สุขภาวะของครูท่ามกลางความรุนแรงในพื้นที่พหุวัฒนธรรม


สุขภาวะของครูท่ามกลางความรุนแรงในพื้นที่พหุวัฒนธรรม

สุขภาวะของครูท่ามกลางความรุนแรงในพื้นที่พหุวัฒนธรรม
ผศ.ภก.พงค์เทพ  สุธีรวุฒิ
สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

บทนำ(นพ. ประเวศ วะสี)
         ณ ขณะนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก  เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างยิ่ง เนื่องจากสังคมซับซ้อน (complexity) เพิ่มมากขึ้น   ที่สำคัญคือโครงสร้างอำนาจรัฐเดิม ไม่สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้เพียงลำพังอีกต่อไป  จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยฐานวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง เป็นภูมิคุ้มกันและเป็นตัวร่วมในการแก้ปัญหา  
วัฒนธรรม เป็นสิ่งที่สะท้อนถึง การใช้วิถีชีวิตร่วมกันของคนในชุมชน เป็นรากของความเชื่อและการแสดงออก  เป็นบ่อเกิดของความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อม และคนกับคน วัฒนธรรมจึงเป็นรากที่แน่นหนาเป็นฐานสำคัญของสังคม     ปัจจุบัน กระแสวัฒนธรรมตะวันตก  ทุนนิยม วัตถุนิยม ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ตัดรากของสังคม เป็นตัวบั่นทอนความเข้มแข็งของชุมชน ทำให้ไม่สามารถใช้ฐานวัฒนธรรมที่เคยเข้มแข็งแก้ปัญหาอันเป็นวิกฤติของสังคมได้ดังเคย
ท่ามกลางวิกฤติชายแดนภาคใต้ และ ความถดถอยของฐานวัฒนธรรมเดิม  การแก้ปัญหาจำเป็นต้องเร่งสร้างโครงสร้างใหม่ที่เป็นเครือข่ายถักทอกันหมด เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างโครงสร้างเดิมกับโครงสร้างใหม่ ทั้งแนวคิด ทั้งการปฏิบัติ เพื่อทำให้เกิดความรัก ความไว้วางใจ เห็นคุณค่ากัน เกิดเป็นพลังสร้างสรรค์  เพื่อฟันฝ่าวิกฤติความรุนแรงของภาคใต้
หลักการชี้นำในการแก้ปัญหาที่สำคัญประการแรกคือ การสร้างความตระหนักในคุณค่าและศักดิ์ศรีของกันและกัน โดยเชื่อว่าทุกคนมีเกียรติมีศักดิ์ศรี มีคุณค่า มีศักยภาพ และเคารพศักดิ์ศรีของคนทุกคน ประการที่สองคือ การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม  และถักทอกันเป็นเครือข่าย  เริ่มจากกลุ่มเล็กและขยายไปสู่กลุ่มใหญ่ สู่สังคมต่อไป จะเป็นทางออกของที่จะสร้างภูมิคุ้มกันและเป็นตัวร่วมในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้


สถานการณ์สุขภาวะของครูท่ามกลางความรุนแรงในพื้นที่พหุวัฒนธรรม
           ครู เป็นเมล็ดพันธ์แห่งความดีของสังคม  เป็นบุคลากรที่มีคุณค่าในชุมชน นอกจากบทบาทหน้าที่ของความเป็นครู ครูยังต้องทำทุกบทบาท ทั้งสุขภาพ เกษตร การปกครอง และอีกหลายบทบาท  โดยเฉพาะบทบาทการเชื่อมต่อกับผู้คนในชุมชน  ถือเป็นหนึ่งในผู้นำของชุมชนที่สำคัญ 
จากวิกฤติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  มีครูเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 18 คน(ณ เดือนมิถุนายน 2548)  เป็นครูในพื้นที่จังหวัดปัตตานี 12 คน ขณะนี้เป้าของการทำร้ายเปลียนเป็นครูเพศหญิง ทำให้ครูส่วนใหญ่มีความเครียดมากขึ้น กลัว สิ้นหวัง ไม่เห็นอนาคต และเชื่อว่าอำนาจรัฐ ปกป้องครูไม่ได้ ต้องระมัดระวังตัวเองตลอดเวลา
ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ครูขอย้ายออกจากพื้นที่มากขึ้นเช่นเดียวกับนักเรียนที่ย้ายออกจากพื้นที่มากขึ้นเช่นกัน ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ เครือข่ายครูกำลังถูกทำลาย พลังการขับเคลื่อนของเพื่อนครูกำลังหายไป เนื่องจากเกิดความไม่ไว้วางใจต่อกันและกัน เกิดความระแวงต่อกันและกันสูงขึ้น เกิดความไม่แน่ใจว่าจะมีเพื่อนครูคนใครอยู่ในกระบวนการก่อการร้ายหรือเป็นสายให้ทางราชการ
นอกจากนี้  บทบาทของสหพันธ์ครูในพื้นที่ยังถูกจำกัดจากการร้องขอของอำนาจรัฐ ทำให้ไม่สามารถมีกิจกรรมต่างๆได้   หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้  ย่อมส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอน การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ที่ด้อยโอกาสอยู่แล้ว ให้มีคุณภาพจึงเป็นไปได้ยาก

3 18 (2548) 12

ที่มาของวิกฤติความรุนแรงในทัศนะของกลุ่มครูในพื้นที่
                ครูหลายคนเชื่อว่าเกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องศาสนาในบางพื้นที่ ขณะที่หลายคนคิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมหรือศาสนา แต่ส่วนใหญ่ยอมรับว่าเกิดจากปัญหาที่สะสมมายาวนาน จากกระบวนการพัฒนาของรัฐที่ไม่เข้าใจในวิถีชีวิตของคนพื้นที่ เป็นการพัฒนาในแนวดิ่งที่ทำให้คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนพื้นที่ลดลง
นอกจากนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก การจัดการระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ขาดประสิทธิภาพ ไม่มีประสิทธิผล อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุ เช่น 
·  กฎหมายการจัดการศึกษาไม่สมบูรณ์  ให้อำนาจ บทบาทและหน้าที่ครูไม่ชัดเจน
·  กำลังคนในพื้นที่ไม่สมดุล บางเขตครูขาด บางเขตครูเกิน
·  พื้นที่ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากร
·  การพัฒนาบุคลากรมีน้อยและไม่ต่อเนื่อง
·  ความพร้อมในเรื่องความเป็นนิติบุคคลไม่เพียงพอ ทำให้โรงเรียนยังช่วยตนเองไม่ได้หลายเรื่อง
·  หน่วยเหนือหรือส่วนกลางเร่งรัดงานมากเกินไป อยากได้ผลงานเร็ว จนทำให้หน่วยงานระดับล่างยกเมฆข้อมูลเสียส่วนใหญ่
·  ทุนทางสังคมในพื้นที่ยังไม่ได้นำมาใช้ให้ต็มที่

การดำเนินการที่ผ่านมา ของกระทรวงศึกษาธิการ
                การดำเนินการแก้ปัญหาที่ผ่านมาของกระทรวงศึกษาธิการ มีมาตรการหลายประการ ดังนี้
·  โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนการศึกษา  แต่ยังเป็นที่ข้อกังขาในประเด็นความโปร่งใส และหลักการคัดเลือกเด็กที่จะได้รับทุน
·  โครงการทุนการศึกษาสำหรับเด็กกำพร้าที่เกิดจากเหตุการณ์ความรุนแรง 50-70 ทุนต่อจังหวัด ทุนรายละ 10,000 บาท/คน มีข้อมูลจากกลุ่มครูว่าในพื้นที่มีจำนวนเด็กกำพร้ามากทั้งที่ได้รับและไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ เช่น ยะลา มีจำนวนเด็กกำพร้า 425 คน จึงมีข้อเสนอว่าควรให้ทุนกับเด็กกำพร้าทุกคน ไม่เลือกว่าเป็นเด็กกำพร้าที่เกิดจากเหตุการณ์หรือไม่ และการมอบทุนให้กับเด็กคนใด ควรให้ โรงเรียนเป็นผู้บริหารจัดการ เพื่อจะได้ให้กับเด็กที่เหมาะสมจริง
·  งบซ่อมแซม 200,000 บาทต่อโรงเรียน กลุ่มครูเห็นว่าไม่เพียงพอเพราะโรงเรียนถูกละเลยมานาน มีสิ่งที่ต้องซ่อมแซมมาก
·  โครงการทัศนศึกษาของนักเรียน เป็นสิ่งที่ดีควรดำเนินงานต่อ
·  โครงการพัฒนาโรงเรียนปอเนาะ มีข้อเสนอว่าไม่ควรจำกัดจำนวนโรงเรียนปอเนาะ และควรพัฒนาทั้งทางกายภาพ พัฒนาหลักสูตรและพัฒนาศักยภาพครูโรงเรียนปอเนาะ นอกจากนี้ยังควรสนับสนุนเงินเดือนครูโรงเรียนปอเนาะเพราะถือว่าเป็นผู้เสียสละทางศาสนาและสังคม
·  โครงการ เสมาห่วงใยชาวใต้ เป็นการจัดสวัสดิการให้กับครูเพิ่มมากขึ้น
·  โครงการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ การจัดทำแผนบริหารการศึกษา รวมถึงการสอนหรือฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้
·  โครงการสร้างกิจกรรมที่สอดคล้องกับความสมานฉันท์ โดยมีสำนักงานเขตเป็นแกนนำ
·  โครงการบรรจุลูกจ้างประจำที่เป็นคนในพื้นที่เป็นข้าราชการ
·  การสนับสนุนงบประมาณโครงการค่ายเยาวชน ฝึกอาชีพ วัฒนธรรม อาชีพ เขตละ 250 คน
·  การสนับสนุนวิทยุสื่อสาร ระหว่างเพื่อนครูอย่างทั่วถึง

ข้อเสนอและแนวทางแก้ปัญหา
ข้อเสนอและแนวทางแก้ปัญหาในทัศนะของเพื่อนครู ที่สำคัญมีดังนี้
·  ให้ยึดหลักพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว คือ เข้าใจ เข้าถึง ร่วมพัฒนา  เช่น ให้เข้าใจในเรื่องของศาสนา วัฒนธรรม และ ภาษา
·  การเร่งสร้างภูมิคุ้มกันในชุมชน โดยเชื่อว่าภูมิคุ้มกันในชุมชนคือการเข้าถึงหัวใจของศาสนาขณะนี้ยังมีอยู่ แม้ว่ากำลังถูกบั่นทอนลง การดำรงรักษาวัฒนธรรมแบบเดิมที่ดีงามให้คงอยู่ อีกประการหนึ่งคือ ความสัมพันธ์ที่ดีความความช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างไทยพุทธ และไทยมุสลิม ยังมีอยู่มากในหลายพื้นที่ ต้องระวังอย่าให้ถูกทำลายและต้องเร่งสร้างกลับคืนมา
·  สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง การรวมพลังเพื่อป้องกันการต่อการร้าย ต้องพยายามให้คนในระดับรากหญ้ารวมพลังขับเคลื่อน
·  การสร้างขวัญกำลังใจ ปลอบใจตัวเอง ในกลุ่มเพื่อนครู ตัวอย่างที่ดีคือการปลุกเร้าให้ร่วมกันสู้โดยสันติวิธี โดยการปฏิบัติทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งในการสอนเด็กให้ฉลาด ให้เกิดความรักชาติ เป็นต้น
·  ลดบทบาทที่จะทำให้ครูถูกปองร้าย เช่น การเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวบางอย่าง แต่ควรเคลื่อนไหวในเชิงสร้างสรรค์ในบทบาทของครู การจัดการการเรียนการสอน
·  เพิ่มการสื่อสารเพื่อเพิ่มความสมานฉันท์ ลดการกล่าวร้ายที่เพิ่มความขัดแย้ง เช่นควรมีการปรับเปลี่ยนรายการวิทยุใต้สันติสุข เป็นต้น
ในประเด็นนโยบายทางการศึกษามีข้อเสนอ ดังนี้
·  ควรปรับหลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นการสร้างความเข้มแข็งในเรื่องศาสนาและวัฒนธรรม
·  ต้องจัดการศึกษาแบบบูรณาการให้ได้  มีการจัดระบบการศึกษาร่วมกันระหว่าง รร.สอนศาสนา และรร.สามัญ เช่น ภาคเช้าเรียนสามัญ ภาคบ่ายเรียนศาสนา
·  สร้างศูนย์เรียนรู้ ห้องสมุดให้กับชุมชนให้เต็มพื้นที่
·  พัฒนาระบบการประสานงาน ทั้งข้อมูลข่าวสารและการจัดการ
·  สนับสนุนกิจกรรมที่ต่อเนื่องร่วมกับชุมชน เพื่อลดช่องว่างระหว่างครูกับชุมชน  โดยมีเวที พื้นที่ ให้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ แสดงความเห็นร่วมกัน หรือกิจกรรมที่ส่งเสริมความหลากหลายของประเพณีวัฒนธรรม
·  ควรจัดทุนการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส เด็กกำพร้า ในพื้นที่ให้ครบทุกคน
·  สร้างนโยบายที่ถูกต้องชัดเจน เพื่อการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น ควรทบทวนนโยบายคืนถิ่น ซึ่งทำให้ครูย้ายออกทำให้เพิ่มปัญหาการขาดแคลนครู
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอต่อรัฐ ดังต่อไปนี้
·  ให้รัฐแก้ปัญหาด้วยความจริงใจ ต่อเนื่อง โปร่งใส
·  การแก้ปัญหาต้องมองให้ครบทุกระบบ ทุกมุม ทุกมิติ และให้ถูกจุด เช่น ที่ผ่านมาผู้ช่วยชรบ.ได้เงินค่าตอบแทน4,500 บาทต่อเดือน แต่ชรบ.ได้เงิน 20,000 บาทต่อ 30 คน เกิดความเหลื่อมล้ำและเกิดปัญหาตามมา
·  รัฐต้องคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตของครูให้มากขึ้น เพราะครูเป็นผู้ที่ถูกทำร้ายได้ง่าย และที่ผ่านมาเมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้น   มักถูกโทษว่าสาเหตุเกิดจากครูไม่ทำตามแผน รปภ.ของรัฐ
·  รัฐต้องสร้างสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับทหาร ให้ทำงานร่วมกัน ตรวจสอบซึ่งกันและกัน เช่นเมื่อมีเหตุเกิดขึ้น ควรให้ชุมชน กรรมการหมู่บ้านเข้าร่วมร่วมตรวจสอบ
·  เปลี่ยนการจัดกิจกรรมเดินรณรงค์ การร้องเพลง  มาใช้วิถีของศาสนาซึ่งเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้ประทานในการเรียกร้องสันติสุข เช่นโดยการละหมาดอายัติ
·  รัฐต้องสนับสนุนบทบาทของสหพันธ์ครูให้เป็น socialization และมีเวทีประชุมระหว่างครู กับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ เช่น คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์  ผู้รับผิดชอบนโยบายการศึกษา สื่อมวลชนเป็นต้น

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4402เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2005 12:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท