ประวัติว่าที่ 10 กกต.


เปิดประวัติ ว่าที่ กกต.10 คน ล้วนผ่านงานการเป็นที่ยอมรับ บางคนถูกนักการเมืองเล่นงานให้ออกจากราชการ แต่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ และมีพระบรมราชวินิจฉัยไม่ให้ออกจากราชการ
ภายหลังที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีมติเลือกผู้สมัครเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อเสนอให้วุฒิสภาคัดสวรรเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพียง 5 คน นั้น ผู้สมัครทั้ง 10 คน ล้วนมีประวัติที่น่าสนใจ น่าศึกษา ดังนี้
       
       1.นายอุดม เฟื่องฟุ้ง ผู้พิพากษาอาวุโสศาลอาญากรุงเทพใต้ เกิดวันที่ 10 ต.ค.2481 อายุ 67 ปี การศึกษาจบนิติศาสตร์บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ เคยเป็นประธานศาลอุทธรณ์ ปี 2540–2542 สำหรับตำแหน่งผู้พิพากษาบริหารที่สำคัญ เคยเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ปี 2535–2536 และขึ้นเป็นรองประธานศาลฎีกา ปี 2536–2540 อย่าไรก็ตาม ในปี 2540 เคยชิงเก้าอี้ประธานศาลฎีกากับนายปิ่นทิพย์ สุจริตกุล แต่ นายปิ่นทิพย์ ได้เป็นประธานศาลฎีกา ทำให้ต้องไปเป็นประธานศาลอุทธรณ์
       
       นอกจากนี้ ยังเคยดำรงตำแหน่งในธุรกิจที่ไม่มุ่งหวังผลกำไรด้วย เช่น นายกสภาวิทยาลัยภาคเทคโนโลยี อาจารย์ผู้บรรยายสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยไม่เคยเกี่ยวข้องทางการเมือง และไม่เคยดำรงตำแหน่งในบริษัท หรือองค์กรธุรกิจใดๆ ทำให้ได้รับความนิยมในหมู่ผู้พิพากษา และถือเป็นแกนนำคนสำคัญวิกฤตตุลาการในสาย นายประมาณ ชันซื่อ อดีตประธานศาลฎีกา ซึ่งอยู่คนละฝ่ายกับ นายสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลฎีกา
       
       2.นายวิชา มหาคุณ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา เกิดวันที่ 8 มี.ค.2489 อายุ 60 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี จบนิติศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโทจบนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดียวกัน และจบรัฐศาสตร์ภาคบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนประวัติการทำงานนั้น เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 และ 2 ทั้งนี้ ยังเคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาในช่วงที่ศาลยุติธรรมยังไม่ได้แยกออกจากกระทรวงยุติธรรม ในช่วงปี 2519 ซึ่ง ศ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ขอให้ นายวิชา เข้าไปช่วยทำหน้าที่เลขานุการส่วนตัว กระทั่งเดือนตุลาคม 2520 ศ.ธานินทร์ พ้นตำแหน่งและได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรีนายวิชา จึงกลับมาปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม โดยช่วยราชการที่ศาลอุทธรณ์ ขณะที่ดำรงตำแหน่งเลขานุการศาลฎีกา ปี 2538 ในช่วงที่เกิดวิกฤตตุลาการ ได้ถูกกล่าวหาว่า ขัดคำสั่ง รมว.ยุติธรรม และรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ออกจากราชการ แต่ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยไม่ให้ออกจากราชการ พร้อมทั้งได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ในปี 2535 และปฏิบัติหน้าที่ดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญในวิชากฎหมายและการบริหารอย่างดี และเป็นผู้พิพากษาที่มีความสามารถทางวิชาการที่สังคมรู้จัก และให้การยอมรับ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้พิพากษาที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์นโยบายที่ไม่ถูกต้องของรัฐบาล เช่น การออก พ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดิน เป็นต้น
       
       3.นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานแผนกคดีแรงงานในศาลฎีกา เกิดวันที่ 5 ส.ค.2488 อายุ 59 ปี การศึกษาจบนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งก่อนที่จะสอบเข้ารับราชการตุลาการ เคยเป็นทนายความ และสอบเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาได้เมื่อปี 2516 และมีตำแหน่งสำคัญ เช่น ผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 กระทั่งได้เป็นประธานแผนกคดีแรงงานในศาลฎีกา เมื่อปี 2548 จนถึงปัจจุบัน โดยระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิพากษาเป็นเจ้าของสำนวนและองค์คณะคดีฟ้องเพิกถอนการเลือกตั้ง ท้องถิ่นระดับเทศบาลและระดับจังหวัดหลายครั้ง
       
       ทั้งนี้ ยังเคยร่วมเป็นพยานจำเลยในคดีอาญาที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฟ้องหมิ่นประมาท หนังสือพิมพ์แนวหน้า และ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ที่เขียนบทความดูหมิ่นตุลากาศาลรัฐธรรมนูญในการตัดสินคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซุกหุ้น ด้วย กระทั่งศาลพิพากษายกฟ้องสื่อด้วย เพราะ นายวสันต์ มีบุคลิกเป็นคนซื่อตรง มีความกล้าในการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา
       
       4.นายอภิชาต สุขัคคานนท์ เกิดวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2488 อายุ 60 ปี ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา จบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 9 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสงขลา อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 และอธิบดีผู้พิพากษาภาค
       
       5.นายสมชัย จึงประเสริฐ อายุ 59 ปี ตำแหน่งปัจจุบันจนถึงวันสมัคร-ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา จบนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบเนติบัณฑิตไทย ส่วนประวัติการทำงานนั้นเคยเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ภาค 3 อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 และอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้งเป็นอย่างดี เคยพิจารณาคดีเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามาหลายคดี
       
       6.นายประพันธ์ นัยโกวิท รองอัยการสูงสุด เกิดวันที่ 20 ก.พ.2490 การศึกษาจบนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกียรตินิยมดี จบเนติบัณฑิตไทย จากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และจบการศึกษาปริญญาโท จากประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ส่วนประวัติการทำงานขณะนี้ดำรงตำแหน่งเป็นรองอัยการสูงสุด มาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งระหว่างปฏิบัติหน้าที่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด ( มหาชน) บริษัทไทยออยล์ จำกัด ( มหาชน) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ถือว่าเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในด้านนิติศาสตร์และการบริหาร อีกทั้งมีความรู้ความชำนาญในการดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญา
       
       โดยก่อนเข้ารับราชการอัยการ เคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีอัยการฝ่ายคณะกรรมการอัยการ ( ก.อ.) อธิบดีอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร อธิบดีอัยการฝ่ายคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และก่อนที่จะเป็นรองอัยการสูงสุดได้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ เคยรับผิดชอบสำนวนคดีที่สำคัญ อาทิ ค่าโง่ทางด่วน 6,400 ล้านบาทเป็นต้น
       
       7.นายสุเมธ อุปนิสากร ผู้พิพากษาอาวุโสประจำศาลอาญากรุงเทพใต้ เกิดวันที่ 9 มี.ค.2481 อายุ 68 ปี การศึกษาจบนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยก่อนเกษียณราชการในปี 2542 ได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 7 และเคยดำรงตำแหน่งตุลาการสำคัญ ในปี 2540 อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งธนบุรี ปี 2541 ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา ซึ่งระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตุลาการไม่เคยเกี่ยวข้องทางการเมือง อีกทั้งไม่เคยดำรงตำแหน่งในบริษัทหรือองค์กรธุรกิจใดๆ ทั้งสิ้น
       
       8.นายแก้วสรร อติโพธิ อายุ 55 ปี อดีตวุฒิสมาชิก กทม.จบการศึกษา- นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบเนติบัณฑิตไทย เคยเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2539 ซึ่งเป็นวุฒิสมาชิกเสียงข้างน้อยที่มีบทบาทสำคัญในการแปรญัตติในวุฒิสภาที่สำคัญๆ
       
       9.นางสดศรี สัตยธรรม ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา อายุ 60 ปี ผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ผู้พิพากษาพิจารณาคดีชำนัญพิเศษแผนกคดีปกครองของศาลฎีกา จบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตและมหาบัณฑิตจากจุฬาฯ
       
       10.นายนาม ยิ้มแย้ม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาคัดค้านคดีเลือกตั้ง เกิดวันที่ 1 เม.ย.2479 อายุ 70 ปี การศึกษาจบนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเป็นเนติบัณฑิตไทยจากเนติบัณฑิตยสภา ส่วนประวัติการทำงานนั้นเคยสอบเข้ารับราชการเป็นพนักงานอัยการ ต่อมาสอบเข้าเป็นข้าราชการตุลาการ เมื่อเป็นผู้พิพากษาได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อาทิ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุบลราชธานี จันทบุรี และชลบุรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา รวมทั้งเป็นประธานศาลอุทธรณ์ เมื่อเกษียณราชการเป็นที่ปรึกษา กกต.ชุดที่มี นายธีรศักดิ์ กรรณสูต เป็นประธาน
       
       นอกจากนี้ ยังเป็นอนุกรรมการวินิจฉัยของ ป.ป.ช.โดยดำรงตำแหน่งเป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาคัดค้านการเลือกตั้งของ กกต.ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง กกต.- ปัจจุบัน ล่าสุด ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงพรรคการเมืองว่าจ้างล้มการเลือกตั้ง โดยคณะอนุกรรมการดังกล่าวสรุปผลให้ กกต.สั่งยุบพรรครวม 5 พรรคการเมือง ซึ่งมีพรรคไทยรักไทยรวมอยู่ด้วย
หมายเลขบันทึก: 44239เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2006 08:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท