จากรายการสปันจ์ฉลาดสุดสุด... สู่กิจกรรมการกระตุ้นให้เด็กคิด เด็กตอบในห้องเรียน


นักเรียนจะชิงกันตอบ สนุกมาก แต่ก็มีบางคนตอบแบบเดาสุ่มไม่อ่านรายละเอียด ครูต้องพยายามกระตุ้นให้นักเรียนอ่าน ค้นหาคำตอบ

มูลเหตุแรงจูงใจ

 

        สืบเนื่องจากกิจกรรม"แกะรอยโคลน" ที่มีเป้าหมายให้นักเรียนแกะรอยวิธีการเขียนบทความ จากพระราชนิพนธ์โคลนติดล้อ ตอนความนิยมเป็นเสมียน  ในกิจกรรมการเรียนการสอนของวันนี้  นักเรียนกลุ่มที่สอนมีทั้งกลุ่มเด็กที่เก่งมาก ค่อนข้างเก่ง  ค่อนข้างคุยมาก  และที่มีความกระตือรือร้นในการเรียนค่อนข้างช้า

 

        กิจกรรมที่จะให้นักเรียนทำคือ บอกสาระสำคัญที่ผู้เขียนนำเสนอในแต่ละย่อหน้า เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการนำเสนอ  เมื่อครูบอกให้นักเรียนบอกสิ่งที่ผู้เขียนนำเสนอ ของย่อหน้านั้น  บางห้องสามารถบอกได้เลยโดยที่ครูไม่ต้องชี้นำ หรืออธิบายมากมาย   บางห้องครูต้องเกริ่นนำ   แต่ยังมีบางห้องที่ครูใช้คำเกริ่นนำแล้ว  นักเรียนก็ยังไม่สามารถค้นหาคำตอบได้ตรงตามเป้าหมาย  ครูจึงต้องใช้คำเชื่อม  เร้าความคิด  ยั่วยุให้นักเรียนตอบโดยใช้ วิธีการของ รายการ สปันจ์ฉลาดสุดสุด  ซึ่งมีวิธีการดังนี้

 

ขั้นตอนการดำเนินการ

        ๑.ครูแจ้งให้นักเรียนทราบว่าคาบนี้จะทำกิจกรรมอะไร  นักเรียนต้องทำอะไร

            กิจกรรม แกะรอยโคลน

            นักเรียนอ่านบทความโคลนติดล้อตอน ความนิยมเป็นเสมียนในแต่ละย่อหน้าแล้ว  บอกสาระสำคัญที่ผู้เขียนสื่อให้ผู้อ่าน  โดยยกมือตอบ (เก็บคะแนน จากการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น  โต้ตอบ ครั้งละ ๑ คะแนน)

 

        ๒. ครูเขียนเลขที่ของนักเรียนบนกระดาน  และแบ่งพื้นที่สำหรับเขียนสาระสำคัญที่นักเรียนตอบจากย่อหน้าที่ ๑ - ย่อหน้าที่ ๑๐

       

        ๓. ครูบอกคำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเขียน เรียงความ ความเรียง บทความ

๒ คำ คือ เอกภาพ และสัมพันธภาพ  อธิบายความหมายและยกตัวอย่าง

      นักเรียนอ่านเนื้อเรื่องย่อหน้าที่ ๑

             ครู: ย่อหน้าที่ ๑ ผู้เขียนเกริ่นถึง...(จุด จุด จุด)   ใครตอบได้ยกมือ

เมื่อนักเรียนตอบได้ว่า ผู้เขียนเกริ่นถึง ปัญหาหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ครูขีดที่เลขที่

ของนักเรียนที่ตอบ 

             หากยังไม่มีใครตอบถูก  ครูต้องอธิบายให้ข้อมูลเพิ่มเติม "บทความนี้คือ

โคลนติดล้อ  โคลนติดล้อคือ...จุดจุดจุด   (อุปสรรคปัญหาในการพัฒนาประเทศ) อุปสรรคหนึ่งคือ...จุดจุดจุด(ความนิยมเป็นเสมียน)  จากข้อมูลนี้พิจารณาเนื้อหาและตอบอีกครั้งว่า ผู้เขียนเกริ่นถึง...จุดจุดจุด"

 

             ครูให้ข้อมูลเพิ่มเติมและถามไปเรื่อยๆ จนได้คำตอบ  ทุกครั้งได้คำตอบใกล้เคียงและคำตอบที่ถูกต้อง ก็ต้อง ทำเครื่องหมายให้คะแนน กับเลขที่ที่ตอบ เมื่อได้คำตอบครูเขียนคำตอบบนกระดาน  นักเรียนเขียนสาระสำคัญของย่อหน้าที่ ๑ ลงสมุด

 

       ๔. นักเรียนอ่านย่อหน้าที่ ๒  ครูอธิบาย "ระหว่างย่อหน้าที่ ๑ กับ ๒ ข้อความต้องมีสัมพันธภาพ(ความเกี่ยวเนื่องกัน)  เมื่อย่อหน้าที่ ๑ ผู้เขียน เกริ่นถึงปัญหาในการพัฒนาประเทศ ฉะนั้นสาระสำคัญที่ผู้เสนอในย่อหน้านี้คือ...จุดจุดจุด"

            หากไม่มีคนตอบได้ถูกต้องในทันที ครูต้องพยายามให้ข้อมูลเพิ่มเติมจนกว่าจะมีคนตอบได้  เมื่อมีคนตอบได้ครูขีดให้คะแนนเลขที่นั้นและเขียนข้อความบนกระดาน

             ย่อหน้าที่ ๒ ปัญหาดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการให้โอกาส...จุดจุดจุด (ครูต้องเพิ่มคำ หรือความ เพื่อให้นักเรียนสามารถต่อประโยคได้ตามเป้าหมาย) 

        ๕. ครูทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนครบ ๑๐ ย่อหน้า  ขณะที่ทำกิจกรรม ครูต้องพยายามกระตุ้นให้นักเรียนที่ยังตอบไม่ได้ หรือไม่มีคะแนนได้ตอบก่อน  หากนักเรียนเหล่านี้ตอบไม่ได้จึงให้โอกาสคนที่มีคะแนนแล้ว  ขณะเดียวกันครูต้องชี้ให้เห็นสิ่งที่แสดงถึง "เอกภาพ" "สัมพันธภาพ"  เมื่อครบ ๑๐ ย่อหน้านักเรียนส่งสมุด

 

            สาระสำคัญจากทั้ง ๑๐ ย่อหน้าที่นักเรียนช่วยกัน อ่าน คิด หาคำตอบจากวิธีการนี้

         ย่อหน้าที่ ๑. ปัญหาสาเหตุหนึ่งของการพัฒนาประเทศ

                      ๒. สาเหตุสืบเนื่องมาจากการให้โอกาสทางการศึกษา

                      ๓. ผลจากการให้โอกาสทางการศึกษาทำให้คนกลุ่มนี้มีค่านิยมในการประกอบอาชีพรับราชการ

                      ๔. บอกเล่าถึงพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้

                      ๕. ความคิดของคนที่มีการศึกษาที่มีต่อการรับราชการและสิ่งที่ทำให้เขาคิดเช่นนั้น

                      ๖. ความคิดที่ต้องการเปลี่ยนค่านิยมของผู้เขียนที่สะท้อนมาในรูปของคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ (วิธีการหนึ่งในการเสนอแนวคิดในการเขียนบทความ)

                      ๗. สาเหตุของปัญหาในย่อหน้าที่ ๕ และแนวทางแก้ไข

                      ๘. เมื่อดำเนินการแก้ไขตามย่อหน้าที่ ๗ ปัญหาที่จะเกิดตามมาคือ...

                      ๙. แนวทางในการเปลี่ยนค่านิยมให้คนกลุ่มนี้ได้คิดว่าอาชีพทำนาทำสวนก็มีเกียรติยศ

                    ๑๐. จบด้วยการเชิญชวนให้ผู้อ่านได้ช่วยกันเปลี่ยนค่านิยมในการเป็นข้าราชการ (วิธีการจบบทความวิธีหนึ่ง)

 

 บรรยากาศการเรียนรู้

         ๑.นักเรียนจะชิงกันตอบ สนุกมาก แต่ก็มีบางคนตอบแบบเดาสุ่มไม่อ่านรายละเอียด  ครูต้องพยายามกระตุ้นให้นักเรียนอ่าน ค้นหาคำตอบ

         ๒. ครูจะเหนื่อยมาก ต้องยืนหน้าชั้นตลอด  และใช้คำยั่วยุ เร้าให้นักเรียนอ่าน  คิด  ค้นหาคำตอบ  และให้กำลังใจตลอดเวลา

      

 

     หมายเหตุ 

สปันจ์ ฉลาดสุดสุด หรือชื่อเดิมของรายการในประเทศไทยคือ ฟองน้ำอัจฉริยะ ฉลาดสุดสุด (อังกฤษ: Sponge) เป็นเกมโชว์แนววิทยาศาสตร์ จากประเทศเกาหลีใต้ ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศเกาหลี KBS จากประเทศเกาหลีใต้ โดยชื่อของรายการ ณ ปัจจุบันของประเทศเกาหลี คือ Sponge 2.0 ซึ่งประเทศไทยได้นำรายการนี้มาออกอากาศทุกวันพฤหัสบดี เวลา 20.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี

    

สปันจ์ ฉลาดสุดสุด - วิกิพีเดีย

 

หมายเลขบันทึก: 441651เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2011 17:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มาเยี่ยมบันทึกใหม่ ของคุณครู ขอให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง คนในวัยนี้คงไม่หวังอะไรให้ตนเอง นอกไปจากการขอให้มีสุขภาพดี ไปไหนมาไหนได้สะดวกตามใจ..

นมัสการพระคุณเจ้า 

  •    ขอบพระคุณค่ะ  (ย้ำจริงๆ กับความเป็นจริงแห่งสังขารนี่)

 

 

ขอบคุณดอกไม้จาก

Ico24 พระมหาวินัย ภูริปญฺโญ ทิวาพัฒน์ และ Ico24 ✿อุ้มบุญ ✿.

สวัสดีค่ะ คุณครูปภินวิช pap2498 ถนอมวงศ์

      ครูภาทิพ จะประสบความสำเร็จในการสอนต่อเมื่อมีเวลาเตรียมการสอนเท่านั้นค่ะ

หากยุ่งกับภารกิจอื่นมาก ไม่มีเวลาเตรียมตัว  ก็จะมีความล้มเหลวในการสอนเกิดขึ้นค่ะ

แต่เดี๋ยวนี้ผู้ใหญ่เขาไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการสอนในห้องเรียนเลย  เขาชอบที่จะให้ครูทำหน้าที่อื่นๆ มากมาย   อยากเป็นครูสมัยก่อนที่มีหน้าที่สอนอย่างเดียว...ขอบคุณที่แวะมาค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท