ใบความรู้ที่ 6 เรื่องการศึกษาค้นคว้าและการเขียนรายงาน


วิชาการใช้ห้องสมุด

 สาระสำคัญ

               การศึกษาเป็นวิธีการศึกษาหาความรู้ เป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้ความรู้จริงต่าง ๆ ครบสมบูรณ์  ซึ่งต้องกระทำอย่างมีจุดมุ่งหมาย โดยผู้ศึกษาจะต้องตั้งจุดประสงค์ไว้ก่อนว่า  ต้องการทำอะไร ต้องการทราบอะไร  แล้วกระทำไปอย่างมีระเบียบแบบแผน โดยใช้หลักของเหตุผล                ในการศึกษา  รวบรวม  วิเคราะห์ข้อมูล 

               การเขียนรายงานการค้นคว้า เป็นการนำเสนอข้อมูลความรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า             อย่างเป็นระบบแล้วนำมาเรียบเรียงโดยมีรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน และวางแผนการทำงาน                     อย่างรอบคอบ และต้องตั้งใจเพื่อให้สามารถดำเนินการค้นคว้าและทำรายงานได้อย่างมีคุณภาพ

จุดประสงค์การเรียนรู้  

 1. อธิบายความหมายของการค้นคว้าและการรายงานได้             

2. บอกวัตถุประสงค์และความสำคัญของการค้นคว้าและการรายงานทางวิชาการได้

3.  จำแนกประเภทของรายงานทางวิชาการได้

4.  บอกลักษณะสำคัญของรายงานทางวิชาการได้

5. บอกลักษณะของรายงานทางวิชาการที่ดีได้               

6. บอกข้อบกพร่องที่พบบ่อยในการเขียนรายงานได้         

7. สามารถทำรายงานทางวิชาการจากกระบวนการศึกษาค้นคว้าได้ถูกต้องตามขั้นตอน          

8.  สามารถเขียนรายงานทางวิชาการที่มีส่วนประกอบครบถ้วน

 1.ความหมายของรายงานการค้นคว้า

           การเขียนรายงานการค้นคว้าที่ใช้กันอยู่ในสถานศึกษานั้นมีหลายประเภท หลายลักษณะ  ผู้สอนจะเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ กับระดับการศึกษา และกับข้อกำหนด               ในหลักสูตร คำที่ใช้เรียกโดยภาพรวมของรายงานการค้นคว้ามีอีกหลายคำ เช่น  รายงานทางวิชาการ  รายงานการวิจัย รายงานการค้นคว้าวิจัย  บทนิพนธ์  งานนิพนธ์ ผลงานทางวิชาการ  ส่วนในภาษาอังกฤษที่พบโดยทั่วไป คือคำว่า  paper,  report,  technical report,  term  paper  และ            research paper  เป็นต้น

           รายงานทางวิชาการ  (Report)  หมายถึง รายงานการค้นคว้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการค้นคว้า                       วิจัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เพื่อประกอบการเรียนการสอนรายวิชาใดวิชาหนึ่ง  ความแตกต่าง                             ของรายงานกับภาคนิพนธ์ “รายงานเป็นงานเรื่องเล็ก ๆ  เนื้อหาไม่ยาวนัก ใช้เวลาค้นคว้าเรียบเรียงเพียงระยะสั้น ๆ ...ส่วนภาคนิพนธ์นั้น   เป็นงานที่มีเนื้อหาละเอียด กว้าง  และลึกกว่ารายงาน         การค้นคว้าเรียบเรียงใช้เวลาตลอดภาคเรียนนั้นๆ ...”

  2.ความสำคัญของการศึกษาค้นคว้า

           การศึกษาค้นคว้า  คือ  การแสวงหาความรู้ โดยการศึกษาหาความรู้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน  ทุกวัย ความรู้มีอยู่รอบตัวเรา  มิได้มีเพียงในตำรา หรือจากคำบรรยายของครูในห้องเรียนเท่านั้น  การแสวงหาความรู้  หรือการเรียนรู้ เป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิต เพราะคนเราจำเป็นต้องเรียนรู้ตั้งแต่เกิดจนตาย การเรียนรู้ช่วยให้เกิดความคิดในหลายด้านเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านความรู้  ทักษะ  และเจตคติอันเนื่องจากประสบการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนานักเรียน         ให้เป็นผู้ใฝ่การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นบทบาทสำคัญประการหนึ่งของสถานศึกษา จะเห็นได้ว่าสถานศึกษาแต่ละแห่งสอนให้นักเรียนคิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดเป็น  ทำเป็น และฝึกการเรียนรู้          อย่างเป็นระบบเพื่อที่จะออกไปเป็นพลเมืองที่ดีและจรรโลงสังคม ดังนั้นการเรียนรู้แหล่งเรียนรู้ต่าง ๆจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่จุดหมายนี้ ทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้กว้างขวาง โดยไม่จำกัดเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น 

3.ความมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า  

           การศึกษาค้นคว้าเพื่อทำรายงานทางวิชาการ มีความมุ่งหมายดังนี้

           1.  เพื่อฝึกให้ผู้เรียนรู้จักวิธีศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง

           2. เพื่อส่งเสริมผู้เรียนให้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมให้กว้างขวางและลึกซึ้งกว่าที่เรียนในชั้นเรียน

           3. เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความสามารถในการค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ

           4.  เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นระบบ

           5. เพื่อส่งเสริมผู้เรียนให้มีความสามารถในการใช้ภาษาเพื่อสื่อความรู้ ความคิดอย่างเป็นลำดับขั้นตอนและมีระบบ

 4.กระบวนการศึกษาค้นคว้า

           การเรียนรู้หรือกระบวนการศึกษาค้นคว้า เริ่มจากการศึกษาค้นคว้าในเรื่องที่ตนสนใจ             เพื่อให้ได้รับข้อมูล สารสนเทศและความรู้  เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ การรู้วิธีค้นหาสารสนเทศ และความรู้จึงมีความสำคัญที่ช่วยให้เรามีความรู้กว้างขวางขึ้น ดังนั้นความรู้จึงมี                   2 ลักษณะ  คือ  ความรู้ในเนื้อหาวิชานั้น ๆ กับความรู้ว่าจะค้นหาความรู้ได้จากที่ใด (ดังรูปภาพ     แสดงความสัมพันธ์ของข้อมูล  สารสนเทศ  ความรู้ และปัญญา)

           กระบวนการศึกษาค้นคว้า  มี  6  ขั้นตอน ได้แก่

           1.  ความรู้ (Knowledge) เกิดขึ้นจากการได้รับข้อมูลข่าวสาร  (Information) แล้วประมวลสาระที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์หลังจากที่แต่ละคนได้เรียนรู้ จึงเกิดเป็นความรู้ติดตัวผู้เรียน         โดยวัดจากการจำได้หรือปฏิบัติได้

           2.  ความเข้าใจ (Comprehension)  คือ การที่บุคคลสามารถแปลความหมาย หรืออธิบายความหมายของสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแล้วในขั้นที่ 1  จนเกิดเป็นความเข้าใจ

           3.  การนำไปใช้ (Application) เมื่อได้เรียนรู้จนมีความรู้และความเข้าใจแล้ว สามารถนำไปใช้ได้หรือนำไปปฏิบัติงานได้อย่างดี  เช่น เรียนรู้การหาพื้นที่ของรูปสี่เหลี่ยมโดยใช้สูตร ด้านกว้าง           คูณด้านยาว

           4.  การวิเคราะห์ (Analysis) เมื่อได้เรียนรู้ถึงขั้นที่  3  แล้ว มีความสามารถในการวิเคราะห์ ที่มาของสูตรได้

           5.  การสังเคราะห์ (Synthesis) เช่นมีความสามารถในการสังเคราะห์ หรือสร้างสูตรขึ้นมาใหม่ได้

           6.  การประเมินผล (Evaluation) เมื่อได้เรียนรู้ถึงขั้นที่  5  แล้ว สามารถตัดสินหรือประเมิน  สิ่งที่พบเห็นได้ว่าถูกต้อง  ดีงามและเหมาะสมหรือไม่ (น้ำทิพย์  วิภาวิน.  2547 : 6-11)

 5.ขั้นตอนการศึกษาค้นคว้า

           ในการศึกษาค้นคว้าเพื่อทำรายงานทางวิชาการ มีขั้นตอนดังแผนภูมิต่อไปนี้

แผนภูมิขั้นตอนการศึกษาค้นคว้า

1.  เลือกเรื่องหรือหัวข้อที่จะศึกษา

2.  สำรวจแหล่งสารสนเทศ  ค้นหาสารสนเทศ อ่านและบันทึกอย่างสังเขป

ไม่เพียงพอ

3. วางโครงเรื่องขั้นตอน         

4. คัดเลือกแหล่งสารสนเทศ       

5. อ่านและจดบันทึก             

6. วางโครงเรื่องขั้นสุดท้าย       

7.  เรียบเรียงรายงานทางวิชาการ  

8. จัดทำบรรณานุกรม            

9.  จัดทำส่วนอื่น ๆ ของรายงานทางวิชาการ

10. ตรวจสอบความถูกต้อง        

11. เข้าเล่มรายงาน            

 6.ความหมายของรายงาน  

           พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ.  2546 ได้ให้ความหมายของคำว่า “รายงาน”            เป็นคำนาม  แปลว่า เรื่องราวที่ไปศึกษาค้นคว้าแล้วนำมาเสนอที่ประชุม ครูอาจารย์  หรือผู้บังคับบัญชา  เป็นต้น เป็นคำกริยา  แปลว่า  บอกเรื่องของการงาน  เช่น รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ    

  7.ประเภทของรายงาน

           โดยทั่วไปรายงานแบ่งออกเป็น  2  ประเภทใหญ่ ๆ คือ

           2.1  รายงานทั่วไป คือรายงานที่เสนอข้อเท็จจริงในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับองค์การ สถาบัน   หรือข้อคิดเห็นของบุคคล ความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ สถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว หรือกำลังดำเนินการอยู่  หรือจะดำเนินการต่อไป เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ  ได้แก่

                   2.1.1  รายงานทางราชการ  เช่น

                               1)  รายงานแสดงผลงาน เป็นรายงานซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่รายงานผลการปฏิบัติงานต่อผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงานหรือผู้สนใจทราบ

                               2)  ข้อเขียนที่เป็นคำกล่าวรายงานในพิธีเปิด – ปิด การอบรมสัมมนา  การแข่งขันกีฬา  การประกวด  ฯลฯ เป็นการรายงานให้ทราบถึงความเป็นมาของงาน  การดำเนินงาน ผู้ร่วมงาน  กำหนดระยะเวลาของงาน และลงท้ายด้วยการเชิญประธานในพิธีกล่าวเปิดหรือปิดงาน

                   2.1.2  รายงานการประชุม เป็นคำนาม  แปลว่า รายละเอียดหรือสาระของการประชุม          ที่จดไว้เป็นทางการ  (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.  2546 : 953) เป็นการบันทึก          เรื่องราวต่างๆ ที่องค์ประชุมกล่าวถึงตั้งแต่เริ่มประชุมจนสิ้นสุดการประชุม และต้องนำรายงานนี้เสนอให้ที่ประชุมรับรองในการประชุมครั้งต่อไป รายงานการประชุมเป็นเอกสารที่ใช้อ้างอิงได้            จึงต้องใช้ภาษาเป็นทางการ  กระชับ  รัดกุม และชัดเจน

                   2.1.3  รายงานข่าว คือการรายงานโดยใช้วิธีเขียนหรือพูด เพื่อรายงานเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  ผู้รายงาน ได้แก่  นักหนังสือพิมพ์  นักจัดรายการวิทยุ ผู้ประกาศข่าวทางโทรทัศน์  ฯลฯ

                   2.1.4  รายงานเหตุการณ์ เป็นรายงานซึ่งเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นผู้รายงาน เพื่อบอกเรื่องราวเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นอยู่  หรือเกิดขึ้นในขณะนั้น เสนอต่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้เกี่ยวข้องทราบ  ได้แก่ รายงานการอยู่เวรรักษาการณ์  รายงานอุบัติเหตุรถชนกัน รายงานเกิดเหตุเพลิงไหม้  เป็นต้น ซึ่งส่วนมากจะเป็นการเขียนรายงานอย่างสั้น เป็นการเขียน         ที่เน้นข้อเท็จจริง  และความถูกต้องของข้อมูล ภาษาที่ใช้ควรเป็นภาษาทางการ หรือถูกต้อง          ตามหลักไวยากรณ์  กะทัดรัด  ชัดเจน  ตรงประเด็น และคงเส้นคงวา

           2.2  รายงานทางวิชาการ  คือรายงานผลของการศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง           มุ่งเสนอผลที่ได้ตามความเป็นจริงซึ่งต้องทำตามขั้นตอน มีระบบ  มีระเบียบแบบแผนที่เป็นสากล โดยมีหลักฐานและการอ้างอิงประกอบ แล้วเขียนหรือพิมพ์ให้ถูกต้องตามรูปแบบที่สถาบันนั้น ๆ กำหนด และถือว่ารายงานเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลการเรียนการสอนของวิชานั้นๆ ด้วย

 8.วัตถุประสงค์หรือความสำคัญของรายงานทางวิชาการ

           รายงานมีความสำคัญต่อผู้ศึกษา ดังต่อไปนี้            

           3.1 ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนรู้จักวิธีการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ในเรื่องที่สนใจได้อย่างกว้างขวางลึกซึ้ง

           3.2  ช่วยให้ผู้เรียนรู้จักแหล่งข้อมูลต่าง ๆ และเกิดทักษะ รู้วิธีการค้นคว้ารวบรวมข้อมูล          จากแหล่งข้อมูลนั้น ๆ  ได้อย่างถูกวิธี

           3.3  ช่วยฝึกทักษะทางด้านการอ่าน  โดยอ่านได้เร็ว อ่านแล้วสามารถจับใจความ                    ของเรื่องที่อ่านได้  สามารถสรุปได้  วิเคราะห์ได้ และจดบันทึกได้

           3.4  ช่วยฝึกทักษะทางด้านการเขียน สามารถสื่อความหมายโดยการเขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รู้ขั้นตอน  รู้รูปแบบของการเขียนรายงาน แล้วนำเอาหลักการและแบบแผน                  ในการเขียนรายงานไปปรับใช้ในการเขียนรายงานทางวิชาการอื่น ๆ ได้ เช่น  ภาคนิพนธ์                        สารนิพนธ์ วิทยานิพนธ์  ตำรา  เป็นต้น

           3.5  ช่วยฝึกทักษะทางด้านการคิด คือสามารถคิดวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ  ได้ โดยใช้วิจารณญาณของตนเอง แสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผลโดยมีหลักฐานอ้างอิง แล้วรวบรวม                เรียบเรียงข้อมูลความคิดที่ได้ให้เป็นเรื่องราวได้อย่างมีขั้นตอน มีระบบ  เป็นระเบียบ

           3.6 สามารถเขียนรายงานประกอบการเรียนได้อย่างถูกต้องตามแบบแผน และเป็นพื้นฐาน            ในการศึกษาชั้นสูงต่อไป

           3.7  ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลของแต่ละวิชา

 9.ประเภทของรายงานทางวิชาการ

           ในการศึกษาค้นคว้ารวบรวมข้อมูลนั้นอาจเป็นการค้นคว้าจาก หนังสือ  เอกสาร  การสำรวจ  การทดลอง การสังเกต  การสัมภาษณ์  วิธีใดวิธีหนึ่ง หรืออาจใช้หลายวิธีประกอบกันก็ได้                    ในสถาบันการศึกษานั้นการเขียนรายงานถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนการสอน                        โดยผู้สอนอาจเป็นผู้กำหนดหัวข้อเรื่องที่จะทำรายงานให้ หรือให้ผู้เรียนเป็นผู้เลือกหัวข้อเรื่องเอง การทำรายงานอาจทำเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มก็ได้ ขึ้นอยู่กับขอบเขตของเรื่อง และระยะเวลา         ในการทำ  รายงานทางวิชาการอาจแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ดังนี้

           4.1  รายงาน (Report) คือรายงานที่ได้จากการศึกษาค้นคว้ารวบรวมข้อมูลซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการรวบรวมข้อมูลจากหนังสือและเอกสารต่างๆเป็นกิจกรรมประกอบการเรียนการสอน       ที่ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้า เพื่อให้มีความรู้เพิ่มเติมจากเนื้อหาที่เรียนในห้องเรียน และใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลของแต่ละรายวิชา ในหนึ่งรายวิชาอาจมีผู้รายงานได้หลายเรื่อง การนำเสนออาจเป็นลายลักษณ์อักษรหรือรายงานปากเปล่าก็ได้ แล้วแต่ผู้สอนกำหนด

           4.2  ภาคนิพนธ์  หรือรายงานประจำภาค (Term  Paper) มีลักษณะเช่นเดียวกับรายงาน เพียงแต่เรื่องที่ใช้ทำภาคนิพนธ์จะมีขอบเขตกว้างและลึกซึ้งกว่า ใช้เวลาค้นคว้ามากกว่า                 ความยาวของเนื้อหามากกว่า ดังนั้นผู้เรียนจึงมักจะได้รับมอบหมายให้ทำเพียงเรื่องเดียว                 ในแต่ละรายวิชาต่อภาคการศึกษา

           4.3  ปริญญานิพนธ์ เป็นรายงานผลการวิจัยอันเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต เรียกว่า  “วิทยานิพนธ์”  (Thesis) และตามหลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต           เรียกว่า  “ดุษฎีนิพนธ์”  (Dissertation) หัวข้อที่จะทำปริญญานิพนธ์จะต้องมีคุณลักษณะเข้มงวด        ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณจะต้องเป็นหัวข้อที่แสดงถึงความคิดริเริ่มและมีขอบเขตกว้างขวางลึกซึ้ง ศึกษาตามลำดับขั้นตอนของการทำวิจัยอย่างมีระเบียบแบบแผน ประกอบด้วยข้อเท็จจริง         และข้อเสนอแนะ

           ส่วนการวิจัยทั่วไปนั้น  หมายถึง กระบวนการเสาะแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ หรือกระบวนการเสาะแสวงหาความรู้เพื่อตอบปัญหา มีวัตถุประสงค์ที่แน่นอน  โดยอาศัยวีการทางวิทยาศาสตร์

 10.ลักษณะสำคัญของรายงานทางวิชาการ

            รายงานทางวิชาการจะมีลักษณะดังต่อไปนี้        

           5.1  เนื้อหาสาระถูกต้องตรงความเป็นจริงเชิงวิชาการ แบ่งเป็นบทหรือตอน เป็นไปโดยลำดับอย่างต่อเนื่องสัมพันธ์กันตลอดทั้งเล่ม

           5.2  มีรูปแบบการเขียนหรือพิมพ์ส่วนประกอบถูกต้อง และครบถ้วนตามข้อกำหนด                   ของรายงานแต่ละประเภท

           5.3  มีการอ้างอิง คือการบอกแหล่งที่มาของข้อมูลไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้เนื้อหา                      มีความน่าเชื่อถือและผู้อ่านสามารถค้นคว้าเพิ่มเติม หรือตรวจสอบได้ และมีรูปแบบการอ้างอิง            เป็นระบบเดียวกันตลอดทั้งเล่ม

           5.4  ภาษาที่ใช้ต้องเป็นภาษาทางการ คือเป็นภาษาที่มีลักษณะถูกต้องตามระเบียบแบบแผน    ของภาษา  สื่อความหมายตรงไปตรงมา  สั้นกะทัดรัด เข้าใจง่ายโดยไม่ต้องแปลอีกครั้ง  ได้ใจความครบถ้วน เพราะการเขียนรายงานทางวิชาการเป็นงานเขียนที่เน้นความรู้ ข้อเท็จจริง ผู้เขียน              จึงควรคำนึงถึงหลักเกณฑ์การใช้ภาษาดังต่อไปนี้

                   5.4.1  การใช้คำในภาษาไทย ให้ยึดหลัก  ดังนี้

                               5.4.1.1  ไม่ใช้คำในภาษาพูด  หรือภาษาปาก ภาษาตลาด  ภาษาคะนอง  ภาษาสแลง เพราะเป็นภาษาที่ไม่สุภาพ ซึ่งส่วนมากแล้วจะใช้สนทนาทั่วไปในชีวิตประจำวัน ในหมู่คนที่รู้จักคุ้นเคยสนิทสนมกันเท่านั้น และนิยมพูดกันในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น มักเข้าใจกัน          เฉพาะกลุ่ม  เช่น  กลุ่มวัยรุ่น หรือกลุ่มคนบางอาชีพ  เช่น  คำว่า  กิน  หมูๆ  เก๋า  ตึม  อึ๋ม  อิน                เอาว์ เช้งกะเด๊ะ  โบ๊ะ  จ๊าบ  เจ๋ง  เป็นต้น

                               5.4.1.2  คำในภาษาถิ่น หรือภาษาเฉพาะท้องถิ่นเฉพาะกลุ่ม หากจำเป็นต้องใช้          ควรมีคำอธิบายกำกับไว้ด้วย  อาจใช้วิธีวงเล็บกำกับ หรือทำเชิงอรรถอธิบายความหมายไว้ก็ได้               เช่น คำว่า  ลำแต๊  ร่อยจังหู  แซบอีหลี ม่วนขนาด  อ้อล้อ  ขอสูมาเต๊อะ

                               5.4.1.3  เลือกใช้คำให้ตรงตามความหมายที่ต้องการจะสื่อ ไม่ใช่คำที่มีความหมายกำกวม คำที่มีความหมายคลุมเครือไม่ชัดเจน คำที่มีความหมายได้หลายนัย ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจ              ไม่ตรงตามที่ต้องการจะสื่อ  เช่น  คำว่า ฉันต้องไปผ่าตัด  ใบพลูปูนอนได้  พี่เขาชอบโดดร่มเสมอ

                               5.4.1.4 เลือกใช้คำที่สามารถเข้าใจได้ง่ายโดยไม่ต้องแปลความอีกครั้ง เช่น                  คำว่า วิสัยทัศน์  กระบวนทัศน์    

                               5.4.1.5  งดใช้คำฟุ่มเฟือยไม่สื่อความหมาย เพราะการเขียนเชิงวิชาการต้องใช้ภาษา     ที่สั้นตรงไปตรงมา  เช่น ห้ามไม่ให้รับประทานอาหารก่อนถึงเวลา  ควรเขียนเป็น ห้ามรับประทานอาหารก่อนถึงเวลา คนทุกคนเกิดมาต้องการความสุขกันทุกคน  ควรเขียนเป็น ทุกคนเกิดมา              ต้องการความสุข  ในอดีตที่ผ่านมาสมบัติเป็นคนดีคนหนึ่ง ควรเขียนเป็น  ในอดีตสมบัติเป็นคนดี คณะกรรมการได้ทำการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว  ควรเขียนเป็น คณะกรรมการตรวจสอบแล้ว

                               5.4.1.6  ไม่ใช้คำย่อในภาษาเขียน เพราะอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิด หรือเกิด             ความสับสนได้ เพราะส่วนมากแล้วคำย่อจะเป็นคำที่ใช้กันเฉพาะวงการ จึงควรเขียนคำเต็ม              แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้คำย่อต่าง ๆ  ให้วงเล็บคำเต็มไว้ด้วย  เช่น ตร.  ให้เขียนเป็น  ตำรวจ                        ผอ.ให้เขียนเป็น  ผู้อำนวยการ

                               5.4.1.7 ไม่ใช้เครื่องหมายแทนคำพูดเพราะไม่เป็นที่นิยมในภาษาเขียน เช่น               % ควรเขียนเป็นร้อยละ  (ยกเว้นในตาราง)  ? ควรเขียนเป็น   อะไร  \ ควรเขียนเป็น เพราะฉะนั้น          2ฯ95  ควรเขียนเป็น วันจันทร์  ขึ้น  9  ค่ำ  เดือน  5

                               5.4.1.8 ในการเขียนศัพท์ทางวิชาการควรเลือกใช้ศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน          เล่มใหม่ล่าสุด  เช่น  คำว่า  คลินิก ให้เขียนเป็น  คลินิก  ไอศกรีม  ให้เขียนเป็น ไอศกรีม  กะทัดรัด  ให้เขียนเป็น  กะทัดรัด

                               5.4.1.9  เลขหลักเกินร้อยต้องใส่เครื่องหมายจุลภาคกำกับ เช่น  9,925,579

                               5.4.1.10  ไม่ใช้ภาษาสื่อมวลชน  ภาษาในวงการโฆษณา หรือภาษาในหนังสือพิมพ์ เพราะภาษาเหล่านั้นมุ่งใช้คำที่เร้าความสนใจ สะดุดตาผู้อ่าน  จะไม่คำนึงถึงแบบแผนในการเขียน  เช่น กีฬาลูกหนัง  คำพูดใหญ่โต  ความรู้สึกแห้งสบาย

                               5.4.1.11  ไม่ใช้คำเชื่อมหรือคำซ้ำกันบ่อย ๆ เพราะจะทำให้รายงานไม่น่าอ่าน            ควรหาคำหรือสำนวนอื่นใช้แทนจะช่วยให้ข้อเขียนได้ใจความสละสลวย เช่น  คำว่า  ก็  และ  แล้ว  หรือ ฯลฯ

                   5.4.2  การใช้คำที่มาจากภาษาอื่น ๆ ให้ยึดหลัก  ดังนี้

                               1)  คำทับศัพท์ที่ใช้กันมานานและปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานแล้วจะถือเป็นคำไทยให้เขียนเป็นภาษาไทยโดยไม่ต้องกำกับภาษาเดิม เช่น  เซลล์  เอกซเรย์  แคลคูลัส เอนทรานซ์  คอมพิวเตอร์  ฟุตบอล  อินเทอร์เน็ต

                               2)  ถ้าเป็นคำใหม่  ศัพท์บัญญัติ ศัพท์วิชาการที่เขียนทับศัพท์ ในการเขียนครั้งแรกให้กำกับภาษาเดิมไว้ด้วย และไม่ต้องกำกับอีกเมื่อเขียนครั้งต่อไป  เช่น เอนจิเนียร์  (Engineer)  ยูเรเนียม  (Uranium)

                               3)  ไม่ใช้คำในภาษาต่างประเทศที่มีคำในภาษาไทยใช้แทนได้ควรใช้คำในภาษาไทย                    เช่น  คำว่า  เปิดแอร์  ควรเขียนว่า เปิดเครื่องปรับอากาศ  สไลด์  ควรเขียนว่า ภาพนิ่ง      

                   การใช้ภาษาที่ถูกต้องเป็นทางการนั้น จะช่วยให้งานเขียนมีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับของผู้อ่าน  ดังนั้น เมื่อเขียนแล้วควรอ่านทบทวนและพิจารณา ตรวจทานแก้ไขให้รอบคอบด้วยเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นงานเขียนที่มีคุณภาพ

                   5.4.3  การเขียนประโยค การเขียนประโยคในรายงานทางวิชาการ  ควรเขียนเป็นประโยคสั้นๆ  กะทัดรัด  มีความหมายชัดเจนตรงตามที่ต้องการจะสื่อ ลักษณะของประโยคที่ดีคือจะต้องมีความสละสลวย และได้ในความชัดเจน  ดังนั้น ประโยคที่เขียนจะต้องสมบูรณ์  แสดงรายละเอียดต่าง ๆอย่างเป็นระเบียบถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ และหลักการเขียนที่ดี  กล่าวคือต้องมีประธาน  กริยา กรรม  และ/หรือส่วนขยาย นำมาเรียงลำดับกันให้ได้ความชัดเจน  กระชับ และได้                    ความต่อเนื่องเป็นลำดับกันตั้งแต่ต้นจนจบ

                   5.4.4  การเขียนย่อหน้า  ย่อหน้า ได้แก่ข้อความ หรือกลุ่มประโยคที่แสดงให้เห็นถึง         สาระแนวคิด หรือใจความสำคัญเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว ย่อหน้าจะประกอบด้วยประโยค         ที่เป็นสาระสำคัญ  หรือประโยคหลัก  และมีประโยคขยายอื่นๆ  การเขียนย่อหน้าจะช่วยแสดงความสัมพันธ์ของเรื่อง และช่วยให้ผู้อ่านจับประเด็นได้ว่า ผู้เขียนรายงานจะนำเสนอเนื้อหาอย่างไร นอกจากนั้นความสำคัญอีกประการหนึ่งของย่อหน้า คือทำให้ผู้อ่านได้พักสายตา ย่อหน้าที่ดีนั้น       ควรมีความสมบูรณ์  กล่าวคือควรเขียนให้มีเนื้อหาสาระชัดเจน ไม่นอกเรื่อง และเขียนให้มี             ความเป็นเอกภาพ คือมีความคิดหรือประเด็นสำคัญเพียงประการเดียว และมีข้อความขยายที่เป็น       เรื่องเดียวกัน และนอกจากนั้นเมื่อเขียนย่อหน้าควรเรียบเรียงข้อความให้สัมพันธ์กัน ไม่กระโดด        ข้ามไปข้ามมาทั้งภายในย่อหน้าเดียวกัน และระหว่างย่อหน้ากับย่อหน้า ผู้เขียนรายงานจะเริ่มขึ้น        ย่อหน้าใหม่เมื่อจะกล่าวถึงความคิด  หรือสาระสำคัญอื่น ๆต่อไป  หรือเมื่อต้องการยกตัวอย่าง            และเมื่อผู้เขียนต้องการแสดงให้ความแตกต่างของประเด็นที่ตรงกันข้าม หรือต้องการสรุปความคิด          ที่กล่าวมาแล้วในย่อหน้าก่อน

                   5.4.5  การลำดับย่อหน้า การเรียบเรียงข้อความเนื้อหาให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน นอกจากจะต้องคำนึงถึงภายในแต่ละย่อหน้าแล้ว ผู้เขียนยังต้องคำนึงเสมอว่า  ข้อความในย่อหน้าคิดกันจะต้องมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นไปตามลำดับสอดคล้องกับโครงเรื่องด้วย

หมายเลขบันทึก: 440950เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2011 23:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2018 12:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะ อ.จุฑามาศ

ดิฉันสอนวิชาห้องสมุดระดับมัธยมอยู่ที่จังหวัดเชียงรายค่ะ พยายามเขียนแผนการสอนและเนื้อหาอยู่นาน ก็ไม่ถูกใจซะที จนมาเปิดเจอแผนและใบความรู้ของอาจารย์ ทำให้แผนของดิฉันเสร็จสมบูรณ์ จึงขอขอบคุณอาจารย์มากค่ะ ยังไงดิฉันจะติดตามความเคลื่อนไหวของข้อมูลของอาจารย์อยู่ตลอดเลยค่ะ

ดิฉันกำลังศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ค่ะและได้รับมอบหมายจากอาจารย์ให้ทำรายงานวิชาห้องสมุดพอดีเลย

หนูต้องขอขอบคุณมากนะค่ะสำหรับข้อมูล เพราะมันฃ่วยให้หนูทำงานได้รวดเร็วขึ้นมากเลยค่ะ

สวัสดีค่ะอ.จุฑามาศ

ตอนนี้หนูเรียนโทหลักสูตรและการสอนกำลังอยู่ในช่วงทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งหนูได้ทำเรื่องการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาการใช้ห้องสมุดหนูขอนุญาตนำแผนการสอนของอาจารย์มาเป็นส่วนหนึ่งของการทำหลักสูตรนะค่ะขอบคุณค่ะ

ขอบคุณมากครับ อ. จุฑามาศ  ที่กรุณาอนุเคราะห์ เผยแพร่เอกสารข้อมูลทางการศึกษา  ข้อมูลของ อ. สามารถนำไปประยุกต์ กับการเขียนรายงาน ในรายวิชา Is  ได้พอดี ขอขอบพระคุณในความเอื้อเฟื้อเผยแพร่เอกสาร ท้ายนี้ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยดลบันดาลให้อาจารย์ และครอบครัวประสบแต่ความสุขตลอดไป

สุดยอดครับ

ขออนุญาตนำไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนนะคะ ขอบคุณค่ะ

ไร้สาระกุโดนครุด่าด้วย

ไร้สาระกุโดนครุด่าด้วย

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท