแขก

     จน 4 ทุ่ม การแสดงความยินดีก็ยังไม่จบ    พวกเราขอกลับไปนอนพักเอาแรง

    ความครึกครื้นอยู่ที่การแต่งชุดส่าหรีของแต้วและต้อง    ทำให้ได้ถ่ายรูปลูกสาว 3 คนในชุดส่าหรี 

    เราได้ทดลองถ่ายรูปหลากหลายเทคนิค

    ได้นอน 3 ชั่วโมง  ตีสองครึ่ง (วันที่ 30 กค.) ตื่นขึ้นแต่งตัว    เขาบอกว่ารถจะมารับตีสาม    ผมบอกหมออมราให้ตั้งปลุกตีสามก็ไม่เชื่อ    ผมบอกว่าเขานัดแบบแขก คือนัดเผื่อๆ ไว้   คนอินเดียเป็นคนไม่ตรงต่อเวลา    หมออมราก็ไม่เชื่อ   เอาเข้าจริงรถมารับเกือบตีสี่    ศาลาประชาคมอยู่ใกล้นิดเดียว รถวิ่งไม่ถึง 10 นาทีก็ถึงแล้ว

      ตามกำหนดฤกษ์ของพิธีฮินดู  4.30 น.   แต่พอ 4.15 น. บัณฑิตเจ้าพิธีก็เริ่มงานแล้ว    เริ่มด้วยการแสดงไมตรีระหว่างกันด้วยชาด (ทาหว่างคิ้ว)   ใช้ข้าวขวัญ (ข้าวสารสีเหลือง เดาว่าย้อมขมิ้น) ซัดใส่กัน   ดื่มน้ำมนตร์   ของพ่อแม่ทั้งสองฝ่าย

    แล้วฝ่ายครอบครัวเจ้าสาวย้ายมานั่งด้านใน    เขาเอาผ้าขาวกั้นระหว่างสองฝ่าย    ลุงของเจ้าสาวยกตะกร้า (แดง) ใส่เจ้าสาว (ในชุดสีแดง) มาด้านในผ้า    ผมนึกถึงคำว่า "ใส่ตะกร้าล้างน้ำ" ขึ้นมาทันที

     บัณฑิตท่องมนตร์แล้วให้เราว่าตามว่ายกลูกสาวให้   แล้วให้บ่าวสาวเอาดินเหนียวโปะหัวซึ่งกันและกัน   ตามด้วยเอาข้าวขวัญโปะติดกับดินเหนียว    หัวสองคนนี้ก็จะโดนโปะอย่างนี้ไปทั้งวัน  ผ้าถูกยกออกไป    กลายเป็นครอบครัวเดียวกัน   แล้วเขาเอาลูกมะพร้าวมาให้เจ้าบ่าวกับเจ้าสาวช่วยกันถือ    แม่เจ้าสาวเอาช้อนเงินตักน้ำรดลูกมะพร้าวตลอดเวลาที่บัณฑิตท่องมันตรา    น่าจะหมายถึงการช่วยกันเพาะปลูก

     แล้วเขาเอาไม้ยาวประมาณเมตรครึ่ง    ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ 10 ซม.    มีรูเจาะไว้ตรงกลาง    เอามาไว้เหนือศีรษะเจ้าสาว    ให้เจ้าบ่าวตักน้ำรดลงไปตรงรูให้ลงศีรษะเจ้าสาว    เขาอธิบายภายหลังว่าไม้เปรียบเสมือนแอกวัว   เป็นการเตือนสติว่าผัวเมียต้องเดินชีวิตให้สมดุลกัน   เหมือนวัวสองตัวเทียมเกวียน

     แล้วญาติมิตรก็มาอวยพรสาดข้าวขวัญใส่บ่าวสาวอย่างสนุกสนาน

    จบฉากแรก    ถือว่าแต่งงานกันแล้วเจ้าสาวไปเปลี่ยนชุด เป็นชุดขาว     เจ้าบ่าวอยู่ในชุดขาวอยู่แล้ว

    พิธีสวมแหวน  มัดเอว    เสี่ยงทายว่าใครจะเป็นใหญ่   มีลูก  ลูกโต  พ่อแม่สองฝ่ายและญาติมิตร อวยพร   แล้วไปส่งตัวโดยสมมติห้องที่ศาลาประชาคม    วงแตรแขกไม่ยอมให้ไป ต้องจ่ายค่ากั้นก่อน    เป็นอันจบพิธีเมื่อเวลาประมาณ ๘ โมงเช้า     ตามด้วยการกินข้าวแบบเลี้ยงจาน

     ตอนบ่ายเกือบ ๒ โมงเลี้ยงอาหารเที่ยงในหมู่ญาติสนิท     กินบนใบตอง    มีคนตักเสิร์ฟ    อาหารหลายอย่าง กินไม่หมด     ตอนนี้ถือว่าแต่งงานกันแล้ว     การเลี้ยงข้าวเที่ยงก็ถือเป็นการภายใน    แต่งตัวตามสบาย

    แต่ลูกสาวต้องไปทำพิธีเข้าบ้านสามี   โดยเราไม่ต้องไป    และพรุ่งนี้ (31 กค.) จะมีพิธี "บูจา"    เข้าใจว่าเป็นพิธีไหว้บรรพบุรุษของสามี

     สรุปว่าพิธีแต่งงานแบบย่อ   กินเวลา 4 วัน    ทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวสะบักสะบอม    เจ้าสาวหนักกว่า    และดูแม่เจ้าบ่าวจะไม่ได้นอนเลย    แต่พอจบงานซึ่งถือเป็นงานใหญ่มาก หน้าตาของแม่เจ้าบ่าวดูแช่มชื่น     ผมถามหลานสาวคนสวยของพ่อสามีใต้  (เขาเป็นวิศวกรโยธา)  ว่าถ้าเขาแต่งงานจะเลือกพิธีฉบับย่อหรือฉบับยาว (7 วัน)   เขาบอกว่าเลือกฉบับยาว    เพราะเป็นครั้งเดียวในชีวิต   

    เรานับได้ว่าเจ้าสาวสวมส่าหรี 5 ชุด   ส่วนใหญ่เป็นของราคาถูก สวยแต่ไม่ทน   ผมถามลูกสาวว่าค่าใช้จ่ายในงานคงจะหลายแสน    โดยเจ้าบ่าวจ่ายทั้งหมด    ลูกเขาว่าเจ้าบ่าวทำงานหาเงินเก็บไว้ได้มาก   เอามาซื้อคอนโดให้พ่อแม่    และเตรียมไว้แต่งงาน  

    ลูกสาวคนกลางถามว่าพ่อดีใจไหม ที่ลูกสาวขายออกไปคนหนึ่ง    ผมตอบว่า ลูกมีความสุขผมก็สบายใจ    โดยความสุขนั้นจะเป็นแนวไหนก็ได้ ตามที่เจ้าตัวเป็นผู้เลือก  

      กินข้าวเที่ยงเสร็จ พ่อแม่เจ้าบ่าวมีขนมแต่งงานมอบให้ญาติมิตรคนละถุง     พวกเราก็เอามาคนละถุง     ได้กินที่สนามบินแก้หิว และอร่อยดี

       เป็นธรรมเนียมว่าวันนี้ทั้งวัน    มูราลี่กับใต้ห้ามแยกกัน    แต่พ่อสามีก็บอกให้ใต้ตามมาส่งพวกเราโดยติดรถมาที่พัก   เพื่อขนของไปที่สนามบิน     แสดงว่าคนสมัยใหม่เขาไม่ถือเคล็ดเหล่านี้    แบบเดียวกับบ้านเรา   

       ผมได้กล่าวกับแม่เจ้าบ่าว (ชื่อกุมารี) ว่าเราประทับใจในงาน    และการให้เกียรติใต้และครอบครัวเรามาก    และเชิญพ่อแม่เจ้าบ่าวมาเที่ยวเมืองไทย เป็นแขกของเรา     เขาปลื้มใจจนต้องเช็ดน้ำตา

       การเดินทางกลับก็ทวนเส้นทางเดิมของตอนขาไป     เสียแต่ว่าเดินทางตอนดึก    ทำให้ง่วงนอน หมดแรง      กลับถึงบ้านเช้าวันที่ ๓๑ กค. ๔๙

                      

                                เจ้าบ่าวและครอบครัว

                     

 

                         บ่าวสาวกับครอบครัวเจ้าสาว

                     

 

                                     สามสาวพี่น้อง

                     

 

                         ญาติมิตรมาแสดงความยินดี

                     

 

          ในงานพิธีกรรม พ่อแม่เจ้าสาวล้างเท้าให้เจ้าบ่าว

                            

 

         ลุงของเจ้าสาวหามตะกร้าเจ้าสาวมาเข้าพิธีแต่งงาน

                    

 

          บ่าวสาวเชื่อมสัมพันธ์กันโดยเอาโคลนโปะหัวกัน

                    

                             ชุดขาว  แต่งงานกันแล้ว

                    

                               บรรยากาศในห้องพิธี

วิจารณ์ พานิช
๓๑ กค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 44255เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2006 09:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ประทับใจคำตอบนี้ของอาจารย์มากเลยค่ะ "ลูกมีความสุขผมก็สบายใจ    โดยความสุขนั้นจะเป็นแนวไหนก็ได้ ตามที่เจ้าตัวเป็นผู้เลือก" เป็นบุญของลูกที่คุณพ่อบอกแบบนี้นะคะ ไม่แปลกใจเลยที่ลูกๆอาจารย์ช่างเป็นตัวของตัวเองกันดีเหลือเกินค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท